ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในประเทศไทยมีผลกระทบที่เห็นได้ชัดในหลายด้าน โดยเฉพาะเรื่องของอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นและการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาลที่ไม่เป็นไปตามปกติ ในหลายปีที่ผ่านมา ประเทศไทยประสบกับสภาพอากาศที่แปรปรวน ทั้งอากาศร้อนจัด น้ำท่วม และภัยแล้ง ซึ่งมีผลกระทบต่อการเกษตร การดำรงชีวิต และเศรษฐกิจของประเทศ นอกจากนี้ พายุฝนและน้ำท่วมที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งยังส่งผลให้พื้นที่บางส่วนของประเทศเสียหาย ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่เพาะปลูกหรือโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนนและสะพาน ส่วนภัยแล้งที่เกิดขึ้นในบางช่วงเวลาทำให้ชาวนาประสบปัญหาน้ำขาดแคลน ส่งผลให้ผลผลิตลดลงและมีผลกระทบต่อความมั่นคงด้านอาหารของประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยจึงร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ในหัวข้อ “ทิศทางโครงสร้าง พลังงานชาติ 2567 ครั้งที่ 2-ภาครัฐ” ณ ห้องไทรทอง อาคาร 3 ชั้น 4 มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
อาทิตย์ เวชกิจ คณะอนุกรรมาธิการศึกษา การปรับโครงสร้างราคาพลังงานไฟฟ้า สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า ประเทศต่างๆ ทั่วโลกได้ตกลงกันในการจำกัดอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียส และพยายามที่จะจำกัดไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ท้าทาย แต่ปัจจุบันเป้าหมายการลดอุณหภูมิให้ไม่เกิน 1.5 องศา เป็นไปได้ยากแล้ว ทั่วโลกจึงจำเป็นต้องเปลี่ยนเป้าหมายเป็นการลดอุณหภูมิให้ไม่เกิน 2.5 องศาแทน ซึ่งอุณหภูมิโลกก็เหมือนกับอุณหภูมิของมนุษย์ หากเรามีอุณหภูมิในร่างกายสูง เราก็จะป่วย โลกก็เช่นเดียวกัน หากอุณหภูมิโลกสูงกว่าฐานที่ตกลงกันไว้ 4 องศาเซลเซียส โลกก็จะสูญพันธุ์ เราจึงจำเป็นต้องร่วมกันรณรงค์เรื่องนี้กันอย่างเคร่งครัด ซึ่งประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกร้อยละ 0.88% ของโลก ในขณะเดียวกันเราก็ยังเป็นเหยื่อที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากสภาวะโลกร้อนสูงเป็นอันดับที่ 9 ของโลก ทั้งนี้หลายประเทศทั่วโลกได้เปลี่ยนสู่การผลิตพลังงานไฟฟ้าให้ประชาชนใช้ โดยมีพลังงานสะอาดผสมอยู่ถึง 50-80% แล้ว แต่ประเทศไทยกลับมีไม่ถึง 10% เราจึงจำเป็นต้องเร่งเครื่อง และระดมกำลังสมองเพื่อให้มีพลังงานสะอาดใช้ในปริมาณที่มากเพียงพอต่อความต้องการ นี่จึงเป็นสาเหตุให้เราต้องมี Low Carbon และ Green Energy เพื่ออาศัยอยู่บนโลกได้อย่างยั่งยืน
อาทิตย์ กล่าวต่อว่า ปัญหาก๊าซจากอ่าวไทยที่ลดลง ทำให้เรามีโอกาสพึ่งพาการนำเข้า LNG มากขึ้น เนื่องจากปริมาณก๊าซไม่แน่นอน และเมื่อรวมกับความผันผวนของราคาจากความขัดแย้งระหว่างประเทศ ราคาพลังงานจึงเพิ่มสูงขึ้น ดังนั้น เราจำเป็นต้องคำนึงถึงความมั่นคงทางไฟฟ้าและต้นทุนเชื้อเพลิงควบคู่กันไป
การพึ่งพาตัวเองในด้านพลังงานเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะในวันที่เทคโนโลยีมีบทบาทมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นพลังงานสะอาดหรือการจัดเก็บพลังงาน (Energy Storage) ซึ่งช่วยเพิ่มความมั่นคง การนำเข้าพลังงานที่ไม่แน่นอนจึงกลายเป็นประเด็นหลักในการอภิปรายแผนพลังงานชาติระยะยาว
ศศิธร เจษฎาฐิติกุล ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และแผนงานสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กล่าวว่า ด้วยปัญหาหลายประการที่ส่งผลกระทบต่อประเทศ เราจึงจัดทำแผนพลังงานชาติฉบับแรกอย่างเป็นทางการ ซึ่งมีเป้าหมายในการเปลี่ยนผ่านพลังงานสู่ความมั่นคง ยั่งยืน และเป็นธรรม ผ่าน 3 ยุทธศาสตร์หลัก ได้แก่ 1. เสริมสร้างพลังงานมั่นคง เพื่อให้พลังงานเพียงพอต่อความต้องการของประเทศ 2. มุ่งสู่พลังงานยั่งยืน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และส่งเสริมพลังงานสะอาดและพลังงานใหม่ และ3. ดูแลพลังงานให้เป็นธรรม ด้วยการปรับโครงสร้างพลังงานตามหลักธรรมาภิบาล โดยในแผนนี้ยังมีการดูแลเรื่องราคาพลังงานให้เป็นธรรม โดยในอนาคตจะมีการเปิดเสรีกิจการก๊าซธรรมชาติก่อนที่จะเปิดเสรีกิจการไฟฟ้า ซึ่งปัจจุบันธุรกิจน้ำมันได้เปิดเสรีไปแล้ว
