กรุงเทพฯ : สหประชาชาติ ประเทศไทย (UN Thailand) ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) เปิดตัวแคมเปญ Decade of Action, Decade of Innovation ทศวรรษแห่งการลงมือทำ ทศวรรษแห่งนวัตกรรม เพื่อก้าวใหม่สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เพื่อส่งเสริมการใช้โซลูชั่นเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาของโลกในอนาคต ในช่วงสนทนา กลุ่มอินฟลูเอ็นเซอร์ได้ร่วมแบ่งปันมุมมองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ประกอบด้วย ทนพ.ภาคภูมิ เดชหัสดิน เจ้าของเพจ หมอแล็บ แพนด้า หัวข้อ “ดิจิทัลมีเดียสร้างความเข้าใจ และความร่วมมือฝ่าวิกฤต COVID -19” พริษฐ์ วัชรสินธุ หัวข้อ “เทคโนโลยีจะช่วยทำให้เด็กนักเรียนเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ” ร่วมด้วย ริชชี่ -อรเณศ ดีคาบาเลส และ เบิ้ล ปทุมราช อาร์สยาม ตัวแทนคนบันเทิงรุ่นใหม่เพื่อชุมชน สร้างความมั่นคงทางรายได้ด้วยการเกษตร
แคมเปญ Decade of Action, Decade of Innovation ใช้พลังดิจิทัลลดความเหลื่อมล้ำ – สร้างนวัตกรรมเพื่อชีวิตสมัยใหม่
SDGs คือ เป้าหมายระดับโลก 17 เป้าหมาย ที่มีความเชื่อมโยงกัน ถูกออกแบบมาให้เป็นพิมพ์เขียวเพื่อบรรลุอนาคตที่ดีขึ้นและยั่งยืนมากขึ้นสำหรับทุกคน เป้าหมายดังกล่าวให้ความสำคัญในการขจัดความยากจนและการกีดกันต่างๆ ซึ่งต้องดำเนินควบคู่ไปกับกลยุทธ์การพัฒนาสุขภาพและการศึกษา ลดความเหลื่อมล้ำ และกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ พร้อมทั้ง การรับกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและอนุรักษ์ท้องทะเลและป่าไม้
สหประชาชาติ ประเทศไทย มีหน้าที่ในการสร้างความสำเร็จเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs ซึ่งสอดคล้องกับแผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ที่ให้ความสำคัญในการเปลี่ยนผ่านประเทศสู่เศรษฐกิจสร้างคุณค่าอย่างยั่งยืน โดยสหประชาชาติ ประเทศไทย ได้ร่วมมือกับ ดีป้า ในการรณรงค์แคมเปญ Decade of Action, Decade of Innovation ด้วยความเชื่อที่ว่าเทคโนโลยีดิจิทัลมีพลังในการลดความเหลื่อมล้ำ สามารถสร้างโซลูชั่นนวัตกรรมสำหรับการใช้ชีวิตสมัยใหม่ สร้างโอกาสให้กับประชาชนและองค์กรให้เติบโตในเศรษฐกิจดิจิทัล โดยดีป้าจะแบ่งปันความรู้จากโครงการในประเทศไทยและข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญในมิติต่าง ๆ เช่น อีเลิร์นนิง เกษตรอิเล็กทรอนิกส์ และดิจิทัลทรานฟอร์เมชั่น สำหรับเอสเอ็มอี เพื่อสร้างความตระหนักในเป้าหมายระดับโลกและสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คนทุกสาขาอาชีพในการสร้างและมีส่วนร่วมแก้ไขความต้องการพัฒนาในอนาคตของโลก
ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการ depa และ กีต้า ซับบระวาล ผู้ประสานงานสหประชาชาติ ประเทศไทย
กีต้า ซับบระวาล ผู้ประสานงานสหประชาชาติ ประเทศไทย กล่าวว่า การบรรลุวาระพัฒนา 2030 และ SDGs เป็นเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่และเป็นภารกิจสำคัญที่ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม สื่อมวลชน เยาวชน นักวิชาการ และพันธมิตรด้านการพัฒนาอื่นๆ เพื่อบรรลุเป้าหมายเหล่านี้ นวัตกรรมมีบทบาทสำคัญในการบรรลุเป้าหมายระดับโลก ความร่วมมือระหว่างสหประชาชาติ ประเทศไทย และ ดีป้ามีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมโซลูชันทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลซึ่งเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับ SDGs
ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลแก้ไขปัญหามุ่งพัฒนาอย่างยั่งยืน -เน้นประชาชนเป็นศูนย์กลาง
ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) กล่าวว่า ทศวรรษนี้ได้มอบความท้าทายมากมาย สิ่งที่สำคัญกว่าที่เคยคือเราได้ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลช่วยแก้ไขปัญหา ปีที่ผ่านมา เราได้เห็นว่าดิจิทัลสามารถช่วยธุรกิจต่าง ๆ ได้อย่างไร และตอนนี้เราต้องขยายและเร่งการนำไปใช้ รวมทั้งสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อกระจายประโยชน์ให้ทั่วถึงทุกมุมของประเทศ ภายในสิ้นทศวรรษ ระดับของการบูรณาการเข้ากับเศรษฐกิจดิจิทัลจะเป็นตัวกำหนดการเติบโต การเพิ่มผลิตภาพ และการพัฒนามนุษย์ และสิ่งสำคัญคือจะไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง
“วิสัยทัศน์ของดีป้า ในการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยไม่ทิ้งใครไม่ข้างหลัง ทำงานที่เน้นประชาชนเป็นศูนย์กลาง ประกอบด้วย การทำให้ประชาชนไทย มีความรู้ด้านการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี การสนับสนุนการสร้างนวัตกรรม และการทรานสฟอร์มทั้งภาคการเกษตร การผลิต และธุรกิจบริการ ซึ่งเน้นการลงมือทำผ่านกระบวนการที่เน้นให้ผู้ที่ได้รับการสนับสนุนเกิดการพัฒนาได้อย่างยั่งยืน โดยเน้นย้ำว่าเป็นสิ่งที่คนไทยควรเริ่มทำในวันนี้ โดย ดีป้า จะเป็นผู้ที่นำสิ่งใหม่ๆ เพื่อจะทำให้คนไทย perform better, think faster, live better” ดร.ณัฐพล กล่าว
สำหรับแคมเปญ Decade of Action, Decade of Innovation ประกอบด้วย 4 มิติ ได้แก่ ผู้คน (PEOPLE) สิ่งแวดล้อม (PLANET) ความมั่งคั่ง ( PROSPERITY) และความร่วมมือ (PARTNERSHIP)
