ค่ายรถยนต์ EV ชั้นนำในไทย แนะรัฐออกนโยบาย EV ชัดเจน สร้างแรงจูงใจให้ผู้บริโภคใช้ EV ก่อนใช้เต็มรูปแบบในนปี 2578


สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย (EVAT) ร่วมกับ สมาคมเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงานไทย และ อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ จัดสัมมนาออนไลน์ (WEBINAR) ในหัวข้อ “มุมมองการเปลี่ยนเทคโนโลยีสู่ยานยนต์ไฟฟ้าปี ค.ศ.2035 จากผู้ประกอบการผลิตรถยนต์ชั้นนำของประเทศ” โดยมีผู้เข้าร่วมเสวนาที่คร่ำหวอดในวงการยานยนต์จากบริษัทชั้นนำร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น พร้อมเสนอแนะภาครัฐให้ความสำคัญในการจัดทำนโยบายนำเทคโนโลยีที่ทันสมัย เหมาะสม ช่วยสร้างแรงจูงใจเอื้อประโยชน์ต่อการลงทุน แก่ผู้ประกอบการและผู้บริโภคเพื่อกระตุ้นตลาดยานยนต์ไฟฟ้าเปลี่ยนเทคโนโลยีสู่ยานยนต์ไฟฟ้าปี พ.ศ. 2578 และสร้างการปรับเปลี่ยนการใช้งานยานยนต์เชื้อเพลิงน้ำมันมาสู่ยานยนต์ไฟฟ้ามากขึ้นและต่อเนื่อง

BMW ตั้งเป้าผลิต Battery Electric Vehicle สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า รองรับตลาดให้ได้ 5 รุ่น ภายในปีนี้

อนันตเดช อินทรวิศิษฏ์ ผู้จัดการผลิตภัณฑ์ยานยนต์ไฟฟ้า E-Mobility Manager บริษัท บีเอ็มดับเบิลยู ประเทศไทย กล่าวว่า ขณะนี้ยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทยกำลังขับเคลื่อนไปตามแผนการดำเนินงานของการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีเครื่องยนต์สันดาปจากน้ำมันไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้าในปี ค.ศ. 2035 (ปี พ.ศ. 2578) หรืออีก 14 ปีข้างหน้า ตามนโยบายรัฐบาล ซึ่งทาง BMW ได้ดำเนินการเปลี่ยนผ่านการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าสนองนโยบายรัฐบาลไทยเช่นเดียวกัน โดยภายในปี พ.ศ. 2564 นี้ BMW ตั้งใจที่จะผลิต BEV (Battery Electric Vehicle) สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าที่มีเฉพาะมอเตอร์ไฟฟ้าเป็นต้นกำลังให้ยานยนต์เคลื่อนที่ รองรับตลาดให้ได้ 5 รุ่น ได้แก่ BMW i3, Mini Electric, BMW iX3 เป็นรุ่นแรกใช้ระบบขับเคลื่อนรุ่นที่ 5, BMW i4 และ BMW iNEXT จากนั้นภายในปี พ.ศ. 2566 จะพัฒนายานยนต์ไฟฟ้า BMW เพิ่มในตลาดทั้ง BEVs อีกอย่างน้อย 12 รุ่น และ PHEVs (Plug-in Hybrid Electric Vehicle) รถไฮบริดพลังงานไฟฟ้าแบบชาร์จได้ อย่างน้อย 13 รุ่น

มุมมองการเปลี่ยนเทคโนโลยีสู่ยานยนต์ไฟฟ้าปี ค.ศ.2035 จากผู้ประกอบการผลิตรถยนต์ชั้นนำของประเทศ

ทิศทางยานยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกในอนาคตดีขึ้น แนะรัฐกำหนดกฎระเบียบและนโยบายให้ชัดเจนและต่อเนื่อง

อนาคตยานยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกกำลังมีทิศทางที่ดี ทั้งผู้ผลิตต่างสนใจผลิตเพิ่มขึ้น และผู้บริโภคให้ความสำคัญเลือกใช้ยานยนต์ไฟฟ้าเพราะนอกจากจะช่วยลดสภาวะโลกร้อนแล้ว ราคาการชาร์จด้วยไฟฟ้าจะถูกลงกว่าการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงหลายเท่าตัว แต่การผลิตก็จำเป็นต้องอาศัยบุคลากรที่มีทักษะ มีความเข้าใจในเทคโนโลยีสมัยใหม่และพร้อมที่จะปรับตัวอยู่เสมอในการที่จะเรียนรู้เพิ่มเติม รวมทั้งต้องมี Mindset ที่ดี พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีจากรุ่นสู่รุ่น

“ประเทศไทยโชคดีที่มีฐานการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ มีโรงงานผลิตชิ้นส่วนยานยนต์และเป็นผู้รับจ้างผลิตสินค้า OEM (Original Equipment Manufacturer) ให้กับบริษัทยานยนต์ชั้นนำของโลกหลายๆ บริษัทมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน ทำให้คุ้นเคยและทราบความต้องการของกลุ่มผู้ผลิตกลุ่มนักลงทุนจากต่างประเทศเป็นอย่างดี และมีความชำนาญในการผลิต จะปรับเปลี่ยนการทำงานได้ง่าย และสะดวกขึ้นกว่าในหลายๆ ประเทศ แต่หากไม่มีการกำหนดกฎระเบียบ เรื่องมาตรการภาษี มาตรฐานหรือทิศทางนโยบายภาครัฐที่ชัดเจนและต่อเนื่อง จะทำให้ผู้ประกอบการ นักลงทุนย้ายฐานการผลิตไปสู่ประเทศที่มีแนวนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าที่ชัดเจนกว่าประเทศไทยได้ ที่สำคัญควรน้อมรับฟังความคิดเห็นจากกลุ่มลูกค้าผู้บริโภคแล้วนำมาปรับแก้ไข อย่าละเลยเสียงวิจารณ์ยานยนต์ไฟฟ้า รถยนต์และผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของบริษัทที่ผลิตออกไป ซึ่งอาจจะมีประสิทธิภาพที่ไม่ดีบ้างจากกลุ่มผู้บริโภคที่นำไปใช้ เพราะหากไม่รับฟังเลยอาจจะทำให้ธุรกิจได้รับผลกระทบได้” อนันตเดช กล่าว

สำหรับ BMW ยังคงสานต่อการพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าที่ดีและเหมาะสมกับทุกๆ กลุ่มผู้บริโภคอย่างเต็มที่และพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือภาครัฐของไทย ในการถ่ายทอดองค์ความรู้ ประสบการณ์ผลิตยานยนต์ไฟฟ้าแก่บุคลากรและหน่วยงานของไทยในทุกๆ ภาคส่วนอย่างดีที่สุด

รัฐต้องกำหนดนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าให้ชัดเจนจูงใจให้ผู้บริโภคหันมาใช้ยานยนต์ไฟฟ้า

พงษ์ศักดิ์ เลิศฤดีวัฒนวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า จากความชำนาญที่ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ที่ใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิงมาก่อน ช่วยให้การผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยพัฒนาไปได้รวดเร็วยิ่งขึ้น แต่จะมีปัญหาเรื่องแบตเตอรี่ที่มีราคาสูง การนำมาใช้ในยานยนต์ไฟฟ้านั้น ไทยยังต้องสั่งซื้อนำเข้ามาประกอบในประเทศแต่ละปีจำนวนมาก และการใช้งานแบตเตอรี่ในแต่ละประเทศจะมีภูมิประเทศแตกต่างกัน เนื่องจากการจราจรที่แตกต่างกันและมีการกำหนดระยะทางสถานีอัดประจุไฟฟ้าในแต่ละพื้นที่ให้มีความเหมาะสมแตกต่างกัน ต้องมีการคำนวณการผลิตแบตเตอรี่ที่รองรับการใช้งาน และต้นทุนของแบตเตอรี่ ซึ่งจะเป็นอีกปัญหาที่จะทำให้ราคายานยนต์ไฟฟ้าแพงกว่ายานยนต์ใช้น้ำมันปกติทั่วไป จึงยังเป็นเรื่องที่จับต้องยาก

