กัญชา กัญชง จากสุดยอดสมุนไพร สู่อุตสาหกรรมสิ่งทอ กระดาษ ยานยนต์ และเครื่องสำอางค์


ผู้คิดปลดล็อกกัญชา กัญชง รวมถึงพืชกระท่อม ออกจากบัญชียาเสพติดประเภท 5 นับว่าเป็นบุคคลที่มีอัจฉริยะวิสัยทัศน์ ไม่ว่าท่านจะเป็นใคร แต่จงภูมิใจเถอะว่า ท่านได้ทำประโยชน์อย่างอเนกอนันต์ต่อแผ่นดินไทยแล้ว แต่มันไม่ง่ายเลยใช่ไหมท่านผู้อ่านสำหรับการที่ต้องฝ่าฟันผ่านความเชื่อของหลายๆ ฝ่ายว่า สมุนไพรเหล่านี้คือ “ยาเสพติด” พิษภัยมากมี ต้องฝ่าฟันผ่านความรู้สึกของแพทย์แผนปัจจุบัน และที่สำคัญต้องฝ่าฟันกฎระเบียบต่างๆ ที่นับวันจะผูกแน่นมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ แต่แล้ววันนั้นก็จะมาถึง 8 มิถุนายน 2565 วันกัญชาเสรี ขอแสดงความยินดีกับชาว ’สายเขียว’ ทุกท่าน

เคล็ดลับสู่ความสำเร็จก็คือ การผูกให้ภาครัฐต้องร่วมกับเอกชนในการนำ กัญชา กัญชง มาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์เป็นเวลา 5 ปี ไม่มากไม่น้อย แต่ก็สามารถทำให้กัญชา กัญชง แหกโค้งแซงพืชสมุนไพรที่อยู่ในตำรับยาแพทย์แผนไทยกว่า 50 ปี อีกมากมายที่ยังไม่สามารถเป็นที่ยอมรับอย่างเป็นทางการได้ อันเนื่องมาจากกฎเหล็กที่มีมาช้านานในอดีต ซึ่งมีผลให้ตำรับยาจากสมุนไพรนานาชนิดของไทยที่ใช้กันอยู่กลายเป็น “ยาผีบอก” เป็นยาทางเลือกที่ถูกแพทย์แผนปัจจุบันบางกลุ่มดูถูกดูแคลนและห้ามใช้รักษาในโรงพยาบาล

กัญชา กัญชง ประวัติความเป็นมา

จากข้อมูลโดย ดร.วีระชัย ณ นคร ประธานกิตติมศักดิ์สมาคมการค้าอุตสาหกรรมกัญชงไทย ได้กล่าวไว้ว่า กัญชาเป็นพืชที่อยู่คู่กับมนุษย์เรามากว่า 6,500 ปี มีถิ่นกำเนิดบริเวณแคว้นมองโกเลีย ประเทศจีน และในประเทศอียิปต์ ได้มีการแกะสลักรูปใบกัญชาบนศีรษะเทพี Seshat เทพีแห่งภูมิปัญญาชาวอียิปต์ ความรู้และการเขียนเมื่อประมาณ 4,500 ปีที่แล้ว ส่วนกัญชงนั้น เป็นศัพท์ที่บัญญัติใหม่ในสมัย พล.ต.ต.ชวลิต ยอดมณี (ยศในขณะนั้น) ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) พ.ศ. 2526-2538 ซึ่งท่านได้ใช้คำว่า “กัญชง” หมายถึงพืชที่ปลูกบนดอยโดยกลุ่มชาติพันธุ์ม้ง เพื่อใช้เป็นเส้นใย และ “กัญชา” เป็นพืชเสพติดที่ปลูกกันบนพื้นราบ เพื่อให้สื่อความหมายในการทำงานได้อย่างชัดเจนและสะดวกต่อการดำเนินงานจนกลายเป็นที่แพร่หลายอย่างรวดเร็ว

กัญชาเป็นพืชสกุล Cannabis มี 3 สายพันธุ์หลัก ได้แก่ ซาติวา (Sativa) อินดิกา (Indica) และรูเดอราลิส (Ruederalis) โดยแต่ละสายพันธุ์จะมีคุณสมบัติแตกต่างกันตามแหล่งกำเนิด ลักษณะของลำต้น ใบ และความสูง และมีสารประกอบทางเคมีกลุ่มแคนนาบินอยด์ (Cannabinoids) มากกว่า 500 ชนิด กลุ่มฟลาโวนอยด์ (Flavonoids) และมีสารเทอร์ปีน (Terpenes) มากกว่า 120 ชนิด และเมื่อทั้ง 3 กลุ่ม ทำงานร่วมกันจะทำให้เกิด Entourage Effect (อองทูราจ เอฟเฟค) คือ การเสริมฤทธิ์ให้การรักษาหรือการใช้ยามีประสิทธิภาพมากขึ้น

