ถึงเวลาคนไทยร่วมใจปรับเปลี่ยนพฤติกรรมช่วงหน้าหนาวสู้ภัยฝุ่นจิ๋ว


เช้าวันจันทร์ที่ 14 ธันวาคม ที่ผ่านมา กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ ได้รายงานสถานการณ์คุณภาพอากาศในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล พบว่าพื้นที่มีปริมาณฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐาน (ค่ามาตรฐานไม่เกิน 50 มคก./ลบ.ม.) และเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพถึง 56 พื้นที่ (พื้นที่สีส้ม) จากนั้นในวันรุ่งขึ้น (15 ธันวาคม 2563) ตรวจวัดได้ 42-102 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) พบว่าเกินมาตรฐาน (มาตรฐานไม่เกิน 50 มคก./ลบ.ม.) มากถึง 66 พื้นที่ ขณะที่วันที่ 16 ธันวาคม ค่าฝุ่นละอองในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลปรับตัวลดลงจากเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม ในหลายพื้นที่ แต่ภาพรวมยังอยู่ระดับสูงที่ต้องเฝ้าระวังจากปัจจัยสภาพการจราจรที่หนาแน่น และสภาพอุตุนิยมวิทยา เกิดความกดอากาศในรูปแบบฝาชีครอบ ความเร็วลมต่ำ ความชื้นสัมพัทธ์สูง การยกตัวของอากาศไม่ดี และอากาศนิ่ง เนื่องจากความกดอากาศสูงจากประเทศจีนอ่อนกำลังลง ส่งผลให้ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) กระจายตัวได้ยาก และสะสมมากขึ้น

รัฐบาล โดย ศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ ซึ่งจัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2563 ได้เข้ามาเร่งแก้ปัญหามลพิษทางอากาศ เนื่องจากในช่วงเข้าฤดูหนาวไทยต้องเผชิญปัญหาค่าฝุ่น PM2.5 เป็นประจำทุกปี แต่ในปีนี้จะแตกต่างกว่าทุกปีตรงที่ต้องรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 ไปพร้อม ๆ กัน ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อสุขภาพของคนไทยทุกคน

สภาวิศวกร จี้รัฐใช้มาตรการ ‘รีดภาษีฝุ่นรถยนต์’ หลังพบค่าฝุ่น PM2.5 เกินมาตรฐาน-มีผลต่อสุขภาพ

ศ. ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ นายกสภาวิศวกร และอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า ฝุ่น PM2.5 ยังคงเป็นวาระแห่งชาติเนื่องจากเสี่ยงกระทบต่อสุขภาพ โดยเฉพาะคนที่มีภูมิต้านทานต่ำ อย่างเด็กเล็กและผู้สูงอายุโดยหากเล็ดลอดเข้าไปในกระแสเลือดอาจจะอันตรายถึงชีวิต ซึ่งมีพิษร้ายเทียบเท่าควันบุหรี่โดยเฉพาะช่วงอากาศปิด ค่าฝุ่นจะยิ่งทวีคูณสูงขึ้น ซึ่งล่าสุดจากรายงานสถานการณ์คุณภาพอากาศ โดยสำนักวิจัยนวัตกรรมเมืองอัจฉริยะ (SCiRA) สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ณ วันที่ 14 ธันวาคม 2563 เวลา 09.00 น. พบค่าฝุ่น PM2.5 พุ่งสูงมากกว่า 200 ไมโครกรัมต่อลูกบาศเมตร (มคก./ลบ.ม.) หรืออยู่ในระดับ 5 (สีแดง) ซึ่งถือเป็นคุณภาพอากาศที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ

แนะ 3 ทางออกแก้ปัญหาฝุ่นพิษ สำหรับปัจจัยหลักของการเกิดฝุ่นนั้นยังคงเป็นปัญหาเดิม โดยเฉพาะรถยนต์และเครื่องจักรที่ใช้น้ำมันดีเซล รวมถึงการเผาในที่โล่งแจ้ง จากแหล่งกำเนิดในสถานทีต่างๆ เพื่อให้ PM2.5 ภัยพิบัติระดับชาติ ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังจริงจัง เพื่อคุณภาพชีวิตของประชาชนคนไทยที่ยั่งยืนในระยะยาว สภาวิศวกรจึงแนะ 3 ทางออกไว้ดังรายละเอียดต่อไปนี้ ภาครัฐ ต้องยกระดับปัญหาฝุ่นเป็นภัยพิบัติของประเทศ ในทางด้านกฎหมาย ผ่านการเก็บภาษีรถยนต์ปล่อยควันดำยกระดับมาตรฐานรถยูโร 4 สู่มาตรฐาน EURO 5-6 ปรับค่ามาตรฐานน้ำมันเพื่อสามารถใช้งานกับเครื่องยนต์ EURO 5-6 ปรับเปลี่ยนเครื่องยนต์ดีเซลเป็นเชื้อเพลิงจากก๊าซธรรมชาติ หรือพลังงานไฟฟ้า รวมถึงจำกัดปริมาณรถบรรทุกในพื้นที่กรุงเทพฯ ด้านงานวิจัย ควรลงทุนงบประมาณในการพัฒนานวัตกรรมแก้ปัญหาฝุ่น เพื่อลดการนำเข้าเทคโนโลยีต่างประเทศ เช่น ป้ายรถเมล์อัจฉริยะจาก สจล. เครื่องวัดฝุ่นขนาดเล็กจาก สวทช. ฯลฯ และด้านการวางระบบผังเมืองใหม่ ที่เน้นการเพิ่มพื้นที่สีเขียวจากปัจจุบัน 2-3 ตร.ม.ต่อคน เพิ่มเป็นอย่างน้อย 9-10 ตร.ม.ต่อคน

ขณะที่ ภาคเอกชน ควรให้ความร่วมมือในการแสดงผลข้อมูลปริมาณฝุ่นผ่านจอโฆษณา LED แบบเรียลไทม์ และ ภาคประชาชน ควรตระหนักถึงผลกระทบถึงฝุ่น PM2.5 ว่าเป็นเรื่องใกล้ตัว และสามารถส่งผลกระทบร้ายแรงถึงชีวิตของทั้งตนเอง รวมถึงบุคคลในครอบครัว

ปัญหามลภาวะทางอากาศจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

เผย กทม. รถติด ยิ่งปล่อย CO2 เพิ่มเป็น 2 เท่า ปริมาณปล่อยก๊าซเทียบเท่าตึกมหานคร 23,000 ตึกต่อปี

ผศ. ดร.นิรมล เสรีสกุล ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) กล่าวว่า ปัญหามลภาวะทางอากาศจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีสาเหตุสำคัญจากการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ของรถยนต์บนท้องถนน ด้วยกรุงเทพฯ เป็นเมืองที่มีปริมาณรถยนต์มหาศาล สวนทางกับสัดส่วนพื้นที่ถนน ก่อให้เกิดปัญหาการจราจรติดขัดและยิ่งเป็นสาเหตุของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และมลภาวะทางอากาศที่เกิดขึ้นซ้ำเป็นประจำทุกปี โดยเฉพาะช่วงปลายปีถึงต้นปี

จากข้อมูลของกรมการขนส่งทางบก ระบุว่า ตัวเลขรถยนต์จดทะเบียนในกรุงเทพฯ มีสูงถึง 11 ล้านคัน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นถึงปีละกว่า 300,000 คัน หรือร้อยละ 17 ซึ่งสูงกว่าทุกเมืองในโลก ขณะที่ข้อมูลของ UddC-CEUS ยังชี้ว่า สัดส่วนรถยนต์ในกรุงเทพฯ ไม่สอดคล้องกับพื้นที่ถนนที่มีเพียงร้อยละ 7 ขณะที่เมืองที่ดีควรมีพื้นที่ถนนร้อยละ 25-30 ของพื้นที่ทั้งหมด ประกอบกับเป็นเมืองที่ผู้คนต้องพึ่งพารถยนต์ตลอดเวลา จึงทำให้กรุงเทพฯ มีสภาพการจราจรติดขัด ทั้งนี้ ยิ่งรถติดยิ่งปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็น 2 เท่า ข้อมูลชี้ว่าเมื่อรถติดจะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ 400 กรัม ต่อ 1 กิโลเมตร ขณะที่ผลสำรวจของศูนย์วิจัยกสิกรไทยบอกว่า รถยนต์ในกรุงเทพฯ ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากเท่ากับตึกมหานคร 23,000 ตึกต่อปี ซึ่งเป็นปัญหาของเมืองที่น่ากังวลและต้องเร่งหาทางออกอย่างเร่งด่วน