สำหรับผู้ที่ใช้ยานยนต์เชื้อเพลิงน้ำมันปกติการที่ส่งเสริมให้ผู้บริโภคหันมาใช้ยานยนต์ไฟฟ้านั้น ภาครัฐจะต้องกำหนดนโยบายในการช่วยเหลือทั้งผู้บริโภคและผู้ผลิตให้ชัดเจน มีแผนงานรองรับระยะสั้น ระยะกลางและระยะยาว และกำหนดมาตรการของการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าให้เป็นเชิงรุก โดยปรับเวลาและแผนส่งเสริมทุกด้านให้เร็วขึ้น ซึ่งกระทรวงพลังงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งผลักดัน เพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าและการใช้พลังงานของโลก และเท่าทันกับแรงกดดันทางการตลาดและพฤติกรรมผู้บริโภค ที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็วมากตามเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปด้วย อาจกำหนดแผนงบประมาณในการอุดหนุนระยะสั้นเท่าใด แผนระยะกลางเท่าใด และแผนระยะยาวเท่าใด พร้อมจัดตั้งหน่วยงานที่รับผิดชอบแบบบูรณาการโดยตรงเพื่อกำหนดยุทธศาสตร์แผนงาน เพื่อศูนย์กลางประสานงานและดำเนินการส่งเสริมสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้าให้ไปในแนวทางเดียวกัน มีการจัดทำแผนโรดแมปควบคุมกำกับดูแล และประสานงานทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งเรื่องภาษีและการจดทะเบียนยานยนต์ไฟฟ้า การสร้างสถานีชาร์จไฟฟ้า ที่ยังไม่ครอบคลุมทั่วประเทศ และการพัฒนาระบบโครงข่ายไฟฟ้าที่ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเชื่อมต่อผ่านมิเตอร์อัจฉริยะเพื่อให้การใช้รถยนต์ไฟฟ้าสามารถรองรับระบบ Vehicle-to-Home (V2H) ในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อเป็นอีกแรงจูงใจที่จะให้กลุ่มผู้บริโภคยานยนต์ที่ใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิงหันมาปรับเปลี่ยนใช้ยานยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น

รถยนต์ไฟฟ้า BMW

แนะรัฐปรับเปลี่ยนแผนอุตฯ ยานยนต์ให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ของโลกอย่างสมํ่าเสมอ

ที่สำคัญควรเตรียมการเพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงในระยะเปลี่ยนผ่านการใช้พลังงานครั้งสำคัญ เช่น การปรับเปลี่ยนแผนอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมใหญ่ของประเทศให้เหมาะสมสอดคล้องกับสภาวการณ์ของโลกในระยะยาวอย่างต่อเนื่องและมีการประเมินความเสี่ยงทุกๆ ไตรมาสอย่างสม่ำเสมอ

สำหรับ MG ถือเป็นผู้ประกอบการรายแรกที่กล้าดำเนินธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย ไดพ้ ยายามพฒั นาเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าที่เหมาะสมกับตลาดในประเทศไทยและตลาดอื่นๆ ตามความเหมาะสม มีการทำงานวิจัยร่วมกับหน่วยงานภาครัฐอย่างต่อเนื่องในเรื่องแบตเตอรี่ เพื่อจะให้ราคาถูกลงจากท้องตลาดนำเข้ามาจากต่างประเทศ โดยเฉพาะเรื่องราคาที่จะต้องให้กลุ่มผู้บริโภคจับต้องได้จริง นอกจากนั้นจะต้องพัฒนาประสิทธิภาพการใช้งานและความปลอดภัยของผู้บริโภคเป็นสำคัญด้วยเสมอ

