ปัญหา “ขยะ” ถือเป็นปัญหาระดับชาติที่ต้องได้รับการแก้อย่างเร่งด่วน เพื่อให้การแก้ปัญหาขยะนำไปสู่การใช้ประโยชน์ทางด้านการไฟฟ้าอย่างยั่งยืน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โดยทีมโรงไฟฟ้าน้ำพองได้ร่วมกับกรมโรงงานอุตสาหกรรม ร่วมกันศึกษา วิจัยและพัฒนาต้นแบบโรงไฟฟ้าพลังงานาขยะเคลื่อนที่ (Mobile Waste Incinerator Power Plan) ขึ้น โดยใช้ขยะที่ไม่ใช่ขยะอินทรีย์เป็นเชื้อเพลิง เบื้องต้นนำร่องทำการศึกษาและติดตั้งโรงไฟฟ้าขยะเคลื่อนที่ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 40 ล้านบาท ภายในโรงไฟฟ้าน้ำพอง ก่อนที่จะนำไปสู่การลดขนาดโรงไฟฟ้าขยะเคลื่อนที่ให้อยู่บนรถคันเดียวที่มีขนาดเหมาะสมกับการใช้งานในพื้นที่ชุมชนต่างๆต่อไป
สนพ.ส่งเสริมโครงการผลิตพลังงานจากขยะในไทย พร้อมหนุนกฟผ.รับซื้อพลังงานไฟฟ้าจากขยะทั้งจากภาคเอกชน- ครัวเรือน
วัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า สนพ. มีนโยบายให้การสนับสนุนโครงการผลิตพลังงานจากขยะในประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อทดแทนพลังงานไฟฟ้าที่มาจากเชื้อเพลิงน้ำมันที่นับมันจะหาได้ยากและมีราคาสูงขึ้น และพร้อมที่จะสนับสนุน กฟผ.ในการรับซื้อพลังงานไฟฟ้าจากขยะทั้งจากภาคเอกชนและครัวเรือนให้เข้าสู่ระบบของการไฟฟ้ามากขึ้นด้วย แต่เนื่องจากต้นแบบและวัตถุดิบที่จะนำมาเป็นเชื้อเพลิงนั้นต้องใช้นวัตกรรม การศึกษาและผลงานวิจัย รวมทั้งความร่วมมือจากภาคเอกชน ภาคการศึกษาที่มีนวัตกรรมอยู่แล้วหรือคิดค้นขึ้นมาใหม่ผสมผสาน ทดลองสังเคราะห์จนได้ผลที่ออกมาปลอดภัยแก่ชุมชน ประชาชน เกิดการยอมรับและราคาต้นทุนไม่สูงสามารถที่จะนำไปต่อยอดเชิงพาณิชย์ได้ในแต่ละชุมชนต่างๆทั่วประเทศตามแผนแม่บทในการกำจัดขยะและแปรรูปขยะ ของแผนพัฒนาเศรษฐกิจสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 ปี พ.ศ.2560-2564 ในยุทธศาสตร์ที่ 4 ว่าด้วยการเร่งรัดแก้ปัญหาขยะตกค้าง และยุทธศาสตร์ที่ 7 การวิจัยเทคโนโลยีพลังงานทดแทนจากขยะ รวมทั้งแผนแม่บทการกำจัดขยะมูลฝอยของประเทศ ในปี พ.ศ.2559-2564 ที่ต้องจัดการขยะชุมชนอย่างถูกต้องให้ได้โดยคำนึงถึงสุขภาพและชุมชนเป็นหลัก
ดังนั้น สนพ.จึงได้ร่วมติดตามการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆที่เกี่ยวข้องการการกำจัดขยะเพื่อนำมาแปรรูปรูปให้เป็นพลังงานไฟฟ้า โดย กฟผ.ที่โรงไฟฟ้าน้ำพองเป็นอีกแห่งที่มีการทำการศึกษาเรื่องการนำขยะแปรูปเป็นพลังงานไฟฟ้าภายใต้โครงการศึกษา วิจัยและพัฒนาต้นแบบโรงไฟฟ้าพลังงานขยะเคลื่อนที่ (Mobile Waste Incinerator Power Plan) ซึ่งได้ทดลองทำมากว่า 2 ปีและได้ผลเป็นที่พอใจอย่างยิ่ง
