ชาวกรุงเทพฯ เตรียมตัวให้พร้อม มาร่วมกระชับมิตร ให้ ‘เมือง’ เป็น ‘มิตร’ มากกว่าที่เคย ไปกับเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2566 หรือ Bangkok Design Week 2023 ปลุกพลังสร้างสรรค์เที่ยว 9 ย่าน 9 วัน ทั่วกรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 4 – 12 กุมภาพันธ์ 2566 ตั้งแต่เวลา 11.00 น. – 22.00 น.
Bangkok Design Week 2023 ครั้งนี้จัดยิ่งใหญ่กว่าเดิมกว่า 530 โปรแกรม ที่รวบรวมทั้งงานดีไซน์ กิจกรรมสร้างสรรค์ ส่งต่อแรงบันดาลใจ จุดประกายไอเดียต่อยอดธุรกิจ พร้อมเปิดพื้นที่ลับสัมผัสเสน่ห์ของกรุงเทพฯ จัดโดย สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA ร่วมกับ กรุงเทพมหานคร และภาคีเครือข่ายหน่วยงานภาครัฐและเอกชน สถาบันการศึกษา องค์กรระหว่างประเทศ และเครือข่ายย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพื่อต้อนรับการเปิดเมืองอย่างเป็นทางการของกรุงเทพมหานคร
สำหรับแนวคิดปีนี้ เทศกาลฯ ตีโจทย์ของงานออกแบบ ที่ต้องสร้างเมืองที่เป็นมิตรต่อคน และสร้างคนที่เป็นมิตรต่อเมือง และทำกรุงเทพฯ ให้กลายเป็นเมืองที่ “urban‘NICE’zation เมือง – มิตร – ดี” ยิ่งขึ้น ผ่าน 6 มิติ ได้แก่ มิตรที่ดีต่อสิ่งแวดล้อม มิตรที่ดีต่อคนเดินทาง มิตรที่ดีต่อวัฒนธรรม มิตรที่ดีต่อธุรกิจ มิตรที่ดีต่อชุมชน และมิตรที่ดีต่อความหลากหลาย พร้อมทั้งเป็นแพลตฟอร์มสนับสนุนการรวมตัวของกลุ่มนักออกแบบ นักสร้างสรรค์ และอุตสาหกรรมสร้างสรรค์สาขาต่าง ๆ แสดงศักยภาพผ่านงานดีไซน์ พร้อมให้คนในชุมชนได้มีส่วนร่วมกันคิด ค้น สร้างโมเดลงานออกแบบที่ช่วยพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตของทุก ๆ คน ไปพร้อมกัน โดยการดึงสินทรัพย์ทางวัฒนธรรม และอัตลักษณ์วิถีชุมชนมาเป็นต้นทุนยกระดับพื้นที่นำร่องทั้ง 9 ย่าน สู่การเป็นเมืองสร้างสรรค์ระดับโลก ได้แก่ 1) เจริญกรุง – ตลาดน้อย 2) เยาวราช 3) สามย่าน – สยาม 4) อารีย์ – ประดิพัทธ์ 5) พระนคร / ปากคลองตลาด / นางเลิ้ง 6) วงเวียนใหญ่ – ตลาดพลู / คลองสาน 7) บางโพ 8) พร้อมพงษ์ และ9) เกษตรฯ และพื้นที่อื่น ๆ
แนะนำ 9 ย่านหลักของเทศกาลฯ
1.ย่านเจริญกรุง – ตลาดน้อย เปิดพื้นที่ ‘ต้นแบบย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์’ ของประเทศไทย ชวนนักท่องเที่ยวเดินชมงานดีไซน์บนถนนสายแรกของประเทศไทย กว่า 200 โปรแกรมสร้างสรรค์ จากนั้นลัดเลาะเข้าไปในชุมชนเก่า ‘ตลาดน้อย’ ชมผลงานจากนักสร้างสรรค์ทั่วสารทิศ ที่ตบเท้าเข้ามาจัดงานในย่านนี้
