เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2566 ณ ห้องประชุม ชั้น 2 อาคารเจริญวิศวกรรม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับมูลนิธิ อรุณ สรเทศน์ จัดกิจกรรมอบรมให้กับบุคลากรของคณะฯ และผู้สนใจในเรื่อง “การประชุมเชิงปฏิบัติการ (workshop) เพื่อเสนอมาตรการลดก๊าซเรือนกระจกของคณะวิศวฯ” ซึ่งเป็นกิจกรรมภายใต้โครงการพัฒนาองค์ความรู้และนวัตกรรมการจัดการขยะมูลฝอยเพื่อส่งเสริมการสร้างความเป็นกลางทางคาร์บอน โดยได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์ ดร.อรทัย ชวาลภาประสิทธิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม ศาสตราจารย์ ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และ ดร.ณัฐวิญญ์ ชวเลิศพรศิยา ผู้อำนวยการโครงการ Industrial Liaison Program (ILP) คณะวิศวกรรมศาสตร์เป็นวิทยากร โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดี เป็นผู้กล่าวเปิดงาน และคุณพินิต ผลพิรุฬห์ กรรมการและเลขาธิการ มูลนิธิ อรุณ สรเทศน์ ให้เกียรติร่วมงาน
โดยการอบรมเชิงปฏิบัติการนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อรายงานผลการดำเนินงานโครงการพัฒนาองค์ความรู้และนวัตกรรมการจัดการขยะมูลฝอยเพื่อส่งเสริมการสร้างความเป็นกลางทางคาร์บอนของคณะวิศวกรรมศาสตร์ การให้ความรู้เรื่อง แนวทางการลดก๊าซเรือนกระจกในองค์กร และกิจกรรมระดมสมองในการนำเสนอมาตรการลดก๊าซเรือนกระจกจากการดำเนินกิจกรรมของคณะวิศวฯ
ศาสตราจารย์ ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้กล่าวในการประชุมว่า จุฬาลงกรมหาวิทยาลัยมีการตั้งเป้าหมาย Carbon Neutrality ภายในปี 2040 และ Net-Zero Emissions ภายในปี 2050 โดยใช้แผนผลักดันให้ประชาคมจุฬาฯ ร่วมรับผิดชอบต่อปัญหาสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน หรือ Chula 2050 Net-Zero Transition ประกอบด้วย 5 กลยุทธ์ ดังนี้
- Energy Transition เพิ่มการใช้พลังงานทดแทน ได้แก่ พลังงานแสงอาทิตย์ (Solar PV Development) และลดการใช้ไฟฟ้า
- Improving Energy System Resilience เพิ่มระบบการกักเก็บพลังงานทดแทน เปลี่ยนอุปกรณ์ไฟฟ้า เป็นอุปกรณ์ไฟฟ้าประหยัดพลังงาน
- Creating Green Growth สนับสนุนการลงทุนสีเขียว และความร่วมมือระดับนานาชาติ เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีไร้คาร์บอน
- Lifestyle Transition เปลี่ยนมาใช้ Low Carbon Transportation, Chula Zero-Waste รวมทั้ง Low Carbon Diet
- Social Transition Social Support System สร้างการมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ
“เมื่อประเทศไทยประกาศเป้าหมายแล้วว่า จะเป็นกลางทางคาร์บอน เราในฐานะมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องทำเรื่องนี้ เพื่อเป็นต้นแบบ และถ้าทำได้ มันก็จะส่งผลให้เกิดการปรับเปลี่ยนอะไรหลายๆ อย่าง ทั้งประโยชน์ต่อโลกและสิ่งแวดล้อม ทั้งเป็นการลด Cost อีกทั้ง ยังเป็นการสร้าง Brand Equity ให้กับมหาวิทยาลัยของเราอีกด้วย” ดร.พิสุทธิ์กล่าวทิ้งท้าย