โครงการพลังงานสะอาด ปลอดภัย และเข้าถึงได้ ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดำเนินงานโดยองค์กร GIZ ประเทศไทย เปิดตัวแพลตฟอร์มออนไลน์ด้านการเปลี่ยนผ่านพลังงาน (Energy Transition) แห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ Southeast Asia Information Platform for the Energy Transition (SIPET) ซึ่งเป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลด้านพลังงานที่ทันสมัยและครบวงจร สำหรับบุคลากรที่ทำงานเพื่อผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานสู่พลังงานสะอาด ทั้งนี้ SIPET (ซิ-เผท) ถูกออกแบบขึ้นเพื่อเป็นสื่อกลางในการประสานการทำงานกันระหว่างโครงการด้านพลังงานและเพื่อเป็นคลังข้อมูลสำหรับรองรับการพัฒนาด้านการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
SIPET พัฒนาและบริหารจัดการโดยโครงการพลังงานสะอาด ปลอดภัย และเข้าถึงได้ ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (CASE – Clean, Affordable and Secure Energy for Southeast Asia) โดยจะเป็นแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ช่วยให้ผู้ที่ทำงานในแวดวงพลังงาน ก้าวข้ามความท้าทายประการหนึ่งของการทำงาน นั่นคือการเชื่อมโยงข้อมูลและการสื่อสารข้อมูลระหว่างผู้มีส่วนร่วมที่ในปัจจุบันมีอยู่หลายพันราย
SIPET จะเป็นหนึ่งในแพลตฟอร์มที่มีประโยชน์กับวงการพลังงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันที่มีการคาดการณ์ว่าการใช้งานด้านพลังงานอาจเพิ่มขึ้นถึง 80% ทั้งนี้ ประเทศอินโดนิเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย และเวียดนาม ถือเป็นประเทศที่มีการใช้พลังงานในกิจกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ มากถึง 3 ใน 4 ของการใช้พลังงานในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การที่ภูมิภาคนี้จะไปถึงเป้าหมายการพัฒนาที่ตั้งไว้นั้นขึ้นอยู่กับทางเลือกในการใช้พลังงานทั้งในปัจจุบันและอนาคตของประเทศเหล่านี้
ก่อนที่แพลตฟอร์ม SIPET จะถูกสร้างขึ้น ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องที่ช่วยรสนับสนุนและส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านพลังงาน ได้ร่วมกันตอบแบบประเมิน และมีความเห็นตรงกันว่า ปัจจุบันภูมิภาคนี้ยังเผชิญหน้ากับความท้าทายหลายประการ อาทิ ทรัพยากรบุคคลที่ยังขาดองค์ความรู้ การขาดสื่อกลางที่จะสามารถดึงข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในด้านพลังงานทดแทนขึ้นมาใช้ได้อย่างทันท่วงที การใช้เวลาในการประสานงานระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ที่มากจนเกินไป และการทำงานซ้ำซ้อนเนื่องจากภาคส่วนต่าง ๆ ไม่มีข้อมูลการทำงานที่เชื่อมโยงกัน
แพลตฟอร์มออนไลน์ของ SIPET จึงจะเข้ามาเป็นส่วนเติมเต็มช่องว่างเหล่านี้ ด้วยระบบการทำงาน 4 รูปแบบที่พร้อมใช้งาน ได้แก่ 1 เป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลด้านพลังงาน 2 มีเครื่องมือเป็นแผนที่ระบุโครงการพลังงานต่างๆ 3 เป็นช่องทางแลกเปลี่ยน เรียนรู้ข้อมูลด้านพลังงาน และ 4 มีกระดานสนทนาด้านการเปลี่ยนผ่านพลังงานของผู้เชี่ยวชาญต่างๆ
ทั้งนี้ผู้ออกแบบและพัฒนาแพลตฟอร์มออนไลน์ของ SIPET เน้นการทำงานที่ยืดหยุ่น ซึ่งทำให้เว็บไซต์สามารถเพิ่มเติมข้อมูล และระบบปฏิบัติการใหม่ๆ ได้ในอนาคต อาทิ ข้อมูลเชิงลึกของภาคพลังงาน ซึ่งจะฉายภาพทั้งในเชิงปริมาณ และคุณภาพของประเด็นการพัฒนาของอุตสาหกรรมพลังงานทั่วทั้งภูมิภาค พื้นที่ส่วนนี้กำลังอยู่ในระหว่างการออกแบบและพัฒนาซึ่งจะแล้วเสร็จในราวเดือนมกราคม 2566
นอกจากนั้น แพลตฟอร์ม SIPET ยังทำงานร่วมกับผู้ตรวจสอบด้านพลังงานระดับโลก หรือ Global Energy Monitor ในการสร้างแอปพลิเคชันบนเว็บไซต์ ที่จะติดตามข้อมูลด้านพลังงานในมิติอื่นๆ เช่น การติดตามเรื่องการส่งก๊าซในเอเชีย (Asia Energy Tracker) การติดตามข้อมูลโรงงานไฟฟ้าถ่านหิน (Global Coal Plant Tracker) หรือโรงกลั่นน้ำมันและก๊าซของโลก (Global Oil and Gas Extraction Tracker) เป็นต้น และในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ SIPET จะเริ่มนำข้อมูลของโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และลมของโลกเข้ามาบรรจุไว้ในพื้นที่ตรวจสอบนี้ด้วย
“SIPET เป็นแพลตฟอร์มที่พวกเรายินดีนำเสนอ ด้วยการสนับสนุนจากกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานระดับนานาชาติ และองค์กรระดับประเทศที่มีความเชี่ยวชาญด้านพลังงาน และการเปลี่ยนผ่านพลังงาน SIPET เป็นแพลตฟอร์มที่ทันสมัยและพร้อมใช้งานที่ครบจบในพื้นที่เดียว ที่รวบรวมข้อมูลงานวิจัยและข้อมูลด้านพลังงาน รวมถึงกระตุ้นให้เกิดการถกถามแลกเปลี่ยนในแวดวงนี้ และแพลตฟอร์มนี้ยังช่วยสนับสนุนการทำงานของนักวิจัย และคนในภาคพลังงานสามารถเข้าถึงข้อมูลที่สำคัญ รวมถึงเทรนด์การทำงาน นอกจากนั้นยังเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกันอีกด้วย ในฐานะผู้พัฒนาแพลตฟอร์มนี้ ผู้จัดทำต้องการให้ SIPET เป็นพื้นที่รวบรวมและเป็นสื่อกลางในการฉายภาพการเปลี่ยนผ่านพลังงานอย่างครบวงจร เพื่อสนับสนุนการพัฒนาด้านพลังงานของภูมิภาคในด้านการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดในอนาคต” ” มร.ซิมงค์ โรลลองก์ ผู้อำนวยการโครงการพลังงาน องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมันGIZ ประจำประเทศไทย กล่าว