- Seatscape & Beyond by One Bangkok ที่นั่งสาธารณะที่มอบประสบการณ์ใหม่แก่คนเมือง การนำเสนอผลงานรอบสุดท้ายโดย 10 ทีมผู้ชนะในโครงการ One Bangkok Urban Furniture Competition 2022 ‘Seatscape & Beyond’ ที่ออกแบบเฟอร์นิเจอร์สาธารณะ เพื่อยกระดับบริบทแวดล้อมของพื้นที่นั้น ๆ
- Circular Café โดย QUALY X HARV X LMLM คาเฟ่ที่มีแนวคิด Zero Waste ที่ชวนคนเมืองมาร่วมทดลองเป็นผู้ผลิตและบริโภคที่รับผิดชอบอย่างสร้างสรรค์ ร่วมบริหารจัดการทรัพยากรและขยะให้เป็นศูนย์ ผ่านการเรียนรู้ที่สนุกสนานในรูปแบบคาเฟ่จำลอง ตั้งแต่การตกแต่งพื้นที่และออกแบบเฟอร์นิเจอร์ต่าง ๆ ด้วยวัสดุรีไซเคิล การลดใช้พลังงานและทรัพยากรในการจัดการ ไปจนถึงการนำเศษวัสดุเหลือใช้กลับมาใช้ประโยชน์ในร้านคาเฟ่ สร้างสรรค์ออกแบบโดย QUALY ร่วมกับ HARV และ LMLM
สถานที่: TCDC กรุงเทพฯ, ชั้น 5
- Re-Vendor เจริญกรุง 32 โดย CEA ร่วมกับ Cloud-Floor , CommDe/ID CU ,KU และ Street Vendors CRK32 ร่วมกันออกแบบเชิงทดลองของร้านค้าแผงลอย ในซอยเจริญกรุง 32 เพื่อนำเสนอสตรีทฟู้ดริมทางในรูปแบบใหม่ให้เป็นมิตรกับเมืองทั้งในด้านสิ่งแวดล้อม ธุรกิจ ชุมชน และผู้คนที่มีความหลากหลายในเมือง
สถานที่: ซอยเจริญกรุง 32
- Timber Interface โดย Nikken Sekkei Thailand ‘มหานครที่สร้างจากไม้’ ที่นำเสนอบรรยากาศของเมืองแห่งอนาคตที่มีทั้งเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) หุ่นยนต์ นวัตกรรมเมืองอัจฉริยะ (Smart City) และแนวคิดเมืองยั่งยืน ที่มีไม้เป็นวัสดุก่อสร้างหลักที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ร่มรื่นไปด้วยธรรมชาติ และส่งเสริมสภาวะสบายกายและสบายใจ
สถานที่: ศาลเจ้าโรงเกือก
2.ย่านเยาวราช ตั้งอยู่บนพื้นที่ไชน่าทาวน์ – ย่านเยาวราช ทรงวาด สำเพ็ง สู่การสร้างสรรค์ให้ย่านแห่งนี้ไม่มีวันหลับไหลและกลายเป็นพื้นที่ในการขับเคลื่อนเมืองสร้างสรรค์ด้านการออกแบบ UNESCO – Bangkok City of Design ภายใต้โปรเจ็กต์“City Trooper X Academic Program” เปิดประสบการณ์ใหม่ในย่านเก่าที่ไม่ได้มีดีแค่สตรีทฟู้ดระดับโลก แต่ยังมีความเข้มข้นทางวัฒนธรรมจีนหลากหลายยุคสมัย จากความร่วมมือของนักพัฒนาเมือง สถาบันการศึกษา และกลุ่มนักวิชาการ ร่วมค้นหาความต้องการของเมือง