นวรถ ปะรักมะสิทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักแผนภาพรวมสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC กล่าวว่า EEC เกิดมาจากนโยบายของรัฐบาล โดยมีเป้าหมายเพื่อขับเคลื่อนสู่ประเทศที่พัฒนาในระดับปานกลาง ซึ่งมีภารกิจ 4 ภารกิจหลัก คือ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ทันสมัยและโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล การส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาและลงทุนใน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย การยกระดับคุณภาพชีวิตและการพัฒนาเมืองที่ทันสมัย รวมถึงการส่งเสริมการท่องเที่ยงในพื้นที่ และการพัฒนาที่ครอบคลุมไปถึงการศึกษา การดูแลสุขภาพ สิ่งแวดล้อม สาธารณูปโภคพื้นฐาน และการพัฒนาชุมชน เพื่อสร้างรายได้และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน
ดร.กรรณิการ์ ธรรมพานิชวงศ์ หัวหน้ากลุ่มงานวิจัยสถาบันวิจัยเศรษฐกิจ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ผู้แทนธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจและธุรกิจคาร์บอนต่ำ นอกเหนือจากเงินทุนที่สำคัญแล้ว ยังจำเป็นต้องมีกลไกการเงินที่หลากหลาย หนึ่งในนั้นก็คือ Climate Finance เนื่องจากอุตสาหกรรมไทยมีความเสี่ยงสูงจาก Climate change ที่ส่งผลกระทบรุนแรงเกินคาด เราจึงจำเป็นต้องเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ให้การเปลี่ยนผ่านมีอุปสรรคน้อยที่สุด และมีเวลาที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศ รวมถึงความพร้อมของแต่ละภาคส่วน ที่ต้องอาศัยการบูรณาการในหลายๆ เครื่องมือเข้าด้วยกัน เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่าน ไม่ว่าจะเป็น เครื่องมือทางด้านเศรษฐกิจและเครื่องมือทางด้านการคลัง (Economic & Fiscal Instruments) เครื่องมือทางด้านการเงิน (Financial Instruments) กฎระเบียบทางด้าน การเงิน (Financial Regulation) และ เครื่องมือทางด้านข้อมูล (Information Instruments) ซึ่งเร็วๆ นี้ประเทศไทยจะมีเครื่องมือที่เรียกว่า กลไกภาษีคาร์บอน เพื่อแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยส่งเสริมให้เกิดการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
พัทธ์กมล ทัตติพงศ์ นักวิชาการพาณิชย์เชี่ยวชาญ สำนักยุโรป กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า ปัจจุบันประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ได้กลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการเจรจาการค้าและความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศไทยและสหภาพยุโรป (EU) อย่างมีนัยสำคัญ สหภาพยุโรปให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับนโยบายและมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ทางเศรษฐกิจและการค้าของกลุ่มประเทศนี้ ประเทศไทยในฐานะประเทศคู่ค้าของสหภาพยุโรปจึงจำเป็นต้องปรับตัวให้เข้ากับมาตรฐานและข้อกำหนดด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดขึ้น ไม่เพียงแต่ในด้านการส่งออกสินค้าและบริการเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมถึงการสร้างความร่วมมือในโครงการที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) การพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development) และการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Carbon Emission Reduction)
การเจรจาระหว่างประเทศไทยและสหภาพยุโรปในเรื่องนี้จึงไม่ได้เป็นเพียงการเจรจาทางการค้าแบบเดิม ๆ แต่ยังต้องครอบคลุมถึงการพัฒนาและการบูรณาการเทคโนโลยีสีเขียว การใช้พลังงานหมุนเวียน และการพัฒนานโยบายการค้าและการลงทุนที่ยั่งยืน เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของตลาดโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ การปรับตัวของภาคเอกชนไทยให้เข้ากับมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมของสหภาพยุโรปก็เป็นสิ่งสำคัญในการขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุนในตลาดยุโรป