โคเวสโตร พัฒนาโพลีคาร์บอเนตที่มีส่วนผสมของวัตถุดิบ Recycle ตอบโจทย์ชีวิตยุคดิจิทัล – Mega Trend – ความยั่งยืน


โคเวสโตร หนึ่งในผู้ผลิตวัสดุโพลีเมอร์และส่วนประกอบทางโพลีเมอร์คุณภาพสูงชั้นนำของโลก ที่สรรค์สร้างนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ กระบวนการ และวิธีการ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมความยั่งยืนและคุณภาพชีวิตในหลายแง่มุม ปัจจุบันโคเวสโตร ให้บริการลูกค้าทั่วโลกในอุตสาหกรรมหลัก เช่น การเดินทางและการขนส่ง อาคารและที่อยู่อาศัย อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์  รวมทั้งกีฬาและสันทนาการ เครื่องสำอางและสุขภาพ ตลอดจนอุตสาหกรรมเคมี

Lily Wang

Lily Wang  ประธานกลุ่มธุรกิจพลาสติกเชิงวิศวกรรม  (Engineering Plastics) ของโคเวสโตร  ซึ่งเชี่ยวชาญและคร่ำหวอดในวงการธุรกิจโพลีคาร์บอเนตมากว่า  20 ปี  กล่าวว่า ธุรกิจ Engineering Plastics  มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของธุรกิจทั้งหมดในเครือโคเวสโตร  โดยมีสำนักงานใหญ่ของกลุ่ธุรกิจนี้อยู่ที่เซี่ยงไฮ้  ประเทศจีน เนื่องจากผลิตภัณฑ์โพลีคาร์บอเนตมีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้เกิดนวัตกรรมเกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของเรา ไม่ว่าจะเป็นส่วนประกอบของสมาร์ทโฟน และคอมพิวเตอร์ เป็นต้น  ด้วยคุณสมบัติของโพลีคาร์บอเนตที่มีความหลากหลาย และยังสามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบ ให้ตอบโจทย์การใช้งานที่หลากหลายรูปแบบ  และในปี 2566 นี้ยังครบรอบ 70 ปีของการคิดค้นผลิตภัณฑ์ที่เป็นโพลีคาร์บอเนต โดย Hermann Schnell  จากโคเวสโตร ซึ่งเป็นผู้คิดค้นคนแรกและพัฒนาผลิตภัณฑ์นี้ออกสู่ตลาด และจำหน่ายเป็นรายแรกในโลกอีกด้วย

ปัจจุบันโคเวสโตรพยายามมีส่วนร่วมสนับสนุนกับธุรกิจ Downstream มากขึ้น เพื่อออกแบบนวัตกรรม ตอบโจทย์แอปพลิเคชันการใช้งาน ไม่ว่าจะเป็นด้านยานยนต์ (Mobility)  เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์   (E&E) และการแพทย์และสุขภาพ (Health Care)

“โพลีคาร์บอเนตมีคุณสมบัติพิเศษ  คือ น้ำหนักเบา  มีความยืดหยุ่นสูง และมีคุณสมบัติหลากหลายรูปแบบ สร้างสรรค์ให้เป็นสีต่างๆได้มากมาย ตอบโจทย์การใช้ชีวิตในปัจจุบัน และ Mega Trend อย่างเช่น ปัจจุบันเราต้องการรถที่มีน้ำหนักเบา  เพื่อประหยัดพลังงานน้ำมัน  สามารถบำรุงรักษาได้ง่าย  ผลิตภัณฑ์โพลีคาร์บอเนตเข้ามาแทนที่วัสดุประเภททองแดง และเหล็ก เช่น ไฟหน้ารถ  และภายในรถยนต์ คอนโซลต่างๆ  ส่วนใหญ่เป็นผลิตภัณฑ์โพลีคาร์บอเนตเกือบทั้งหมด  รวมทั้งธุรกิจเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์   เช่น  Laptop  ใช้โพลีคาร์บอเนตผสมพลาสติก ABS  ทำให้มีคุณสมบัติพิเศษมาก คือ แข็งแกร่ง ทนทาน  และใช้งานได้นาน”  Lily Wang กล่าว

นอกจากผลิตภัณฑ์โพลีคาร์บอเนตจะตอบโจทย์นวัตกรรมการใช้ชีวิตความเป็นอยู่ในปัจจุบัน และอนาคตแล้ว ยังตอบโจทย์ความยั่งยืนอีกด้วย เนื่องจากผลิตภัณฑ์โพลีคาร์บอเนตสามารถนำไปรีไซเคิลได้  2 รูปแบบ ทั้งในรูปแบบเชิงกล และการรีไซเคิลทางเคมี   สำหรับการรีไซเคิลในเชิงกล  (Mechanical Recycling)   ทำได้ด้วยวิธีง่ายๆ คือการนำผลิตภัณฑ์จากพลาสติกโพลีคาร์บอเนตที่หมดอายุการใช้งานแล้ว เช่น แกลลอนน้ำ หรือไฟหน้ารถยนต์ ไปทำให้เป็นชิ้นเล็กๆ แล้วนำมาหลอมขึ้นรูปใหม่ผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ได้  เนื่องจากโพลีคาร์บอเนต ทนความร้อน สามารถหลอมละลาย และสามารถขึ้นรูปใหม่ได้

ส่วนการรีไซเคิลเชิงเคมี  หากวัตถุดิบบางประเภทไม่สามารถเผาหรือหลอมใหม่ได้ จะทำการเติมสารเคมีเข้าไป เพื่อทำให้เป็น Form ใหม่ได้  ซึ่งจะทำให้สายโซ่โพลิเมอร์ สั้นลง เช่น โฟมที่นอน  แต่ถ้าไม่สามารถรีไซเคิลด้วย 2 วิธีนี้ โคเวสโตรจะใช้วิธี  Pyrolysis กระบวนการเผาไหม้ให้ความร้อนสูง เพื่อทำให้เกิดโมเลกุลเล็กๆ  แล้วนำโมเลกุลมา Form ทำปฏิกิริยาทางเคมีให้เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ได้อีกครั้ง  นอกจากนี้ กระบวนการเผาไหม้ยังทำให้เกิดคาร์บอนไดออกไซด์กลับมาใช้ในกระบวนการทางเคมีในโรงงานโคเวสโตรได้อีกครั้ง

Lily Wang กล่าวว่า โคเวสโตรได้คิดค้นและพัฒนาพลาสติกรีไซเคิลมามากกว่า 10 ปี  โดยจำหน่ายให้ลูกค้าบางรายที่ผลิตผลิตภัณฑ์จากพลาสติก PCR  (Post-Consumer Recycle)  ปัจจุบันโคเวสโตรสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีวัตถุดิบ Recycle เป็นส่วนผสมได้ถึง 35-90%  เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าและเทรนด์ที่เปลี่ยนแปลงไป

“โคเวสโตรมีการผลิตแบบรีไซเคิลมานานหลายปีแล้ว  ในโรงงานหลายแห่ง มีการนำเศษฟิล์มที่เหลือทิ้งจากส่วนการผลิตกลับมาผลิตเป็นวัสดุ Recycle Grade ได้ใหม่ เรียกว่า PIR (Pos Industrial Recycle)  ส่วนพลาสติก PCR  ขึ้นอยู่กับ Feed Stock  ที่เราได้ รวมทั้งความต้องการของตลาด  สำหรับโรงงานที่เซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน มีการขยายไลน์การผลิตรองรับ เป็นไลน์ผลิต Mechanical Recycling โดยเฉพาะเป็นแห่งแรกของโคเวสโตร ซึ่งเริ่มเปิดดำเนินงานแล้วในเดือนตุลาคม 2566 ใช้เงินลงทุน 27 ล้านยูโร รองรับความต้องการอุตสาหกรรมยานยนต์ และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และไฟฟ้า  ที่ต้องการผลิตภัณฑ์ที่มีความยั่งยืนมากขึ้น”  Lily Wang  กล่าว

โคเวสโตรมีกลยุทธ์ที่จะขยายการเติบโตของการผลิตพลาสติก PC   ซึ่งสามารถซัพพลายทั่วโลก   รวมถึงการขยายกำลังและความสามารถในการผลิตที่โรงงานในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง ที่สามารถผลิตได้ทั้งแบบ virgin และรีไซเคิลเกรด  แสดงถึงความมุ่งมั่น และตอบโจทย์ความต้องการลูกค้าตลาดในไทยและตลาดในภูมิภาคนี้ระยะยาว  ปัจจุบันโคเวสโตรส่งออกพลาสติก  PCไปทั่วโลกโดยมีสัดส่วนการส่งออกประมาณ  80%  ขณะนี้กำลังรอการเติบโตของตลาดในไทย ซึ่งอาจจะทำให้โคเวสโตรตัดสินใจขยายการลงทุนจากจีนมาที่ไทยมากขึ้น ในอนาคตตลาดในไทยมีความต้องการมากขึ้น สัดส่วนการซัพพลายในประเทศน่าจะเพิ่มมากขึ้น