“ในอนาคต สนพ.จะนำต้นแบบนี้ไปพัฒนาและส่งเสริมให้แต่ละชุมชน แต่ละหมู่บ้าน ผ่านองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.)และ องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) กระทรวงมหาดไทย เพื่อนำไปลดขนาดเพื่อติดตั้งในแต่ละพื้นที่ที่มีขยะจำนวนมากที่จะนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตเป็นพลังงานขยะเคลื่อนที่ต่อไป” วัฒนพงษ์ กล่าว
ส่วนการรับซื้อพลังงานขยะที่ผลิตเป็นไฟฟ้าได้ในแต่ละพื้นที่นั้นจะรับซื้อตามราคาที่ตกลงตามเงื่อนไขของนโยบายภาครัฐกำหนดและที่สำคัญจะสร้างจิตสำนึกในการคัดแยกขยะของประชาชนในแต่ละชุมชนที่จะนำขยะที่ไม่ใช่ขยะอินทรีย์มาใช้เป็นวัตถุดิบกับทางโรงไฟฟ้าพลังงานขยะเคลื่อนที่ด้วย ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนพลังงานไฟฟ้าที่จะใช้ในอนาคตรวมทั้งแก้ปัญหาขยะล้นเมืองในอนาคตได้อย่างยั่งยืน
โรงไฟฟ้าน้ำพองขนาดใหญ่ที่สุดในภาคอีสานผลิตไฟฟ้าปีละ 4,660 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง
อลงกรณ์ พุ่มรักธรรม ผู้อำนวยการโรงไฟฟ้าน้ำพอง กล่าวว่า โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมน้ำพอง ตั้งอยู่ที่ตำบลกุดน้ำใส อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น มีพื้นที่ประมาณ 631 ไร่ ห่างจากตัวเมืองขอนแก่นไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 32 กิโลเมตร อยู่ระหว่างเส้นทางเข้าเขื่อนอุบลรัตน์ มีระยะทางห่างจากเขื่อนประมาณ 18 กิโลเมตร ปัจจุบันเป็นโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีกำลังผลิตรวม 710,000 กิโลวัตต์และสามารถผลิตไฟฟ้าได้ปีละ 4,660 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง โดยเป็นโรงไฟฟ้าแห่งเดียวในภูมิภาคนี้ที่ใช้ก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้าให้มีความมั่นคงและยั่งยืนขึ้น สำหรับไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมน้ำพอง ได้มีการศึกษาและความเหมาะสมในการตั้งโรงไฟฟ้าผลิตไฟในพื้นที่จาก กฟผ. และได้รับการอนุมัติจากรัฐบาลให้ดำเนินการผลิตไฟฟ้าโดยแบ่งออกเป็น 2 ระยะ ระยะที่ 1 อนุมัติในปี พ.ศ.2532 และดำเนินการก่อสร้างในปี พ.ศ.2532 และในระยะที่ 2 อนุมัติในปี พ.ศ.2534 และดำเนินการก่อสร้างในปี พ.ศ.2535 ซึ่งประโยชน์ของการก่อสร้างโรงไฟฟ้านี้ช่วยลดการส่งถ่ายพลังงานไฟฟ้าจากภาคเหนือและภาคกลางไปยังภาคตะวันออกเฉียงเหนือลงได้มาก ทำให้การสูญเสียพลังงานในระบบส่งน้อยลง
