ธ.ก.ส. เดินหน้าแก้หนี้ครัวเรือน พร้อมลดคาร์บอนภาคเกษตร สร้างรายได้ให้ชุมชน เผยผลงานไตรมาสแรกปีบัญชี 66 เติมทุนกระตุ้นเศรษฐกิจไปแล้วกว่า 7.4 หมื่นล้านบาท
ธ.ก.ส. มุ่งแก้หนี้ครัวเรือนทั้งระบบ ผ่านมาตรการมีน้อยจ่ายน้อย มีมากจ่ายมาก จูงใจการชำระหนี้ด้วยโครงการชำระดีมีโชค การให้คำปรึกษาด้านการบริหารจัดการหนี้ผ่านโครงการมีหนี้นอกบอก ธ.ก.ส. พร้อมเติมทุนผ่านสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยผ่อนปรนและแก้ปัญหา Aging ลูกค้าด้วยสินเชื่อแทนคุณ โดยยังคงตรึงอัตราดอกเบี้ย MRR สำหรับเกษตรกรรายย่อยในช่วงการฟื้นตัวจากวิกฤตเศรษฐกิจ ควบคู่กับการพัฒนาอาชีพ หนุนการแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่มทางด้านผลผลิตและบรรจุภัณฑ์ ต่อยอดความยั่งยืนด้วยโครงการ BAAC Carbon Credit หนุนระบบการซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิตภาคป่าไม้ สร้างรายได้ให้ชุมชนครั้งแรกในประเทศไทย เผยผลการดำเนินงานไตรมาสแรกปีบัญชี 66 เติมทุนสู่ภาคชนบทไปแล้วกว่า 7.4 หมื่นล้านบาท
นายฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ได้วางนโยบายการขับเคลื่อนงาน ธ.ก.ส. ในการสานต่อเจตนารมณ์ “ธนาคารพัฒนาชนบทที่ยั่งยืน” ที่มุ่งยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรและการปรับทิศทางสู่อุตสาหกรรมเกษตร เพื่อสร้างการเติบโตในทุกมิติ พร้อมนำทัพพนักงานกว่า 23,000 คนทั่วประเทศ ก้าวข้ามความเปลี่ยนแปลงและความท้าทายใหม่เพื่อขับเคลื่อนภารกิจในด้านต่าง ๆ ทำให้ ธ.ก.ส. เป็น Essence of Agriculture [แกนกลางการเกษตร] โดยเริ่มจากการแก้ไขปัญหาหนี้สินครัวเรือนในภาคเกษตร ทำให้พี่น้องเกษตรกรก้าวพ้นกับดักหนี้และสามารถสร้างอาชีพ สร้างรายได้อย่างมั่นคง ผ่านมาตรการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ในกลุ่มหนี้ที่มีปัญหา โดยใช้ฐานข้อมูลและเทคโนโลยีในการวิเคราะห์ข้อมูล การจัดกลุ่มลูกค้า การพัฒนาเครื่องมือและช่องทางต่าง ๆ เพื่อให้ลูกค้าเข้าถึงบริการทางการเงินได้ง่ายขึ้น เช่น การชำระหนี้ผ่านแอปพลิเคชัน A-Mobile Plus และ Banking Agent เป็นต้น การจัดทำมาตรการมีมากจ่ายมาก มีน้อยจ่ายน้อย เพื่อรักษาวินัยในการชำระหนี้ ซึ่งภาพรวมจากการใช้มาตรการต่าง ๆ ทำให้อัตราหนี้ที่มีปัญหาลดลงอย่างต่อเนื่อง โดย ณ 30 มิถุนายน 2566 สามารถลด NPL ได้ 5,105 ล้านบาท โดยมีเกษตรกรที่ได้รับการแก้ไขปัญหาหนี้ไปแล้ว จำนวน 184,697 ราย จำนวนต้นเงินคงเป็นหนี้ 78,931 ล้านบาท ขณะเดียวกันยังจูงใจลูกค้าที่ชำระหนี้ดีด้วยโครงการชำระดีมีโชค โดยลูกค้าที่ชำระหนี้ตรงตามกำหนดเวลา ธนาคารจะนำจำนวนดอกเบี้ยที่ชำระจริงทุก ๆ 1,000 บาท มอบเป็นสิทธิประโยชน์ในการชิงโชค รางวัลรวมมูลค่ากว่า 500 ล้านบาท ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2566 – 30 มิถุนายน 2567 จับรางวัลรวม 4 ครั้ง การให้คำปรึกษาด้านการบริหารจัดการ ทั้งหนี้ในและนอกระบบผ่านโครงการมีหนี้นอกบอก ธ.ก.ส. โดยสามารถแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบให้เกษตรกรลูกค้าและบุคคลในครัวเรือนให้กลับเข้ามาอยู่ในระบบของ ธ.ก.ส. ไปแล้วกว่า 710,123 ราย เป็นเงินกว่า 59,000 ล้านบาท