ยูดีดีซี เสนอเมืองเดินได้-เมืองกระชับ” แก้วิกฤตจากฝุ่น PM2.5 อย่างยั่งยืน

อย่างไรก็ตาม การศึกษาของโครงการเมืองเดินได้-เมืองเดินดี (Goodwalk) โดย UddC-CEUS ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พบว่า คนกรุงเทพฯ ยินดีเดินเท้าในระยะ 800 เมตร ซึ่งเทียบเท่าผู้คนในเมืองพัฒนาแล้ว อาทิ ฮ่องกงโตเกียว นิวยอร์ก ฯลฯ จึงควรสนับสนุนให้เกิดการฟื้นฟูเมืองเพื่อส่งเสริมห้ผู้คนหันมาเลือกวิธีการสัญจรด้วยการเดินเท้าและปั่นจักรยานพร้อมกับพัฒนาระบบขนส่งมวลชนคุณภาพ อันเป็นแนวทางสำคัญในการแก้ไขปัญหามลภาวะทางอากาศและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

ผศ. ดร.นิรมล กล่าวว่า UddC-CEUS มีข้อเสนอแนวทางแก้ไขมลภาวะทางอากาศ 2 ประการ ประการแรก ส่งเสริมให้คนลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลเดินทาง นั่นแปลว่าต้องส่งเสริมระบบขนส่งมวลชนที่มีคุณภาพ รวมทั้งส่งเสริมการเดินทางที่ไม่ใช้รถยนต์ (Non-motorized Transportation) อย่างการเดินเท้าและการปั่นจักรยาน ประการที่สอง เมืองต้องลดการเดินทางของผู้คน ต้องเป็นเมืองกระชับ (Compact City) ที่บ้านและงานอยู่ไม่ไกลกันภายในย่านมีทั้งที่อยู่อาศัย แหล่งงาน แหล่งพักผ่อนหย่อนใจ แหล่งจับจ่ายใช้สอย เพื่อเอื้อให้ผู้คนใช้ชีวิตในย่านนั้น ๆ ได้โดยไม่ต้องเดินทางไกล หรือถ้าต้องการเดินข้ามย่าน ก็ใช้ระบบขนส่งมวลชนที่มีคุณภาพ โดยที่ปัญหามลภาวะทางอากาศถือเป็น wake up call ที่ทำให้ทุกฝ่ายตื่นตัว และยอมรับว่าปัญหาเมืองเป็นเรื่องของทุกคน

กทม. รถติด ยิ่งปล่อย CO2 เพิ่มเป็น 2 เท่า

มองสุขภาพเป็นเรื่องของทุกคนแก้ปัญหาฝุ่นพิษได้

เมื่อเร็ว ๆ นี้ ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย จัดเสวนา PM2.5 Series 7 หัวขอ้ “ราษฎร์-รฐั ร่วมใจสูภั้ยฝุ่นจิ๋ว” โดยมี นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ ที่ปรึกษากระทรวงสาธารณสุขระดับ 11 และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข ศ. พญ.อรุณวรรณ พฤทธิพันธุ์ กรรมการราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย และ อรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ร่วมเสวนาให้ความรู้ ดำเนินรายการโดย นพ.ไพศาล เลิศฤดีพร กุมารเวชศาสตร์โรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกัน โรงพยาบาลกรุงเทพ

นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ ที่ปรึกษากระทรวงสาธารณสุขระดับ 11 และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากรายงานสถานการณ์คุณภาพอากาศ พบค่าฝุ่น PM2.5 อยู่ในระดับสีแดงมากๆ หากไม่มีความจำเป็นต้องออกนอกบ้านให้อยู่ที่บ้าน ในส่วนของผู้ที่ออกกำลังกายกลางแจ้งให้เฝ้าระวัง พร้อมแนะนำให้ออกกำลังกายที่บ้าน อย่างไรก็ตาม หากหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมนอกบ้านไม่ได้ ให้ใส่เครื่องป้องกันและรีบเดินทางกลับบ้าน ส่วนการทำกิจกรรมกลางแจ้งให้เปลี่ยนมาทำในที่ร่มแทน สำหรับกลุ่มเสี่ยง คือ 1. เด็กเล็ก 2. ผู้สูงอายุ 3. คนมีโรคประจำตัว ได้แก่ หอบหืด หัวใจ ภูมิแพ้ และโรคเส้นเลือดในสมองตีบซึ่งมีความเสี่ยงที่จะแตกและตันได้

PM2.5 แก้ได้ต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ครอบครัวต้องช่วยกันใช้รถยนต์คันเดียวกัน ดูแลรักษารถยนต์ สำหรับช่วงนี้ให้งดการเผา โดยฝังกลบไปก่อน ต้องมองในเชิงระดับนโยบายดูแลพี่น้องประชาชนให้สุขภาพดี เพราะสุขภาพเป็นเรื่องของเราทุกคน ถ้าเราใช้หลักคิดแบบนี้ จะแก้ไขได้” นพ.รุ่งเรือง กล่าว

ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์ฯ แนะเด็ก-หญิงมีครรภ์หลีกเลี่ยงเผชิญฝุ่นพิษ

ศ.พญ.อรุณวรรณ พฤทธิพันธุ์ กรรมการราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ทางราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ได้ออก Infographic พร้อมให้คำแนะนำในการดูแลสุขภาพเด็กและหญิงตั้งครรภ์ในการรับมือฝุ่น PM2.5 ดังต่อไปนี้ 1. ทารกในครรภ์มารดา มีการเจริญเติบโตและอยู่ในช่วงกำลังพัฒนาอวัยวะต่าง ๆ เช่น ปอด และสมอง การได้รับมลพิษในช่วงนี้อาจส่งผลระยะยาวต่อการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ดังนั้นหญิงตั้งครรภ์ควรหลีกเลี่ยงมลพิษเป็นพิเศษ โดยเฉพาะหญิงที่มีอายุครรภ์น้อยกว่า 6 เดือน 2. ในเด็กปกติระดับคุณภาพอากาศที่เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพและกิจกรรมในชีวิตประจำวันคือ ระดับ AQI มากกว่า 100 หรือ PM2.5 มากกว่า 50 มคก./ลบ.ม. 3. เด็กที่มีปัญหาทางระบบหายใจเรื้อรัง เช่น โรคหืด โรคปอด เรื้อรัง เยื่อบุจมูกอักเสบจากภูมิแพ้และโรคหัวใจ ระดับคุณภาพอากาศที่เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพและกิจกรรมในชีวิตประจำวันคือ ระดับ AQI มากกว่า 50 หรือ PM2.5 มากกว่า 37 มคก./ลบ.ม. 4. ระดับคุณภาพอากาศในอาคารที่เหมาะสม คือ ระดับ AQI ไม่เกิน 50 หรือ PM2.5 ไม่เกิน 37 มคก./ลบ.ม. เมื่อระดับคุณภาพอากาศภายนอกเกินเกณฑ์มาตรฐาน ควรปิดประตูหน้าต่างให้มิดชิด โดยระวังอย่าให้ห้องร้อนเกินไป ไม่สูบบุหรี่หรือจุดธูปในอาคาร ถูพื้นโดยใช้ผ้าเปียกเพื่อลดการฟุ้งกระจายของฝุ่นละออง หากภายในอาคารมีมลพิษสูง ควรใช้เครื่องปรับอากาศหรือเครื่องฟอกอากาศที่สามารถกำจัด PM2.5 ได้ไม่ควรใช้เครื่องปรับอากาศหรือเครื่องฟอกอากาศที่มีการผลิตโอโซนเพราะโอโซนในปริมาณมากเป็นมลพิษอย่างหนึ่ง และ 5.โรงเรียนควรติดตามรายงานคุณภาพอากาศของกรมควบคุมมลพิษ และพิจารณาปรับกิจกรรมต่าง ๆ เช่น เมื่อระดับ AQI มากกว่า 100 หรือ PM2.5 มากกว่า 50 มคก./ลบ.ม. ควรสวมหน้ากากอนามัยและไม่ควรออกกำลังกายกลางแจ้ง เมื่อระดับ AQI มากกว่า 200 หรือ PM2.5 มากกว่า90 มคก./ลบ.ม. ควรหลีกเลี่ยงการอยู่กลางแจ้งและพิจารณาหยุดเรียน

