พพ. เดินหน้าสนับสนุนมาตรการ ESCO สำหรับหน่วยงานภาครัฐ เต็มสูบ หวังลดใช้พลังงานไฟฟ้ากว่า 1,000 ล้านหน่วย ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 624,414 ตันเทียบเท่าคาร์บอนไดออกไซด์ หนุนประเทศไทยก้าวสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนปี ค.ศ. 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ปี ค.ศ. 2065
นายชำนาญ กายประสิทธิ์ รองอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เป็นประธานเปิดแถลงผลการดำเนินงานโครงการพัฒนาระเบียบและกฎหมายเพื่อรองรับมาตรการ ESCO สำหรับหน่วยงานภาครัฐ ได้เปิดเผยว่า ด้วยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อปี 2565 กำหนดให้หน่วยงานภาครัฐลดการใช้พลังงานลงร้อยละ 20 เพื่อให้เกิดการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และส่งเสริมการใช้พลังงานในภาครัฐอย่างยั่งยืน รวมถึงการสร้างบทบาทให้หน่วยงานภาครัฐเป็นผู้นำด้านประหยัดพลังงานให้ภาคส่วนอื่น ๆ ตระหนักถึงความสำคัญในการใช้พลังงาน และนำความรู้วิธีใช้พลังงานที่ถูกต้องกลับไปถ่ายทอดสู่บุคคลทั่วไป ซึ่งจะช่วยลดอัตราการใช้พลังงานของประเทศได้อย่างมั่นคง โดย พพ. ได้ร่วมกับสำนักงบประมาณ กรมบัญชีกลาง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เริ่มดำเนินโครงการนำร่องการใช้มาตรการบริษัทจัดการพลังงาน Energy Service Company หรือ ESCO สำหรับหน่วยงานภาครัฐ ESCO เป็นธุรกิจที่ให้บริการเกี่ยวกับการพัฒนาโครงการอนุรักษ์พลังงานแบบครบวงจร โดย ESCO จะเป็นผู้รับผิดชอบภารกิจต่าง ๆ แทนอาคารหรือโรงงาน ตั้งแต่การออกแบบโครงการ การขออนุญาตก่อนสร้าง การหาแหล่งเงินทุน การติตดั้ง ตลอดจนการตรวจวัดเพื่อพิสูจน์ผลประหยัด โดยที่ ESCO จะต้องรับประกันผลการประหยัด และรับผิดชอบถ้าผลการประหยัดไม่เป็นไปตามเป้าหมาย
นายชำนาญ กล่าวว่า การใช้มาตรการ ESCO สำหรับหน่วยงานภาครัฐนั้น อยู่ภายใต้แผนปฏิรูปประเทศด้านพลังงานนำมาใช้กับหน่วยงานราชการ โดยให้กระทรวงพลังงาน สำนักงบประมาณ กรมบัญชีกลาง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำหนดวิธีการและแนวทางที่สามารถนำมาใช้ปฏิบัติได้จริง ซึ่งได้กำหนดการปฏิรูปด้านการอนุรักษ์พลังงานและการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ โดยจะให้บริการด้านการอนุรักษ์พลังงาน และพลังงานทดแทนแบบครบวงจร ตั้งแต่การให้คำปรึกษา การเสนอโครงการ การวิเคราะห์การใช้พลังงาน การจัดหาหรือสนับสนุนแหล่งเงินทุน ติดตั้งวัสดุอุปกรณ์ การตรวจวัดและพิสูจน์ผลประหยัด โดยการทำสัญญา มีการรับประกันผลประหยัดพลังงานและดูแลรักษาตลอดอายุของสัญญา เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จจะมีการโอนกรรมสิทธิ์ในอุปกรณ์ประหยัดพลังงานทั้งหมดเป็นของหน่วยงาน เพื่อขึ้นบัญชีครุภัณฑ์และตั้งงบประมาณในการบำรุงรักษาต่อไป
“พพ. มีความเชื่อมั่นว่า หากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีความรู้ความเข้าใจและสนับสนุนให้มีการนำแนวทางการใช้มาตรการบริษัทจัดการพลังงานสำหรับหน่วยงานภาครัฐไปใช้ได้ในอนาคต จะสามารถช่วยลดการใช้พลังงานในภาคอาคารและบรรลุเป้าหมายตามแผนอนุรักษ์พลังงานของกระทรวงพลังงานได้ โดยคาดว่ามาตรการ ESCO สำหรับหน่วยงานภาครัฐนี้ จะสามารถลดใช้พลังงานคิดเป็นไฟฟ้า 1,058.33 ล้านหน่วย คิดเป็นมูลค่า 5,291.65 ล้านบาท ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 624,414 ตันเทียบเท่าคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งแนวทางที่ทำจะให้เป็นประเทศไทยก้าวสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนปี ค.ศ. 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ปี ค.ศ. 2065 อีกด้วย” นายชำนาญ กล่าวทิ้งท้าย