ประโยชน์ของกัญชา กัญชง

การใช้ประโยชน์ของพืชชนิดนี้ สามารถนำมาใช้ได้ในทุกๆ ส่วนโดยในตำรับยาสมุนไพรไทยนั้น นิยมใช้ใบ กิ่ง ก้าน ราก ในส่วนของลำต้นกัญชง นิยมนำไปใช้เป็นเส้นใยเพื่อประโยชน์ด้านความแข็งแรงและป้องกันการอับชื้น เช่น เครื่องแต่งกาย ผ้าอนามัย หมอน อิฐมวลเบาและเชื้อเพลิงชีวมวล (รายการแคนน์ โซไซตี้, 2564)

กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ได้จัดทำคู่มือชุดความรู้สุขภาพ “กัญชาทางการแพทย์แผนไทย” ฉบับอิเล็กทรอนิกส์ (E-Book) รวม 82 หน้า สามารถดาวน์โหลดได้ฟรี คู่มือฉบับนี้ได้รวบรวมข้อมูลทั้งวิธีใช้ ข้อควรระวัง กฎหมาย และการขออนุญาตของการใช้กัญชาและกัญชงแบบครบเครื่อง ที่สำคัญมีตำรับยาสมุนไพร 16 ตำรับจากกัญชาและกัญชงให้เลือกใช้ และแถมท้ายด้วยเมนูอาหารจานเด็ดจากกัญชาและกัญชง 14 รายการอาหารสุขภาพ

ด้านการรักษาที่มีหลักฐานเชิงประจักษ์นั้น กัญชา กัญชง สามารถทำให้ลดความกังวล ผ่อนคลาย นอนหลับ ต้านการอักเสบ ลดอาการคลื่นไส้อาเจียน และต้านการชักเกร็ง

กัญชา กัญชง กับการใช้ประโยชน์ในภาคอุตสาหกรรม

ในภาคอุตสาหกรรม เช่น กระดาษและสิ่งทอ หรือการใช้เป็นส่วนประกอบในการผลิตตัวถังรถยนต์ต่างๆ ส่วนใหญ่จะใช้จากส่วนเปลือกกัญชงที่มีความยืดหยุ่นสูง ในอดีตที่ผ่านมา ทั้งกัญชาและกัญชงของไทยถูกจัดให้เป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 จึงขาดการวิจัยและพัฒนา อีกทั้งต้องลักลอบปลูก ทำให้ราคาวัตถุดิบสูงและไม่สามารถควบคุมปริมาณได้ ไม่สามารถส่งเสริมให้มีการวิจัยและพัฒนาสู่เชิงพาณิชย์อย่างเต็มรูปแบบ ปัจจุบันประเทศไทยได้ปลดล็อกให้มีการปลูกอย่างเสรีสำหรับพืชทั้ง 2 ชนิด แต่ยังคงต้องร่วมลงทุนกับหน่วยงานของรัฐในการผลิตยา ซึ่งจะออกมาในกฎหมายลำดับรองต่อไป โดยอุตสาหกรรมที่สามารถใช้พืชกัญชา กัญชงได้ ขอยกตัวอย่างดังต่อไปนี้

1. อุตสาหกรรมกระดาษและสิ่งทอ ที่ผ่านมาถึงแม้จะมีข้อห้ามในการปลูก แต่หน่วยงานวิจัยของภาครัฐบางแห่งก็ได้มีการผลิตกล่องกระดาษและกระดาษจากใยกัญชง และที่มีชื่อเสียงมากที่สุดก็คือ การทอผ้าจากใยกัญชง นอกจากนี้ยังมีบริษัทเอกชนที่ได้นำเส้นใยมาทอเป็นเสื้อผ้าและเครื่องแต่งกายที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในต่างประเทศ และการวิจัยนำมาผลิตเป็นเสื้อเกราะกันกระสุน คาดว่าหลังจากปลดล็อกพืชเศรษฐกิจนี้อย่างเต็มรูปแบบแล้ว ราคาวัตถุดิบจะลดลง และมีปริมาณมากเพียงพอสามารถพัฒนาด้านคุณภาพ และอาจเป็นสินค้าส่งออกของไทยอีกชนิดหนึ่งด้วย