- The New Bus Stop Design ภายใต้โปรเจกต์ Academic Program: Bangkok City Trooper โดยการหยิบอัตลักษณ์จีนที่เป็นวัฒนธรรมหลักของพื้นที่มาออกแบบป้ายรถเมล์รูปแบบใหม่ จำนวน 5 ป้าย จากกลุ่ม MAYDAY! ในเขตสัมพันธวงศ์ให้ใช้งานป้ายง่ายขึ้น ป้ายนี้จะติดตั้งถาวรใช้งานต่อไปหลังจบเทศกาลฯ
สถานที่: 1. ป้ายเทียนฟ้ามูลนิธิ / 2. ป้ายแยกเฉลิมบุรี / 3. ป้ายตลาดเก่าเยาวราช/ 4. ป้ายแอมไชน่าทาวน์ / 5. ป้ายเสือป่าเซนเตอร์
- You do me I do you ออกแบบโดย D&O association รังสรรค์ผลงานที่มีการใช้วัสดุที่ไม่คุ้นเคยด้วยการแลกเปลี่ยนวัสดุระหว่างสตูดิโอ เช่น เหล็กไปสู่โรงงานหวาย โดยนําหลักการและสไตล์การออกแบบเฉพาะตัวของศิลปินมาปรับใช้และสร้างสรรค์ผลงานใหม่
สถานที่ : ชุมชนเลื่อนฤทธิ์
3.ย่านสามย่าน – สยาม ศูนย์รวมแหล่งการเรียนรู้และศูนย์กลางธุรกิจที่สำคัญของกรุงเทพฯ และสนามทดลองของคนสร้างสรรค์และผู้คนที่ค้นหาสิ่งใหม่ ๆ มาระดมไอเดียนอกกรอบในพื้นที่ เช่น Art4C House of Passa Saratta CASETiFY และ BKKDW2023 ออกแบบโดย CASETiFY แบรนด์ไลฟ์สไตล์และอุปกรณ์เสริมเทคโนโลยีระดับโลก สร้างคอลเลคชั่น“เคสโทรศัพท์” ที่สะท้อนบริบทกรุงเทพฯ โดยศิลปินไทย 10 ท่าน บอกเล่าเรื่องราวของกรุงเทพฯ ให้พกพาไปได้ทุกที่
4.ย่านพระนคร / ปากคลองตลาด / นางเลิ้ง ย่านประวัติศาสตร์ เมืองเก่าที่มีความคลาสสิกสะท้อนความเจริญของยุคสมัย พร้อมวัฒนธรรมที่มีความโดดเด่นและนำมาต่อยอดอย่างสร้างสรรค์เพื่อการอนุรักษ์ สู่บริบทใหม่ของกรุงเทพฯ ตามจุดต่าง ๆ เช่น มหาวิทยาลัยศิลปากร (วังท่าพระ) โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ ประปาแม้นศรี ลานคนเมือง ไปรษณียาคาร ปากคลองตลาด และบ้านนางเลิ้ง เป็นต้น
- เล่น : สร้าง : เมือง ออกแบบโดย Plan Toys การจัดกิจกรรมที่ส่งเสริมให้เด็กในเมืองมีอิสระในการเล่น สร้างความผูกพันระหว่างเพื่อน ผู้ปกครอง ครู ผู้ใหญ่ในชุมชน ภายใต้บริบทของชุมชน
สถานที่ : ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร, ลานคนเมือง ย่านพระนคร
- 32°F #น้ำแข็งละลายเพราะโลกร้อน หัวใจไหลอ่อนเพราะโรครัก ออกแบบโดย FOS design studio ค้นพบเสน่ห์ของอาคารประวัติศาสตร์ที่ข้ามผ่านกาลเวลาและได้กลายเป็นพื้นที่ปิดในปัจจุบัน เพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ในย่านเก่าให้กับนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างประเทศ โดยจัดแสดงการออกแบบแสงสว่างทางสถาปัตยกรรม ณ ประปาแม้นศรี กิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Unfolding Bangkok – Living Old Building
