กรุงเทพฯ – ประเทศไทย : บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ประกาศว่าบริษัทฯ ได้รับรางวัลสูงสุดระดับ “A” ในฐานะ “ผู้นำด้านการมีส่วนร่วมของซัพพลายเออร์” ในการจัดอันดับการมีส่วนร่วมของซัพพลายเออร์ (SER) ประจำปี 2565 โดย CDP เพื่อยกย่องการดำเนินการเพื่อการวัดและลดความเสี่ยงด้านสภาพอากาศภายในห่วงโซ่อุปทานของบริษัท โดยเดลต้า ประเทศไทย ได้เข้าร่วมกระดานผู้นำด้านการมีส่วนร่วมกับซัพพลายเออร์ของ CDP เป็นครั้งแรก และเป็นหนึ่งใน 8% แรกของผู้เข้าร่วมที่ได้รับการประเมินการมีส่วนร่วมของซัพพลายเออร์ในเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตามการเปิดเผยข้อมูล CDP ของบริษัทในปี 2565
แจ็คกี้ จาง ประธานบริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ ประเทศไทยรู้สึกเป็นเกียรติที่ได้รับคะแนนระดับ “A” และมีสถานะบนกระดานผู้นำในฐานะผู้นำด้านการมีส่วนร่วมของซัพพลายเออร์ของ CDP เราซาบซึ้งในความทุ่มเทและการทำงานเป็นทีมของทีมงานและพันธมิตรในห่วงโซ่อุปทานของเราที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของเราอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในฐานะสมาชิกของ RE100 เดลต้ามีความมุ่งมั่นที่จะบรรลุผลสำเร็จในการใช้พลังงานไฟฟ้าทดแทนในการดำเนินงานของเราให้ได้ 100% ภายในปี 2573 โดยตั้งแต่ปี 2558 ถึง 2565 เดลต้า ประเทศไทยสามารถลดความเข้มข้นของปริมาณการใช้ไฟฟ้าสะสมลงได้ถึง 55% และในปี 2565 เราได้ลดปริมาณความเข้มข้นของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้ถึง 50% ซึ่งใช้ปี 2560 เป็นปีฐาน เดลต้ามุ่งมั่นที่จะส่งมอบผลิตภัณฑ์ที่มีประสิทธิภาพสูงให้กับลูกค้าเพื่อลดการปล่อยคาร์บอนและร่วมมือกับพันธมิตรของเราในการพัฒนาความยั่งยืนของห่วงโซ่อุปทานให้สอดคล้องกับแนวโน้มของอุตสาหกรรมทั่วโลกในการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์”
การเปิดเผยข้อมูลของ CDP ในปี 2565 มีสมาชิกห่วงโซ่อุปทานรายใหญ่กว่า 280 รายพร้อมยอดการจัดซื้อรวมกว่า 6.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปีนี้ซัพพลายเออร์จำนวน 16,462 รายได้รายงานต่อ CDP ตามคำขอของลูกค้าและซัพพลายเออร์ของพวกเขาว่า สามารถลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดร์ออกไซด์ลงได้ถึง 70 เมกะตันซึ่งเทียบเท่ากับการใช้พลังงานของบ้าน 9.8 ล้านหลังในหนึ่งปี ทั้งนี้ CDP SER ได้ประเมินประสิทธิภาพการมีส่วนร่วมของซัพพลายเออร์โดยการใช้คำตอบของบริษัทที่มีต่อคำถามที่ระบุไว้ในแบบสอบถาม CDP Climate Change เกี่ยวกับการกำกับดูแล เป้าหมาย การปล่อยก๊าซเรือนกระจกในขอบเขตที่ 3 และการมีส่วนร่วมในห่วงโซ่คุณค่า โดยขอบเขตที่ 3 คือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำที่เกิดขึ้นในห่วงโซ่คุณค่าของบริษัทที่รายงานต่อ CDP ซึ่งไม่รวมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมที่เกี่ยวข้องกับการผลิตไฟฟ้า (ขอบเขตที่ 2)
แจ็คกี้ จาง กล่าวว่า เดลต้า ประเทศไทยยกให้ซัพพลายเออร์เป็นพันธมิตรระยะยาวในการร่วมกันแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อนและการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่การดำเนินงานแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ด้วยการใช้โซลูชันประหยัดพลังงาน จรรยาบรรณของซัพพลายเออร์ของเดลต้าครอบคลุมถึงกิจกรรมที่ช่วยจัดการเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และบริษัทฯ ให้การสนับสนุนซัพพลายเออร์ด้วยการฝึกอบรมเกี่ยวกับการดำเนินงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ในแต่ละปี เดลต้า ประเทศไทย เข้าร่วมกับซัพพลายเออร์ระดับต้นมากกว่าร้อยละ 90 ผ่านการทำแบบสอบถามด้านการกำกับดูแล การฝึกอบรมและให้ความรู้ และการมีส่วนร่วมกับซัพพลายเออร์ ผลงานของซัพพลายเออร์ในการทำแบบสำรวจประเมินตนเอง QBR รวมถึงการตรวจสอบในสถานที่และผ่านทางออนไลน์จะรายงานถึงแผนการพัฒนาของบริษัทฯ ตามระดับความสามารถและความเสี่ยง โดยเดลต้าสนับสนุนให้ซัพพลายเออร์ปรับการดำเนินงานให้อยู่ในพื้นที่เพื่อลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกจากการขนส่งและการกระจายสินค้า พร้อมลดการสร้างปริมาณขยะจากผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ของซัพพลายเออร์ ในขณะที่กำจัดสารที่อาจเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมจากผลิตภัณฑ์ของพวกเขา
