Chula Thailand Presidents Summit 2025 เปิดวิสัยทัศน์ผู้นำองค์กร ชี้อนาคตไทย ท่ามกลางโลกที่ปั่นป่วน


จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดสัมมนาครั้งยิ่งใหญ่แห่งปี “Chula Thailand Presidents Summit 2025” ครั้งแรกของการรวมตัวของสุดยอดผู้นำองค์กรชั้นนำระดับประเทศ แสดงวิสัยทัศน์เพื่อขับเคลื่อนอนาคตประเทศไทย

เวที “Chula Thailand Presidents Summit 2025” ถือเป็นงานสัมมนาครั้งสำคัญที่รวมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะผู้นำองค์กรชั้นนำของประเทศทั้งภาครัฐและภาคเอกชนซึ่งประสบความสำเร็จในการบริหารงานทั้งในระดับชาติและระดับนานาชาติ มาร่วมแบ่งปันความรู้และประสบการณ์อันมีค่า พร้อมนำเสนอกลยุทธ์การขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยในปี 2568 สู่ความสำเร็จ ตามวิสัยทัศน์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในการเป็น“มหาวิทยาลัยไทยระดับโลกที่มุ่งสร้างประสบการณ์เปลี่ยนชีวิต ด้วยปัญญานวัตกรรมและจิตวิญญาณแห่งการให้” และได้รับเกียรติจากศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมเป็นเกียรติในงานสัมมนาครั้งนี้ โดยมีผู้นำองค์กรระดับประเทศร่วมนำเสนอวิสัยทัศน์ขับเคลื่อนอนาคตประเทศไทยครอบคลุมทุกองค์ความรู้

ศาสตราจารย์ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย

ศาสตราจารย์ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย นายกสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ Future Thailand : The Comprehensive View โดยเน้นว่าปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่ออนาคตของประเทศไทยคือ “ความปั่นป่วนของโลก” (Global Disruptions) ที่เกิดขึ้นในหลายมิติ ซึ่งประเทศไทยต้องเผชิญทั้งโอกาสและความท้าทายในการปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง โดยหนึ่งในปัจจัยสำคัญคือ ความปั่นป่วนทางด้านเทคโนโลยี ซึ่งเห็นได้จากการมาของ DeepSeek ที่เป็นตัวอย่างของการเปลี่ยนแปลงในวงการปัญญาประดิษฐ์ (AI) และเทคโนโลยีดิจิทัล ประเทศไทยเองก็มีโอกาสในการพัฒนาเทคโนโลยีของตัวเอง แต่ต้องเร่งลงทุนด้านการศึกษา การวิจัย และนวัตกรรมให้มากขึ้นเพื่อแข่งขันในเวทีโลก ความปั่นป่วนทางด้านประชากร ก็เป็นอีกประเด็นที่สำคัญ เนื่องจากประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งส่งผลให้จำนวนแรงงานลดลง กระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและความสามารถในการแข่งขันของประเทศ การปฏิรูปโครงสร้างแรงงานและระบบสวัสดิการจึงเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงนี้

นอกจากนี้ ความปั่นป่วนทางด้านโรคระบาด ก็ยังคงเป็นปัจจัยที่ต้องจับตามอง แม้ว่าผลกระทบของโควิด-19 จะเริ่มลดลง แต่โลกยังมีความเสี่ยงต่อโรคอุบัติใหม่ การเตรียมความพร้อมด้านสาธารณสุขและระบบป้องกันโรคจึงเป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญ

ด้านความปั่นป่วนทางสิ่งแวดล้อม ประเทศไทยได้รับผลกระทบโดยตรงจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะปัญหาอุทกภัยที่รุนแรงขึ้นในปีนี้ การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ และการปรับตัวเพื่อรับมือกับสภาวะอากาศสุดขั้วจึงเป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน อีกปัจจัยที่สำคัญคือ ความปั่นป่วนทางด้านอาชีพ ซึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและโครงสร้างเศรษฐกิจ งานจำนวนมากอาจถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) และระบบอัตโนมัติ ทำให้แรงงานต้องปรับตัวและพัฒนาทักษะใหม่เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดในอนาคต

สุดท้ายคือ ความปั่นป่วนด้านภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะในยุคที่ความขัดแย้งระหว่างมหาอำนาจโลกทวีความรุนแรงขึ้น ความไม่แน่นอนด้านการค้าและการลงทุนอาจส่งผลกระทบต่อไทยในแง่ของการส่งออกและห่วงโซ่อุปทาน ประเทศไทยจึงต้องกำหนดยุทธศาสตร์ระหว่างประเทศให้รอบคอบและยืดหยุ่นเพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

