3 จังหวัดท่องเที่ยวชายทะเลชื่อดังของไทย นำร่องจัดการปัญหาขยะพลาสติกในทะเล


ขยะทะเล” เป็นปัญหาท้าทายระดับโลกที่ทวีความรุนแรงขึ้น ซึ่งเป็นภัยคุกคามต่อระบบนิเวศ การประมง และการท่องเที่ยวบรรจุภัณฑ์พลาสติกและพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว เช่น หลอดถุงพลาสติก ส่งผลให้เกิดขยะทะเลในปริมาณมาก เอเชียตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้มีขยะที่ไหลลงสู่ทะเลมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก และส่งผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ โดยทวีปเอเชียได้ชื่อว่าเป็นผู้ผลิตพลาสติกมากถึงร้อยละ 50 ของโลก ขยะทะเลในที่นี้รวมไปถึงเครื่องมือหาปลาที่สูญหายหรือถูกโยนทิ้ง ซึ่งส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำกว่า 800 สายพันธุ์ในท้องทะเลและบริเวณชายฝั่ง1 ประมาณร้อยละ 60-90 ของขยะทะเลประกอบไปด้วยพลาสติก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบรรจุภัณฑ์และผลิตภัณฑ์พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว

เผยไมโครพลาสติกสามารถเข้าสู่อาหารและน้ำดื่ม เป็นอันตรายต่อสัตว์และสุขภาพ

จากสถิติปี พ.ศ. 2557 ระบุว่า พลาสติกราว 5-13 ล้านตันไหลลงสู่ทะเลทุกปี สิ่งที่น่ากังวลอย่างมากก็คือ เศษพลาสติกขนาดเล็กหรือไมโครพลาสติก ส่งผลร้ายแรงและสามารถเข้าสู่อาหารและน้ำดื่ม ซึ่งเป็นอันตรายต่อสัตว์และสุขภาพมนุษย์ ดังนั้นภาครัฐภาคเอกชน สถาบันการศึกษา ภาคประชาสังคม และผู้บริโภคจึงตระหนักถึงความจำเป็นในการดำเนินการและการริเริ่ม เช่นในที่ประชุม G20 การประชุมสหประชาชาติและอาเซียน รวมถึงในสหภาพยุโรปที่นำเสนอยุทธศาสตร์ยุโรปเพื่อพลาสติกการประชุมหารือแลกเปลี่ยนที่ยังดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องรวมถึงความร่วมมือระหว่างสหภาพยุโรปและประเทศในเอเชียตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้ที่มีโอกาสดำเนินงานร่วมกัน

โครงการส่งเสริมการใช้เศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อจัดการปัญหาขยะทะเล ระหว่าง EU และ 7 ประเทศภาคี

โครงการส่งเสริมการใช้เศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อจัดการปัญหาขยะทะเล (Rethinking Plastics-Circular Economy Solutions to Marine Litter) ภายใต้ทุนสนับสนุนจากสหภาพยุโรป (EU) และกระทรวงเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนาแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMZ) จึงเกิดขึ้นเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงที่นำไปสู่เศรษฐกิจหมุนเวียนสำหรับพลาสติกในเอเชียตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อลดการรั่วไหลของขยะพลาสติกลงสู่ทะเล ในระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนมีการใช้และการจัดการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนมากยิ่งขึ้น โดยผ่านกระบวนการ 3R ประกอบไปด้วย การลดการใช้ การใช้ซ้ำ และการรีไซเคิล

โดยโครงการฯ สนับสนุนความร่วมมือการดำเนินงานระหว่างสหภาพยุโรป (EU) และ 7 ประเทศภาคี ภายใต้หัวข้อเศรษฐกิจหมุนเวียน การจัดการขยะพลาสติก และให้ข้อเสนอแนะกับประเทศภาคีในด้านต่างๆ ดังนี้ 1. การจัดการขยะพลาสติก โดยผลักดันให้ผู้ผลิตเข้ามามีส่วนรับผิดชอบ (EPR) อีกทั้งจัดทำโครงการวางมัดจำบรรจุภัณฑ์ (DRS) และผลิตภัณฑ์พลาสติก 2. การบริโภคและผลิตพลาสติกอย่างยั่งยืน รวมทั้งการออกแบบผลิตภัณฑ์ เพื่อนำกลับมาใช้ (Reuse) และหมุนเวียน (Recyclability) และ 3. การลดปริมาณขยะ ณ แหล่งทิ้งขยะลงสู่ทะเล เช่น พื้นที่รับขยะจากเรือ บริเวณท่าเรือต่างๆ การเก็บขยะหรือการ (ตก) ขยะ (Fishing-for-Litter Schemes)