เดลต้า ประเทศไทย มีการประเมินความเสี่ยงด้านภูมิอากาศ ผลกระทบ และโอกาส รวมถึงเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับ TCFD ทุกปี ในระดับองค์กร เดลต้าได้ดำเนินการวัดปริมาณและรายงานผลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการกำจัดตามมาตรฐาน ISO14064-1 เดลต้ายังคัดเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีประสิทธิภาพสูงสุดจำนวนหนึ่งเพื่อศึกษาการปล่อยคาร์บอนฟุตพริ้นท์ เข้ารับการตรวจสอบมาตรฐาน ISO14067 และจัดการลดคาร์บอนให้สอดคล้องกัน ผลิตภัณฑ์ที่มีประสิทธิภาพสูงสุดของเดลต้า ประเทศไทยช่วยประหยัดไฟฟ้าได้ถึง 1,223 กิโลวัตต์ สำหรับลูกค้าทั่วโลกตั้งแต่ปี 2559-2564 ซึ่งเทียบเท่ากับการลดการปล่อยคาร์บอนถึง 1,996 ล้านตัน อีกทั้ง ในปี 2564 โรงงานการผลิตของเดลต้าได้ดำเนินโครงการประหยัดพลังงานที่สามารถลดการใช้พลังงานลงได้ถึง 7,280,640 เมกะจูล
“กระบวนการเปิดเผยและให้คะแนนด้านสิ่งแวดล้อมประจำปีของ CDP ได้รับการนับถือในฐานะมาตรฐานทองคำด้านความโปร่งใสด้านสิ่งแวดล้อมขององค์กร การเปิดตัวในปี 2559 ของ SER ช่วยให้สมาชิกในห่วงโซ่อุปทานของ CDP สามารถระบุแนวทางปฏิบัติที่เป็นเลิศในการมีส่วนร่วมกับซัพพลายเออร์และเพื่อดูว่าพวกเขาและซัพพลายเออร์เหล่านั้นจะสามารถดำเนินการต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศได้อย่างมีประสิทธิภาพอย่างไรในห่วงโซ่อุปทานของพวกเขา กระดานผู้นำของ SER ได้เน้นย้ำถึงบริษัทที่ได้รับคะแนนระดับ “A” และสามารถตอบสนองต่อคำขอจากลูกค้าหรือนักลงทุนเพื่อแบ่งปันแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศให้แก่กันได้” แจ็คกี้ จาง กล่าว
ด้านซอนยา บอนส์เล (Sonya Bhonsle) หัวหน้าฝ่ายห่วงโซ่คุณค่าระดับโลก CDP กล่าวว่า รายงานประจำปีนี้แสดงให้เห็นว่าการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ด้วยความเร็ว ขนาด และตามขอบเขตที่กำหนดเพื่อจำกัดอุณหภูมิโลกให้สูงขึ้นแค่ 1.5 องศา ซึ่งหลายบริษัทยังขาดความตระหนักว่า ผลกระทบของพวกเขาที่มีต่อสิ่งแวดล้อมขยายไปไกลกว่าการดำเนินงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดย COP 15 ได้แสดงออกอย่างชัดเจนในการเรียกร้องให้องค์กรต่างๆ จำเป็นต้องเริ่มรายงานเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม หากบริษัทใดไม่เตรียมพร้อมสำหรับกฎห่วงโซ่อุปทานด้านสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต พวกเขาอาจเผชิญกับความเสี่ยงจากปัจจัยหลายประการ และพลาดโอกาสที่จะได้รับประโยชน์จากการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม กล่าวโดยสรุปคือ หากองค์กรใดที่ต้องการดำเนินธุรกิจต่อไปในภายภาคหน้า พวกเขาจำเป็นต้องเริ่มผสานแนวทางด้านสิ่งแวดล้อมให้เข้ากับวิธีการจัดซื้อและการทำงานร่วมกับซัพพลายเออร์ต่างๆ เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนธุรกิจได้ตามห่วงโซ่อุปทาน ดังนั้นตอนนี้เราจึงต้องการเห็นความเป็นผู้นำด้านสิ่งแวดล้อมจากบริษัทต่างๆ ผ่านความร่วมมือในการจัดการกับผลกระทบที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและธรรมชาติ พร้อมการทำงานร่วมกับซัพพลายเออร์ในลักษณะบูรณาการที่มีแนวทางด้านสิ่งแวดล้อมเป็นมาตรฐาน รวมทั้งสร้างแรงจูงใจให้เกิดการมีส่วนร่วมภายในองค์กร