ทรินา โซลาร์ ผู้ให้บริการโซลูชั่นแบบครบวงจรด้านเซลล์แสงอาทิตย์และพลังงานอัจฉริยะชั้นนำของโลก ประกาศเปิดตัวแผงโซลาร์เซลล์รุ่น Vertex DE19R อย่างเป็นทางการในงาน ASEAN Sustainable Energy Week (ASEW ) มหกรรมอุตสาหกรรมด้านพลังงานสิ่งแวดล้อม การจัดการพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าครอบคลุมที่สุดในภูมิภาคอาเซียน ในระหว่างวันที่ 14 -16 กันยายน 2565 ณ Hall 2 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
ลิม ชอง บูน หัวหน้าฝ่ายผลิตภัณฑ์และการตลาดประจำภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ทรินา โซลาร์ กล่าวว่า ทรินา โซลาร์ เป็นผู้ให้บริการโซลูชันแบบครบวงจรด้านเซลล์แสงอาทิตย์และพลังงานอัจฉริยะชั้นนำของโลก และเป็นแบรนด์ผลิตแผงโซลาร์เซลล์รายแรก ๆ ที่เข้ามาในประเทศไทย โดยทรินา โซลาร์ได้ทุ่มเทและให้ความสำคัญกับตลาดไทยมาตลอด 10 ปี มีการจัดตั้งโรงงานผลิตโซลาร์เซลล์ในจังหวัดระยอง ตั้งแต่ปี 2011 ภายใต้ชื่อบริษัท Trina Solar Science & Technology (Thailand) จำกัด สามารถผลิตแผงโซลาร์เซลล์ขนาด 1 GW โดยได้รับการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) จึงผลิตเพื่อส่งออก100% มีพนักงาน 700 คน
“ประเทศไทยมีกำลังการผลิตแผงโซลาร์เซลล์ 3 GW ถือเป็นอันดับสองในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองจากเวียดนาม เมื่อผนวกรวมกับแผนพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก รวมทั้งการส่งเสริมรถไฟฟ้า (EV) ซึ่งจะพัฒนาและขยายสถานีชาร์จรถไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ทำให้มีการใช้แผงโซลาร์เซลล์มากขึ้น ส่งผลให้ตลาดด้านนี้มีโอกาสเติบโต” ลิม ชอง บูน กล่าว
ล่าสุดได้นำแผงโซลาร์เซลล์รุ่นใหม่มาจัดแสดงในงาน ASEAN Sustainable Energy Week (ASEW) ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เนื่องจากประเทศไทยเป็นตลาดที่เติบโตอย่างต่อเนื่องและมีความสำคัญอย่างมากต่อทรินา โซลาร์ โดยบริษัทฯ เป็นแบรนด์ที่ติดสามอันดับแรกในตลาดไทย
สำหรับแผงโซลาร์เซลล์รุ่นใหม่ Vertex DE19R พัฒนาและผลิตขึ้นโดยใช้แพลตฟอร์มเทคโนโลยีเซลล์ 210 มม. สามารถผลิตกำลังไฟฟ้าได้สูงสุดถึง 580 วัตต์และมีประสิทธิภาพสูงสุดถึง 21.5% แต่ต่างจากรุ่น DE19 ก่อนหน้า ตัว ‘R’ แสดงให้เห็นว่าแผงโซลาร์เซลล์เป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ซึ่งเป็นนวัตกรรมใหม่ที่ทำให้รุ่นนี้มีประสิทธิภาพและพลังงานสูงแทนที่สี่เหลี่ยมจัตุรัสแบบเดิม
แผงโซลาร์เซลล์รุ่น Vertex DE19R ที่มีพลังงานสูง พัฒนาให้ปฏิบัติงานกับอินเวอร์เตอร์ได้ดียิ่งขึ้น เหมาะสำหรับติดตั้งบนหลังคาเพื่อใช้ในเชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรมเป็นอย่างมาก เนื่องจากพลังงานและประสิทธิภาพที่สูงจะช่วยให้ใช้พื้นที่บนหลังคาที่มีอย่างจำกัดได้อย่างเต็มที่ที่สุด ทำให้ค่าอุปกรณ์ประกอบระบบ (BOS) ลดลง ทำให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าต่อหน่วยปรับเฉลี่ย (LCOE) ลดลงด้วย อีกทั้งยังมีความเสถียรอย่างสูง พร้อมกันนี้ได้เปลี่ยนวิธีส่งแผงโซลาร์เซลล์ใหม่เป็นแบบตั้ง ทำให้สามารถขนส่งได้ปริมาณมากขึ้น โดยมีแผนที่จะอัปเกรดโรงงานในระยองเพื่อผลิตแผงโซลาร์เซลล์รุ่นนี้
ลิม ชอง บูน กล่าวว่า สำหรับโครงการในประเทศไทยที่ใช้แผงโซลาร์เซลล์ขนาดใหญ่ของทรินา โซลาร์ คือ รุ่น Vertex DE21 ที่มีประสิทธิภาพสูงสุดถึง 21.6% และผลิตกำลังไฟฟ้าได้สูงสุดถึง 670 วัตต์ โดยสถาบันระบบพลังงานแสงอาทิตย์ ฟรอนโฮเฟอร์ (Fraunhofer ISE) สถาบันวิจัยพลังงานแสงอาทิตย์ที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป ตั้งอยู่ที่ประเทศเยอรมนี ได้ดำเนินการประเมินอย่างละเอียดเมื่อปีที่ผ่านมา และค้นพบว่าค่าใช้จ่ายในการลงทุน (CAPEX) ของรุ่น Vertex 670W ต่ำกว่ารุ่น 540W 4.2% ที่ใช้แผ่นเวเฟอร์เส้นผ่านศูนย์กลาง 182 มม. โดยมีต้นทุนการผลิตไฟฟ้าต่อหน่วยปรับเฉลี่ย (LCOE) ต่ำกว่า 4.1%
โดยเอฟเวอร์ไชน์นิ่ง อินเกรเดียน ผู้ผลิตอาหารสัตว์จากจังหวัดสมุทรสงคราม ได้ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์รุ่น Vertex DE21 ของทรินา โซลาร์ไปทั้งหมด 1,247 แผง นับเป็นลูกค้ารายแรกในทวีปเอเชีย นอกจากประเทศจีนที่ใช้รุ่นนี้
ทรินา โซลาร์มีแผนจะเปิดตัว DE21 รุ่นที่สองซึ่งเป็นแผงโซลาร์เซลล์รุ่นสองหน้า (B-Facial) ในไตรมาสแรกของปีหน้าในไทย โดยรุ่นนี้จะมีการใช้เซลล์เอ็นไทป์ ขนาด 210 มม.