ศาสตราจารย์ ดร.สุรเกียรติ์ กล่าวต่อว่า สำหรับทิศทางอนาคตของประเทศไทย การปรับตัวเป็นสิ่งสำคัญที่สุด โดยต้องอาศัยแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นหลักในการพัฒนาเพื่อให้เกิดความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ประเทศไทยควรให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการท่องเที่ยว (Tourism) ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่สามารถสร้างรายได้มหาศาล รวมถึงการพัฒนาความมั่นคงทางอาหารและความปลอดภัยทางสุขภาพ เพื่อรองรับประชากรในอนาคต และที่สำคัญที่สุดคือ การปฏิรูปการศึกษา ให้สอดคล้องกับความต้องการของโลกยุคใหม่ โดยมุ่งเน้น Action Learning หรือการเรียนรู้ผ่านการลงมือทำ เพื่อเตรียมคนรุ่นใหม่ให้พร้อมสำหรับอาชีพแห่งอนาคต นอกจากนี้ การลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D) จะมีบทบาทสำคัญในการปรับโครงสร้างประชากรและเศรษฐกิจของประเทศให้สามารถรับมือกับความปั่นป่วนของโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ศาสตราจารย์ ดร.วิเลิศ ภูริวัชร

ศาสตราจารย์ ดร.วิเลิศ ภูริวัชร อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึง Future Thailand: Future Education ว่า รากฐานของทั้งหมดคือการศึกษา เพราะการศึกษาจะเป็นตัวสร้างคน และเป็นรากฐานของระบบทุนนิยม หากไม่มีระบบทุนนิยม โลกอาจจะไม่ได้เป็นอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน และ ระบบทุนนิยมที่สามารถทำให้ชนชั้นกลางและชนชั้นล่างเติบโตขึ้นมาได้ มีเพียงการศึกษาเท่านั้น ที่จะช่วยให้เศรษฐกิจเติบโต ดังนั้น รูปแบบการศึกษาต้องเปลี่ยนแปลงไป โดยต้องมองให้ไกล มองให้กว้าง และมองให้ลึก

ในวันนี้ การสร้างความสามารถในการแข่งขันในระดับโลก (Global Competitiveness) ต้องอาศัย ทุนมนุษย์ (Human Capital) ซึ่งเกิดจากสถาบันการศึกษา อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังมีคะแนนด้าน การสอนให้คิดวิเคราะห์ (Critical Thinking) เพียง 37 คะแนน ขณะที่ ฟินแลนด์ ซึ่งเป็นประเทศอันดับหนึ่ง มีคะแนนสูงถึง 89 คะแนน นั่นหมายความว่า อาจารย์ในมหาวิทยาลัยต้องไม่เป็นเพียงผู้ถ่ายทอดความรู้ (Reader) แต่ต้องสามารถทำให้นักศึกษาเกิดทักษะการคิดวิเคราะห์ (Critical Thinking) ได้อย่างลึกซึ้ง

“ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยต้องเป็น แหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิต (Life-long Learning) ที่เหมาะกับผู้เรียนทุกวัย รวมถึงกลุ่มผู้สูงอายุที่ต้องการกลับมาเรียนรู้เพิ่มเติม ทั้งนี้ การศึกษาไม่ได้เป็นเพียงการเรียนรู้เพื่อให้รู้ แต่ต้อง เรียนรู้เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ให้เกิดผล ดังนั้น คุณภาพของการศึกษาจึงมีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ และเราต้องมุ่งพัฒนาประเทศก่อนมหาวิทยาลัย ภายในปีนี้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะเปิดตัว Chulalongkorn Extension School ซึ่งเป็นศูนย์รวมสำหรับทุกเพศทุกวัยที่ต้องการมาเรียนรู้” อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าว

นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงในปัจจุบันต้องมุ่งเน้นที่ Holistic Skill Change หรือการยกเครื่องการพัฒนาทักษะ (Upskill) ของบุคลากรในทุกมิติ ไม่ใช่แค่ทักษะใดทักษะหนึ่ง อีกทั้ง องค์กรต้องปรับตัวให้เหมาะสมกับยุคใหม่ โดยงานที่ทำซ้ำซากควรถูกแทนที่ด้วยระบบอัตโนมัติ องค์กรต้องส่งเสริมให้บุคลากรไม่ยึดติดกับรูปแบบการทำงานแบบเดิม ๆ เพื่อให้สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ธนินท์ เจียรวนนท์

ธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์  กล่าวถึง Future Thailand: Next Growth ว่า เศรษฐกิจของประเทศไทยมีอนาคตที่สดใส แม้โลกกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทั้งในด้านสภาพอากาศ การเมือง และเทคโนโลยี อย่างไรก็ตาม ทุกการลงทุนของเครือซีพี ไม่ว่าจะไปที่ประเทศไหน จะนำคนไทยไปด้วย และถือว่าเป็นการลงทุนในทุกประเทศ โดยยึดหลัก 3 ประโยชน์ ได้แก่ ประเทศไทยต้องได้ประโยชน์ ประชาชนต้องได้ประโยชน์ และเครือเจริญโภคภัณฑ์ถึงจะได้ประโยชน์ เพราะถ้าประชาชนไม่ให้ความนิยม สินค้าก็ไม่สามารถขายได้

“ในทุกวิกฤต ย่อมมีโอกาส ขณะเดียวกัน เมื่อมีโอกาสก็ต้องคำนึงถึงวิกฤตที่อาจเกิดขึ้น การส่งเสริมการท่องเที่ยวเป็นแนวทางที่ถูกต้องของรัฐบาล โดยการยกเลิกวีซ่าช่วยให้ประเทศไทยสามารถดึงนักท่องเที่ยวเข้ามาได้รวดเร็ว การท่องเที่ยวถือเป็น Soft Power ที่ใกล้ตัวที่สุด และสร้างรายได้ให้ประเทศได้เร็วที่สุด ดังนั้นอยากฝากรัฐบาลให้ตั้งเป้าหมาย ตั้งงบประมาณให้ชัดเจน เพื่อกระตุ้นอุตสาหกรรมท่องเที่ยวให้เติบโต” ธนินท์ กล่าว

ด้านการเกษตร ประเทศไทยมีข้อได้เปรียบเพราะไม่มีภัยพิบัติที่รุนแรงเหมือนประเทศอื่น แต่จะต้องมีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนนเข้าสู่พื้นที่เกษตร ปรับรูปที่ดินให้เหมาะสมกับการเพาะปลูก และพัฒนาระบบชลประทานที่มีประสิทธิภาพ เพื่อลดปัญหาน้ำท่วมและเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรได้ถึง 5 เท่า นอกจากนี้ ต้องพัฒนาพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ และการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการเกษตร รวมถึงการจัดการปุ๋ยและอาหารสัตว์ให้เหมาะสมเพื่อเพิ่มผลผลิต และส่งเสริมให้ประชาชนมีรายได้มากขึ้น เช่นเดียวกับการใช้หุ่นยนต์ในกระบวนการผลิตมีที่ถือว่ามีความจำเป็น โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมอาหาร เพื่อลดการปนเปื้อนและเพิ่มความปลอดภัย นอกจากนี้ ยังต้องพัฒนา ระบบโลจิสติกส์ ศูนย์กระจายสินค้า (DC) และการค้าปลีก ซึ่งเป็นห่วงโซ่ที่ยาวที่สุดของอุตสาหกรรมอาหาร ตั้งแต่การผลิต การกระจายสินค้า ไปจนถึงโต๊ะอาหารของผู้บริโภค

“สำหรับเครือเจริญโภคภัณฑ์ เราดำเนินธุรกิจในแนวดิ่ง (Vertical Integration) ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ไม่ใช่การผูกขาด แต่เพื่อให้ทุกขั้นตอนของการผลิตสอดคล้องกัน หากผลิตมากเกินไป ขายไม่หมดก็เสียหาย ถ้าผลิตน้อยเกินไปก็ไม่มีของขาย ดังนั้น การควบคุมทั้งระบบตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำจึงมีความจำเป็น ซึ่งสินค้าเกษตรของเครือซีพีส่วนใหญ่กว่า 90% เป็นสินค้าของประเทศไทย และถือเป็น “น้ำมันบนดิน” ที่มีคุณค่าต่อเศรษฐกิจของประเทศ” ธนินท์ กล่าว

