สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) โดย วีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) นำคณะสื่อมวลชนเข้าเยี่ยมชมศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. เขื่อนศรีนครินทร์ (ราชานุรักษ์) จังหวัดกาญจนบุรี โดยได้รับเกียรติจากชาญณรงค์ จันทมงคล ผู้อำนวยการเขื่อนศรีนครินทร์ (อขศ.) และคณะ ให้การต้อนรับ พร้อมพาชมบ้านครินทร์ บ้านพักประหยัดพลังงาน และโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ
วีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า สนพ. ได้นำคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ และคณะสื่อมวลชนเยี่ยมชมแหล่งเรียนรู้ด้านพลังงานของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ณ จังหวัดกาญจนบุรี 3 แห่ง ได้แก่ 1.ศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. เขื่อนศรีนครินทร์ (ราชานุรักษ์) ซึ่งเป็นศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. ที่ได้แรงบันดาลใจจากพระราชปณิธานงานอนุรักษ์ทรัพยากรของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านพลังงานของประเทศไทยและของโลก
2. บ้านครินทร์ (KARIN) ต้นแบบนวัตกรรมบ้านประหยัดพลังงานแห่งอนาคตจากแนวคิด Livable Showroom ที่รวบรวมเทคโนโลยีนวัตกรรมพลังงานที่ทันสมัยและบริการพลังงานสีเขียวแบบครบวงจร (Smart Energy Solutions) เพื่อสร้างความเข้าใจให้แก่ประชาชนและภาคธุรกิจในการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดและการบริหารจัดการพลังงานผ่านประสบการณ์จริง ตอบโจทย์ความต้องการใช้พลังงานสะอาดที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นและมุ่งสู่เป้าหมาย Carbon Neutrality ของประเทศ และ 3. โรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ เขื่อนศรีนครินทร์ ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าที่มีการใช้งานมาแล้วไม่น้อยกว่า 30 ปี และยังใช้ประโยชน์อยู่ในปัจจุบัน โดยโรงไฟฟ้าเขื่อนศรีนครินทร์อยู่ในระหว่างปรับปรุง เพื่อ เตรียมติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าและอุปกรณ์ประกอบให้ทันสมัยมีประสิทธิภาพมากขึ้น และยังเตรียมความพร้อมปรับเปลี่ยนไปสู่โรงไฟฟ้าดิจิทัล (Digital Power Plant) อีกด้วย
“จากการเยี่ยมชมสถานที่ต่างๆ ของ กฟผ. เห็นว่า กฟผ. ได้ปรับตัวเดินหน้าเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนตอบโจทย์คาร์บอนเป็นศูนย์ เน้นการพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติภายในประเทศเพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงาน ช่วยลดต้นทุนค่าเชื้อเพลิง พร้อมขับเคลื่อนองค์กรสู่ผู้ให้บริการด้านพลังงานอย่างครบวงจรตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้ไฟฟ้าที่หลากหลาย ซึ่งเทรนด์พลังงานเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และทิศทางพลังงานโลกมุ่งสู่พลังงานสะอาดมากขึ้น” วีรพัฒน์ กล่าว
ส่วนสนพ.อยู่ระหว่างการจัดทำร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย หรือ แผน PDP ฉบับใหม่ เน้นการเพิ่มสัดส่วนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมากกว่า 50% ก๊าซธรรมชาติประมาณ 30-40% เป็นต้น เพื่อให้ไทยบรรลุการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net-Zero GHG Emission) ภายในปี ค.ศ.2065
อย่างไรก็ตามการจัดทำแผน PDP ยังคงคำนึงถึงหลักการสำคัญใน 3 ด้าน คือ 1. ความมั่นคงทางพลังงาน 2. ราคาพลังงานที่เข้าถึงได้ และ 3. ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะทำให้ประเทศไทยมีความยั่งยืนด้านพลังงาน และสามารถมีพลังงานใช้ได้ตลอดไป
