นาโนเทค สวทช. จับมือ 8 พันธมิตร หนุน “มาตรฐาน-ความปลอดภัยนาโนเทคโนโลยี” ในภาคอุตสาหกรรม


นาโนเทค สวทช. และ 8 หน่วยงานพันธมิตร ร่วมลงนามในโครงการพัฒนาเครือข่ายภาคอุตสาหกรรม เรื่อง ความปลอดภัยนาโนเทคโนโลยี ขับเคลื่อนการสร้างความตระหนักถึงความปลอดภัย และมาตรฐานด้านนาโนเทคโนโลยีภายในประเทศใน 2 ปี (2564-2565) นำร่องกลุ่มเครือข่ายภาคอุตสาหกรรมที่ใช้นาโนเทคโนโลยีในกระบวนการผลิต หวังผลักดันให้เกิดการนำมาตรฐานด้านนาโนเทคโนโลยีไปใช้สร้างความเชื่อมั่นให้ผลิตภัณฑ์ไทยในตลาดโลก

การลงนามความร่วมมือทางวิชาการใน “โครงการพัฒนาเครือข่ายภาคอุตสาหกรรม เรื่อง ความปลอดภัยนาโนเทคโนโลยี” เป็นการต่อยอดจากความร่วมมือระหว่างศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) และสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ในการจัดทำมาตรฐานอุตสาหกรรมเพื่อประกาศใช้เป็นมาตรฐานของประเทศ ซึ่งเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญที่ต่อการพัฒนานาโนเทคโนโลยีในประเทศไทย รวมถึงการจัดตั้งคณะทำงานเครือข่ายภาคอุตสาหกรรม ความปลอดภัยนาโนเทคโนโลยี เพื่อส่งเสริมการสร้างความตระหนักถึงความปลอดภัย และมาตรฐานด้านนาโนเทคโนโลยีภายในประเทศ

วรรณี ฉินศิริกุล

ดร.วรรณี ฉินศิริกุล ผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สวทช. กล่าวว่า นาโนเทคโนโลยี เป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่สำคัญในการพัฒนาประเทศ เช่นเดียวกับจริยธรรมและความปลอดภัยนาโนเทคโนโลยีก็เป็นสิ่งสำคัญคู่ขนานไปกับการพัฒนาเทคโนโลยี ประเทศไทยได้จัดทำแผนยุทธ์ศาสตร์จริยธรรมและความปลอดภัยนาโนเทคโนโลยีแห่งชาติขึ้น เพื่อบริหารจัดการด้านความรู้ และข้อมูลที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการส่งเสริมความตระหนักให้กับประชาสังคม

แผนยุทธ์ศาสตร์จริยธรรมและความปลอดภัยนาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ” เกิดขึ้นและนำไปสู่การจัดทำมาตรฐานอุตสาหกรรม “นาโนเทคโนโลยี” มอก. 2691 เพื่อการพัฒนานาโนเทคโนโลยีอย่างยั่งยืนในประเทศไทย นอกเหนือจากความรู้เกี่ยวกับประโยชน์ของเทคโนโลยีแล้ว การเผยแพร่ความรู้ให้กับผู้ผลิตและผู้บริโภคในเรื่องที่เกี่ยวกับมาตรฐาน และความปลอดภัยก็มีความสำคัญอย่างมาก รวมไปถึงการส่งเสริมให้ประชาชนและสังคมได้มีความเข้าใจเกี่ยวกับความปลอดภัยนาโนเทคโนโลยี และมีส่วนร่วมในการติดตาม และเฝ้าระวังภายในชุมชนและสังคม

“สิ่งสำคัญที่จะผลักดันให้เกิดการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพ คือเราจำเป็นต้องร่วมมือกันระหว่างองค์กร ซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญในการผลักดัน สร้างความรู้ และความตระหนักสู่ภาคประชาสังคมในวงกว้าง จากการดำเนินงานที่ผ่านมาแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม คือ มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม, ฉลากผลิตภัณฑ์นาโน, คู่มือความรู้ทางวิชาการ และการจัดอบรมสัมมนา” ดร.วรรณีกล่าว