ในด้านเงินทุน ธ.ก.ส. พร้อมเติมสินเชื่อใหม่ภายใต้อัตราดอกเบี้ยผ่อนปรน เพื่อให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุนในการผลิต พัฒนาคุณภาพและยกระดับผลิตภัณฑ์สู่ตลาดที่มีกำลังซื้อสูง เช่น สินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทย อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.01 ต่อปี สินเชื่อ SME เสริมแกร่ง และสินเชื่อสานฝันสร้างอาชีพ อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 ต่อปี เป็นต้น การเข้าไปแก้ไขปัญหา Aging ลูกค้า ธ.ก.ส. ซึ่งมีจำนวนประมาณ 35% ของลูกค้าทั้งหมด โดยจัดทำโครงการสินเชื่อแทนคุณ วงเงินรวม 20,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรลูกค้าที่อายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ที่มีหนี้อันเป็นภาระและมีความประสงค์จะโอนทรัพย์สินหลักประกันให้กับทายาท โดยเปิดโอกาสให้ทายาทเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขหนี้อย่างยั่งยืนและร่วมรักษาทรัพย์สินให้คงอยู่กับครอบครัว ตั้งเป้าทายาทเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 42,000 คน พร้อมตรึงอัตราดอกเบี้ย MRR ให้อยู่ที่ร้อยละ 6.975 ต่อปี ต่อไป แม้ภาวะอัตราดอกเบี้ยในตลาดจะปรับเพิ่มสูงขึ้นตามอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายจากดอกเบี้ยให้กับลูกค้าและสนับสนุนการฟื้นตัวของเกษตรกรรายย่อยหลังสถานการณ์ Covid-19 และวิกฤตเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ธ.ก.ส. ยังพร้อมสนับสนุนองค์ความรู้ในการพัฒนาอาชีพให้กับลูกค้า โดยร่วมกับมหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาในการให้ความรู้ด้านเทคโนโลยี นวัตกรรม การตลาด รวมไปถึงการแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่ม ทั้งด้านการดีไซน์ผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ เพื่อสร้างความหลากหลายให้กับสินค้าทางการเกษตร ควบคู่ไปกับการสร้างวินัยทางการเงินอย่างเป็นระบบด้วยการเตรียมความพร้อมให้เกษตรกรผู้สูงอายุได้เกษียณอายุอย่างมีคุณภาพ ผ่านการสนับสนุนการออมเงินที่มีคุ้มครองอุบัติเหตุ เช่น เงินฝากสงเคราะห์ชีวิต ธกส รักคุณ เป็นต้น อันเป็นการลดความเสี่ยงในกรณีเกิดเหตุไม่คาดฝันที่อาจส่งผลกระทบต่อรายได้
ธ.ก.ส. ให้ความสำคัญกับการดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่องภายใต้หลักการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ตามแนวทางปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนและภาคีเครือข่ายในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อสร้างสมดุลสิ่งแวดล้อมและการเติบโตภาคเกษตรตลอดห่วงโซ่คุณค่า โดยได้ขับเคลื่อนภารกิจสีเขียว ทั้งในระดับชุมชน ภาคีเครือข่ายและองค์กร ได้แก่ โครงการธนาคารต้นไม้ ที่น้อมนำแนวพระราชดำริ ปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง มาใช้ในการดำเนินงาน เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติของชุมชน โดยมีชุมชนทั่วประเทศเข้าร่วมโครงการแล้ว 6,814 ชุมชน ปลูกต้นไม้ไปแล้วกว่า 12.4 ล้านต้น คิดเป็นมูลค่ากว่า 43,000 ล้านบาท การยกระดับธนาคารต้นไม้สู่ชุมชนไม้มีค่า ซึ่งเป็นการนำผลิตผลจากต้นไม้มาสร้างมูลค่าเพิ่มและทำให้คนในชุมชนหันมาประกอบอาชีพที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างรายได้ อาทิ การเพาะกล้าไม้ การนำวัตถุดิบจากไม้มาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ เช่น น้ำส้มควันไม้ สมุนไพร และเฟอร์นิเจอร์ ซึ่งปัจจุบันมีชุมชนที่ยกระดับไปสู่ชุมชนไม้มีค่าแล้ว 404 ชุมชน และสร้างรายได้จากกิจกรรมดังกล่าวแล้วกว่า 116 ล้านบาท การประสานความร่วมมือกับคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในการให้ความรู้และสร้างผู้ประเมินมูลค่าต้นไม้ จำนวน 1,504 ราย ทำให้ชุมชนสามารถนำต้นไม้ที่ปลูกมาใช้เป็นหลักประกันทางธุรกิจแล้วจำนวน 4.4 ล้านบาท และเพื่อตอบโจทย์วิถีชีวิตในยุคดิจิทัล และอำนวยความสะดวกให้กับสมาชิกธนาคารต้นไม้ธ.ก.ส. ได้พัฒนาแอปพลิเคชันธนาคารต้นไม้ (Tree Bank) เพื่อใช้ในการบันทึก รวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลต้นไม้ โดยสามารถคำนวณมูลค่าต้นไม้และปริมาณในการกักเก็บคาร์บอนต้นไม้ได้อีกด้วย
เพื่อสนับสนุนชุมชนในการดูแลสิ่งแวดล้อมและลดปัญหาโลกร้อน ธ.ก.ส. ได้จัดโครงการปลูกต้นไม้เพิ่มพื้นที่สีเขียวเพื่อลดก๊าซเรือนกระจก ซึ่งมีการปลูกต้นไม้เพิ่มในโครงการดังกล่าวไปแล้ว 150,790 ต้น และโครงการสนับสนุนกิจกรรม ลดก๊าซเรือนกระจก (Low Emission Support Scheme : LESS) โดยร่วมกับองค์กรบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) ให้ความรู้ในการตรวจวัดต้นไม้ บันทึกข้อมูล และการวัดปริมาณการกักเก็บคาร์บอน ซึ่งมีชุมชนเข้าร่วมโครงการ จำนวน 76 ชุมชน และสามารถกักเก็บก๊าซเรือนกระจกได้จำนวน 1.59 ล้านตันคาร์บอน นอกจากนี้ ธ.ก.ส. ยังต่อยอดในรูปแบบธุรกิจภายใต้โครงการ BAAC Carbon Credit โดยนำร่องการพัฒนาระบบการซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิตในประเทศไทยให้เป็นที่น่าเชื่อถือและมีมาตรฐาน สามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรและชุมชน โดยเริ่มที่ธนาคารต้นไม้บ้านท่าลี่และธนาคารต้นไม้บ้านแดง จังหวัดขอนแก่น บนพื้นที่ประมาณ 369 ไร่ ซึ่งสามารถกักเก็บคาร์บอนได้กว่า 453 ตันคาร์บอน คิดเป็นมูลค่ากว่า 3,624,000 บาท
การบูรณาการร่วมกับกรมทรัพยากรน้ำบาดาลจัดโครงการสนับสนุนการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน โดยเติมองค์ความรู้เกี่ยวกับการใช้น้ำบาดาลและระบบกระจายน้ำบาดาล เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศและการนำน้ำมาใช้ในกระบวนการผลิตทางการเกษตร โดยมีชุมชนที่เข้าร่วมโครงการแล้ว 1,670 แห่งทั่วประเทศ การลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนในภาคการเกษตร พร้อมลดมลภาวะทางอากาศผ่านโครงการลดการเผาวัสดุทางการเกษตรฯ เพื่อลดฝุ่นละออง PM 2.5 ในพื้นที่ปลูกอ้อย ข้าวโพดและตอซังข้าวโดยการให้ความรู้ เข้าไปช่วยแก้ปัญหา และสร้างเครือข่าย มีพื้นที่เข้าร่วมโครงการจำนวน 443,534 ไร่ มีวัสดุการเกษตรที่เหลือใช้ เช่น ใบอ้อยหรือฟางข้าวที่ชุมชนสามารถนำมาบริหารจัดการจนเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ สามารถสร้างรายได้เพิ่มให้กับสมาชิกในชุมชนกว่า 420 ล้านบาท และยังเป็นการปรับเปลี่ยนวิธีการผลิตสู่เกษตรแบบปลอดการเผาอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ ธ.ก.ส. ยังมีการสนับสนุนการผลิตก๊าซชีวภาพจากมูลสัตว์เพื่อใช้เป็นพลังงานทดแทน รวมถึงการปรับปรุงการทำนาข้าวแห้งสลับเปียก เพื่อลดการปล่อยก๊าซมีเทน ซึ่งกิจกรรมและโครงการต่าง ๆ เหล่านี้ ธ.ก.ส. จะเชื่อมโยงไปสู่ตลาดการซื้อขายคาร์บอนเครดิต เพื่อสร้างรายได้ให้กับชุมชนต่อไป
