สกสว. จับมือจีน ผนึกกำลังวิจัยตั้งรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แก้ปัญหาภาวะโลกร้อนและสิ่งแวดล้อมโลก


สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) จับมือ มูลนิธิวิจัยวิทยาศาสตร์ธรรมชาติแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (NSFC) ผนึกกำลังนักวิจัยจัดสัมมนาการประชุมวิชาการเรื่อง การตั้งรับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก หรือ The 7th China – Thailand Joint Conference on Climate Change โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อความต่อเนื่องเป็นปีที่ 11 ของการประชุมเชิงวิชาการระหว่างไทย-จีน ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลและผลงานการวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก ตลอดจนเพื่อสร้างวัฒนธรรมแบ่งปันความรู้จากการวิจัยเพื่อนำไปเป็นประโยชน์ต่อสังคมและเศรษฐกิจในการแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนและด้านสิ่งแวดล้อมโลก

การประชุมวิชาการเรื่อง การตั้งรับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก

สำหรับการจัดงานการประชุมวิชาการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในครั้งนี้ ซึ่งจัดขึ้นระหว่างสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ร่วมกับ ศูนย์ประสานงานและพัฒนางานวิจัยด้านโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (THAI – GLOB) และมูลนิธิวิจัยวิทยาศาสตร์ธรรมชาติแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน หรือ The National Natural Science Foundation of China (NSFC) ซึ่งนำโดย รศ.ดร.ชนาธิป ผาริโน ผู้อำนวยการภารกิจอนาคตเชิงยุทธศาสตร์ และการริเริ่มงานวิจัยและนวัตกรรมที่สำคัญ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พร้อมด้วย รศ.ดร. อำนาจ ชิดไธสง นักวิจัยจากบัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ในฐานะผู้ประสานงานชุดโครงการศูนย์ประสานงานและพัฒนางานวิจัยด้านโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม รวมถึง Prof. Dr. WANG Lin จากสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน หรือ Center for Monsoon system Research, Institute of Atmospheric Physics, Chinese Academy of Sciences (CAS) เป็นประธานเปิดงานการประชุมวิชาการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และ Prof. Dr. Yang Song นักวิจัยจาก School of Atmospheric Sciences มหาวิทยาลัย ซุน ยัด เซ็น

ชนาธิป ผาริโน
รศ.ดร.ชนาธิป ผาริโน

ทั้งนี้ รศ.ดร.ชนาธิป ผาริโน กล่าวถึงความคาดหวังการจัดในครั้งนี้ว่า “เป็นเวทีที่ได้รวมตัวกันระหว่างนักวิจัยของไทยและจีนในการขับเคลื่อนผลักดันโครงการวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่จะส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของผู้คนในอนาคต โดยได้ดำเนินโครงการมาแล้วประมาณ 20 โครงการ สิ่งที่สำคัญเป็นการพัฒนาสร้างนักวิจัยไทยรุ่นใหม่และจะช่วยยกระดับนักวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกให้เปิดมุมมองแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างกัน จะทำให้นักวิจัยไทยก้าวหน้าทัดเทียมระดับนานาชาติ ซึ่งจะเป็นประโยชนต่อหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องได้นำข้อมูลเหล่านี้ไปประเมินวิเคราะห์ถึงสาเหตุและปัจจัยที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงนำข้อมูลการวิจัยไปขยายผลศึกษาสิ่งที่จะทำให้เกิดภัยพิบัติธรรมชาติต่าง ๆ เช่น การเกิดภัยแล้ง น้ำท่วม ภาวะฝุ่นที่สร้างมลพิษทางอากาศ และการเกิดภาวะเรือนกระจก ภาวะโลกร้อน และผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมโลก และข้อมูลผลการวิจัยจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมในการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ นอกจากนี้ สกสว. ยังได้ต่อยอดขยายโครงการการทำวิจัยเรื่องฝุ่น หรือการเปลี่ยนการใช้พลังงานที่ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย โดยได้ผลักดันงานด้านวิจัยดังกล่าวต่อยอดไปสู่การใช้เทคโนโลยีและพัฒนานวัตกรรมให้เกิดความยั่งยืน”

