CEA ผนึก กกพ. เปิดตัว 4 แพลตฟอร์ม Wonder Waste! คัดแยกขยะชุมชนสู่การผลิตไฟฟ้า ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน


จากการที่กรุงเทพมหานครได้ทำการเก็บข้อมูลปริมาณขยะที่เกิดขึ้นและสำรวจองค์ประกอบของขยะอย่างต่อเนื่อง พบว่ามีเศษอาหารที่ผ่านการแยกสิ่งที่ย่อยสลายได้ยากออกไปแล้วในสัดส่วนที่สูงถึง 42-52 % ของขยะมูลฝอยทั้งหมดที่เกิดขึ้น ซึ่งหากสามารถลดปริมาณขยะอาหารเหล่านั้นลงได้ ก็จะช่วยประหยัดทรัพยากรและงบประมาณในการจัดการขยะได้มากทีเดียว และยังช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วย เนื่องจากขยะอาหารเป็นสิ่งที่เน่าเสียได้ง่ายและก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก นอกจากนี้ ขยะอาหารมักทำให้ขยะอื่น ๆ ปนเปื้อนคราบอาหารและไขมัน จนยุ่งยากในการคัดแยกไปเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลใหม่

นอกจากการลดปริมาณขยะอาหารที่ต้นทางแล้ว การคัดแยกขยะที่เกิดขึ้นอย่างถูกวิธีก็เป็นเรื่องสำคัญ เนื่องจากขยะบางประเภทสามารถนำไปผลิตไฟฟ้าได้ (Waste to Energy) เพื่อส่งเสริมให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและลดปริมาณขยะให้เหลือน้อยที่สุดตามหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) โดยการนำขยะที่ได้มาสร้างคุณค่า ในรูปแบบต่างๆ รวมถึงการผลิตเป็นเชื้อเพลิง ( RDF) เพื่อใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้า ที่สามารถป้อนการใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนและภาคอุตสาหกรรม

CEA ผนึก กกพ.เปิดตัว 4 แพลตฟอร์ม Wonder Waste! คัดแยกขยะชุมชนสู่การผลิตไฟฟ้า

เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดตัวโครงการสร้างนวัตกรรมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน หรือ 4 Wonder Waste! เพื่อกระตุ้นให้ประชาชน ชุมชนเกิดการตระหนักรู้เรื่องการจัดการขยะอย่างถูกวิธีให้ได้คุณภาพ ก่อนนำไปกำจัดหรือเพิ่มทางเลือกให้กับขยะสามารถนำไปกลับไปใช้ในรูปแบบใหม่ (Upcycle ) รวมถึงการนำไปเป็นเชื้อเพลิง เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งจะเป็นพลังงานหมุนเวียนที่สมบูรณ์ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งนำร่องใน 4 พื้นที่ ได้แก่ ย่านเจริญกรุง ย่านหนองแขม กรุงเทพมหานคร ย่านศรีจันทร์ จังหวัดขอนแก่น และย่านเมืองเก่า จังหวัดภูเก็ต ซึ่งกระจายตามภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศไทย

อภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) กล่าวว่า CEA เป็นหน่วยงานที่อยู่ตรงกลางระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชน ที่ประกอบด้วยบุคลากรที่มีความคิดสร้างสรรค์ ผู้ประกอบการ หน่วยงาน และสมาคมต่างๆ เชื่อมโยงกันระหว่างทุกภาคส่วน โดยใช้ความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งให้แก่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศ อีกทั้งยกระดับคุณภาพชีวิตผู้คนและเมือง

ล่าสุด สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ได้จัดทำ โครงการสร้างนวัตกรรมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน หรือ Wonder Waste! โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้าเพื่อกิจการตามมาตรา 97(5) สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน พ.ศ. 2563 มุ่งเน้นสร้างความรู้ ความเข้าใจ และการมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม (Action) จากการใช้ประโยชน์จากขยะ ผ่านกระบวนการสร้างสรรค์ร่วม (Co-create) ของบุคลากรจากหลากหลายอาชีพและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ด้วยแนวคิดสร้างสรรค์ที่เป็นไปได้จริง