สถานที่ : ประปาแม้นศรี, ย่านพระนคร
- Tango Trio | Pop-up Blossom: Flower-Inspired Installation ออกแบบโดย PHKA STUDIO X HUMANS OF FLOWER MARKET BY ARCH SU สร้างประสบการณ์ชมย่านดอกไม้ที่ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพฯ ผ่านผลงานศิลปะที่ได้แรงบันดาลใจมาจากดอกไม้ กระจัดกระจายตามจุดต่าง ๆ ของย่านปากคลองตลาด ได้แก่ 1. แยกถนนจักรเพชรตัดกับถนนบ้านหม้อ 2. ชั้น 1 กลางตลาดยอดพิมาน และ 3. พื้นที่ใต้สะพานพระปกเกล้า ข้างไปรสนียาคาร
- SATORIAL ออกแบบโดย SENSE OF NANG LOENG กิจกรรมอนุรักษณ์และส่งต่อการพัฒนาพื้นที่ในย่านนางเลิ้ง ให้เป็นแหล่งวัฒนธรรมร่วมสมัยเพื่อสร้างพื้นที่และประสบการณ์ใหม่ผ่านเสียงดนตรี พร้อม Projection Mapping ท่ามกลางบรรยากาศชุมชนดั้งเดิมซึ่งเป็นแหล่งพำนักของศิลปินนักดนตรีไทยและนางรำ
สถานที่ : The Umber Housepresso & More, ย่านนางเลิ้ง
5.ย่านอารีย์ – ประดิพัทธ์ ย่านฮิปแห่งใหม่โดยกลุ่ม AriAround ร่วมกับ ภาคีเครือข่ายนักสร้างสรรค์ จัด กิจกรรม “เปิดบ้าน เปิดย่าน เปิดเมือง” ให้ชมสตูดิโอ อาคารบ้านเรือน รวมถึงร้านค้า เป็นย่านสร้างสรรค์แห่งการเรียนรู้ ส่งเสริมธุรกิจในพื้นที่ เช่น โครงการ 33 space สวนซอยประดิพัทธ์ 17 และสวนกรมประชาสัมพันธ์ เป็นต้น
- สะพานควาย วาไรตี้ โดย SMM การนำเสนอความคิด และชวนให้มองเห็นการเปลี่ยนแปลงที่สร้างสรรค์อย่างเป็นรูปธรรมของย่านอารีย์ – ประดิพัทธ์ ผ่านนิทรรศการสื่อผสมจากแรงบันดาลใจจากพื้นที่ เพื่อให้ประสบการณ์และมุมมองใหม่ต่อผู้คนและสะพานควายอีกครั้ง
- สวนสาธารณะสร้างสรรค์ ออกแบบโดย AriAround เป็นการจัดกิจกรรมสร้างพื้นที่สีเขียวในเมือง ในการขยายมุมมองความสัมพันธ์ของผู้คนกับพื้นที่สีเขียว
สถานที่ : สวนสาธารณะ กรมประชาสัมพันธ์
6.ย่านพร้อมพงษ์ เช็คอินยามค่ำที่พร้อมพงษ์ ย่านเศรษฐกิจใจกลางเมือง ซอยสุขุมวิท 26 โดยกลุ่ม 49 & FRIENDS เป็นการรวมตัวของนักสร้างสรรค์ ยกระดับให้ย่านมีการเติบโตทางเศรษฐกิจ เป็นมิตรต่อการอยู่อาศัย และกลายเป็นอีกจุดหนึ่งที่นักท่องเที่ยวห้ามพลาด
- 49 & FRIENDS: LUMINOUS 26 พัฒนาสิ่งแวดล้อมใหม่โดย A49 / A49HD ในซอยสุขุมวิท 26 ออกแบบระบบส่องสว่างใหม่ เพิ่มความปลอดภัยของคนเดินถนนและรถยนต์ในยามค่ำคืน