ขณะที่ รศ.ดร. อำนาจ ชิดไธสง นักวิจัยจากบัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ในฐานะผู้ประสานงานชุดโครงการศูนย์ประสานงานและพัฒนางานวิจัยด้านโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) กล่าวถึงที่มาที่ไปของการจัดประชุมครั้งนี้ว่า เป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาองค์ความรู้และพัฒนานักวิจัยของทั้งไทยและจีนติดต่อกันเป็นครั้งที่ 7 ภายใต้บันทึกความร่วมมือระหว่าง สกสว. และ NSFC ที่ดำเนินการร่วมกันมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 เป็นพันธกิจสำคัญตลอดระยะเวลาความร่วมมือกว่า 11 ปีที่ผ่านมา มีเป้าหมายสูงสุดในการยกระดับนักวิจัยและงานวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทยสู่ระดับสากล สร้างความร่วมมือด้านการวิจัยที่ประเทศไทยไม่สามารถทำได้ด้วยตนเอง เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้านงานวิจัยของไทยมากขึ้น เพื่อเป็นพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลการวิจัยหรือการค้นพบแนวทางการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือด้านการวิจัยในวงการสิ่งแวดล้อม ที่สนใจศึกษาวิจัยประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อันจะนำไปสู่ความร่วมมือระยะต่อไป

อำนาจ ชิดไธสง
รศ.ดร. อำนาจ ชิดไธสง

“เป็นที่ทราบกันดีว่า ประเทศที่พัฒนาแล้ว รัฐบาลลงทุนกับงานวิจัยโดยใช้งบประมาณค่อนข้างสูง จีนเป็นหนึ่งในประเทศที่รัฐบาลสนับสนุนงบประมาณวิจัย เพราะเล็งเห็นว่างานวิจัยเป็นฟันเฟืองสำคัญในการพัฒนาประเทศ ความร่วมมือตลอดระยะเวลาที่ผ่านมานับเป็นข้อดีต่อประเทศไทยเป็นอย่างมาก เนื่องจากนักวิจัยในหลายต่อหลายโครงการได้ทำงานร่วมกับนักวิจัยจีนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งงานวิจัยในหลาย ๆ โครงการ เป็นงานวิจัยเชิงมหภาคที่งบประมาณและกำลังคนของไทยไม่เพียงพอต่อการขับเคลื่อนงาน แต่ความร่วมมือระหว่างไทย-จีนในครั้งนี้ จึงถือเป็นการสร้างภาคีเครือข่ายด้านงานวิจัยที่ส่งผลดีต่อทั้งนักวิจัยไทยและประเทศไทยในแง่ของสังคมและเศรษฐกิจ” รศ.ดร. อำนาจ กล่าว

Yang Song
Prof. Dr. Yang Song

ทางด้าน Prof. Dr. Yang Song นักวิจัยจากมหาวิทยาลัย ซุน ยัด เซ็น หนึ่งในวิทยากรที่ได้ร่วมบรรยายในหัวข้อเรื่อง Southeast Asian climate change and its global climate effect โดยกล่าวว่า “ความร่วมมือระหว่างจีน-ไทยในครั้งนี้ นอกจากจะสานสัมพันธ์ทั้งสองประเทศให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นแล้ว ยังจะเป็นแบบอย่างที่ดีเพื่อพัฒนานักวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกที่จะส่งผลกระทบต่อมนุษย์ในทุก ๆ ด้านให้เปิดมุมมองที่กว้างขึ้นและสร้างองค์ความรู้ต่อกัน และจะเป็นโอกาสช่วยสร้างนักวิจัยไทยรุ่นใหม่ให้ก้าวไปสู่ระดับสากล ส่วนผลการวิจัยเรื่องดังกล่าวนี้จะนำไปเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติในภาพรวมเพื่อร่วมกันวางแผนหาแนวทางแก้ไขการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศของโลกที่จะส่งผลกระทบขยายออกไปต่อการเกิดภาวะโลกร้อน ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม การเกิดพายุ และปัญหาน้ำท่วมตามมา ดังนั้นสิ่งที่ต้องการผลักดันให้เกิดอีกหนึ่งโครงการวิจัยในประเทศไทย คือ การขยายความร่วมมือโครงการวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมทางทะเลของคราบมหาสมุทรในภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้นี้”

การประชุมวิชาการเรื่อง การตั้งรับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก

อย่างไรก็ตาม การจัดสัมมนาดังกล่าวจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 25 – 30 พฤศจิกายน 2562 ณ โรงแรมฮอลลิเดย์ อิน รีสอร์ท จ.กระบี่ ได้มีคณะนักวิชาการจากหลากหลายสถาบันการศึกษา และคณะนักวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านพลังงาน ทั้งจากประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีน กว่า 100 คน เข้าร่วมรับฟังและเสนอความคิดเห็น และร่วมแลกเปลี่ยนผลงานด้านการวิจัยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกอย่างหลากหลาย

สกสว. จับมือจีน ผนึกกำลังวิจัยตั้งรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แก้ปัญหาภาวะโลกร้อนและสิ่งแวดล้อมโลก


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เอง โดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save