สารัชถ์ รัตนาวะดี

สารัชถ์ รัตนาวะดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS กล่าวถึง Future Thailand: Energizing Society ว่า เมื่อกว่า 30 ปีที่ผ่านมา โรงไฟฟ้าถ่านหินเป็นพลังงานที่ได้รับความนิยมมากที่สุด เนื่องจากเป็นแหล่งพลังงานที่มีต้นทุนต่ำและใช้เทคโนโลยีที่เรียกว่า “Clean Grow” ในเวลานั้น ซึ่งภาครัฐให้การสนับสนุนโรงไฟฟ้าถ่านหินอย่างเต็มที่ แต่ก็เผชิญแรงต่อต้านจากประชาชนและสังคมอย่างมาก โดยเฉพาะจากเหตุการณ์ที่ อำเภอแม่เมาะ จ.ลำปาง และอ.บ่อนอก จ.ประจวบคีรีขันธ์ แม้ต้องใช้เวลาดำเนินการถึง 7 ปี ผ่าน 4 รัฐบาล แต่ท้ายที่สุด ประเทศไทยก็เริ่มปรับเปลี่ยนจากพลังงานถ่านหินมาใช้ก๊าซธรรมชาติ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก ปตท. โดยมีแหล่งก๊าซจากอ่าวไทย พม่า และมาเลเซียเป็นหลัก

อย่างไรก็ตาม เมื่อเทคโนโลยีพัฒนาไปมากขึ้น ก๊าซธรรมชาติก็สามารถนำเข้าจากทั่วโลกได้ ผ่านกระบวนการทำให้เป็นของเหลว (LNG) และขนส่งผ่านเรือ ทำให้ก๊าซธรรมชาติกลายเป็นแหล่งพลังงานหลักของประเทศ แต่ราคาของก๊าซธรรมชาติก็มีความผันผวน โดยเฉพาะจากผลกระทบของสงครามระหว่าง ยูเครนและรัสเซีย ต่อมา เมื่อพลังงานหมุนเวียนอย่าง โซลาร์และพลังงานลม เริ่มเข้ามาเป็นทางเลือก แต่เนื่องจากในช่วงแรก ต้นทุนยังสูงมาก ทำให้การลงทุนยังไม่คุ้มค่า อย่างไรก็ตาม ราคาของพลังงานหมุนเวียนลดลงเหลือเพียง 2-3 บาทต่อหน่วย ทำให้ทั่วโลกเริ่มให้ความสำคัญกับ พลังงานสะอาดที่มีต้นทุนต่ำและมั่นคง ซึ่งอนาคตของพลังงานต้องเป็นการ ผสมผสานแหล่งพลังงานหลายประเภท (Energy Mix) เพื่อความยั่งยืน

กัลฟ์ฯ ได้ขยายการลงทุนทั้งในและต่างประเทศ เช่น โครงการพลังงานลมที่ North Sea ประเทศเยอรมนี กำลังการผลิต 500 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติที่ ชิคาโก สหรัฐอเมริกา และ โครงการพลังงานลมที่ North Sea ประเทศอังกฤษ กำลังการผลิต 1,500 เมกะวัตต์ ซึ่งสอดคล้องกับแนวโน้มโลกที่ต้องการพลังงานสะอาดมากขึ้น และได้รับการพัฒนาเทคโนโลยีให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น เช่น แผงโซลาร์เซลล์ที่มีราคาถูกลงมากเมื่อเทียบกับอดีต

เทคโนโลยีอัตโนมัติมีบทบาทสำคัญมากขึ้น เช่น ที่ ท่าเรือคอนเทนเนอร์แหลมฉบัง มีการใช้ระบบ Fully Automated ซึ่งสามารถบริหารเครนได้ 5-6 เครน โดยไม่ต้องใช้คน ช่วยเพิ่มศักยภาพการทำงานและลดต้นทุนลงอย่างมาก นอกจากนี้ ธุรกิจเกี่ยวกับ Data จะเติบโตขึ้นอีกในอนาคต ซึ่งเป็นแนวคิดที่เคยมีมานานแล้ว แต่การหาพาร์ทเนอร์ที่เหมาะสมยังเป็นเรื่องยาก จนกระทั่งช่วงโควิด-19 ทำให้ตลาดหุ้นปรับตัวลงและเปิดโอกาสให้ กัลฟ์ฯ ลงทุนใน AIS ส่งผลให้ได้รับผลตอบแทนที่ดี

“ปัจจุบันประเทศไทยกำลังเผชิญกับความท้าทาย และอาจถูกลืมในเอเชียหากไม่สามารถปรับตัวได้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลก ซึ่งหากทุกภาคส่วนร่วมมือกัน จะช่วยพัฒนาประเทศให้กลับมาเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจและผู้นำในภูมิภาค สามารถแข่งขันและเติบโตได้ในอนาคต” สารัชถ์ กล่าว


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เอง โดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save