โครงการไฟฟ้าพลังน้ำคลองทุ่งเพลของ พพ. แก้ปัญหาขาดแคลนน้ำทางการเกษตรกว่าแสนไร่ ผลิตไฟให้ชุมชน


กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการบริหารจัดการน้ำ โครงการไฟฟ้าพลังน้ำคลองทุ่งเพล จังหวัดจันทบุรี ซึ่งเป็นโครงการอเนกประสงค์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ก่อสร้างเพื่อเป็นแหล่งเก็บกักน้ำไว้เพื่ออุปโภค บริโภค แก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรแก่เกษตรกรกว่า 108,000 ไร่ของจังหวัดจันทบุรี  ตลอดจนการเกษตรและผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำเสริมเข้าระบบจ่ายพลังงานของประเทศ  สร้างความมั่นคงด้านพลังงานอย่างยั่งยืน

ดร.ประเสริฐ สินสุขประเสริฐ
ดร.ประเสริฐ สินสุขประเสริฐ

โครงการไฟฟ้าพลังน้ำคลองทุ่งเพล อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จัดหาแหล่งเก็บกักน้ำเพื่ออุปโภค บริโภค การเกษตรและผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำ

ดร.ประเสริฐ สินสุขประเสริฐ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กล่าวว่า  พพ. ได้เริ่มดำเนินการโครงการไฟฟ้าพลังน้ำคลองทุ่งเพล จังหวัดจันทบุรีตั้งแต่ปี พ.ศ. 2532 ก่อสร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2559 เป็นโครงการเอนกประสงค์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จัดหาแหล่งเก็บกักน้ำไว้เพื่ออุปโภค บริโภค ตลอดจนการเกษตรและผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำเสริมเข้าระบบจ่ายพลังงานของประเทศ ลักษณะโครงการประกอบด้วยการก่อสร้างเขื่อน 2 แห่ง ก่อสร้างกั้นคลองทุ่งเพล (เขื่อนบน) ในเขตอำเภอมะขาม จังหวัดจันทบุรี โดยเขื่อนมีความสูง 31 เมตร สันยาว 220 เมตร ก่อสร้างปิดกั้นคลองทุ่งเพล ทำให้เกิดอ่างเก็บน้ำความจุ 534,000 ลูกบาศก์เมตร สร้างอุโมงค์ชักน้ำยาว 5,955 เมตร ปล่อยน้ำผ่านท่อส่งน้ำมายังโรงไฟฟ้าซึ่งตั้งอยู่เหนือขอบอ่างของเขื่อนพลวง  โดยติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าพลังน้ำ จำนวน 2 ชุด กำลังการผลิตรวม 9,800 กิโลวัตต์ ผลิตพลังงานไฟฟ้าได้ปีละประมาณ 10 ล้านหน่วย  และเขื่อนบ้านพลวง (เขื่อนล่าง) ซึ่งมีความสูง 46.5 เมตร และสันเขื่อนยาว 1,100 เมตร ก่อสร้างกั้นคลองพลวงในเขตอำเภอเขาคิชฌกูฏ จังหวัดจันทบุรี กักเก็บน้ำใช้งานได้ประมาณ 75ล้านลูกบาศก์เมตร ถือเป็นโครงการสำคัญที่จะแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรแก่เกษตรกรส่วนใหญ่ของจังหวัดจันทบุรี สามารถส่งน้ำเพื่อการเกษตรครอบคลุม 4 ตำบล คือ ตำบลพลวง ตำบลตะเคียนทอง บางส่วน ในเขตอำเภอเขาคิชฌกูฏ ซึ่งเป็นระบบส่งน้ำเพื่อการเกษตรฝั่งตะวันตก และตำบลวังแซ้ม ตำบลฉมัน ในเขตอำเภอมะขาม ซึ่งเป็นระบบส่งน้ำเพื่อการเกษตรฝั่งตะวันออก รวมประมาณ 25 หมู่บ้าน 2,580 ครัวเรือน รวมทั้งสามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังน้ำได้ประมาณปีละ 10 ล้านหน่วย ผลิตไฟฟ้ารวมแล้วกว่า 57 ล้านหน่วย รายได้มากกว่า 160 ล้านบาท และพื้นที่เพาะปลูกกว่า 108,000 ไร่ เป็นแหล่งน้ำและแหล่งอาหารให้กับสัตว์ป่าในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฏและพื้นที่เขตรักษาพันธุ์ป่าเขาสอยดาว ที่สำคัญช่วยลดการสูญเสียในระบบสายส่งไฟฟ้า และเสริมสร้างความมั่นคงในระบบสายส่งของประเทศ

