สนพ. เผยปี’66 การผลิตไฟฟ้าปล่อยก๊าซคาร์บอนอันดับ 1 ถึง 89.6 ล้านตัน คาดแนวโน้มการใช้พลังงานปี’67 เพิ่มขึ้นกว่า 3%


สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เผยยอดใช้พลังงานขั้นต้นปี 2566 เพิ่มขึ้น 0.8 เทียบกับปีก่อน อยู่ที่ระดับ 2,007 พันบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน จากสภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศที่ปรับตัวดีขึ้น และความต้องการใช้พลังงานเชิงพาณิชย์ขั้นต้นในปี 2567 โดยคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.1 อยู่ที่ระดับ 2,063 พันบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน จากการเพิ่มขึ้นของการใช้พลังงานทุกประเภท สอดคล้องกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจในประเทศ

วีรพัฒน์  เกียรติเฟื่องฟู

วีรพัฒน์  เกียรติเฟื่องฟู ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวถึงสถานการณ์พลังงานในปี 2566 ว่า การใช้พลังงานขั้นต้นเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.8 เทียบกับปีก่อน อยู่ที่ระดับ 2,007 พันบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน จากสภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศที่ปรับตัวดีขึ้น โดยเพิ่มขึ้นในส่วนของการใช้น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ทั้งนี้ การใช้น้ำมันเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3 และการใช้ก๊าซธรรมชาติปรับตัวเพิ่มขึ้นมากถึงร้อยละ 9.1 จากฐานที่ต่ำกว่าปกติของปีที่ผ่านมา โดยเป็นการเพิ่มขึ้นจากการใช้ก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าตามความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่การใช้ไฟฟ้าพลังน้ำ/ไฟฟ้านำเข้า ลดลงร้อยละ 6.4 เนื่องจากมีปริมาณการนำเข้าไฟฟ้าพลังน้ำจาก สปป.ลาว ลดลงจากปัญหาภาวะภัยแล้ง ซึ่งสถานการณ์พลังงานรายเชื้อเพลิงปี 2566 สรุปได้ดังนี้

การใช้น้ำมันสำเร็จรูป เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.7 อยู่ที่ระดับ 138.4 ล้านลิตรต่อวัน โดยการใช้น้ำมันดีเซล ลดลงร้อยละ 5.7 เฉลี่ยอยู่ที่ 68.9 ล้านลิตรต่อวัน การใช้น้ำมันเบนซินและแก๊สโซฮอล์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.0 เฉลี่ยอยู่ที่ 31.4 ล้านลิตรต่อวัน สำหรับการใช้น้ำมันเครื่องบิน เพิ่มขึ้นร้อยละ 49.9 เฉลี่ยอยู่ที่ 13.7 ล้านลิตรต่อวัน ด้านน้ำมันเตา ลดลงร้อยละ 15.8 เฉลี่ยอยู่ที่ 5.4 ล้านลิตรต่อวัน

โดยการใช้น้ำมันในกลุ่มเบนซินที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากการพื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ ซึ่งช่วงเวลาที่มีการใช้น้ำมันมากที่สุด พบว่าอยู่ในช่วงเดือนเมษายน เพราะเป็นเดือนที่มีวันหยุดเทศกาล ทำให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวมากขึ้น และน้ำมันเครื่องบินที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากนักท่องเที่ยวจีนและคาซัคสถานเดินทางมาเที่ยวประเทศไทยมากขึ้นจากการที่รัฐบาลประกาศใช้นโยบายฟรีวีซ่าสำหรับ ทำให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวฟื้นตัวมากขึ้นอีกด้วย