ด้าน ชาญณรงค์ จันทมงคล ผู้อำนวยการเขื่อนศรีนครินทร์ กล่าวว่า ในพื้นที่เขื่อนศรีนครินทร์ กฟผ. มีแหล่งเรียนรู้ด้านพลังงานสำหรับทุกคนที่อยากเข้ามาเรียนรู้มากมาย อาทิ ศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. เขื่อนศรีนครินทร์ (ราชานุรักษ์) ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ในช่วงปรับปรุง โดย กฟผ. มุ่งมั่นถ่ายทอดองค์ความรู้และประสบการณ์ด้านพลังงานไฟฟ้าที่คำนึงถึงชุมชนและสิ่งแวดล้อมมากว่าครึ่งศตวรรษ ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านพลังงานของประเทศไทยและของโลก มอบให้แก่เยาวชนและประชาชนทั่วไป เพื่อร่วมสร้างสังคมแห่งภูมิปัญญาด้านพลังงานผ่านศูนย์การเรียนรู้ อีกทั้งบ้านครินทร์ (KARIN) ซึ่งเป็นต้นแบบนวัตกรรมบ้านประหยัดพลังงาน โดยออกแบบตามหลักเกณฑ์บ้านเบอร์ 5 จำลองรูปแบบการใช้ไฟฟ้าที่ตอบโจทย์ทิศทางพลังงานสะอาดในอนาคต 3 รูปแบบ ได้แก่ 1. จำลองโมเดลบ้านในพื้นที่ที่ไม่สามารถเข้าถึงระบบไฟฟ้าหลัก แต่สามารถผลิตไฟฟ้าใช้เองจากโซลาร์เซลล์ 2. จำลองโมเดลบ้านที่มีเป้าหมายให้บิลค่าไฟฟ้าเป็น 0 บาท ติดตั้งโซลาร์เซลล์ครอบคลุมความต้องการใช้ไฟฟ้าภายในบ้านตลอดทั้งวัน และมีการติดตั้งระบบรองรับเทคโนโลยีการจ่ายไฟฟ้าจากแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าเข้าสู่ระบบไฟฟ้า (V2G) ได้อีกด้วย และ 3. จำลองโมเดลบ้านสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าที่ต้องการเป็นทั้งผู้ผลิตไฟฟ้า ผู้ใช้ไฟฟ้า และบริหารจัดการพลังงานเอง โดยติดตั้งโซลาร์เซลล์ แบตเตอรี่ และระบบบริหารจัดการพลังงาน เพื่อเตรียมรองรับการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างผู้ใช้ไฟฟ้าด้วยกันเอง ในอนาคต
“นอกจากนี้ยังมียังมีโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ เขื่อนศรีนครินทร์ โดยโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ เครื่องที่ 4 และ 5 นั้นเป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับหรือระบบกักเก็บพลังงานด้วยพลังน้ำขนาดใหญ่ (Energy Storage System: ESS) นับเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน เพื่อลดความไม่แน่นอน และไม่เสถียรในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนได้ จากความสำเร็จของโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดเขื่อนสิรินธร กฟผ. จึงวางแผนพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำของเขื่อนศรีนครินทร์ ขนาดกำลังผลิตรวม 720 เมกะวัตต์ ซึ่งจะถูกบรรจุในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2561-2580” ชาญณรงค์ กล่าว
เขื่อนศรีนครินทร์ นอกจากจะเป็นแหล่งผลิตพลังงานหมุนเวียนและแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญแล้ว ยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวได้กว่า 1 ล้านคนต่อปี และ กฟผ. ได้มุ่งพัฒนาให้เขื่อนศรีนครินทร์ได้ถูกใช้ประโยชน์อย่างสูงสุดต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อม และทำงานด้วยความโปร่งใส เพื่อเสถียรภาพของพลังงานและราคาที่สมเหตุสมผล ด้วยการผลิตไฟฟ้าจากการระบายน้ำผ่านเครื่องกำเนิดไฟฟ้า และระบายมวลน้ำให้ตรงกับช่วงเวลาที่ประชาชนต้องการใช้มากที่สุด เมื่อถึงเวลาที่มีการใช้ไฟน้อยลง จะทำการสูบน้ำกลับเพื่อรักษาสมดุลของเขื่อน
โดย กฟผ. ได้รายงานผลการระบายน้ำผ่านทางเว็บไซต์ที่ประชาชนสามารถเข้าไปตรวจสอบได้ และบ้านครินทร์ (KARIN) ที่สร้างขึ้นมาเพื่อเป็นต้นแบบบ้านที่ใช้พลังงานสะอาดอย่างแสงอาทิตย์เป็นหลัก นอกจากนี้ กฟผ. ยังมีโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำของเขื่อนศรีนครินทร์ที่กำลังพัฒนา เพื่อนำพาประเทศไทยก้าวเข้าสู่การใช้พลังงานสะอาดอย่างเต็มรูปแบบในอนาคต