เดินหน้าพัฒนาเทคโนโลยีและบุคลากรรองรับความต้องการของผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง

ครรชิต ไชยสุโพธิ์ รองประธาน บริษัท เกรทวอล มอเตอร์ประเทศไทย และภูมิภาคอาเซียน กล่าวว่า การจัดการเปลี่ยนผ่านจากยานยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงน้ำมันไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้านั้น ปัจจุบันไม่ใช่เรื่องที่ยาก เนื่องจากผู้ประกอบการทุกๆ บริษัท ต่างคิดค้นเทคโนโลยีการจัดการผลิตรองรับเพื่อให้สนองตอบความต้องการและการใช้งานที่ปลอดภัยแก่ผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น และผู้บริโภคก็เปิดใจรับการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้ามากขึ้นทุกๆ ปี จากที่เคยมีความกังวลเรื่องการใช้งานเรื่องแบตเตอรี่และอื่นๆ แต่เมื่อมีการพัฒนาและทดลองใช้งานจริงว่ามีประสิทธิภาพ ทำให้กลุ่มผู้บริโภคคลายความกังวลและหันมายอมรับ ปรับใช้งานยานยนต์ไฟฟ้ามากขึ้นในหลายๆ ประเทศ รวมทั้งประเทศไทยด้วย

เนื่องจากการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าของแต่ละประเทศจะมีความแตกต่างกัน โดยบบริษัทฯ มุ่งมั่นที่จำดำเนินนโยบายเพื่อผลิตยานยนต์เพื่อผู้บริโภค รับฟังเสียงติชมแล้วนำมาปรับแก้ไข เพราะยานยนต์ไฟฟ้าถือว่ายังเป็นเรื่องใหม่แม้จะมีการเปิดตัวใช้งานในหลายๆ ประเทศมานานแล้วก็ตาม ทั้งนี้บริษัทฯ มีเทคโนโลยีที่จะพัฒนาต่อยอดรองรับในทุกๆ สินค้า มีแผนงานรองรับยานยนต์ไฟฟ้าในทุกๆ ปี แม้จะมีสถานการณ์ทางด้านเศรษฐกิจ หรือการแพร่ระบาดของโรคระบาดใดๆ จะคุกคาม แต่การพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าของบริษัทฯ จะไม่หยุดนิ่งชะงักไปด้วย ในทางตรงกันข้าม จะพยายามพัฒนาให้ดียิ่งๆ ขึ้น

นอกจากนี้ จะมีการพัฒนาบุคลากรและถ่ายทอดเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าให้บุคลากรในองค์กรของเรา รวมทั้งคู่ค้าของบริษัทฯ เพื่อพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าในด้านต่างๆ ทั้งการทำงานและกระบวนการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าทุกๆ ขั้นตอน ให้มีประสิทธิภาพและมีคุณภาพตรงโจทย์ความต้องการของกลุ่มผู้บริโภคและตลาดการค้ายานยนต์ไฟฟ้า

รถยนต์ไฟฟ้า MG

วอน BOI ออกกฎให้บริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนรถไฟฟ้าที่ลงทุนในไทย ต้องถ่ายทอดเทคโนโลยีอย่างเป็นรูปธรรม