มิติด้านผู้คน (PEOPLE) ชี้ให้เห็นว่าเราได้รับผลกระทบจากโลกที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา และเทคโนโลยีสามารถส่งเสริมสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นได้อย่างไร เช่นเดียวกับการค้นพบวิธีในการปิดช่องว่างการเชื่อมต่อและลดความเหลื่อมล้ำซึ่งอาจเพิ่มขึ้นหากไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้ อีเลิร์นนิง ทักษะความเข้าใจและใช้เทคโนโลยีดิจิทัลจะช่วยสนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิตซึ่งเป็นวิธีในการขจัดช่องว่างทางดิจิทัลและสร้างสังคมดิจิทัลที่ครอบคลุม
มิติสิ่งแวดล้อม (PLANET) มุ่งเน้นประเด็นต่างๆ ด้านสิ่งแวดล้อม เช่น การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการบริโภคอย่างมีสำนึก การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมเพื่อสร้างเมืองให้มีความยั่งยืน โดยมุ่งเน้นที่สิ่งแวดล้อม จากการเปลี่ยนแปลงวิธีสร้างและจัดการพื้นที่ในเมือง ไปสู่การปรับปรุงระบบขนส่งสาธารณะ การสร้างพื้นที่สาธารณะสีเขียว พัฒนาการวางผังเมือง และการจัดการในรูปแบบที่สร้างการมีส่วนร่วมและครอบคลุมทุกกลุ่มสังคม
มิติความมั่งคั่ง (PROSPERITY) จัดการกับปัญหาในอุตสาหกรรมและธุรกิจต่างๆ ที่ต้องเผชิญขณะที่เปลี่ยนไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัล ทั้งนี้ รวมทุกกลุ่มสังคม โดยเฉพาะกลุ่มที่เป็นกระดูกสันหลังของเศรษฐกิจไทย เช่น การท่องเที่ยวและเกษตรกรรม ร่วมค้นหาว่าเราจะสร้างการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนหลังเกิดโรคระบาดได้อย่างไร และการนำประโยชน์จากเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลมาปรับใช้กับการเกษตร นั้นมีความสำคัญเช่นเดียกับการพัฒนาการเติบโตของอีคอมเมิร์ซและการสร้างที่ทำงานสู่ระบบดิจิทัล
มิติความร่วมมือ (PARTNERSHIP) ตระหนักถึงความสำคัญของกลุ่มต่างๆ ในการทำงานเพื่อบรรลุเป้าหมายร่วมกัน และฉายภาพความสำเร็จจากความร่วมมือของกลุ่มคนประเภทต่างๆ ธุรกิจ และองค์กร ที่อาจสร้างผลลัพธ์เกินความคาดหมาย การระบาดใหญ่ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง สร้างตัวอย่างมากมายในความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนเพื่อช่วยเหลือสังคม
ดร.ณัฐพล กล่าวว่า แคมเปญ Decade of Action, Decade of Innovation ดำเนินไปจนถึงสิ้นเดือนกรกฎาคม เพื่อเพิ่มความตระหนักรู้เกี่ยวกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน SDGs และสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คนลงมือทำเพื่อช่วยเหลือชุมชนและสังคมไทยเพื่อแก้ไขปัญหาในปัจจุบันและอนาคต นอกจากนี้ จะมีกิจกรรม Facebook Live เพื่อให้เหล่าอินฟลูเอ็นเซอร์ได้ร่วมพูดคุยถึงความท้าทายในมิติต่างๆ และแบ่งปันประสบการณ์และกิจกรรมลงบนโซเชียลมีเดีย โดยใช้ #SDGs