พพ. สร้างโครงการไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็ก 26 โครงการ รวมกำลังผลิต 77,285 กิโลวัตต์

สำหรับแนวทางการส่งเสริมพลังงานทดแทนระดับชุมชน โดยเฉพาะพลังงานน้ำขนาดเล็ก พพ.ได้บรรจุอยู่ในแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก หรือ AEDP เพื่อเสริมระบบความมั่นคงด้านพลังงานในระยะยาว และที่สำคัญพลังงานน้ำไม่มีต้นทุนด้านเชื้อเพลิง และน้ำก็ยังสามารถกลับมาใช้ได้ต่อเนื่อง รวมทั้งการบริหารจัดการที่จะให้ประโยชน์ด้านการเกษตร และช่วยเหลือเกษตรกรและประชาชนให้มีความเป็นอยู่ดีขึ้น ขณะนี้ พพ.ได้ดำเนินโครงการไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็ก จำนวน 26 โครงการ รวมกำลังผลิต 77,285 กิโลวัตต์ และโครงการที่จะดำเนินการก่อสร้าง ในปี พ.ศ. 2568 – 2570 อีกจำนวน 3 โครงการ รวมกำลังผลิต 2,456 กิโลวัตต์

นอกจากนี้ พพ.ยังมีแผนที่จะดำเนินโครงการระบบผลิตไฟฟ้าแบบผสมผสานพลังงานแสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำกับพลังน้ำ แบบโซลาร์ลอยน้ำ Floating Solar Farm เป็นการใช้พื้นที่ผิวน้ำบริเวณอ่างเก็บน้ำของ พพ.ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยมีเป้าหมายกำลังการผลิตไฟฟ้า ในพื้นที่อ่างเก็บน้ำของโครงการไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็กของ พพ. ทั้ง 9 แห่ง ประกอบด้วย 1.โครงการไฟฟ้าพลังงานน้ำขนาดเล็กคลองทุ่งเพล อำเภอเขาคิชฌกูฏ จังหวัดจันทบุรี 2.โครงการไฟฟ้าพลังงานน้ำขนาดเล็กคีรีธาร อำเภอมะขาม จังหวัดจันทบุรี  3.โครงการไฟฟ้า พลังน้ำขนาดเล็กห้วยประทาว (เขื่อนบน) อำเภอแก้งคร้อ จังหวัดชัยภูมิ 4.โครงการไฟฟ้า พลังน้ำขนาดเล็กห้วยประทาว (เขื่อนล่าง) อำเภอแก้งคร้อ จังหวัดชัยภูมิ 5.โครงการไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็กลุ่มน้ำน่านตอนบน อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน 6.โครงการไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็กห้วยแม่ผง อำเภอดอกคำใต้ จังหวัดพะเยา  7.โครงการไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็กแม่มาว อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่  8.โครงการไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็กแม่สาบ อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่และ 9.โครงการไฟฟ้าขนาดเล็กแม่สะงา อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน รวมกำลังผลิต 63.43 เมกะวัตต์ ภายในปี พ.ศ. 2573

ปัจจุบันโครงการฯ อยู่ระหว่างการดำเนินการของบประมาณแผ่นดิน ปี พ.ศ. 2567 โดยหลังจากได้รับงบประมาณแล้ว พพ.จะดำเนินการจัดทำรายงานสภาพภูมิอากาศโลก (COP) และ การประเมินสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ (ESA) สำหรับขออนุญาตหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) หลังจากนั้นจึงดำเนินการเตรียมพื้นที่และเตรียมอุปกรณ์การก่อสร้าง สำหรับงานก่อสร้าง ติดตั้งเครื่องจักร และอุปกรณ์ผลิตไฟฟ้า ทดสอบอุปกรณ์และทดสอบระบบ จนกระทั่งผลิตไฟฟ้าและจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ ภายใน พ.ศ 2568 เพื่สนับสนุนนโยบายภาครัฐตามเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ อีกทั้งเป็นโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดที่มีราคาถูกที่ต้องการเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนของการใช้พลังงานขั้นสุดท้ายให้ได้ 30%

พพ.เตรียมก่อสร้างระบบผลิตพลังงานแสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำกับพลังน้ำ (ระยะที่ 1) จำนวน 5 เมกะวัตต์ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567