ครรชิต กล่าวว่า ในส่วนความช่วยเหลือของภาครัฐนั้น ต้องการให้ทางคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ช่วยออกมาตรการบังคับให้บริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้าที่มาลงทุนในไทยต้องถ่ายทอดเทคโนโลยีอย่างเป็นรูปธรรม โดยกำหนดสัดส่วนวิศวกรช่างเทคนิคในโรงงานที่เป็นคนไทยและชาวต่างชาติในอัตราที่เหมาะสม เพื่อให้คนไทยได้เรียนรู้เทคโนโลยีชั้นสูง และต่อยอดการผลิตของผู้ประกอบการไทย ซึ่งหากไม่กำหนดจะทำให้ต่างชาตินำวิศวกรและช่างมาเองและไม่มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีใดๆ แก่บุคลากรคนไทย ก็เท่ากับไม่เกิดประโยชน์ใดๆ ขึ้นเลย หากจำเป็นต้องใช้กฎหมายเฉพาะในการดำเนินการทั้งสร้างหลักสูตรผลิตบุคลากรนำผู้เชี่ยวชาญจากประเทศที่มีองค์ความรู้ยานยนต์ไฟฟ้าเฉพาะเข้ามาถ่ายทอดสู่ผู้ประกอบการไทย มีกิจกรรมสัมมนาต่างๆ เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างรัฐต่อรัฐ หรือเอกชนด้วยกัน ก็ควรดำเนินการทำ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการยานยนต์ไฟฟ้าอย่างเร่งด่วน

“ส่วนการกำหนดมาตรฐานว่าบุคลากรใดควรเข้าไปทำงานในส่วนใดของยานยนต์ไฟฟ้านั้น ควรกำหนดเป็นแบบทดสอบเป็นมาตรฐานการสอบในแต่ละครั้ง เหมือนการสอบใบขับขี่แยกประเภททดลองทำ เชื่อว่าในช่วงแรกๆ จะมีปัญหาติดขัด ทำให้ผู้ประกอบการและบุคลากรไม่คุ้นชิน แต่เมื่อเวลาผ่านไป การทดสอบนี้จะช่วยเพิ่มพูนองค์ความรู้ให้กับผู้ประกอบการและบุคลากรที่เข้าร่วมทดสอบเข้าร่วมประเมินเรื่องยานยนต์ไฟฟ้า” ครรชิต กล่าว

บูรณาการทุกหน่วยงานมุ่งขับเคลื่อนยานยนต์ไฟฟ้าของไทยอย่างจริงจัง

กฤษณะ เศรษฐธรางกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีพี โฟตอน เซลส์ จำกัด กล่าวว่า แม้ว่าจะมีสถานการณ์ COVID-19 ส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจทั่วโลกแย่ลงกว่า 2 ปีแล้ว แต่ยอดขายรถของบริษัทฯ กลับสวนทางเศรษฐกิจดังกล่าว เนื่องจากบริษัทฯ ยังคงครองแชมป์ยอดขายรถบรรทุกเพื่อการพาณิชย์อันดับ 1 ในประเทศจีน 16 ปีซ้อน โดยในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2563 ที่ผ่านมา สามารถปิดยอดได้ถึง 54,726 คันในประเทศจีน และมียอดขายทั่วโลกรวมทั้งหมดถึง 680,200 คัน เพิ่มขึ้น 26% ซึ่งสูงเป็นประวัติการณ์เมื่อเทียบกับหลายปีที่ผ่านมา แสดงถึงความเชื่อมั่นในคุณภาพ ความทนทานและตอบโจทย์การใช้งานได้อย่างหลากหลาย ที่พร้อมขับเคลื่อนธุรกิจคุณด้วยคุณภาพระดับเวิลด์คลาส

สำหรับเรื่องยานยนต์ไฟฟ้านั้น บริษัทฯ ได้ทำการตลาดเรื่องยานยนต์ไฟฟ้ามากว่า 5 ปี มองเห็นศักยภาพของตลาดที่จะโตเพิ่มขึ้นเท่าตัว หากผู้ประกอบการไทยสามารถที่จะสร้างศักยภาพของตนเองสร้างเอกลักษณ์ของยานยนต์ไฟฟ้าของตนเอง มีเทคโนโลยีและองค์ความรู้ ประกอบกับมีหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และมหาวิทยาลัยและอื่นๆ ที่สำคัญการทำงานวิจัยควบคู่ไปกับตลาดยานยนต์ไฟฟ้าของไทยต้องเร่งทำวิจัยด้วย เพื่อเป็นฐานข้อมูลช่วยสนับสนุนจะยิ่งทำให้ยานยนต์ไฟฟ้าของไทยพัฒนาเป็นที่ยอมรับของคนในประเทศก่อนที่จะไปสร้างความมั่นใจในตลาดต่างประเทศ