สำหรับโครงการ Wonder Waste! นำเสนอแพลตฟอร์มจัดการขยะครัวเรือนและชุมชนต้นแบบ 4 พื้นที่ที่เกิดจากการนำกระบวนการคิดเชิงออกแบบ มาใช้เพื่อระดมความคิดเห็นและแก้ปัญหาด้วยกระบวนการสร้างสรรค์ร่วมกับประชาชนในพื้นที่ ในการพัฒนาสู่แนวคิดในการคัดแยกขยะ ให้เป็น 4 แพลตฟอร์มที่แตกต่างกันตามบริบทการใช้งานและพฤติกรรมของผู้ทิ้งในระดับครัวเรือนและชุมชน ที่พร้อมขยายผลไปสู่องค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนที่สนใจนำไปแพลตฟอร์มต่างๆ ไปทดลองและปฏิบัติใช้ตามภูมิภาคต่างๆของประเทศไทย เพื่อรณรงค์ให้เกิดการคัดแยกขยะที่มีคุณภาพ สำหรับการนำไปกำจัดหรือทำเป็นเชื้อเพลิงเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมพลังงานต่อไป

กกพ.กระตุ้นให้ประชาชนจัดการขยะให้ได้คุณภาพ ก่อนนำไปกำจัดหรือผลิตเชื้อเพลิง สู่การผลิตไฟฟ้า

บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ กรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กล่าวว่า กกพ. ร่วมกับ CEA เปิดตัว 4 แพลตฟอร์มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน หรือ Wonder Waste! เพื่อกระตุ้นให้ประชาชน ชุมชนเกิดการตระหนักรู้เรื่องการจัดการขยะอย่างถูกวิธี ก่อนนำไปกำจัดหรือเพิ่มทางเลือกด้วยการนำไปผลิตกระแสไฟฟ้า ทั้งนี้กกพ. ได้ให้ความสำคัญเรื่องการสร้างความรู้ความเข้าใจในการใช้ทรัพยากรให้เกิดความคุ้มค่า ภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนหรือ Circular Economy เพื่อจัดการขยะอย่างถูกต้องและยั่งยืน และสนับสนุนนโยบายรัฐที่จะก้าวไปสู่สังคมปลอดขยะ (Zero Waste Society) ที่มุ่งเน้นการจัดการขยะมูลฝอยตั้งแต่ต้นทาง

“ข้อมูลของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ในปี พ.ศ. 2561 ระบุว่าประเทศไทยมีขยะมูลฝอยสูงถึง 27.8 ล้านตัน แต่พบว่ายังมีขยะ 7.3 ล้านตันหรือ 27% ที่ยังกำจัดไม่ถูกวิธี ประกอบกับส่วนหนึ่งประชาชนยังขาดความเข้าใจเรื่องการคัดแยกขยะ รวมถึงเทคโนโลยีที่ใช้กำจัดขยะยังใช้ได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ ดังนั้นเพื่อให้การจัดการขยะมูลฝอยมีประสิทธิภาพ จึงได้เกิดการร่วมมือนำร่องโครงการนี้ขึ้น ใน4 พื้นที่ ได้แก่ ย่านเจริญกรุง ย่านหนองแขม กรุงเทพมหานคร ย่านศรีจันทร์ จังหวัดขอนแก่น และย่านเมืองเก่า จังหวัดภูเก็ต โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้า สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน พ.ศ.2563 ซึ่งมีเป้าหมายที่จะกระตุ้นให้เกิดการตระหนักเรื่องการจัดการขยะให้ได้คุณภาพ” บัณฑูร กล่าว