เขื่อนบ้านพลวง

ดร.ประเสริฐ กล่าวว่าในส่วนพื้นที่อ่างเก็บน้ำเขื่อนบ้านพลวง (เขื่อนล่าง)  พพ.มีแผนที่จะดำเนินงานโครงการระบบผลิตพลังงานแสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำกับพลังน้ำ (ระยะที่ 1) จำนวน 5 เมกะวัตต์ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 เพื่อผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนทุ่นลอยให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยจะผลิตไฟฟ้าตามศักยภาพและความเหมาะสมของอ่างเก็บน้ำ สามารถติดตั้งระบบกำลังผลิตได้ถึง 44 เมกะวัตต์ ซึ่งอยู่ระหว่างการของบประมาณ   ทั้งนี้คาดว่าจะดำเนินการในปี พ.ศ. 2565-2573 ตามแผน PDP  ซึ่งมีแผนดำเนินการจำนวน 15 เมกะวัตต์ กำหนด COD ภายในปี พ.ศ. 2570 โดยกระแสไฟฟ้าที่ได้จากโซลาร์ลอยน้ำจะนำไปปั่นน้ำจ่ายให้แก่เกษตรกรต่อไป

ติดตั้งหัวจ่ายน้ำที่หมู่บ้าน 5-6 หัวจ่ายส่งน้ำให้ครอบคลุมพื้นที่ของเกษตรกร

สุมิตร หอมฉิน

สุมิตร หอมฉิน ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 6 ตำบลฉมัน อำเภอมะขาม จังหวัดจันทบุรี กล่าวว่า เกษตรกรในพื้นที่หมู่ที่ 6 มีจำนวน 225 ครัวเรือน และหมู่บ้านใกล้เคียงอีก 9 หมู่บ้าน ประมาณ 2,000 ครัวเรือน  ก่อนที่จะมีโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำจาก พพ. เข้ามา ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนจากการใช้น้ำในการอุปโภค บริโภคและทำการเกษตร โดยเฉพาะการทำสวนผลไม้อย่างมาก เพราะฤดูกาลแห้งแล้งและฝนตกหนักในแต่ละปี ซึ่งเป็นเรื่องที่คาดเดายากมาก

การเข้ามาของโรงไฟฟ้าพลังน้ำในช่วงแรก ชาวบ้านยังไม่เข้าใจ และมีความวิตกกังวลว่าหากโรงไฟฟ้าพังจะทำให้บ้านเรือนเสียหายและส่งผลกระทบเป็นวงกว้างในพื้นที่ แต่เมื่อเจ้าหน้าที่จากทาง พพ. เกษตรจังหวัด เกษตรอำเภอและส่วนราชการในพื้นที่ลงให้ข้อมูลทำความเข้าใจกับชาวบ้านในพื้นที่อย่างสม่ำเสมอ ประกอบกับการก่อสร้างใช้งานโรงไฟฟ้าพลังน้ำในหลายๆพื้นที่ในประเทศไทยเป็นตัวอย่างที่ดีให้ทราบว่า โรงไฟฟ้าพลังน้ำคล้ายคลึงกับการสร้างเขื่อนขนาดเล็กหรือฝายทดน้ำกั้นลำน้ำ ที่จะพัฒนาโดยการผันน้ำจากฝายทดน้ำ หรือเขื่อนไปยังโรงไฟฟ้าด้วยระบบส่งน้ำ เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า  และผันน้ำให้เกษตรกรสำหรับอุปโภค บริโภค เพื่อทำการเกษตรตลอดทั้งปี

ที่ผ่านมาได้ติดตั้งหัวจ่ายน้ำไว้ที่หมู่บ้าน 5-6 หัวจ่าย เพื่อส่งน้ำให้ครอบคลุมพื้นที่ของเกษตรกร โดยจะมีระยะเวลาในการเปิดปิดน้ำ 7-9  วันต่อครั้ง เป็นกติกาที่ชาวบ้านรับทราบและเห็นชอบ ช่วยให้ความวิตกกังวลเกี่ยวกับการขาดแคลนน้ำของชาวบ้านหมดไป นอกจากนี้ชาวบ้านในพื้นที่จังหวัดจันทบุรีอื่นๆ สามารถเข้ามาศึกษาดูงานโรงไฟฟ้าพลังน้ำของ พพ.ในหมู่ 6 นี้ อีกด้วย

“อยากให้ทาง พพ.และหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้องสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำเพิ่มเติมในพื้นที่จันทบุรีในจุดที่มีเขื่อน มีฝาย เพื่อให้มีน้ำอุปโภคบริโภคและใช้น้ำทำการเกษตรเช่นเดียวกับในพื้นที่หมู่ 6 เพิ่มเติมด้วย”  สุมิตร กล่าวทิ้งท้าย


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เอง โดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save