นอกจากนี้ โครงการฯ ยังสร้างความตระหนักรู้ให้กับหน่วยงานภาครัฐและสาธารณชนในด้านการบริโภคและการผลิตพลาสติกที่ยั่งยืนและผลกระทบของขยะในทะเลที่มีต่อสิ่งแวดล้อม และสนับสนุนการหารือเชิงนโยบายระหว่างสหภาพยุโรป องค์กรระดับภูมิภาค และประเทศภาคีในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เกี่ยวกับการผลิตและการจัดการพลาสติกในประเทศญี่ปุ่นและสิงคโปร์ เน้นความร่วมมือเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

โครงการฯ ดังกล่าวได้นำร่องในประเทศจีน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย โดยกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) และเวียดนามได้ทดลองวิธีการใหม่ๆ หรือพัฒนาต่อยอดแนวปฏิบัติการจัดการขยะพลาสติกที่มีอยู่ การบริโภคและผลิตพลาสติกอย่างยั่งยืน และการลดปริมาณขยะ ณ แหล่งทิ้งขยะลงสู่ทะเลโดยครอบคลุมไปถึงการแลกเปลี่ยนความรู้ผ่านการประชุมเชิงปฏิบัติการและการประชุมสัมมนาออนไลน์ การศึกษาดูงาน และการรณรงค์

เปิดตัวโครงการส่งเสริมการใช้เศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อจัดการปัญหาขยะทะเล นำร่อง 3 โครงการ ในภูเก็ต ระยอง และตรัง
เปิดตัวโครงการส่งเสริมการใช้เศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อจัดการปัญหาขยะทะเล นำร่อง 3 โครงการ ในภูเก็ต ระยอง และตรัง

เปิดตัวโครงการนำร่อง 3 โครงการ ลดปริมาณขยะพลาสติกลงสู่ทะเลในภูเก็ต-ระยอง-ตรัง

เมื่อเร็วๆ นี้ กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ร่วมกับโครงการส่งเสริมการใช้เศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อจัดการปัญหาขยะทะเล ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากสหภาพยุโรป (EU) และกระทรวงเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนาแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMZ) ดำเนินงานโดย องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) และ Expertise France (EF) เปิดตัวโครงการนำร่อง 3 โครงการ เพื่อลดปริมาณขยะพลาสติกที่รั่วไหลลงสู่ทะเลในจังหวัดภูเก็ต ระยอง และตรัง โดยมุ่งเน้นไปที่การลด การเก็บรวบรวม การคัดแยกและการรีไซเคิลที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ให้ได้เฉลี่ย 60% ของปริมาณขยะทั้งหมดใน 3 จังหวัดท่องเที่ยวทางทะเล มีระยะเวลาดำเนินงานถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2565

ปรีญาพร สุวรรณเกษ
ปรีญาพร สุวรรณเกษ รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ

คพ. หนุนใช้เศรษฐกิจหมุนเวียนจัดการปัญหาขยะพลาสติกในทะเลตั้งเป้าลดปริมาณขยะพลาสติก 60% ของขยะทั้งหมด

ปรีญาพร สุวรรณเกษ รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า โครงการส่งเสริมการใช้เศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อจัดการปัญหาขยะทะเล เป็นการดำเนินงานที่มีเป้าหมายสอดคล้องกับวาระแห่งชาติ เรื่องนโยบายการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ด้วยการใช้โมเดลเศรษฐกิจใหม่ คือ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) หรือ BCG Model รวมทั้ง Roadmap การจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561-พ.ศ. 2573 และแผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2563-พ.ศ. 2565 ซึ่งรัฐบาลไทยให้ความสำคัญในเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และการดำเนินการตามหลัก 3R โดยหาแนวทางแก้ไขทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เพื่อจัดการปัญหาขยะพลาสติก