2. อุตสาหกรรมยานยนต์ ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ระดับโลก ได้มีการวิจัยและพัฒนานำเส้นใยจากกัญชงมาทดแทนโลหะและพบว่ามีคุณภาพดี น้ำหนักเบา มีความแข็งแรง และไม่เกิดสนิม นอกจากนี้ยังได้มีการคิดค้นนำเซลูโลสจากกัญชงมาผลิตเป็นน้ำมันเอทานอลเพื่อเติมรถยนต์ (เว็บไซต์ SiamCannNews, 2021) แต่ยังมีราคาสูงอยู่ในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทยที่จะมีการปลูกอย่างเสรี คาดว่าต้นทุนวัตถุดิบจะลดลงและสามารถควบคุมปริมาณและคุณภาพของวัตถุดิบได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่อุตสาหกรรมต้องลดการปลดปล่อยคาร์บอนลง (Carbon Neutrality) ตัวอย่างความร่วมมือระหว่างรัฐกับเอกชนในกฎหมายฉบับเดิมได้ระบุไว้ให้หน่วยงานของรัฐ อาทิ สถาบันการศึกษา โรงพยาบาลของรัฐ และภาคเอกชน นำโดยบริษัทหรือวิสาหกิจชุมชนสามารถร่วมวิจัยพัฒนา หรือเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ได้ และการขอรับใบอนุญาตปลูกนั้นจะต้องมีการนำหลักฐานที่มาของเมล็ดพันธุ์ วิธีการปลูก และการใช้ประโยชน์ ซึ่งเป็นแนวคิดช่วยให้ภาคเอกชนสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในส่วนของการขอรับใบอนุญาตยังอาจมีความล่าช้า เนื่องจากจำนวนเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอต่อการดำเนินการ

3. อุตสาหกรรมเครื่องสำอาง เป็นธุรกิจปลายน้ำที่มีมูลค่า 300,000 ล้านบาท เมื่อปี พ.ศ. 2564 ข้อมูลจากสมาคมผู้ผลิตเครื่องสำอางไทยพบว่า มากกว่าครึ่งเป็นมูลค่าตลาดในประเทศ สำหรับในต่างประเทศเครื่องสำอางไทยได้รับความนิยมจากประเทศในอาเซียน ญี่ปุ่น จีน ฮ่องกง และออสเตรเลีย ส่งผลให้ประเทศไทยส่งออกเครื่องสำอางเป็นอันดับ 2 ในอาเซียนและอันดับ 10 ของโลก อย่างไรก็ตาม สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของไทย ได้กำหนดให้สามารถใช้ส่วนของพืชที่แห้งแล้ว สารสกัด และน้ำมันจากกัญชา กัญชงในปริมาณที่กำหนด เรื่องคุณภาพ ราคา และปริมาณสารสำคัญยังคงเป็นปัจจัยหลักในการนำมาวางแผนการผลิต หากภาครัฐสามารถสร้างความรคู้ วามเข้าใจที่ดีเกี่ยวกับการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกัญชาและกัญชงเพื่อกระตุ้นการใช้/บริโภคอย่างถูกวิธีได้ จะส่งเสริมให้ธุรกิจที่มีส่วนผสมของกัญชา กัญชงช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจของประเทศได้

กัญชาและกัญชง Role Model ของการพัฒนาพืชสมุนไพรสู่สากล ซึ่งหลายๆ ตำรับยาไทยยังคงต้องให้ภาครัฐเข้ามาวิจัยพัฒนา และสร้างมาตรฐานให้เกิดความมั่นใจกับผู้ใช้สมุนไพรและควรมีงานวิจัยและพัฒนาที่ชัดเจนในมนุษย์ (Clinical Studies) มากเพียงพอเพื่อให้แพทย์แผนปัจจุบัน “สิ้นสงสัย” และเกิดความมั่นใจในการจ่ายยา ยกตัวอย่างเช่น สมุนไพรฟ้าทะลายโจร หากภาครัฐเข้ามามีส่วนร่วมพัฒนาตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ และเพิ่มการใช้ฟ้าทะลายโจรเป็นสมุนไพรทางเลือกที่สามารถทดแทนยาแผนปัจจุบันในการรักษาโรคโควิด-19 ที่กำลังผันตัวเองมาเป็นโรคประจำถิ่น ชุมชนคนธรรมดาจะได้มีทางเลือกในการดูแลสุขภาพให้สมกับที่ประเทศไทยกำลังจะเป็น THAILAND 4.0 ในยุค 5G