PowerPick : แก้ไขปัญหาขยะพลาสติกที่เพิ่มขึ้นจากฟู้ดเดลิเวอรี สู่เชื้อเพลิง RDF

สำหรับ 4 แพลตฟอร์ม Wonder Waste! ช่วยคัดแยกขยะครัวเรือนและชุมชน เพื่อนำไปผลิตไฟฟ้าประกอบด้วย 1.PowerPick แพลตฟอร์มจัดการบรรจุภัณฑ์จากฟู้ดเดลิเวอรี สู่เชื้อเพลิง RDF-3 พร้อมจุดให้บริการแบบ Pop-Up ในชุมชน เพื่อแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกที่เพิ่มขึ้นจากการบริโภคฟู้ดเดลิเวอรี ในช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 พัฒนาโดย บริษัท ขอร์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ติดตั้ง บริเวณ ลานใบไม้ บริษัท ยิบ อิน ซอย จำกัด ถนนมหาพฤฒาราม บางรัก กรุงเทพมหานคร โดยแพลตฟอร์มนี้จะเข้ามาช่วยบริหารคัดแยกบรรจุภัณฑ์ อาหาร และเครื่องดื่มประเภทพลาสติกเบา รวมทั้งกระดาษในรูปแบบ Pop-Up พร้อมเคาน์เตอร์เซอร์วิส และตู้อัตโนมัติที่ให้บริการรับถุงแยกขยะรีไซเคิล

ก่อนจะนำขยะรีไซเคิลเพื่อพลังงานผ่าน Lab ที่ทำหน้าที่ทั้งรับ บด ล้าง อบ และแพกขยะขนาดกะทัดรัด สู่การแปรรูปเป็นเชื้อเพลิงขยะ (Refuse Derived Fuel : RDF) ได้อย่างง่ายๆ ในระดับครัวเรือน หรือชุมชน นอกจากนี้ ยังมีจักรยานไฟฟ้าบรรทุก หรือ PowerPick eBike Cargo ให้บริการรับแยกขยะแบบเคลื่อนที่ในย่านเจริญกรุง ซึ่งผู้ใช้บริการสามารถนัดหมายวัน เวลา และสถานที่รับขยะได้ผ่านแอปพลิเคชัน

แพลตฟอร์ม PowerPick โดดเด่นที่การออกแบบ โดยใช้เครื่องมือทางดิจิทัล (Digital Tool) สร้างแรงจูงใจในการแยกรีไซเคิลเพื่อพลังงาน ด้วยการสะสมพอยต์พลังงานเพื่อลุ้นรางวัล Application Dashboard และ PowerPick Waste to Energy Bag ช่วยให้ผู้รีไซเคิลสามารถเข้าถึงข้อมูลการแยกรีไซเคิลส่วนบุคคลแบบเรียลไทม์ พร้อมสร้างระบบนิเวศในการจัดการขยะที่สะดวกและดึงดูดใจ เพื่อให้ผู้ใช้สามารถติดตามผลข้อมูลรีไซเคิลเป็นพลังงานไฟฟ้าได้แบบเรียลไทม์ ในรูปแบบที่เข้าใจง่าย
สร้างแรงจูงใจในการรีไซเคิล

Care4 : ระบบการจัดการขยะ “แยก-รับ-พัก-ส่ง” ที่มีประสิทธิภาพ ให้บริการรับขยะถึงหน้าบ้าน

2. Care4 ระบบการจัดการขยะ “แยก-รับ-พัก-ส่ง” ที่มีประสิทธิภาพ ด้วยบริการรับขยะถึงหน้าบ้าน พัฒนาโดย พิเศษ วีรังคบุตร และทีมงาน ติดตั้งบริเวณหมู่บ้านจิตรณรงค์ 21 ใกล้โรงกำจัดขยะผลิตไฟฟ้าเพื่อสิ่งแวดล้อม หนองแขม กรุงเทพมหานคร บนแนวคิด “เพราะขยะมีหลากหลายรูปแบบ การแยกขยะให้ถูกต้องเป็นพื้นฐานสำคัญ ทั้งยังสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการขยะด้วยความใส่ใจ”

