สนพ. เผยตัวเลขสถานการณ์การใช้น้ำมันและไฟฟ้าของประเทศไทย ปี 2564


สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน เผยข้อมูลสถานการณ์การใช้น้ำมันและไฟฟ้าของประเทศ ปี 2564 พบน้ำมันกลุ่มเบนซินมีการใช้งานลดลง 8.7% เมื่อเทียบจากปีก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วในช่วง 6 เดือนแรกของปี ประกอบกับมาตรการควบคุมสูงสุดของภาครัฐที่เข้มงวดในทุกกิจกรรมทางเศรษฐกิจประชาชนส่วนใหญ่จึงลดการเดินทางเพื่อลดความเสี่ยง ส่วนการใช้น้ำมันกลุ่มดีเซล ลดลง 3.8% เมื่อเทียบจากปีก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการควบคุมการระบาดที่เข้มงวดของภาครัฐ ส่งผลให้การใช้น้ามันกลุ่มดีเซลในการขนส่งผลผลิตทางการเกษตรลดลงตามความต้องการอุปโภคบริโภคภายในประเทศ ด้านการใช้เชื้อเพลิงในภาคขนส่งทางบก ลดลง 6.4% เมื่อเทียบจากปีก่อน ซึ่งการใช้ลดลงทุกกลุ่มเชื้อเพลิงยกเว้นไฟฟ้า มีการใช้ไฟฟ้าในสถานีอัดประจุไฟฟ้า (EV Charging Station) เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 1,030% โดย ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2564 มีจำนวนยานยนต์ไฟฟ้าจดทะเบียนสะสม อยู่ที่ 11,382 คัน เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าเมื่อเทียบจากปีก่อน ปัจจุบันมีสถานีให้บริการทั่วประเทศทั้งสิ้น 253 สถานี ส่วนการใช้ไฟฟ้าของประเทศในระบบ 3 การไฟฟ้า เพิ่มขึ้น 1.8% ส่วนหนึ่งได้รับแรงสนับสนุนจากการใช้ในสาขาอุตสาหกรรมที่ปรับตัวสูงขึ้นจากสัญญาณฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของการส่งออกสินค้าที่เริ่มขยายตัวตั้งแต่ต้นปี และจากสาขาครัวเรือนที่มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นจากการ Work Form Home และการเรียน Online

การใช้น้ำมันกลุ่มดีเซล ปี 2564

การใช้น้ำมันกลุ่มดีเซล ปี 2564

การใช้น้ำมันกลุ่มดีเซล ของปี 2564 เฉลี่ยอยู่ที่ 63.16 ล้านลิตรต่อวัน ลดลง 3.8% เมื่อเทียบจากปีก่อน ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 26.54 บาทต่อลิตร ในขณะที่ช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2564 การใช้น้ำมันกลุ่มดีเซลเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในเดือนธันวาคม มีปริมาณการใช้เฉลี่ยอยู่ที่ 77.05 ล้านลิตรต่อวัน เพิ่มขึ้น 11.1% เมื่อเทียบจากเดือนเดียวกันของปีก่อน นับว่าเป็นเดือนที่มีการใช้น้ำมันกลุ่มดีเซลสูงที่สุดในรอบปี ส่วนหนึ่งเป็นผลจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่เริ่มคลี่คลายลงตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2564 ภาครัฐผ่อนปรนมาตรการล็อกดาวน์ทำให้มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ปรับตัวขึ้นมาที่ระดับ 46.2 จากระดับ 44.9 ในเดือนก่อนหน้า อีกทั้งมูลค่าการส่งออกสินค้าขยายตัวร้อยละ 23.0 โดยเฉพาะสินค้าเกษตรและอาหารที่ขยายตัวร้อยละ 48.1 อย่างไรก็ดี ยังคงต้องติดตามการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนต่อไปอย่างใกล้ชิด

