บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BPP ผู้ผลิตพลังงานไฟฟ้าคุณภาพระดับสากล เผยกลยุทธ์ทางธุรกิจ ปี พ.ศ.2566-2568 เน้นบริหารสินทรัพย์อย่างเต็มศักยภาพ สร้างการเปลี่ยนผ่านทางธุรกิจอย่างแข็งแกร่ง และเร่งพอร์ตพลังงานสะอาดตามกลยุทธ์ Greener & Smarter โดยเน้นประสิทธิภาพและความต่อเนื่องของการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าและการบริหารจัดการต้นทุน สร้างกระแสเงินสดที่มั่นคงเพื่อต่อยอดในพอร์ตโฟลิโอพลังงานที่สะอาดขึ้น พร้อมลงทุนในโรงไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพสูงและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (High Efficiency, Low Emissions: HELE) ตามเป้าหมาย เพื่อเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้า 5,300 เมกะวัตต์ภายในปี พ.ศ.2568
กิรณ ลิมปพยอม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BPP กล่าวว่า BPP ยังคงมองหาโอกาสในการขยายการเติบโตไปยังธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มในประเทศที่มีศักยภาพ โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา ซึ่งนอกเหนือจากการประสบความสำเร็จในการลงทุนในโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ Temple I แล้ว BPP ยังพิจารณาขยายการลงทุนเพิ่มเติม เช่น ธุรกิจซื้อขายไฟฟ้าผ่านแพลตฟอร์มระบบกลาง (Energy Trading) และธุรกิจค้าปลีกไฟฟ้า โดยเป็นการผนึกพลังร่วมภายในระบบนิเวศของ BPP ด้วยการใช้ความรู้และทรัพยากรภายในองค์กร และข้อได้เปรียบในการบริหารจุดคุ้มทุนและกระจายความเสี่ยงด้านธุรกิจไฟฟ้าที่ครบวงจรครอบคลุมตลอดห่วงโซ่อุปทาน
สำหรับธุรกิจเทคโนโลยีพลังงานที่ดำเนินการโดยบ้านปู เน็กซ์ จะเน้นการร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจที่ส่งเสริมศักยภาพและการเติบโต รวมถึงหาโอกาสการลงทุนในธุรกิจใหม่ๆ (New S-curve) อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาได้เพิ่มสัดส่วนการเข้าถือหุ้นในบริษัท ดูราเพาเวอร์ โฮลดิ้งส์ จํากัด (Durapower) จากร้อยละ 47.68 เป็น ร้อยละ 65.10 ด้วยเงินลงทุน 70 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อสร้างโอกาสการเติบโตของธุรกิจแบตเตอรี่ให้แข็งแกร่งมากขึ้น
กิรณ กล่าวถึงภาพรวมการดำเนินธุรกิจในปี พ.ศ. 2565 ว่า BPP มีกำไรสุทธิ จำนวน 5,739 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 84 จากปี พ.ศ.2564 โดยมีกำไรก่อนหักภาษี ดอกเบี้ย ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) 9,124 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 162 จากปีพ.ศ.2564 เป็นผลมาจากการรับรู้รายได้เต็มปีของโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ Temple I ที่สามารถขายไฟฟ้าในปริมาณและราคาที่ดี และการรับรู้กำไรจากการจำหน่ายเงินลงทุนใน Sunseap ขณะเดียวกันโรงไฟฟ้า HPC และโรงไฟฟ้า BLCP มีความสามารถในการรักษาประสิทธิภาพการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าได้เป็นอย่างดี โดยมีค่าความพร้อมจ่าย (Equivalent Availability Factor: EAF) สูงถึงร้อยละ 86 และร้อยละ 87 ตามลำดับ ส่งผลให้ BPP มีสถานะทางการเงินที่มั่นคงแข็งแกร่ง พร้อมต่อยอดการเติบโตของบริษัทฯ และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผู้ถือหุ้น
นอกจากนี้ BPP เดินหน้าสร้างการเติบโตขับเคลื่อนธุรกิจตามแนวทาง “Triple E” ได้แก่ 1. Ecosystem มุ่งสร้างเมกะวัตต์คุณภาพด้วยสมดุลของพอร์ตธุรกิจทั้งจากพลังงานความร้อน (Thermal Power Business) พลังงานหมุนเวียน (Renewable Power Business) และเทคโนโลยีพลังงาน (Energy Technology) 2. Excellence รักษาเสถียรภาพการผลิตควบคู่ไปกับประสิทธิภาพความพร้อมจ่ายไฟ (EAF) และเน้นการสร้างกระแสเงินสดได้อย่างสม่ำเสมอ และเพิ่มโอกาสทำกำไรในตลาดที่มีการเติบโตและมีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูง และ 3. ESG ดำเนินธุรกิจสอดคล้องกับหลักความยั่งยืน โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการ สู่เป้าหมายในการเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้า 5,300 เมกะวัตต์ ภายในปี พ.ศ.2568 ซึ่งปัจจุบันบริษัทฯมีกำลังการผลิตไฟฟ้า 3,300 เมกะวัตต์ ยังขาดอีก 2,000 เมกะวัตต์เท่านั้น ส่วนการลงทุนพลังงานเพื่ออนาคตนั้นบริษัทฯได้เตรียมงบประมาณการลงทุนไว้ใน 3 ปี ระหว่างปี พ.ศ.2566-2568 ประมาณ 500-700 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นทั้งเงินทุนของบริษัทฯ และการกู้เงินจากสถาบันการเงิน
ในส่วนการยื่นประมูลโครงการพลังงานหมุนเวียนของภาครัฐเพิ่มเติมประมาณ 3,668.5 เมกะวัตต์นั้น ทางบริษัทฯกำลังพิจารณาและศึกษาพลังงานหมุนเวียนที่ทางบริษัทฯ ถนัดก่อนจะร่วมยื่นประมูลอีกครั้ง
“สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวังในช่วงการดำเนินธุรกิจปี พ.ศ.2566 จะเป็นเรื่องธนาคารกลางสหรัฐ (FED) ที่จะพิจารณาปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นต่อและจะปรับขึ้นมากน้อยแค่ไหน หรือหยุดปรับขึ้นดอกเบี้ยชั่วคราวในช่วงเดือนมีนาคม นี้ เพราะจะมีผลต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯด้วย” กีรณ กล่าวทิ้งท้าย