การใช้ LPG โพรเพน และบิวเทน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.5 อยู่ที่ระดับ 6,542 พันตัน โดยการใช้ LPG เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ซึ่งมีสัดส่วนการใช้สูงสุดคิดเป็นร้อยละ 43 มีการใช้เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.1 การใช้ภาคขนส่ง มีสัดส่วนร้อยละ 14 เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.5 ภาคอุตสาหกรรมมีสัดส่วนร้อยละ 11 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.3  ในขณะที่การใช้เอง มีสัดส่วนร้อยละ 1 มีการใช้เพิ่มขึ้นร้อยละ 97.9 ในขณะที่ภาคครัวเรือนมีสัดส่วนร้อยละ 31 ลดลงร้อยละ 0.6

การใช้ก๊าซธรรมชาติ เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.4 อยู่ที่ระดับ 4,410 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน โดยมาจากการใช้เพื่อผลิตไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.0 ตามความต้องการใช้ไฟฟ้าที่มากขึ้นจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศและราคาการนำเข้า LNG ระยะสั้น (Spot LNG) ที่ปรับตัวลดลง จึงมีการนำเข้า Spot LNG เพิ่มขึ้นเพื่อลดต้นทุนในการผลิตไฟฟ้า สำหรับการใช้ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและอื่นๆ ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4 ขณะที่การใช้ในภาคอุตสาหกรรม ลดลงร้อยละ 3.3 และการใช้เป็นเชื้อเพลิงในรถยนต์ (NGV) ลดลงร้อยละ 2.5

ส่วนการใช้ ถ่านหิน/ลิกไนต์ ลดลงร้อยละ 15 อยู่ที่ 14,450 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ (KTOE) จากการใช้ในภาคอุตสาหกรรมที่ลดลงร้อยละ 13.3 และการใช้ถ่านหินในโรงไฟฟ้า IPP ลดลงร้อยละ 31.4 สำหรับการใช้ ลิกไนต์ ลดลงร้อยละ 10.6 อยู่ที่ 3,179 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ (KTOE)  ทั้งนี้การใช้ลิกไนต์ร้อยละ 99 เป็นการใช้ในภาคการผลิตไฟฟ้าในโรงไฟฟ้าแม่เมาะของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) สำหรับสัดส่วนการใช้ลิกไนต์ที่เหลือร้อยละ 1 ถูกนำไปใช้ในภาคอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตามตั้งแต่เดือนเมษายน 2566 เป็นต้นมา ยังไม่มีการใช้ลิกไนต์ในภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากการหมดอายุประทานบัตรของเหมืองลิกไนต์ในประเทศแล้ว

วีรพัฒน์  กล่าวว่า การใช้ไฟฟ้า เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.4 มีการใช้รวมทั้งสิ้น 203,923 ล้านหน่วย มาจากการใช้ไฟฟ้าในส่วนของสาขาธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวและบริการ โดยในสาขาธุรกิจเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.4 และการใช้ไฟฟ้าในโรงแรมที่เพิ่มขึ้นสูงถึงร้อยละ 22.5 ส่วนการใช้ไฟฟ้าของกลุ่มอพาร์ตเมนต์เพิ่มขึ้น 15.0 เกสต์เฮาส์เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.7 ห้างสรรพสินค้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.9 ขายปลีก และขายส่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 4 การใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นนี้เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคCOVID-19 คลี่คลายลง ทำให้ประชาชนออกมาใช้ชีวิตกันมากขึ้น ซึ่งส่งผลให้เศรษฐกิจเกิดฟื้นตัวของเศรษฐกิจและขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

สำหรับการใช้ไฟฟ้าในสาขาครัวเรือนเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.4 และสาขาอื่น ๆ (องค์กรไม่แสวงหากำไร สูบน้ำเพื่อการเกษตร ไฟฟ้าชั่วคราว และไฟฟ้าสาธารณะ) เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.7 ในขณะที่การใช้ไฟฟ้าในสาขาอุตสาหกรรมซึ่งมีสัดส่วนการใช้ถึงร้อยละ 42 มีการใช้ไฟฟ้าลดลงร้อยละ 2.6 จากสภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวส่งผลให้การผลิตสินค้าเพื่อส่งออกหดตัวในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2566