การใช้ในกลุ่มดีเซลส่วนใหญ่ 61% เป็นดีเซล B7 เฉลี่ยอยู่ที่ 38.38 ล้านลิตรต่อวัน ลดลง 8.3% เมื่อเทียบจากปีก่อน ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 28.02 บาทต่อลิตร ขณะที่การใช้ดีเซลหมุนเร็วธรรมดา คิดเป็นสัดส่วน 30% ของการใช้กลุ่มดีเซลทั้งหมด เพิ่มขึ้น 18.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการใช้เฉลี่ยอยู่ที่ 19.22 ล้านลิตรต่อวัน และมีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 25.70 บาทต่อลิตร

ในส่วนของ B20 ซึ่งเริ่มจำหน่ายมาตั้งแต่ปี 2561 การใช้เฉลี่ยอยู่ที่ 0.99 ล้านลิตรต่อวัน คิดเป็นสัดส่วน 2% ของการใช้กลุ่มดีเซลทั้งหมด ลดลง 71.6% จากปีก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการปรับส่วนผสมของไบโอดีเซลของทั้ง 2 ผลิตภัณฑ์เป็นดีเซล B7 ในเดือนธันวาคม 2564 และการจูงใจด้านราคาของผลิตภัณฑ์ ดีเซลหมุนเร็วธรรมดา และ B20 ซึ่งราคาแตกต่างกันเฉลี่ยอยู่ที่ 19 สตางค์ต่อลิตร โดย B20 มีราคาขายปลีกเฉลี่ยอยู่ที่ 25.51 บาทต่อลิตร

การใช้น้ำมันกลุ่มเบนซิน ปี 2564

การใช้น้ำมันกลุ่มเบนซิน ปี 2564

การใช้น้ำมันกลุ่มเบนซิน ของปี 2564 เฉลี่ยอยู่ที่ 29.03 ล้านลิตรต่อวัน ลดลง 8.7% เมื่อเทียบจากปีก่อน ราคาขายปลีกเฉลี่ย 28.12 บาทต่อลิตร ซึ่งการใช้น้ำมันกลุ่มเบนซินลดลงในทุกผลิตภัณฑ์ ปัจจัยหลักมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วในช่วงไตรมาสที่ 2 และ 3 ของปี ประกอบกับมาตรการที่เข้มงวดของภาครัฐประชาชนส่วนใหญ่จึงลดการเดินทางเพื่อลดความเสี่ยง ขณะที่ยอดการใช้ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2564 เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในเดือนธันวาคมการใช้เฉลี่ยอยู่ที่ 33.71 ล้านลิตรต่อวัน ส่วนหนึ่งมาจากยอดผู้ติดเชื้อที่เริ่มลดลงในเดือนพฤศจิกายน ส่งผลให้การท่องเที่ยวในประเทศเริ่มขยายตัวจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เราเที่ยวด้วยกัน สอดคล้องกับอัตราการเข้าพักของสถานพักแรมในประเทศของเดือนธันวาคม อยู่ที่ร้อยละ 37.52 ขยายตัว 49.9% เมื่อเทียบจากเดือนก่อนหน้า

การใช้น้ำมันกลุ่มเบนซินส่วนใหญ่ 51% เป็นแก๊ส โซฮอล 95 (E10) เฉลี่ยอยู่ที่ 14.90 ล้านลิตรต่อวัน ลดลง 2.7% เมื่อเทียบจากปีก่อน ราคาขายปลีกเฉลี่ยอยู่ที่ 28.52 บาทต่อลิตร การใช้แก๊สโซฮอล 91 ลดลง 16.2% เฉลี่ยอยู่ที่ 6.90 ล้านลิตรต่อวัน คิดเป็นสัดส่วน 24% ของการใช้กลุ่มเบนซินทั้งหมด ราคาขายปลีกเฉลี่ยอยู่ที่ 28.21 บาทต่อลิตร ทั้งนี้ จากราคาของทั้ง 2 ผลิตภัณฑ์ที่ไม่แตกต่างกันมากนักประกอบกับราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศ ปรับสูงขึ้นตามราคาน้ำมันในตลาดโลก โดยมีราคาเฉลี่ยแตกต่างกันที่ 31 สตางค์ต่อลิตร ทำให้ผู้ใช้ส่วนใหญ่ เลือกใช้แก๊สโซฮอล 95 เนื่องจากมีค่าออกเทนสูงกว่า