สำหรับการเลือกใช้หน้ากากป้องกันฝุ่น PM2.5 หากเป็นหน้ากากผ้าที่มีเส้นใยยิ่งแน่นจะยิ่งกรองได้มาก ส่วน Surgical Mask กรองได้ดีแต่ถ้าใส่ไม่แนบก็จะไม่มีประโยชน์ ขณะที่หน้ากาก N95 กรองได้ดีมากแต่ใส่แล้วอาจจะอึดอัดได้ ทั้งนี้เลือกใช้ให้เหมาะสมกับสุขภาพ ส่วนต้นไม้ มีต้นไม้สำคัญบางชนิดช่วยดูดฝุ่นได้ ซึ่งทางราชวิทยาลัยกุมารแพทย์ฯ จะจัดให้ความรู้อีกครั้งในเดือนมกราคมปีหน้า

คพ. เผยหากประชาชนไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมแก้ปัญหาฝุ่นพิษได้ยาก

อรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะประธานศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ กล่าวว่า รัฐบาลได้บรรจุการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 เป็นแผนวาระแห่งชาติทั้งระยะสั้นและระยะยาว ระยะสั้น แก้ปัญหาทันที ส่วนระยะยาว จุดเปลี่ยนอยู่ที่การใช้เครื่องยนต์ที่ได้มาตรฐานยูโร 5-6 ซึ่งทำให้เกิด PM2.5 น้อยที่สุด ซึ่งต้องใช้เวลา

“สำหรับแผนระยะสั้น ถ้าออกแผนแต่ประชาชนไม่ร่วมมือ ยังใช้รถไม่ได้คุณภาพ น้ำมันคุณภาพต่ำ ก็แก้ไขปัญหาได้ลำบาก สิ่งแรกต้องให้ประชาชนให้ความร่วมมือ เปลี่ยน ยอมรับว่าจะกระทบต่อชีวิตปัจจุบัน ใช้รถสาธารณะ ใช้แอปพลิเคชันวางแผนเดินทาง รถที่มีควันดำอาจต้องตั้งจุดสกัดร่วมกัน กรมการขนส่ง สำนักงานตำรวจแห่งชาติและ กทม. ถ้าทุกคนช่วยจะเบาบางลง ระยะยาว เปลี่ยนจากรถไฟฟ้าจากใช้รถสันดาปไปใช้รถไฟฟ้า” อรรถพล กล่าว

นอกจากนี้ภาครัฐยังร่วมมือกับเอกชน 2 รายผลิตน้ำมันกำมะถันต่ำ ลดฝุ่น PM2.5 เกรดพรีเมี่ยมจำหน่ายให้ประชาชน ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม-28 กุมภาพันธ์ 2564 เท่านั้น ซึ่งเป็นช่วงเข้าสู่ฤดูหนาวของประเทศไทยในทุกปี เพื่อลดการเกิดวิกฤตฝุ่นละอองลงซึ่งน้ำมันชนิดนี้ใช้ได้กับรถยนต์ทุกรุ่นทั้งรถเก่าและรถใหม่โดยไม่ส่งผลกระทบต่อเครื่องยนต์


Source: นิตยสาร Green Network ฉบับที่ 102 พฤศจิกายน-ธันวาคม 2563 คอลัมน์ Green Report โดย สุรีย์พร วงศ์ศรีตระกูล

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง Update!!


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เอง โดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save