“ขยะพลาสติกเป็นเรื่องที่น่ากังวลสำหรับทุกคน เราต้องก้าวไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียนสำหรับพลาสติก ซึ่งเป็นระบบเศรษฐกิจที่มีการใช้และการจัดการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน” ปรีญาพร กล่าว

สำหรับเหตุผลสำคัญที่เลือกนำร่องใน3 จังหวัด เนื่องจากตำบลเกาะลิบง จังหวัดตรัง มีข่าวพะยูนมาเรียมและมีคณะทำงานทางด้านนี้อยู่แล้ว ส่วนอีก 2 จังหวัด ได้แก่ ภูเก็ตและระยอง มีความพร้อม โดยตั้งเป้าลดปริมาณขยะพลาสติกเฉลี่ย 60% ทั้งนี้ ไทยถือเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่ให้ความสำคัญในเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และตื่นตัวในเรื่องนี้

ใช้โครงการฯ เป็นเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างภูมิภาคและยุโรป ป้องกันขยะพลาสติกรั่วไหลลงสู่ทะเล

ดร.กีเซปเป้ บูซินี่ อัครราชทูต รองหัวหน้าคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย กล่าวว่า โครงการส่งเสริมการใช้เศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อจัดการปัญหาขยะทะเล เป็นเวทีสำหรับการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างระดับภูมิภาคและยุโรป โดยดำเนินงานใกล้ชิดกับประเทศไทยในการป้องกันขยะพลาสติกรั่วไหลลงสู่ทะเล ซึ่งโครงการนำร่องสามารถส่งเสริมความพยายามให้ก้าวไปสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน พร้อมกับการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรมและสั่งสมประสบการณ์จากระดับท้องถิ่น รวมไปถึงระดับชุมชน ระดับครัวเรือน ภาคธุรกิจในท้องถิ่น และหน่วยงานในระดับท้องถิ่น เราหวังว่าโครงการนำร่องนี้จะเป็นแนวปฏิบัติที่ดีและก่อให้เกิดแรงบันดาลใจและการพัฒนาทางด้านนโยบายในอนาคต

ดร.กีเซปเป้ บูซินี่
ดร.กีเซปเป้ บูซินี่ อัครราชทูต รองหัวหน้าคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย

มร.ยาน แชร์ อัครราชทูตและรองหัวหน้าปฏิบัติการและหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ สถานเอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีประจำประเทศไทย กล่าวว่า มั่นใจว่าเราสามารถเรียนรู้ได้จากการแก้ปัญหาและเรียนรู้ได้จากการที่จังหวัดภูเก็ต ระยอง และตรัง เป็นศูนย์กลางทางด้านเศรษฐกิจและแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ อีกทั้งยังเป็นจังหวัดที่มีสิ่งแวดล้อมทางทะเลอันล้ำค่าเราสามารถเรียนรู้ได้จากความท้าทายที่ต้องเผชิญในแต่ละพื้นที่ และเป็นข้อได้เปรียบอย่างยิ่งที่ทางโครงการนำร่องมีภาคีที่มีประสบการณ์และมีผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องที่สำคัญ

มร.ยาน แชร์
มร.ยาน แชร์ อัครราชทูตและรองหัวหน้าปฏิบัติการและหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ สถานเอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีประจำประเทศไทย
มร.อัลวาโร่ ซูริต้า
มร.อัลวาโร่ ซูริต้า ผู้อำนวยการโครงการส่งเสริมการใช้เศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อจัดการปัญหาขยะทะเล องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ)

แนะชุมชนท้องถิ่นและภาคการท่องเที่ยว หลีกเลี่ยงการก่อให้เกิดขยะพลาสติกบนเกาะลิบง ที่อยู่อาศัยของพะยูน