การใช้น้ำมันเบนซิน 95 เฉลี่ยอยู่ที่ 0.66 ล้านลิตร ต่อวัน ราคาขายปลีกเฉลี่ย 35.94 บาทต่อลิตร ลดลง 16.9% เมื่อเทียบจากปีก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการจูงใจด้านราคาของผลิตภัณฑ์แก๊สโซฮอล ประกอบกับรถยนต์ที่ใช้เบนซินเป็นเชื้อเพลิงส่วนใหญ่สามารถรองรับน้ำมันแก๊สโซฮอลได้

การใช้เชื้อเพลิงในภาคขนส่งทางบก ปี 2564

การใช้เชื้อเพลิงในภาคขนส่งทางบก ปี 2564

การใช้เชื้อเพลิงในภาคขนส่งทางบก ของปี 2564 การใช้อยู่ที่ 24,657 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ ลดลง 6.4% เมื่อเทียบจากปีก่อน ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2564 ประเทศไทยมีรถจดทะเบียนสะสมที่อยู่ในระบบทั้งสิ้นประมาณ 42 ล้านคัน โดยมีรถจดทะเบียนใหม่สะสมของปี 2564 อยู่ที่ประมาณ 2.7 ล้านคัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 1.9%

  • น้ำมันกลุ่มดีเซล มีสัดส่วนการใช้สูงสุดคิดเป็น 61% ของการใช้เชื้อเพลิงในภาคขนส่งทางบก ลดลง 3.8% เมื่อเทียบจากปีก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกที่ 3 ในประเทศที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วในช่วงต้นปี ประกอบกับมาตรการควบคุมการระบาดที่เข้มงวด ส่งผลให้การใช้น้ำมันกลุ่มดีเซลในการขนส่งผลผลิตทางการเกษตรลดลงตามความต้องการอุปโภคบริโภคภายในประเทศ ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2564 มีรถดีเซลที่จดทะเบียนสะสมอยู่ที่ 12 ล้านคัน โดยส่วนใหญ่เป็นรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล (6.6 ล้านคัน)
  • น้ำมันกลุ่มเบนซิน มีสัดส่วนการใช้คิดเป็น 32% ของการใช้เชื้อเพลิงในภาคขนส่งทางบก การใช้ลดลง 8.7% เมื่อเทียบจากปีก่อน ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2564 มีรถเบนซินที่จดทะเบียนสะสมอยู่ที่ 29 ล้านคัน ส่วนใหญ่เป็นรถจักรยานยนต์ (21.7 ล้านคัน) และรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน (6.8 ล้านคัน) โดยในปี 2564 มีรถเบนซินที่ จดทะเบียนใหม่อยู่ที่ประมาณ 2.1 ล้านคัน ขยายตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน 2.3%
  • NGV มีสัดส่วนการใช้คิดเป็น 4% ของการใช้เชื้อเพลิงในภาคขนส่งทางบก ลดลง 19.3% ส่วนหนึ่งเกิดจากผู้บริโภคหันกลับไปใช้น้ำมันเนื่องจากสถานีบริการมีอย่างทั่วถึงมากกว่า ราคาขายปลีก NGV เฉลี่ยอยู่ที่ 14.55 บาทต่อกิโลกรัม ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2564 มีรถ NGV ที่จดทะเบียนสะสมอยู่ที่ 3.5 แสนคัน ส่วนใหญ่ 78% เป็นรถที่ใช้ NGV ร่วมกับน้ำมันกลุ่มเบนซิน และมีสถานีให้บริการ ทั่วประเทศทั้งสิ้น 383 สถานี
  • LPG มีสัดส่วนการใช้คิดเป็น 3% ของการใช้เชื้อเพลิงในภาคขนส่งทางบก การใช้ลดลง 11.3% เมื่อเทียบจากปีก่อน ราคาขายปลีก LPG เฉลี่ยอยู่ที่ 18.87 บาทต่อกิโลกรัม หรือ 10.19 บาทต่อลิตร ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2564 ทั่วประเทศมีรถ LPG ที่จดทะเบียนสะสมอยู่ที่ 6.4 แสนคัน โดยส่วนใหญ่ 97% เป็นรถที่ใช้ LPG ร่วมกับน้ำมันกลุ่มเบนซิน และ รถ LPG ที่จดทะเบียนใหม่อยู่ที่ประมาณ 1,719 คัน ชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน 42.7%
  • ไฟฟ้า มีการใช้ไฟฟ้าของยานยนต์ไฟฟ้าในสถานี อัดประจุไฟฟ้า (EV Charging Station) เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากปีก่อนสอดคล้องกับจำนวนยานยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (BEV) ในปี 2564 มียานยนต์ไฟฟ้าจดทะเบียนสะสม ณ สิ้นเดือนธันวาคม อยู่ที่ 11,382 คัน เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าจากปีก่อนหน้า และมีสถานีให้บริการทั่วประเทศทั้งสิ้น 253 สถานี ส่วนราคาขายปลีกไฟฟ้าเฉลี่ยอยู่ที่ 2.64 บาทต่อหน่วย (สำหรับแรงดันไฟฟ้าน้อยกว่า 22 kV)