ใช้ดิจิทัลมีเดียสร้างความเข้าใจ COVID-19 และร่วมมือกันฝ่าวิกฤต
ทนพ.ภาคภูมิ เดชหัสดิน เจ้าของเพจ หมอแล็บแพนด้า กล่าวถึง การใช้ดิจิทัลมีเดียสร้างความเข้าใจ COVID-19 และสร้างความร่วมมือฝ่าวิกฤตว่า สิ่งที่ทำมาโดยตลอดคือการโพสต์ให้ความรู้ที่ถูกต้อง ตัวเองไปศึกษาจากแหล่งข้อมูล งานวิจัยที่เชื่อถือได้ เอามาแปลเป็นภาษาง่ายๆ ให้คนเข้าใจโรคติดเชื้อ COVID-19 และการป้องกันตัวเอง ทำให้คนได้ความรู้ที่ถูกต้องและไม่ตื่นตระหนก ดูแลตัวเองและดูแลสังคมไปด้วย นอกจากเพจที่ให้ความรู้อยู่ตลอด
“เราอยากให้ COVID-19 จบเร็วที่สุดในแบบที่เราทำได้จึงใช้ความรู้ด้านแล๊ป เครื่องมือแพทย์ สร้างรถตรวจเชิงรุกไปตามชุมชน เพื่อค้นหาผู้ติดเชื้อจากชุมชนไปรักษา ให้ชุมชนปลอดภัย ไม่ให้ประชาชนต้องไปแออัด กันที่โรงพยาบาล เป็นคันแรกของประเทศไทย และใช้กันอย่างแพร่หหลายมาก และร่วมมือกับหลายภาคส่วน เช่น กรุงเทพมหานคร คณะวิศวกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยต่างๆ เพื่อสร้างรถคันเดียวที่สามารถตรวจครั้งเดียว พร้อมกันได้ 3 ราย ทำให้สามารถตรวจได้ 3,000 เคส ต่อวัน ทำให้ตรวจเชิงรุกได้เร็ว ประกอบกับการฉีดวัคซีนควบคู่ ช่วยทำให้สถานการณ์ดีขึ้น” ทนพ.ภาคภูมิ กล่าว
ขณะนี้กำลังทำโปรเจกต์ใหม่ โดยจะนำตู้คอนเทนเนอร์ที่ไม่ได้ใช้แล้ว มาแบ่งเป็นห้องต่างๆ ห้องความดันลบสำหรับผู้ป่วย และห้องความดันบวกสำหรับเจ้าหน้าที่ แพทย์ สามารถประยุกต์ทำเป็นห้องตรวจโรค สวอป ให้คำปรึกษา หรือ ไอซียู หากนำตู้คอนเทนเนอร์หลายๆตู้มาประกอบกันสามารถทำเป็นโรงพยาบาลสนามที่มีคุณภาพ
สุดท้ายนี้ หมอแล็บได้เน้นย้ำการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยั่งของสหประชาชาตินั้น ประเด็นความร่วมมือ สำคัญมากที่จะทำให้ประเทศผ่านพ้นวิกฤตไปได้ และทำให้การพื้นฟูประเทศดีขึ้นกว่าเดิม
เชื่อเทคโนโลยีช่วยให้นักเรียนเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพได้
พริษฐ์ วัชรสินธุ ผู้ก่อตั้ง StartDee บริษัทพัฒนาแอพพลิเคชันด้านการศึกษา กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของ Start Dee เกิดขึ้นจากการเห็นปัญหาว่าการศึกษาที่มีคุณภาพเข้าถึงยากมาก ด้วยเหตุผล 3 มิติ ได้แก่ คุณภาพของระบบการศึกษา คุณภาพการเรียนการสอนที่แตกต่างกันแต่ละโรงเรียน และนักเรียนต้องจ่ายค่าเรียนพิเศษที่สูงมากเมื่อต้องการความรู้นอกห้องเรียน ทั้งนี้ ทางออกที่ยั่งยืนคือภาครัฐต้องทำให้โรงเรียนที่มีคุณภาพอยู่ใกล้กับเด็กทุกคน