และเพื่อให้เกิดความเข้าใจในหลากหลายมุมมองเกี่ยวข้องกับสมุนไพรไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกัญชา กัญชง จึงได้นำความเห็นจากผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องมานำเสนอดังนี้

คุณชารอน ดัยเดียร เลย์ซั่น (ดีดี้)

  • ผู้อำนวยการหลักสูตรบูรณาการนักธุรกิจพืชเศรษฐกิจกัญชาและกัญชง Cannabis Entrepreneur Program (CEP)
  • ผู้อำนวยการ รายการแคนน์ โซไซตี้ (Cann Society TV)

ชารอน ดัยเดียร เลย์ซั่น

ด้วยนโยบายของทางภาครัฐที่ปลดกัญชาเสรีทางการแพทย์ เปิดโอกาสให้ภาคเอกชนสามารถนำพืชกัญชากัญชงเพื่อต่อยอดในเชิงเศรษฐกิจให้กับประเทศไทยเพื่อผลักดันกัญชาให้กลายเป็นพืชเศรษฐกิจอย่างแท้จริง การรับรู้และเข้าใจจึงเป็นโจทย์ที่สำคัญยิ่ง รายการแคนน์ โซไซตี้ (Cann Society TV) มุ่งหวังที่จะสานนโยบายนี้ในการสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง เพื่อให้ภาคประชาชนได้เกิดการรับรู้และเข้าใจประโยชน์ของกัญชา สามารถใช้กัญชาได้อย่างถูกต้อง และประเทศไทยถือเป็นประเทศเดียวในเอเชียที่เป็น Cannabis Oasis ที่สามารถนำพืชกัญชา กัญชงต่อยอดในเชิงพาณิชย์ เพื่อทำให้ Oasis นี้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุด หลักสูตรพัฒนาศักยภาพนักธุรกิจพืชเศรษฐกิจกัญชาและกัญชง Cannabis Entrepreneur Program (CEP) จึงได้จัดตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนส่งเสริมผู้ประกอบการในการดำเนินธุรกิจกัญชา กัญชงในเชิงพาณิชย์ และก้าวสู่การส่งออกไปยังตลาดโลกในที่สุด

คุณเกศมณี เลิศกิจจา

  • ประธานคลัสเตอร์สุขภาพและความงาม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งประกอบด้วย ยา สมุนไพร เครื่องมือแพทย์ เสริมอาหาร เทคโนโลยีชีวภาพ เครื่องสำอาง
  • นายกสมาคมผู้ผลิตเครื่องสำอางไทย

เกศมณี เลิศกิจจา

ในแวดวงความงามและผิวพรรณ สาร CBD ซึ่งมีอยู่ในทุกอณูบนร่างกายมนุษย์เรา นับว่าเป็นสารที่มีบทบาทต่อธุรกิจความงามอย่างยิ่งและด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยขึ้น ทำให้มีการศึกษาถึงองค์ประกอบสำคัญของน้ำมันจากเมล็ดกัญชง (Natural Oil) ว่ามีสารมากมายในการใช้บำรุงผิว เช่น Essential Fatty Acid, Carotenoids, Vitamin E, Terpene, Chlorophyll, Phytosterol และ Flavonoids

ด้วยข้อมูลจากการศึกษาเหล่านี้ ทำให้ทราบว่าสรรพคุณของสารสกัดนี้มีคุณสมบัติเด่น ได้แก่ ช่วยต้านอนุมูลอิสระ ลดริ้วรอย ช่วยยับยั้งความเสื่อมของเซลล์ผิว เช่น โรคสะเก็ดเงิน ช่วยลดการอักเสบของผิว ไม่ก่อให้เกิดการอุดตันรูขุมขน (Comedogenic Rating = 0) ช่วยฟื้นฟูผิวให้แข็งแรง กระตุ้นการสร้างคอลลาเจน ลดเลือนรอยแผลเป็นรอยดำ รอยแดงที่เกิดจากสิว ช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นทำให้ผิวแลดูผ่องใสขึ้น