สำหรับโครงการนำร่องทั้ง 3 จังหวัดประกอบด้วย โครงการส่งเสริมรูปแบบเศรษฐกิจหมุนเวียนในระดับท้องถิ่น เพื่อปรับปรุงรูปแบบและนโยบายด้านการจัดการขยะพลาสติก ในพื้นที่ตำบลเกาะลิบง จังหวัดตรัง ดำเนินงานโดยองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ (IUCN) เกาะลิบง จังหวัดตรัง มีความสำคัญต่อความหลากหลายทางชีวภาพของทั้งสัตว์ป่าและสัตว์น้ำ เนื่องจากเป็นบริเวณที่มีหญ้าทะเลมากที่สุดในประเทศไทย และเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของพะยูน เพื่อให้เป็นการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางทะเลเอาไว้ โครงการนำร่องจึงได้ร่วมกับชุมชนในท้องถิ่นและภาคการท่องเที่ยวเพื่อหลีกเลี่ยงการก่อให้เกิดขยะพลาสติก และจะดำเนินงานให้มีการจัดการขยะพลาสติกให้ดีขึ้น

ศิริพร ศรีอร่าม
ศิริพร ศรีอร่าม รักษาการองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ (IUCN)

ศิริพร ศรีอร่าม รักษาการองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ (IUCN) กล่าวว่า ชุมชนเกาะลิบงทำงานกันมานานแล้ว ทั้งนี้ โครงการฯ อยากได้ความเป็นไปได้ในการจัดการและพัฒนาฐานข้อมูล ใช้หลักการ 3R ได้แก่ ลดการใช้วัสดุ ผลิตภัณฑ์ ที่ก่อให้เกิดขยะ เพื่อลดปริมาณขยะที่เกิดขึ้น (Reduce) การนำวัสดุผลิตภัณฑ์ที่ยังสามารถใช้งานได้กลับมาใช้ซ้ำ (Reuse) และการนำวัสดุผลิตภัณฑ์ที่ใช้งานแล้วมาแปรรูปเพื่อนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ หรือรีไซเคิล (Recycle) รวมทั้งลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากการท่องเที่ยว โดยอบรมผู้ประกอบการท่องเที่ยวและผู้ที่เกี่ยวข้องให้มีองค์ความรู้ทางด้านนี้มากขึ้น

Rethinking Plastics

เพิ่มประสิทธิภาพการคัดแยกขยะพลาสติกจากครัวเรือนให้ได้มูลค่าเพิ่มขึ้น ศึกษาแนวทางในการนำไปเป็นวัตถุดิบใหม่

โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการคัดแยกขยะพลาสติกจากบ้านเรือนเพื่อการรีไซเคิลแบบวงจรปิด ดำเนินงานโดยคณะวิศวกรรมศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชุมชนท้องถิ่น โรงเรียนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียตลอดห่วงโซ่คุณค่าของพลาสติกในจังหวัดระยอง ได้มีส่วนร่วมในการคัดแยกและเก็บรวบรวมขยะพลาสติกให้ดีขึ้น โดยมีเป้าหมายเพื่อยกระดับอัตราการรีไซเคิลและลดการรั่วไหลของพลาสติกลงสู่ทะเล

ศาสตราจารย์ ดร.อรทัย ชวาลภาฤทธิ์
ศาสตราจารย์ ดร.อรทัย ชวาลภาฤทธิ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ศาสตราจารย์ ดร.อรทัย ชวาลภาฤทธิ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า โครงการดังกล่าว ทางคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ได้เข้าช่วยทำงานวิจัย ซึ่งเป็นครั้งแรกที่รับงานวิจัยด้านชุมชน โดยปกติจะรับงานวิจัยสำหรับภาคอุตสาหกรรมโดยโครงการฯ พยายามจะนำขยะพลาสติกที่คัดแยกแล้วมาใช้ประโยชน์ตามหลัก Circular Economy เน้นบรรจุภัณฑ์พลาสติก 80% ซึ่งเกี่ยวข้องในชีวิตประจำวัน ดังนั้นวัตถุประสงค์ของโครงการฯ คือ เพิ่มประสิทธิภาพการคัดแยกขยะพลาสติกจากบ้านเรือน เพื่อให้ได้มูลค่าเพิ่มขึ้น และศึกษาแนวทางในการนำไปเป็นวัตถุดิบใหม่ ชดเชยน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่เป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตพลาสติก โดยทำชุมชนต้นแบบหรือโรงงานต้นแบบพลาสติกวงจรปิด เพิ่มความสามารถของบุคลากรในการนำพลาสติกกลับมาใช้ใหม่ และนำผลการศึกษามาใช้เพื่อประยุกต์กับระบบ EPR System ที่ให้ผู้ผลิตนำซากมาจัดการ พร้อมกันนี้จะนำเครื่องอัดขยะพลาสติกและเครื่องล้างขยะพลาสติกมาใช้ในโรงเรียนหรือชุมชนต้นแบบ คาดว่าโครงการจะแล้วเสร็จในเดือนกุมภาพันธ์ 2565