ชัยณรงค์ เชิดชู

พลตรี รศ.ดร.ชัยณรงค์ เชิดชู ประธานคณะทำงานโครงการพัฒนาเครือข่ายภาคอุตสาหกรรม เรื่อง ความปลอดภัยนาโนเทคโนโลยี กล่าวว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ โครงการพัฒนาเครือข่ายภาคอุตสาหกรรม เรื่อง ความปลอดภัยนาโนเทคโนโลยี ในครั้งนี้ ได้รับเกียรติจากองค์กรทั้งภาครัฐ และสมาคมต่าง ๆ จำนวน 9 แห่งที่จะมาร่วมขับเคลื่อน สนับสนุน และส่งเสริม ความรู้ ความเข้าใจ รวมถึงการนำ มาตรฐาน และความปลอดภัยนาโนเทคโนโลยีสู่การประยุกต์ใช้ในในระดับมหภาค

9 องค์กรเครือข่ายพันธมิตร ประกอบด้วย 3 กลุ่มหลักคือ กลุ่มที่สนับสนุนข้อมูลเชิงวิชาการและเทคนิค (Technical support) ได้แก่ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ โดย ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ, สภาสมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย และสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ กลุ่มที่ทำหน้าที่กำกับดูแล (Regulator) ได้แก่ กรมโรงงานอุตสาหกรรม, สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม, สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค และกลุ่มผู้ใช้ที่จะได้รับผลประโยชน์ (User) ได้แก่ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมนาโนเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นการเชื่อมโยงเครือข่ายขนาดใหญ่อย่างครบวงจร

MOU มาตรฐานและความปลอดภัยนาโนเทคโนโลยี

พลตรี รศ.ดร.ชัยณรงค์ เผยว่า หลังจากการลงนามความร่วมมือฯ ในครั้งนี้ พันธมิตรทั้ง 9 จะร่วมกันจัดทำแผนปฏิบัติการ (Action Plan) โดยในช่วง 2 ปีจากนี้ จะมุ่งเน้นการสร้างความตระหนัก และความเข้าใจ เกี่ยวกับมาตรฐานฯ ทั้ง 7 เล่ม ในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ที่มีการใช้นาโนเทคโนโลยีในกระบวนการผลิต เพื่อให้เกิดการนำมาตรฐานดังกล่าวไปปรับใช้กับองค์กรของตนในอนาคต ผ่านกิจกรรมต่างๆ เช่น การจัดสัมมนาวิชาการ นิทรรศการ และการเผยแพร่ความรู้ในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมีความตระหนักถึงมาตรฐาน ความปลอดภัย และความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้จากการใช้นาโนเทคโนโลยีในกระบวนการผลิต
ดร.วรรณีคาดว่า ความร่วมมือในครั้งนี้ จะมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมที่จัดขึ้นร่วมกัน อย่างน้อย 1,000 คนต่อปี และจัดทำมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมนาโนเทคโนโลยี ปีละ 2 ฉบับ รวมถึงมีภาคอุตสาหกรรมที่สนใจเรื่อง ความปลอดภัยนาโนเทคโนโลยี เข้าร่วมอย่างน้อย 100 บริษัท

“การสร้างความรู้ ความเข้าใจในมาตรฐานด้านนาโนเทคโนโลยีและความปลอดภัยนาโนเทคโนโลยีนั้น จะช่วยให้หน่วยงานหรือองค์กรนั้นๆ สามารถดำเนินการได้อย่างมีมาตรฐานและสร้างความเชื่อมั่นในด้านความปลอดภัยให้กับพนักงานหรือผู้ปฏิบัติงาน ในขณะเดียวกัน ก็สามารถสร้างความเชื่อมั่นในองค์กรและผลิตภัณฑ์นั้นๆ ให้กับผู้บริโภคอีกด้วย เป็นการส่งเสริมให้เกิดการพัฒนานาโนเทคโนโลยีพัฒนาอย่างยั่งยืนในประเทศไทย” พลตรี รศ.ดร.ชัยณรงค์กล่าว


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เอง โดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save