ในส่วนการดูแลสังคมและประชาชนและสิ่งแวดล้อมรอบโรงไฟฟ้านั้น ทางคณะผู้บริหารโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมน้ำพองได้สนับสนุนสินค้าชุมชนเพื่อเป็นสื่อที่ระลึกในโอกาสสำคัญ จ้างแรงงานท้องถิ่นให้เข้ามาทำงานในโรงไฟฟ้าเพื่อ เพิ่มรายได้ให้แก่ประชาชนในแต่ละปีจำนวนหลายล้านบาท ร่วมจัดทำโครงการส่งเสริมด้านสิ่งแวดล้อม โดยการอนุรักษ์พลังงาน อนุรักษ์ลำน้ำพอง การปลูกป่า การปล่อยปลาในลำคลองสาธารณะ ส่งเสริมให้ใช้จุลินทรีย์ในครัวเรือน สถานศึกษาและเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการผลิตพลังงานไฟฟ้าให้กับผู้ที่สนใจทั่วประเทศ เป็นต้น
ต้นแบบโรงไฟฟ้าพลังงานขยะเคลื่อนที่มูลค่า40 ล้านบาท ใช้ใบไม้ กิ่งไม้ และเศษซากผลผลิตทการเกษตรเป็นเชื้อเพลิง
ดร.กันย์ วงศ์เกษม หัวหน้ากองการผลิตโรงไฟฟ้าพลังความร้อน กล่าวว่า โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานขยะเคลื่อนที่ได้มีการศึกษามากว่า 2 ปี จากการที่ได้ทำจากการศึกษาและวิจัยสร้างนวัตกรรมที่จะช่วยลดขยะที่สะสมในพื้นที่ชุมชนและครัวเรือนที่โรงไฟฟ้าตั้งอยู่ รวมทั้งเป็นการปลูกจิตสำนึกในการคัดแยกขยะก่อนที่จะที่ขยะในแต่ละประเภทจะช่วยประหยัดงบประมาณในการจัดการขยะที่ทิ้งแต่ละประเภทของแต่ละชุมชนแต่ละท้องถิ่นในแต่ละปีได้จำนวนมาก ซึ่งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โดยทีมโรงไฟฟ้าน้ำพองได้ร่วมกับกรมโรงงานอุตสาหกรรม ร่วมกันศึกษา วิจัยและพัฒนาต้นแบบโรงไฟฟ้าพลังงานาขยะเคลื่อนที่ (Mobile Waste Incinerator Power Plan) ขึ้น โดยใช้ขยะที่ไม่ใช่ขยะอินทรีย์เป็นเชื้อเพลิง เช่น ใบไม้ กิ่งไม้ และเศษซากผลผลิตทางการเกษตร เป็นต้น เบื้องต้นนำร่องทำการศึกษาและติดตั้งโรงไฟฟ้าขยะเคลื่อนที่ ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 40 ล้านบาท จำลองการทำโรงไฟฟ้าในโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่บนรถบรรทุกขนาดใหญ่ 18 ล้อ 3 คัน แบ่งเป็น คันแรกสำหรับเป็นพื้นที่เก็บขยะที่สับแล้วนำมารอเพื่อเป็นวัตถุดิบ ซึ่งจะเก็บได้มากสุดประมาณ 3.5 ตัน คันที่ 2 สำหรับติดตั้งเตาเผาขยะ แบบเผาตรง และ Step Grate ส่วนคันที่ 3 จะนำมาติดตั้งหม้อน้ำ แบบ Combine (Water tube และ Fire Tube) การดำเนินการผลิตเพื่อให้ได้มาซึ่งไฟฟ้านั้นจะมีการป้อนขยะในอัตราขยะแห้ง 1-2 ตันต่อชั่วโมง ทำงานได้ตลอด 24 ชั่วโมง โดยการเผาเชื้อเพลิงขยะแต่ละครั้งจะใช้อุณหภูมิประมาณ 130 องศาเซลเซียส นอกจากนี้มีส่วนโครงสร้างอื่นๆต่อพ่วงอีกประมาณ 4 โครงสร้าง ประกอบด้วย ส่วนที่เก็บเป็นส่วนย่อยสับขยะแห้งจากชุมชน แขนเหล็กจับขยะที่ย่อยละเอียดแล้วเพื่อนำสู่สายพานเพื่อนำขยะเข้าสู่เตาเผา ส่วนที่แยกขยะโลหะและส่วนที่เป็นห้องมอนิเตอร์เก็บก๊าซเพื่อเตรียมจำหน่ายก๊าซไปผลิตกระแสไฟฟ้าหรือใช้แทน LPG