โครงการจัดการและลดขยะพลาสติกภาคครัวเรือนและธุรกิจในภูเก็ตลดค่าใช้จ่ายในการจัดการขยะ-ลดก๊าซเรือนกระจก

โครงการจัดการและลดขยะพลาสติกภาคครัวเรือนและธุรกิจในจังหวัดภูเก็ต ดำเนินงานโดยมูลนิธิเพื่อสิ่งแวดล้อมภูเก็ต จังหวัดภูเก็ตในฐานะที่เป็นเกาะขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทยมีจุดมุ่งหมายที่จะลดและจัดการปริมาณขยะพลาสติกในภาคธุรกิจและครัวเรือนให้ดีขึ้น โดยมีการใช้วัสดุทางเลือกแทนพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวในภาคบริการส่งอาหารและภาคการท่องเที่ยว

ฐิติ สาวิสัย
ฐิติ สาวิสัย ผู้จัดการโครงการ มูลนิธิเพื่อสิ่งแวดล้อมภูเก็ต

ฐิติ สาวิสัย ผู้จัดการโครงการ มูลนิธิเพื่อสิ่งแวดล้อมภูเก็ต กล่าวว่า ในช่วง Peak จังหวัดภูเก็ตมีขยะ 1,000 ตัน/วัน ปัจจุบันโดยเทศบาลนครภูเก็ตจะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการจัดการขยะโดยการเผาและฝังกลบ 528 บาท/ตัน ปัจจุบันมีขยะประมาณ 650 ตัน/วัน โครงการฯ นี้ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการจัดการขยะในจังหวัดภูเก็ตและลดก๊าซเรือนกระจก โดยโครงการฯ ได้พัฒนา 6 พื้นที่สู่แหล่งเรียนรู้ในโรงเรียน 6 แห่งและโรงแรม 6 แห่ง จากสถานการณ์การแพร่ระบาด COVID-19 รอบ 2 ทำให้โรงแรมหลายแห่งต้องปิดตัวลง ทำให้พัฒนาในโรงแรมได้เพียง 2 แห่ง ทางโครงการฯ จึงขอ GIZ จัดทำในโรงเรียนแทน ขณะที่ได้จัดอบรมเชิงปฏิบัติการโครงการ “จัดการและลดขยะพลาสติกภาคครัวเรือนและธุรกิจจังหวัดภูเก็ต” ในโรงเรียนต่างๆ ครบแล้วทั้ง 6 แห่ง ได้แก่ โรงเรียนวัดสว่างอารมณ์ โรงเรียนเทศบาลพิบูลสวัสดีและโรงเรียนวัดเทพนิมิต เป็นต้น

ในจังหวัดภูเก็ตมีมะพร้าวอ่อนจำนวนมากทางโครงการฯ จึงมีแนวคิดที่จะนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ มีการทำถังน้ำหมักและปุ๋ยน้ำหมักจำหน่ายในราคากิโลกรัมละ 10 บาท

นอกเหนือจากโครงการนำร่องทั้ง 3 จังหวัดในประเทศไทยแล้ว โครงการส่งเสริมการใช้เศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อจัดการปัญหาขยะทะเลยังสนับสนุนโครงการนำร่องกว่า 20 โครงการใน 5 ประเทศ ซึ่งครอบคลุมถึงเรื่องการจัดการขยะพลาสติกที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น การบริโภคและการผลิตพลาสติกอย่างยั่งยืน ตลอดจนการลดขยะ ณ แหล่งทิ้งขยะลงสู่ทะเลจากเรือพาณิชย์และเรือประมงในประเทศจีน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย และเวียดนาม ประสบการณ์และบทเรียนของโครงการนำร่องจะสามารถเป็นตัวอย่างที่ดีและก่อให้เกิดการพัฒนาทางด้านนโยบายในอนาคต


Source: นิตยสาร Green Network ฉบับที่ 104 มีนาคม-เมษายน 2564 คอลัมน์ Report โดย สุรีย์พร วงศ์ศรีตระกูล


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เอง โดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save