Lily Wang  กล่าวว่า  แม้ว่าปัจจุบันทั่วโลกจะประสบปัญหาเรื่องเศรษฐกิจโลกที่ไม่มั่นคง  ราคาน้ำมันแพง แต่ Mega Trend  ที่เกิดขึ้นในโลกจะเป็นตัวขับเคลื่อนให้ทุกฝ่ายหันมาความสำคัญกับเศรษฐกิจหมุนเวียน  ดูแลโลก สภาพภูมิอากาศ คาร์บอนต่างๆ   รวมทั้งสร้างความยั่งยืนให้แก่โลก มิฉะนั้นมนุษย์จะอยู่ไม่ได้   โดยโคเวสโตรพยายามส่งเสริมและตอบโจทย์   Mega Trend ให้ได้มากที่สุด ด้วยการให้ความร่วมมือกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง  รวมทั้งพยายามหา Feed Stock  ที่เป็น Consumer Grade เพื่อนำมาเป็น Raw Material และพร้อมที่จะเป็นพาร์ทเนอร์และพันธมิตรที่จะขับเคลื่อนไปด้วยกันกับลูกค้า

หนึ่งในความพยายามที่จะหาโซลูชันและรูปแบบธุรกิจใหม่ๆ ที่ทำแล้ว คือ ร่วมกับลูกค้าที่จีน  ซึ่งเป็นผู้ผลิตขวดแกลลอนแบรนด์น้ำรายใหญ่  โดยมีรูปแบบธุรกิจเป็น Long Term Solution ร่วมกันในการจัดการตลอดห่วงโซ่คุณค่า  เพื่อให้มี Feed Stock ที่โคเวสโตรจะนำกลับมารีไซเคิลผลิตวัสดุในการผลิตแกลลอนน้ำใหม่ ได้อีกครั้งหนึ่ง

“พลาสติก PCR   เกี่ยวข้องกับหลาย Value Chain ดังนั้นวัตถุดิบ ที่จะได้มาจากการใช้งานแล้วของผู้ใช้งานจริง นำกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลใหม่ นำออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่  จึงมีความสำคัญเพราะช่วยให้สามารถปิด Loop  วงจรของพลาสติกให้ครบทั้ง  Value Chain  รวมทั้งส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียนและตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าในปัจจุบันนี้ได้  อีกทั้งยังช่วยลดคาร์บอนฟุตพรินท์ส่งเสริม Carbon Neutral เป็นการนำเอาวัสดุเหลือใช้เข้าสู่กระบวนการผลิตใหม่และทำแบบนั้นอย่างต่อเนื่อง”   Lily Wang  กล่าว

ดร.ทีโม สลาวินสกี้

ด้านดร.ทีโม สลาวินสกี้ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โคเวสโตร (ประเทศไทย) จำกัด และผู้จัดการโรงงานมาบตาพุด กล่าวว่า โครงการขยายกำลังการผลิตที่โรงงานในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดนี้ เป็นหนึ่งในโปรแกรมการขยายกำลังการผลิตทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของกลุ่มธุรกิจพลาสติกเชิงวิศวกรรม (Engineering Plastics) โดยโครงการนี้เริ่มขึ้นในปี 2020  แล้วเสร็จในปี 2023  ถือเป็นการเพิ่มกำลังและขีดความสามารถในการผลิตได้มากกว่า 40% จากแผนการเพิ่มกำลังการผลิตของทั้งโปรแกรม  และยังสามารถขยายกำลังในการผลิต Recycle Grade เพื่อตอบโจทย์ตลาดได้มากขึ้น  นับเป็นการลงทุนและขยายครั้งใหญ่ในรอบ 4-5 ปีที่ผ่านมาของโคเวสโตรของกลุ่มธุรกิจ Engineering Plastics

โคเวสโตร

“ทุกบริษัทล้วนมีเป้าหมายสู่  Carbon Neutral และ  Carbon Net Zero  โคเวสโตรมีเป้าหมายดังกล่าวด้วยเช่นกัน  เราจึงมุ่งมั่นที่จะคิดค้นเทคโนโลยี และทำงานร่วมกับลูกค้าจากบริษัทต่างๆ  โดยมีงานวิจัยและพัฒนากับลูกค้า  ซึ่งสามารถทดลองโซลูชันออกมาได้บ้างแล้ว เพื่อผลิตผลิตภัณฑ์โพลีคาร์บอเนตที่สามารถรีไซเคิลได้มากขึ้น ช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน และตอบโจทย์เทรนด์ตลาดที่่สร้างความยั่งยืนอีกด้วย” Lily Wang  กล่าวสรุป


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เอง โดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save