การศึกษาบนดิจิทัลแพลตฟอร์มให้มีมาตรฐานมากขึ้นและเป็นมาตรฐานเดียวกัน ภาครัฐไม่จำเป็นต้องทำทุกอย่างขึ้นมาใหม่หมด แต่วางกฎ กติกาและระบบเพื่อใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์มหรือเนื้อหาที่ภาคเอกชนผลิตมาได้มากที่สุด และควรสร้างความเข้าใจว่าการเรียนออนไลน์ที่ดีไม่ใช่การคัดลอกเนื้อหาในห้องเรียนมาแปะไว้นออนไลน์ แต่ควรออกแบบการเรียนออนไลน์ให้ตรงตามความเป็นจริง เพราะพฤติกรรมการเรียนออนไลน์กับการเรียนในห้องไม่เหมือนกัน การเรียนออนไลน์ไม่ได้มาทดแทนการเรียนในห้อง เพราะบางรูปแบบทดแทนกันไม่ได้ เราต้องการการปฏิสัมพันธ์กับครูและนักเรียนในการพัฒนาทักษะเหล่านั้น มองการเรียนออนไลน์จะเสริมการเรียนในห้องเรียนยังไง แนวคิดที่อยากจะแชร์คือ ห้องเรียนกลับด้านหรือ Flip Classroom การที่ครูใช้เวลา 1 คาบในการบรรยาย ครูสามารถอัดวิดีโอให้เด็กดูที่บ้าน เพื่อให้เด็กมาพร้อมข้อมูลและใช้เวลา 1 ชั่วโมง ในการพัฒนาทักษะ การคิดวิเคราะห์ การทำงานเป็นทีม การวางบทบาทระหว่างครูและเทคโนโลยี โดยให้ครูมีบทบาทที่เทคโนโลยีทำไม่ได้มากขึ้น
ตัวแทนคนบันเทิงรุ่นใหม่เพื่อชุมชนสร้างความมั่นคงทางรายได้ด้วยการเกษตร
อาหารคือความมั่นคงที่ทุกคนขาดไม่ได้ โดยเฉพาะในช่วงของการแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 อาหารเป็นอีกหนึ่งธุรกิจหลักที่ยังดำเนินต่อไปได้ ในช่วงหลายปีมานี้จะเห็นคนบันเทิงทำการเกษตรมากขึ้น โดยเฉพาะคนบันเทิงรุ่นใหม่อย่าง ริชชี่ -อรเณศ ดีคาบาเลส และเบิ้ล ปทุมราช ที่ใช้จิทัลเทคโนโลยีและมุมมองของคนรุ่นใหม่พัฒนาอาชีพเกษตกรรมของครอบครัวซึ่งนอกจากจะสร้างรายได้ให้กับครอบครัวแล้ว ยังเผื่อแผ่สร้างความมั่นคงทางรายได้ให้ชุมชนสามารถอยู่ได้และไม่ต้องจากบ้านเพื่อไปหางานทำต่างถิ่น
อรเณศ ดีคาบาเลส กล่าวถึง ธุรกิจไร่ชาของครอบครัวว่า ครอบครัวริชชี่เป็นเจนเนอร์เรชั่นที่ 4 เป็นผู้นำและดูแลในดอยปู่หมื่น อาชีพหลักของชุมชนคือการปลูกชา สมัยคุก่อนณตานำเกษตรเข้ามาทดแทนการปลูกฝิ่น ในยุคที่ฝิ่นผิดกฎหมายเราได้รับชาต้นแรกจากในหลวง รัชกาลที่ 9 จึงเปลี่ยนอาชีพจากปลูกฝิ่นทั้งหมดมาทำไร่ชา นับแต่นั้นมาที่บ้านดูแลรับซื้อชา พัฒนาชา ไม่ใช่แค่ดอยตัวเอง แต่เราเป็นหมู่บ้านตัวอย่างจึงคอยช่วยส่งเสริมการปลูกชาดอยข้างเคียงและพื้นที่รอบๆ จนปัจจุบันนี้การทำไร่กลายเป็นอาชีพหลัก
“เราพยายามคิดให้ชาวบ้านมีความมั่นคงขึ้น มีตลาดมากขึ้น เราอยากเพิ่มผลผลิต แต่ก่อนส่งออกไปที่จีน ในฐานะคนรุ่นใหม่เราอยากทำแบรนด์ของไทย จึงทำแบรนด์ตัวเองขึ้นมา เป็นชาดีท็อกซ์โดยนำชามาแปรรูปเป็นการช่วยเพิ่มช่องทางการขายและเพิ่มยอดขาย ช่วยให้ชาวบ้านมีความมั่นคงมากขึ้น และเราก็พอมีชื่อเสียงในการประชาสัมพันธ์ นอกจากนี้ ยังส่งเสริมให้คนอยากรู้ที่มา