ณัฏฐิณี เนตรอำไพ (กลาง) ที่ปรึกษาอาวุโสส่วนองค์กรสัมพันธ์ กลุ่มบริษัท ยูนิลีเวอร์ ประเทศไทย มอบตะแกรงเหล็กรองรับขยะพลาสติกรีไซเคิลมูลค่าต่ำให้ กทม. โดยศานนท์ หวังสร้างบุญ (ที่ 2 จากขวา) รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นตัวแทนรับมอบ
ยูนิลีเวอร์ ประเทศไทย สนับสนุนโครงการ “มือวิเศษ กรุงเทพ เฟส 2” ของกทม. ส่งมอบตะแกรงเหล็ก จุดรับคืนพลาสติกรีไซเคิลมูลค่าต่ำ (พลาสติกกำพร้า) รวม 52 แห่ง ณ สำนักงานเขตทั้ง 50 เขต และศาลาว่าการกทม. ทั้ง 2 แห่ง เพื่อนำไปรีไซเคิลหรือเป็นส่วนหนึ่งในการผลิตพลังงานทดแทน
สำหรับความร่วมมือกับกรุงเทพมหานคร ภายใต้โครงการ “มือวิเศษ กรุงเทพ เฟส 2” ในครั้งนี้ ยูนิลีเวอร์และบริษัท ซีโร่ เวสท์ โยโล จำกัด ได้สนับสนุนการจัดทำตะแกรงเหล็ก ซึ่งใช้เป็นจุดรับคืนขยะพลาสติกรีไซเคิลมูลค่าต่ำ หรือขยะที่ไม่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ อาทิ กล่องโฟม โฟมกันกระแทก ฟิล์มยืด ช้อนส้อมพลาสติก ถุงบรรจุอาหาร ซองขนม แคปซูลกาแฟ ชามเมลามีน เป็นต้น เพื่อนำพลาสติกเหล่านี้ไปรีไซเคิลหรือผลิตเป็นพลังงานทดแทน โดยยูนิลีเวอร์ได้ผลิตตะแกรงเหล็ก จำนวนทั้งสิ้น 52 ชิ้น เพื่อติดตั้งเป็นจุดรับคืนพลาสติกรีไซเคิลมูลค่าต่ำที่สำนักงานเขต กทม. จำนวน 50 เขต และที่ศาลาว่าการกทม. อีก 2 จุด
“การสนับสนุนกิจกรรมลดขยะพลาสติกของกทม.ในครั้งนี้ ถือเป็นโครงการต่อเนื่องเพื่อลดปัญหาขยะพลาสติกอย่างยั่งยืน พร้อมรณรงค์ช่วยสร้างความตระหนักรู้ให้คนกรุงเทพปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการคัดแยกขยะอย่างถูกวิธี พร้อมให้ความรู้เรื่องการคัดแยกพลาสติกใช้แล้ว สร้างความตระหนักรู้เรื่องสิ่งแวดล้อม และให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการนำพลาสติกใช้แล้วกลับเข้าสู่ระบบเพื่อนำไปหมุนเวียน สร้างคุณค่าใหม่ ช่วยให้การรีไซเคิลมีประสิทธิภาพมากขึ้นตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน” ณัฏฐิณี กล่าว
ด้านศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กทม.มีนโยบายในการขับเคลื่อนด้านสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายเพื่อลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ (Net Zero) ซึ่งได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากภาคเอกชนเกิดเป็นภาคีเครือข่าย โดยกิจกรรมที่ กทม. รณรงค์ และอยากให้แต่ละองค์กรเข้าร่วมสนับสนุนอยู่มีด้วยกัน 4 ด้าน ได้แก่ การใช้พลังงานหมุนเวียน การปลูกต้นไม้เพิ่มพื้นที่สีเขียว การจัดการและลดปริมาณขยะ และการบริหารระบบจราจร
สำหรับโครงการ “มือวิเศษ กรุงเทพ” เป็นความร่วมมือของทุกภาคส่วน โดย กทม.ทำหน้าที่เป็นคนกลางหาสถานที่ให้ประชาชนมาร่วมบริจาค ซึ่งจะทำให้นโยบายแยกขยะที่ต้นทาง เกิดขึ้นได้จริงในสังคมของคนกรุงเทพฯ เพราะเป้าหมายสำคัญ คือ “ทำอย่างไรจะปลูกฝังให้เยาวชนและคนไทยช่วยกันแยกขยะอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพมากที่สุด” โดยระหว่างวันที่ 19 ตุลาคม-15 ธันวาคมที่ผ่านมา มีจุดรับมือวิเศษทั้ง 52 แห่ง ได้รับบริจาคพลาสติกทุกประเภทรวมทั้งสิ้น 8.2 ล้านตัน และเมื่อรวมขยะพลาสติกจากเครือข่ายความร่วมมืออื่นๆ มีปริมาณมากถึง 10 ล้านตัน
“ขอเชิญชวนให้คนกรุงเทพฯ นำขยะพลาสติกรีไซเคิลมูลค่าต่ำมาบริจาคที่จุดรับบริจาค ซึ่งตั้งอยู่ในสำนักงานเขตทุกแห่งและศาลาว่าการกรุงเทพมหานครทั้ง 2 แห่ง เพียงล้างพอสะอาด ผึ่งให้แห้ง เก็บรวบรวมไว้ แล้วนำส่งที่จุดรับ ซึ่งยูนิลีเวอร์ ได้ให้การสนับสนุนโดยการจัดทำตระแกรงเหล็กขึ้นมา เพื่อโครงการ มือวิเศษ เฟส 2 ของ กทม.โดยเฉพาะ” ศานนท์ กล่าวสรุป