การใช้ไฟฟ้า ปี 2564

การใช้ไฟฟ้า ปี 2564

การใช้ไฟฟ้าในระบบ 3 การไฟฟ้า ของปี 2564 การใช้ไฟฟ้า อยู่ที่ 190,468 GWh เพิ่มขึ้น 1.8% เมื่อเทียบจากปีก่อน ส่วนหนึ่งได้รับแรงสนับสนุนจากการใช้ในสาขาอุตสาหกรรมที่ปรับตัวสูงขึ้นจากสัญญาณฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า และการส่งออกสินค้าที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี ประกอบกับมาตรการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวของภาครัฐ อีกทั้งการใช้ในสาขาครัวเรือนสูงขึ้นจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วในช่วงไตรมาสที่ 2 และ 3 ของปี รวมถึงสัญญาณการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนระลอกใหม่ช่วงปลายปีที่เริ่มกระจายการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วในหลายจังหวัด

  • สาขาอุตสาหกรรม มีสัดส่วนการใช้ไฟฟ้า 45% เพิ่มขึ้น 5.2% เมื่อเทียบจากปีก่อน โดยการใช้ไฟฟ้าของกลุ่มอุตสาหกรรมที่สำคัญ พบว่า อุตสาหกรรมเหล็กและโลหะพื้นฐาน อุตสาหกรรมยานยนต์ และ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ การใช้เพิ่มขึ้น 17.2% 16.7% และ 9.1% ตามลำดับ สอดคล้องกับดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม อยู่ที่ระดับ 102.6 ขยายตัวเพิ่มขึ้น 6.8% เมื่อเทียบจากปีก่อน
  • สาขาธุรกิจ มีสัดส่วนการใช้ไฟฟ้า 22% การใช้ลดลง 5.5% เมื่อเทียบจากปีก่อน โดยการใช้ไฟฟ้าของกลุ่มธุรกิจที่สำคัญ พบว่า ธุรกิจโรงแรม ธุรกิจภัตตาคารและไนต์คลับ และ สถาบันการเงิน การใช้ลดลง 17.2% 14.2% และ 9.7% ตามลำดับ ปัจจัยหลักมาจากมาตรการเข้มงวดในการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วง 6 เดือนแรกของปี อีกทั้งมาตรการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติในช่วงปลายปี 2564 ที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวไม่เป็นไปตามคาดเนื่องจากสัญญาณการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่สายพันธุ์โอมิครอน
  • สาขาครัวเรือน มีสัดส่วนการใช้ไฟฟ้า 29% เพิ่มขึ้น 2.7% เมื่อเทียบจากปีก่อน จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศที่ยังไม่คลี่คลายในช่วง 6 เดือนแรกของปี ภาครัฐจึงออกมาตรการเข้มงวดในการควบคุมการระบาดทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตและการทำงานเป็นแบบ (New Normal) ส่งผลให้เกิดการใช้ในภาคครัวเรือน ส่วนหนึ่งขยายตัวจากการ Work Form Home และการเรียน Online

ที่มา: ข้อมูล เอกสาร “สถานการณ์การใช้น้ำมันและไฟฟ้าของไทย ปี 2564” โดย ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เอง โดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save