น้ำมันจากเมล็ดกัญชง กับธุรกิจความงาม

ปัจจุบันมีเพียง 60 ประเทศที่อนุญาตให้ใช้น้ำมันและสารสกัดจากกัญชง แต่อัตราการขยายตัวในปี ค.ศ. 2016-2020 อยู่ที่ (CAGR) 20% ขณะที่สหรัฐอเมริกา เมื่อปี ค.ศ. 2020 มีการอนุญาตให้ใช้อย่างถูกกฎหมายเพียง 10 รัฐ แต่มีมูลค่าตลาดถึง 5.73 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ สำหรับภาคอุตสาหกรรมไทยเองก็มีความตื่นตัว และมีความต้องการใช้สาร CBD เป็นหนึ่งในส่วนประกอบในสูตรตามกระแสเรียกร้องของตลาด แต่ยังคงติดขัดที่ราคาต้นทุนค่อนข้างสูง หากต้องการส่งออกอาจมีปัญหาในการแข่งขันเรื่องราคา สำหรับการเข้าถึงสารสำคัญนี้ กฎระเบียบต้องอำนวยความสะดวกทางการค้า กลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องสำอางนับว่ามีความตื่นตัวและมีการจดแจ้งมากที่สุดในขณะนี้ จึงถือเป็นเรื่องดีที่จะใช้วัตถุดิบในประเทศ ซึ่งเป็นการส่งเสริมภาคเกษตรอีกทางหนึ่ง

คุณเมธา สิมะวรา

  • ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมสมุนไพร ส.อ.ท.
  • นายกสมาคมผู้ผลิตยาสมุนไพร
  • เจ้าของตำรับสมุนไพรสเปรย์แก้ไอตราเอนน่าเฮิร์บ ขึ้นทะเบียนเป็นยาพัฒนาจากสมุนไพร

เมธา สิมะวรา

สมาชิกกลุ่มอุตสาหกรรมสมุนไพร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ประกอบด้วยธุรกิจอุตสาหกรรม 8 ด้าน ได้แก่ วัตถุดิบสมุนไพร สารสกัดสมุนไพร เครื่องสำอางสมุนไพร สปาและเครื่องหอมสมุนไพร อาหารและอาหารเสริมสมุนไพร ยาสมุนไพร สมุนไพรที่ใช้ในการเกษตร (กำจัดศัตรูพืช) และยากับอาหารเสริมสัตว์สมุนไพร

วิสัยทัศน์ “ประเทศไทยเป็นเมืองแห่งสมุนไพร” โดยอาศัยโอกาสใหม่ๆ เช่น กระแสการดูแลสุขภาพ การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ การขจัดสารเคมีในร่างกายด้วยการดีท๊อกซ์ (Detox) และแนวโน้มการรับประทานอาหารปลอดสาร (ออร์แกนิก) รวมถึงนวัตกรรมในการพัฒนาสมุนไพรสู่อาหารและเครื่องดื่ม เครื่องสำอางชะลอวัย

สมุนไพรสเปรย์แก้ไอตราเอนน่าเฮิร์บ

พันธกิจ สู่การเป็นเมืองแห่งสมุนไพร

1) การวิจัยและพัฒนา ร่วมกับหน่วยงานวิจัยเฉพาะทางของภาครัฐเพื่อตอบโจทย์ตลาดตั้งแต่วัตถุดิบให้ผู้ซื้อยอมรับในผลิตภัณฑ์ จนถึงเรื่องความปลอดภัยต่อสุขภาพและประสิทธิภาพ ว่าสามารถรักษา บำรุง หรือยับยั้งตามที่แจ้งไว้หรือไม่ สำหรับสมุนไพรที่ไม่มีเจ้าของตำรับ เช่น ฟ้าทะลายโจร หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องควรเป็นเจ้าภาพในการวิจัยและพัฒนา รวมถึงถ่ายทอดให้ภาคเอกชนผลิต

2) เสริมสร้างรูปลักษณ์ เช่น การสกัดสมุนไพรให้บริสุทธิ์ ปรับปรุงรูปลักษณ์ผลิตภัณฑ์ให้ทันสมัย พัฒนาการเก็บรักษาให้อายุการใช้งานยาวขึ้น และปรับปรุงให้มีความหลากหลายตรงกับความต้องการของผู้บริโภคสมัยใหม่

3) เป็นศูนย์กลางในการประสานงานกับภาครัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ความรวดเร็ว และเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างภาครัฐกับเอกชน


Source: นิตยสาร Green Network ฉบับที่ 110 มีนาคม-เมษายน 2565 คอลัมน์ บทความ โดย พิชัย ถิ่นสันติสุข


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เอง โดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save