ประเทศไทยก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมสูงวัย (Aged Society) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 จนถึงปี พ.ศ. 2564 ไทยมีสัดส่วนประชากรกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่า 12 ล้านคนหรือคิดเป็นสัดส่วนราว 1 ใน 6 ของประชากรไทย ถือเป็นอันดับ 2 ในกลุ่มประเทศอาเซียน รองจากประเทศสิงคโปร์
นอกจากนี้ไทยถูกคาดการณ์ว่าจะเป็นประเทศที่กำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุแบบสมบูรณ์แบบเป็นชาติของโลก เนื่องจากอัตราการเกิดของคนไทยมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องโดยมีจำนวนการเกิดเพียงประมาณ 6 แสนคนต่อปี และหากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้ต่อไปแล้วนอกจากจำนวนประชากรไทยโดยรวมจะเริ่มลดลงแล้วไทยจะขยับขึ้นเป็นสังคมสูงอายุในไม่ช้า โดยมีสัดส่วนประชากรที่อายุมากกว่า 65 ปีถึงร้อยละ 20 หรือมีประชากรอายุมากกว่า 60 ปีกว่าร้อยละ 30 ภายในปี พ.ศ. 2584 คาดว่าการขยับนี้ใช้เวลาเร็วกว่าประเทศญี่ปุ่นอีกด้วย จากการเปิดเผยของ ผศ.ดร.นพ.วิชช์ เกษมทรัพย์ ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
ด้าน นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า นับตั้งแต่การประกาศใช้นโยบายวางแผนครอบครัวแห่งชาติตั้งแต่ปี 2513 เป็นต้นมา เมื่อปี 2562 ถือเป็นปีแรกที่มีจำนวนการเกิดต่ำกว่า 6 แสนคน และล่าสุดเหลือเพียง 5.4 แสนคน ทำให้อัตราเจริญพันธุ์รวม (TFR) ลดเหลือแค่ 1.3 ในปี 2564 จำนวนการเกิดที่ลดต่ำลงนี้ จะส่งผลกระทบต่อโครงสร้างประชากร ทำให้ฐานแคบลง ไม่มั่นคงในอนาคต
ขณะที่ นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข เคยออกมาเปิดเผยว่า “คุณภาพการเกิด และการเจริญเติบโตของเด็กไทยยังคงเป็นปัญหา ซึ่งการแก้ปัญหาดังกล่าวไม่สามารถดำเนินการได้ด้วยระบบสาธารณสุขเพียงอย่างเดียว แต่ต้องอาศัยการจัดการในทุกด้านแบบองค์รวม โดยมีรัฐบาลเป็นผู้ลงทุนในทรัพยากรมนุษย์ ที่ประชุมจึงมีมติเห็นชอบ เสนอให้รัฐบาลมีการประกาศนโยบายประชากร ‘รณรงค์ให้ครอบครัวที่มีความพร้อม มีบุตรครอบครัวละไม่น้อยกว่า 2 คน’ โดยการมีบุตรนั้นจะต้องเป็นไปด้วยความสมัครใจ มีการวางแผน และมีการเตรียมความพร้อมตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์”
เป็นเหตุผลที่ทำให้ว่าที่คุณพ่อคุณแม่มือใหม่ควรรู้จักกับการเลี้ยงลูกแบบ Executive Functions (EF) หรือ กระบวนการทำงานของสมองส่วนหน้า ซึ่งมีความสำคัญในการควบคุมอารมณ์ ความคิด การวางแผนและการแก้ไขปัญหา ซึ่งบุตรจะสามารถจัดเก็บข้อมูลต่างๆ จากความจำมาสู่การกระทำเพื่อให้บรรลุเป้าหมายได้ดีขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมากกว่า EQ และ IQ
สำหรับวัยที่เหมาะสมจะพัฒนา EF คือ ช่วง 3 – 6 ปี เพราะหากเป็นช่วงวัยเรียน วัยรุ่น หรือวัยผู้ใหญ่ก็สามารถพัฒนาได้ แต่จะพัฒนาได้ไม่มากเท่ากับเด็กปฐมวัย ซึ่งประกอบด้วย 9 ทักษะ ประกอบด้วย 1. ทักษะความจำ (การเล่านิทาน, ดื่มนมแม่) 2. การยั้งคิด (พูดคุยบ่อยๆ, นับตัวเลข 1-10) 3. ยืดหยุ่นความคิด (ให้เวลากับการวาดเขียนระบายสี, ต่อบล็อกเป็นรูปทรง) 4. การใส่ใจจดจ่อ (อ่านหนังสือ ฟังเพลง, ต่อจิ๊กซอว์) 5. ควบคุมอารมณ์ (เล่นร่วมกับผู้อื่น, ช่วยงานบ้าน) 6. วางแผนและการจัดการ (สอนให้รู้การออมเงิน, ช่วยทำงานบ้าน) 7. รู้จักประเมินตนเอง (วางแผน, แก้ไขและปรับปรุง) 8. เริ่มลงมือทำ (เปิดโอกาสให้แสดงความคิดเห็น, พาออกไปเล่นกับเด็กคนอื่น) และ 9. ความพยายาม มีเป้าหมาย (เล่นกีฬา เล่นดนตรี เล่นหมากฮอต และหมากรุก)
ภาพ 1 โดย Sasin Tipchai จาก Pixabay
ภาพ 2 โดย PublicDomainPictures จาก Pixabay