7.ย่านบางโพ สานต่อ ‘ถนนสายไม้บางโพ ตํานานที่มีชีวิต’ พื้นที่วัฒนธรรม แหล่งเรียนรู้ ความคิดสร้างสรรค์จากผู้ผลิตงานไม้ในย่านสู่การสร้างมูลค่าเพิ่ม หาซื้องานไม้ดีไซน์เก๋ราคาพิเศษในรอบ 15 ปี งานไม้ งานเฟอร์นิเจอร์ งานแกะสลัก ไม้แปรรูป ของตกแต่งประเภทต่าง ๆ รับส่วนลดสูงสุดกว่า 50%
- เดินในซอยไม้เข้าพาวิลเลี่ยน The Life of Wood โดย Bangpho Wood Street ที่สร้างโคมไม้แปรรูป ด้วยแนวคิด ‘FILL THE GAP – เติมเต็ม ต่อยอดยุคสมัย ต่อยอดอาชีพ’ มอบประสบการณ์แก่ผู้เข้าชม ให้ถนนสายไม้เป็นถนนสร้างสรรค์ที่จะกลับมามีชีวิตอีกครั้งหนึ่ง
สถานที่ : ศาลเจ้าแม่ทับทิม
- เดินช้อปและพักเหนื่อยได้ที่ Pocket Park สวนสาธารณะขนาดเล็ก จากแนวคิด Balance in Space โดย Bangpho Wood Street ปรับพื้นที่จอดรถเป็นพื้นที่สาธารณะ ด้วยวัสดุเหลือใช้ภายในย่านมาต่อยอดด้วยงานฝีมือของคนในย่าน
สถานที่ : บริษัท ทวีกิจ ผลิตภัณฑ์ไม้ จำกัด
8.ย่านวงเวียนใหญ่ – ตลาดพลู / คลองสาน พาเที่ยวย่านกรุงเก่าธนบุรี มุ่งหน้าวงเวียนใหญ่ – ตลาดพลู / คลองสาน บนถนนสายวัฒนธรรม ความเชื่อ อาหาร และศิลปกรรม ในรูปแบบใหม่ โดย SC Asset ร่วมกับ กลุ่มยังธน สถานบันการศึกษา กลุ่มนักสร้างสรรค์ กลุ่มผู้ประกอบการ ชุมชนคนในพื้นที่ และย่านคลองสาน ดึงสินทรัพย์สร้างมูลค่าเพิ่มมานำเสนอในการออกแบบใหม่ที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย ด้วยกิมมิคนั่งเรือเที่ยวตามสไตล์ กลุ่ม SUP X Klong San และไอคอนสยาม
- งานถลกหนังที่ไม่ต้องกลัวหนังถลอก แค่เข้าไปสัมผัสจัดการออกแบบให้เข้ากับที่อยู่อาศัยที่ “THE MAKER” ซอยกรุงธนบุรี : ย่านเจริญรัถ โดย SC Asset ออกแบบผลิตภัณฑ์ จัดวางในพื้นทห้องตัวอย่างของ The Reference Condominium ที่แสดงถึงความทรงจำที่สื่อถึงบริบทพื้นที่
9.ย่านเกษตร โปรแกรมสายเขียวย่านเกษตร ด้วยแนวคิด ‘GREEN LIVING กรีนดีอยู่ดี’ ไม่เพียงเที่ยวงานเกษตรแฟร์ แต่ยังสามารถเข้าร่วมกิจกรรมเวิร์กช็อปที่ช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เช่น การเวิร์กช็อปมัดผ้าจากสีธรรมชาติ การตัดเย็บผ้าไม่ให้เหลือเศษผ้า ตลอดจนข้ามฟากเข้าตลาดอมรพันธุ์และเข้าร่วมกิจกรรมการจัดการของเสีย
- กิจกรรมเวิร์กช็อป ‘การจัดการขยะและของเสียจากตลาดสดรถเข็นขายอาหาร’ จัดร่วมกันระหว่าง คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ J Market ผู้ดูแลพื้นที่ตลาดอมรพันธุ์ เพื่อสร้างความตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมและปรับปรุงระบบการจัดการขยะให้ดียิ่งขึ้น