แต่ในขณะนี้ภาพการทำงานร่วมกันของแต่ละหน่วยงานยังไม่ชัดเจนทั้งเรื่องแนวการทำงาน แผนการทำงาน บุคลากรและใครจะเป็นผู้นำในการนำแผนการทำงานทั้งหมดเสนอต่อผู้อนุมัติโครงการอนุมัติงบประมาณที่จะช่วยเหลือผู้ประกอบการ อีกทั้งยังไม่มีหน่วยงานกลางที่เชื่อมการทำงานอย่างเป็นรูปธรรม หรือเป็นที่ปรึกษาสำหรับภาคเอกชน ผู้ประกอบการที่จะเข้ามาปรึกษาขอคำแนะนำในการทำการตลาดยานยนต์ไฟฟ้า โดยเฉพาะยานยนต์ไฟฟ้าที่เป็นรถขนาดใหญ่อย่างของบริษัทฯ เพราะหากทำยานยนต์ไฟฟ้าทั้งระบบจริง สถานีอัดประจุไฟฟ้าต้องมีความใหญ่และความพร้อมรองรับการชาร์จแบตเตอรี่ประจุไฟฟ้าในแต่ละครั้งอาจจะแยกสถานีอัดประจุไฟฟ้าขนาดใหญ่และขนาดเล็กออกจากกันหรือทำสถานีอัดประจุไฟฟ้าร่วมกันทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็กเพื่อให้มีความสะดวก แต่ระยะทางของแต่ละสถานีอัดประจุไฟฟ้าควรไม่เกิน 150 กิโลเมตรต่อ 1 สถานี

แนะพัฒนาหัวชาร์จไฟฟ้าในสถานีอัดประจุไฟฟ้าให้ใช้ได้กับทุกระบบเหมือนสมาร์ทโฟน

สำหรับตามหัวเมืองใหญ่ๆ หรือในจังหวัดที่มีการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าจำนวนมาก ควรเพิ่มสถานีอัดประจุไฟฟ้าให้มากขึ้น อาจจะใช้เทคโนโลยีค้นหาสถานีอัดประจุไฟฟ้าผ่านสมาร์ทโฟนให้ผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้าสะดวกมากขึ้นด้วยในอนาคต ซึ่งจะเป็นอีกแรงจูงใจที่ช่วยให้ผู้บริโภคหันมาใช้ยานยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น

“ในส่วนของหัวชาร์จไฟฟ้าแต่ละสถานีอัดประจุไฟฟ้าในอนาคตจะมีการพัฒนาให้ใช้ได้ทุกๆ หัวชาร์จทุกๆ ระบบ เหมือนกับการชาร์จโทรศัพท์มือถือ สมาร์ทโฟนในปัจจุบันที่พัฒนาให้ชาร์จได้ในทุกๆ ระบบในสายชาร์จเส้นเดียว ซึ่งโดยปกติแล้วการชาร์จยานยนต์ไฟฟ้าปกติ 4 ล้อจะใช้เวลาชาร์จแบบปกติ 10-20 นาที ก็จะได้แบตเตอรี่ประมาณ 70-80% ชาร์จแบบควิกชาร์จ 10-15 นาที ก็จะชาร์จได้ 100% แต่สำหรับรถขนาดใหญ่ของบริษัทจะใช้เวลาชาร์จอย่างน้อย 1-2 ชั่วโมงถึงจะชาร์จเต็มแบตเตอรี่ในแต่ละครั้ง” กฤษณะ กล่าว


Source: นิตยสาร Green Network ฉบับที่ 105 พฤษภาคม-มิถุนายน 2564 คอลัมน์ Report โดยกองบรรณาธิการ


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เอง โดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save