ส่วนความต้องการพลังไฟฟ้าสูงสุดของระบบ 3 การไฟฟ้าของปี 2566 เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2566 เวลา 21.41 น. อยู่ที่ระดับ 34,827 MW เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.0 เมื่อเทียบกับความต้องการพลังไฟฟ้าสูงสุดในระบบ 3 การไฟฟ้าของปีก่อน ซึ่งทำให้ต้องวางแผนเตรียมพลังงานที่พึ่งพาได้ไว้สำรองเพื่อใช้ในเวลากลางคืนนอกเหนือจากพลังงานแสงอาทิตย์ ไม่ว่าจะเป็นพลังงานลม พลังงานน้ำ

นอกจากนี้ การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการใช้พลังงานในรายสาขาเศรษฐกิจ ปี 2566 พบว่า สาขาที่มีการปล่อยเพิ่มขึ้นคือ การผลิตไฟฟ้า โดยมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากที่สุดถึง 89.6 ล้านตัน รองลงมาคือ การขนส่ง มีการปล่อย 81.6 ล้านตัน และสาขาที่มีการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ลดลงคือ อุตสาหกรรมปล่อย 59.2 ล้านตัน  ในส่วนของครัวเรือน เกษตรกรรม พาณิชยกรรม และอื่น ๆ ปล่อยเพียง 13.2 ล้านตัน รวมทั้งสิ้นมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 243.6 ล้านตัน

สนพ. ยอดใช้พลังงานปี’66 และคาดการณ์แนวโน้มการใช้พลังงานปี’67

สำหรับแนวโน้มการใช้พลังงานปี 2567  วีรพัฒน์ คาดการณ์ว่าจะมีการใช้พลังงานขั้นต้นเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 3.1 โดยมีปัจจัยสนับสนุนด้านบวก จากการฟื้นตัวของการค้าโลกที่ทำให้ภาคการส่งออกกลับมาขยายตัว การขยายตัวของการอุปโภคบริโภคภายในประเทศ และการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว และปัจจัยสนับสนุนด้านลบจากปรากฏการณ์เอลนีโญที่อาจจะทำให้ประเทศไทยมีอุณหภูมิที่สูงเพิ่มขึ้นอีก และปริมาณน้ำฝนที่ลดลง ทำให้เกิดภัยแล้ง และความเสี่ยงจากระบบเศรษฐกิจและการเงินโลกที่ผันผวนจากสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง และราคาพลังงานที่อาจมีความผันผวน

“สำหรับประมาณการความต้องการใช้พลังงานของประเทศปี 2567 นั้น มีการพิจารณาสมมติฐานสำหรับการประมาณการที่สำคัญ ได้แก่ แนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศ (GDP) ปี 2567 ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2567 ที่คาดการณ์ว่าจะขยายตัวในช่วงร้อยละ 2.2 – 3.2 โดยมีปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญจากการขยายตัวของภาคการส่งออกสินค้าตามการฟื้นตัวของการค้าโลก อีกทั้งการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว ทั้งนี้คาดการณ์ว่าความต้องการใช้พลังงานเชิงพาณิชย์ขั้นต้น ปี 2567 จะเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.1 อยู่ที่ระดับ 2,063 พันบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน จากการเพิ่มขึ้นของการใช้พลังงานทุกประเภท สอดคล้องกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจในประเทศ โดยการใช้น้ำมันจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.1 การใช้น้ำมันก๊าซธรรมชาติคาดว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5 การใช้ถ่านหิน/ลิกไนต์จะเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.4 การใช้น้ำมันสำเร็จรูป ปี 2567 จะมีการใช้เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.3 และประมาณการความต้องการไฟฟ้าปี 2567 จะมีการใช้เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.1 ตามสภาวะเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้น และอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาคาดว่าอุณหภูมิปี 2567 จะสูงขึ้นประมาณ 1.2 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับปีก่อน” วีรพัฒน์  กล่าวทิ้งท้าย


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เอง โดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save