Care4 เป็นแพลตฟอร์มระบบเก็บขยะเพื่อส่งเข้าโรงเผาขยะด้วยเทคนิคลดความชื้นขยะ ที่นำความรู้ด้านวิศวกรรมและการออกแบบ มาใช้ร่วมกับระบบคัดแยกเพื่อทำให้การเผาขยะมีประสิทธิภาพสูงขึ้น โดยปรับปรุงคุณภาพขยะและลดขั้นตอนการคัดแยกให้มีความซับซ้อนน้อยลง

ด้วยกระบวนการแยกขยะ – รับขยะ – พักขยะ – ส่งขยะ ในการแยกขยะจะมีถุงและถังขยะที่ออกแบบให้เหมาะสม วางไว้ในแต่ละจุดของบ้าน โดยมีช่องใส่ขยะ 3 ประเภท คือขยะสร้างปุ๋ย ขยะสร้างพลังงาน และขยะสร้างเศรษฐกิจ พร้อมเอกสารแนะนำ เพื่อสร้างความเข้าใจในวิธีการคัดแยก กล่องช่วยแยกขยะ (Waste for Wealth Sorting Station) พร้อมป้ายแสดงข้อมูลสนับสนุนการแยกขยะอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างรายได้เสริมให้คนในชุมชน มีการรับขยะถึงหน้าบ้านเพื่อสร้างแรงจูงใจให้กับคนในพื้นที่ โดยมีจักรยานเข้าไปรับขยะมาจัดการตามแต่ชนิดของขยะ (OWN Electric Trolley Waste Collector) และการพักขยะโดยลดความชื้นด้วย Solar Waste Dryer ก่อนส่งเข้าสู่กระบวนการบริหารจัดการของกรุงเทพมหานครต่อไป ส่วนขยะเศษอาหารที่บรรจุมาในถุงแบบย่อยสลายได้ (Compost Making Station) จะถูกหมักและใช้กระบวนการบ่มให้เป็นปุ๋ยในส่วนนี้

บุญบุญ : หุ่นยนต์แมวเก็บขยะ สร้างแรงจูงใจให้ชุมชนในขอนแก่นคัดแยกขยะ

3. บุญบุญ หุ่นยนต์แมวเก็บขยะ ที่สร้างแรงจูงใจและการมีส่วนร่วมของชุมชนในการคัดแยกขยะ พัฒนาโดย FabCafe Bangkok ติดตั้ง บริเวณ Dotlimited ในย่านศรีจันทร์ และ Rak An Coffee จังหวัดขอนแก่น มาพร้อมแนวคิดหุ่นยนต์แมวเก็บขยะ ผู้ช่วยคนสำคัญที่พร้อมลดขยะในเมืองขอนแก่นไปด้วยกัน โดยบุญบุญเป็นหุ่นยนต์แมวเก็บขยะ ที่ใช้เทคโนโลยี Delivery Robot ซึ่งเป็นการนำถังขยะมาหาคน เพื่อให้ถังขยะมีบทบาทเป็นสื่อกลางให้ข้อมูล (Information Agent) และความรู้เกี่ยวกับการแยกขยะ เพื่อสร้างแรงจูงใจ และสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนในการคัดแยกขยะ

บุญบุญ ประกอบด้วยหุ่นยนต์แมวใช้ภายในร้านคาเฟ่ “บุญเล็ก” ที่วิ่งไปรับบริจาค ขยะที่ใช้ภายในร้านค้าที่เป็นเครือข่าย เพื่อให้เกิดการเรียนรู้เรื่องการทิ้งขยะแก่ผู้ที่เข้ามาใช้บริการ และหุ่นยนต์แมวใช้ภายนอก “บุญใหญ่” ซึ่งจะมีขนาดใหญ่กว่า ที่รับขยะจากร้านค้าที่มีการคัดแยกไว้แล้วตั้งแต่ต้นทาง ผ่านระบบ Line Official โดยมีสถานีคอยรับขยะจากหุ่นยนต์ทั้งภายในและภายนอก เพื่อให้มั่นใจว่าขยะที่รับจากการคัดแยก จะถูกนำไปจัดการต่ออย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมกันนี้มีการต่อยอดด้วยการจัดแคมเปญ Activity Waste Information ร่วมกับพื้นที่ และแจกประกาศนียบัตรเพื่อสนับสนุนการแยกขยะอีกด้วย

แพลตฟอร์มบุญบุญ นอกจากจะเป็นการปูพื้นฐานเครือข่ายการพัฒนาหุ่นยนต์รับส่งของที่รองรับ Smart City แล้วยังเป็นการดึงค่านิยมการทำบุญและการมีน้ำใจช่วยเหลือผู้อื่นของคนในขอนแก่น มาเป็นแรงจูงใจในการคัดแยกขยะในพื้นที่อีกด้วย

BABAWaste : จัดการขยะในคาเฟ่และบ้าน ด้วยถุงแยกสีและถังขยะพิเศษ

4.BABAWaste ระบบการจัดการขยะสำหรับคาเฟ่และบ้านเรือน ด้วยถุงแยกสีและถังขยะพิเศษ ที่ทำให้การแยกขยะง่ายขึ้นและมีประสิทธิภาพ พัฒนาโดย วีระชัย ปราณวีระไพบูลย์ และทีมงานอาร์ ดี เอ็ม สตราติจีส บนแนวคิดของการแยกขยะเพื่อลดความชื้นของขยะ สำหรับนำไปผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้าจากต้นทางสู่ปลายทาง ด้วยโมเดลธุรกิจการจัดการขยะสำหรับชุมชน และการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ติดตั้งบริเวณคาเฟ่และบ้านเรือนใจกลางเขตเมืองเก่า จังหวัดภูเก็ต

BABAWaste เป็นแพลตฟอร์มการจัดการขยะสำหรับธุรกิจคาเฟ่และบ้านเรือน โดยใช้ถุงสีแยกขยะตามประเภทเพื่อเป็นการสื่อสารระหว่าง (ครัวเรือน ร้านค้า) – กลางทาง (คนเก็บขยะ) – ปลายทาง (ศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยรวม จังหวัด ภูเก็ต) พร้อมนำเสนอโมเดลธุรกิจควบคู่กันไป เพื่อให้เกิดการจัดการที่สมบูรณ์และความยั่งยืน มีการออกแบบถังขยะพิเศษในร้านคาเฟ่ที่ช่วยจัดการเศษอาหาร และลดความชื้นจากขยะที่จะนำเข้าโรงเผา เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตไฟฟ้าจากการเผาขยะ พร้อมทั้งระบบนิเวศเส้นทางของขยะแต่ละประเภทเพื่อประสิทธิภาพในการจัดการที่ดีขึ้น ประกอบด้วย BABABIN ถังขยะสำหรับใช้ภายในร้านอาหาร/คาเฟ่ สำหรับการคัดแยก ประกอบด้วย ถังขยะที่มีการแยกส่วนบรรจุภัณฑ์ และเศษอาหารจากกัน และถังขยะแยกประเภท มีฟิลเตอร์กรองและแยกของเหลวตกค้างเพื่อลดความชื้น และถังบริเวณด้านนอก สำหรับนักท่องเที่ยว BABABAG ถุงขยะสีที่ช่วยแยกประเภทขยะ ขยะแห้ง ขยะเศษอาหาร ขยะรีไซเคิล ขยะอันตราย และ BABACONE ชุดแปรรูปเศษอาหารเพื่อนำไปทำเป็นปุ๋ยหมัก โดยนำไปวางไว้ในกระถางต้นไม้


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เอง โดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save