เราจึงพรีเซนต์ถึงการท่องเที่ยวชุมชน บนดอยทุกอย่างเป็นธรรมชาติ ออแกนิกหมด พร้อมส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวเข้าไปสัมผัสวิถีชาวบ้าน เก็บชา การท่องเที่ยวชุมชนซึ่งรายได้ส่วนนึงเป็นของชาวบ้าน แบรนด์ขายออนไลน์ โดยวางแผนว่าเมื่อเปิดประเทศจะส่งออกด้วย ชาผลิตด้วยกระบวนการธรรมชาติเพื่อช่วยระบาย และจะผลิตชาเพื่อสุขภาพ อยากเพิ่มมูลค่าเพื่อให้ชาวบ้านมีรายได้มากขึ้น มั่นคงเพื่อให้อยู่ในชุมชนตัวเองได้ไม่ต้องออกไปหางาน บนดอยเป็นต้นน้ำ ทุกอย่างออแกนิก เพื่อให้คนเห็นถึงคุณค่าที่มี” อรเณศ กล่าว
การพัฒนาที่ยั่งยืนเราทุกคนสามารถทำได้ด้วยการส่งเสริมพัฒนาสิ่งที่เรามีในชุมชน รายได้ส่วนหนึ่งเอาไปช่วยชุมชน เพื่อสร้างความมั่นคงทางรายได้ นอกจากนี้ยังช่วยรักษาสภาพแวดล้อมให้ชุมชน เพราะเมื่อเห็นผลผลิตของชุมชนเป็นเรื่องที่ดี เราก็ไม่ต้องทำลายสิ่งแวดล้อม สร้างคุณค่า โดยเฉพาะช่วงนี้ทุกคนกลับบ้านก็จะสังเกตได้ว่าเรามีอะไรดี พัฒนาตรงนั้น ช่วยทำให้มั่นคงและพัฒนามากขึ้น
ด้านเบิ้ล ปทุมราช กล่าวว่า แม้ว่าตนจะประสบความสำเร็จในด้านการเกษตรจากแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงและการเกษตรแบบผสมผสานแล้ว เบิ้ลร่วมกับแฟนคลับระดมทุนจัดกิจกรรมโรงเรียนผู้สูงอายุ เพื่อส่งต่อเทคนิคการเกษตรที่ประสบความสำเร็จ เพื่อให้ชุมชนมีรายได้ที่มั่นคงตามมาด้วยเช่นกัน
“ผมเกิดในครอบครัวชาวนา ผมเชื่อเรื่องการเกษตรว่าสามารถอยู่ได้ หากวางแผนและใช้พื้นที่ให้เป็นประโยชน์ ช่วงที่เบิ้ลเป็นนักร้อง กลับไปคุยกับคุณพ่อ ท่านอยากทำนาตลอดชีวิต แม้ว่าเบิ้ลจะดังหรือไม่ จึงได้ศาสตร์พระราชาจากในหลวง รัชกาลที่ 9 จึง เพื่อทำนาอย่างไรให้ผลผลิต เหลือและแบ่งปันครอบครัวพี่น้องได้ และ ใช้มุมมองของนักร้องของชาวบ้านและแฟนคลับ นำเงินกลับไปทำกิจกรรมกับผู้สูงอายุในชุมชน เป็นโรงเรียนผู้สูงอายุ เพื่อถ่ายทอกแนวคิการเกษตรแบบผสมผสาน แบ่งพื้นที่ทำนามาทำเกษตรแบบผสมผสาน ปลูกผัก เลี้ยงปลา เลี้ยงไก่” เบิ้ล ปทุมราช กล่าว
ในแต่ละปีพวกเรานำงบประมาณจัดกิจกรรมต่างๆ เช่น เชิญชาวบ้านทุกคนมาดำนา ลงแขกเกี่ยวข้าว ประกวดแปลงเกษตรดีเด่น มีรางวัล แข่งขันในระดับตำบล และระดับอำเภอ แต่งบประมาณตรงนี้ยังไม่มากนัก เนื่องจากเป็นทุนส่วนตัวของตนเองและเหล่าแฟนคลับ
“ตอนนี้ผมจะแบ่งรายได้ให้คุณพ่อและพี่ชายทำนา ไม่ต้องขายข้าวแต่ให้สหกรณ์เพื่อแบ่งให้ชาวบ้าน นอกจากนี้อยากมีผลิตภัณฑ์ข้าวจากชาวนา แปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า และเป็นคนกลางช่วยชาวนาขายข้าว ให้เขามีรายได้ไม่ต้องพึ่งพ่อค้าคนกลงซึ่งไม่ต้องเจอกับความผกผันกับราคาข้าวในแต่ละปี” ” เบิ้ล ปทุมราช กล่าวทิ้งท้าย