สำหรับการขับเคลื่อนภายในองค์กร ธ.ก.ส. จัดทำโครงการเพิ่มประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจ (Eco-Efficiency) โดยลดการใช้ทรัพยากรที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารพลังงานและทรัพยากรในสำนักงานใหญ่และสาขาทั่วประเทศ อาทิ การลดปริมาณขยะ การนำน้ำเสียมาปรับคุณภาพเพื่อใช้รดต้นไม้ โครงการติดตั้ง Solar Roof Car park โครงการกังหันน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ โครงการติดตั้งเครื่องควบคุมความเร็วรอบมอเตอร์ (VSD) และโครงการปรับ ลด ปลด เปลี่ยน เพื่อลดพลังงาน รวมถึงการรณรงค์ให้พนักงานเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
ทั้งนี้ ธ.ก.ส. พร้อมสนับสนุนเงินทุนในการพัฒนาและยกระดับการดำเนินงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมตามหลัก BCG Model เพื่อสร้างระบบเศรษฐกิจและความยั่งยืนภาคการเกษตร โดยจัดทำโครงการสินเชื่อเพื่อเศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy Credit) สินเชื่อเพื่อเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy Credit) และสินเชื่อสีเขียว (Green Credit) วงเงินรวม 3.5 หมื่นล้าน หนุนการลงทุนด้านเทคโนโลยีชีวภาพ การลดปริมาณของเสีย (Zero waste) ส่งเสริมการทำเกษตรอินทรีย์ และผลิตอาหารปลอดภัย เพื่อยกระดับรายได้และสร้างการเติบโตภาคเกษตร ควบคู่กับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutrality) ภายในปี 2050
นายฉัตรชัย กล่าวต่อไปว่า สำหรับผลการดำเนินงานในไตรมาสแรกของปีบัญชี 2566 (เมษายน – มิถุนายน 2566) ธ.ก.ส. ได้สนับสนุนสินเชื่อในภาคการเกษตรไปแล้วจำนวน 74,048 ล้านบาท ทำให้มียอดสินเชื่อสะสมคงเหลือ จำนวน 1,631,268 ล้านบาท ยอดเงินฝากสะสม 1,825,943 ล้านบาท มีสินทรัพย์จำนวน 2,232,021 ล้านบาท หนี้สินรวม 2,080,919 ล้านบาท และส่วนของเจ้าของ 151,102 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ จำนวน 2,065 ล้านบาท ขณะที่ NPL อยู่ที่ร้อยละ 8.07 โดยมีอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS) ร้อยละ 12.95 สูงกว่าเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนด โดยตั้งเป้าในปีบัญชี 2566 ปล่อยสินเชื่อภาคการเกษตรเติบโตเพิ่มขึ้น 85,000 ล้านบาท เงินฝากเพิ่มขึ้น 12,000 ล้านบาท และลดหนี้ NPL ลงมาอยู่ที่ร้อยละ 5.5 โดยมุ่งเน้นการเชื่อมโยงธุรกิจเกษตรตลอดห่วงโซ่การผลิต การนำเทคโนโลยีมาปรับปรุงกระบวนการทำงานแบบ Agile ร่วมมือกับพันธมิตรธุรกิจและเครือข่ายการเกษตร รองรับการเติบโตใหม่ในกลุ่ม Smart Farmer AgriTech และ Startup พร้อมนำจุดแข็งขององค์กรคือ “คนของเรารักลูกค้า” มาเป็นกลไกในการขับเคลื่อนการสร้างคุณภาพชีวิตเกษตรกรให้ดีขึ้น (Better Life) สร้างชุมชนไทยให้เข้มแข็ง (Better Community) และสร้างความภาคภูมิใจในอาชีพการเกษตรให้มากยิ่งขึ้น (Better Pride) เพื่อยกระดับชีวิตเกษตรกรไทยสู่สังคมที่ภาคภูมิ