สำหรับอุปกรณ์ที่นำมาติดตั้งและประกอบเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานขยะเคลื่อนที่ มีทั้งสั่งซื้อจากต่างประเทศในเบื้องต้นเพื่อนำมาเป็นต้นแบบและศึกษาการใช้งานเพื่อศึกษารูปแบบทางธุรกิจในการบริหารจัดการโรงไฟฟ้าพลังงานขยะเคลื่อนที่ รวมทั้งมีอุปกรณ์ที่ซื้อภายในประเทศได้ เช่นอะไหล่มิเตอร์ไฟฟ้า เหล็กทำรางสายไฟ และสายไฟ เป็นต้น
เดินเครื่องเต็มที่ ได้ปริมาณไฟฟ้าประมาณ 30 เมกกะวัตต์
ดร.กันย์ กล่าวถึงการประเมินประสิทธิภาพจากผลการดำเนินโครงการฯว่าได้ปริมาณไฟฟ้าประมาณ 30 เมกกะวัตต์หากเดินเครื่องเต็มที่ โดยปริมาณไฟฟ้าที่ได้อยู่ในระดับที่ดี ซึ่งการเดินเครื่องแต่ละครั้งไม่ทำลายสภาพอากาศและสิ่งแวดล้อมรอบๆพื้นที่ที่ต้นแบบโรงไฟฟ้านี้ติดตั้ง ค่าฝุ่นละอองและไอน้ำที่เหลือจากการเผาไหม้มีค่ามลพิษที่น้อยมาก ทั้งนี้ภายหลังทำการศึกษาแล้วเสร็จเบื้องต้นมีโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ที่จังหวัดลำปาง ติดต่อให้นำไปทดลองติดตั้งในพื้นที่แล้ว 1 แห่ง
ส่วนในอนาคตจะมีการดำเนินแนวทางศึกษาลดขนาดโรงไฟฟ้าขยะเคลื่อนที่ให้อยู่บนรถคันเดียว แนวทางการแยกรถแต่ละคันเพื่อทำหน้าที่รับขยะแต่ละประเภท เพื่อช่วยลดต้นทุนการดำเนินการและให้เหมาะสมกับพื้นที่ใช้งานในชุมชนในพื้นที่ อบต. และพื้นที่โรงงานอุตสาหกรรม เป็นต้น
คาดโรงไฟฟ้าพลังงานขยะเคลื่อนที่ใช้เวลาคืนทุน 4-5 ปี
สำหรับการลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานขยะเคลื่อนที่ของโรงไฟฟ้าน้ำพองประมาณ 40 ล้านบาท เพื่อหานวัตกรรมในการผลิตไฟฟ้า เพื่อให้เพียงพอต่อการใช้งานในพื้นที่และหาแหล่งพลังงานไฟฟ้าสำรองที่มาจากขยะในพื้นที่ในอนาคต หากเกิดการขาดแคลนพลังงาน คาดว่าจะคืนทุนในระยะเวลา 4-5 ปี เมื่อการเดินเครื่องเต็มที่และต่อเนื่องทุกวัน ส่วนขยะที่จะนำมาเป็นวัตถุดิบนั้นเบื้องต้นจะรับซื้อจากทางโรงงานขยะรีไซเคิล ชุมชมเป็นหลักในพื้นที่ก่อน และในอนาคตอาจจะมีการจัดซื้อขยะในพื้นที่ใกล้เคียงและอื่นๆเพิ่มเติมเพื่อนำมาเป็นวัตถุดิบในการผลิต ด้านการรับซื้อไฟฟ้าที่ได้จากการโรงไฟฟ้าพลังงานขยะเคลื่อนที่นั้นจะเป็นไปตามข้อตกลงของ กฟผ. ที่จะกำหนดราคารับซื้อและปริมาณรับซื้อในแต่ละพื้นที่เพื่อสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนและช่วยลดปริมาณขยะลงอีกด้วย