นักลงทุน * ผู้ประกอบการ * ESG


ทุกวันนี้ ความเจริญและความทันสมัยของโลกในหลายๆ ด้าน ได้นำไปสู่ปัญหาความเสื่อมโทรมทางสิ่งแวดล้อม และทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในสังคมโลกเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะสถานการณ์ COVID-19 ที่เกิดขึ้นอย่างไม่คาดคิด ได้ซ้ำเติมปัญหาต่างๆ ให้ขยายวงกว้างขวางขึ้นทั่วโลก

ดังนั้น ความร่วมมือกันตั้งแต่วันนี้เพื่อดูแลโลกอย่างเร่งด่วน จึงไม่ใช่ “ทางเลือก” อีกต่อไป แต่เป็น ”ทางรอด” สำหรับมนุษยชาติที่จะอยู่ร่วมกันบนโลกนี้อย่างสงบสุขและมีคุณภาพเท่านั้น

นักลงทุนจากสถาบันและองค์กรต่างๆ ทั่วโลก จึงรวมตัวกันภายใต้ ชื่อ “UN PRI” (Principle for Responsible Investment) (จากการสนับสนุนขององค์การสหประชาชาติ) เพื่อยึดหลักปฏิบัติสำหรับ “การลงทุนอย่างมีความรับผิดชอบ” ซึ่งเน้นการปฏิบัติในประเด็นสำคัญด้าน “ESG” ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานที่ว่า “ธุรกิจควรเติบโตควบคู่ไปกับการคำนึงถึง 3 ปัจจัยหลัก คือ สิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล”

ESG” จึงยึดเอา “ความยั่งยืน” ของภาคธุรกิจอุตสาหกรรม สังคม และส่วนรวมเป็น “เป้าหมาย” ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายของ “การพัฒนาอย่างยั่งยืน” ของโลก หรือ Sustainable Development Goals (SDGs 17 ข้อ) ที่ประเทศต่างๆ เห็นชอบร่วมกันตามรายงานของ World Economic Forum (WEF) เมื่อ ค.ศ. 2015 แล้ว

ปัจจุบันแนวโน้มในการกีดกันสินค้าและบริการที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มมากขึ้นทุกที โดยผ่านมาตรการทางการค้าระหว่าง ประเทศ อาทิ “European Green Deal” ซึ่งมีการบังคับใช้มาตรการปรับภาษีสินค้าที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนสูง (Carbon Border Adjustment Mechanism : CBAM) นั้นได้กลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ธุรกิจขนาดใหญ่ ต้องเร่งปรับตัวเพื่อรักษาลูกค้าและความสามารถในการแข่งขัน

ESG” จึงเป็นทั้งแนวความคิด และยุทธศาสตร์เพื่อการเติบโตและ พัฒนาที่ใช้ขับเคลื่อนธุรกิจอุตสาหกรรมให้เจริญก้าวหน้าอย่างยั่งยืน โดย E คือ Environmental หมายถึง การจัดการด้านสิ่งแวดล้อม S คือ Social หมายถึง การจัดการด้านสังคม และ G คือ Governance หมายถึง การจัดการด้านธรรมาภิบาล

ESG จะเป็นปัจจัยที่มีความเชื่อมโยงและเกื้อหนุนกัน พร้อมๆ กับสนับสนุนธุรกิจอุตสาหกรรมให้เติบโตได้อย่างยั่งยืนด้วย นักลงทุนจึงควรนำปัจจัย ESG มาประกอบการวิเคราะห์และการตัดสินใจลงทุน ในกิจการต่างๆ โดยเปิดเผยข้อมูลด้าน “ESG” อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องและผู้ลงทุนได้มั่นใจว่ามีส่วนร่วมสนับสนุนบริษัทที่ดำเนินธุรกิจและประกอบกิจการอย่างมีความรับผิดชอบและเพื่อความยั่งยืนอย่างแท้จริง

ปัจจุบันแนวความคิดในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน โดยยึดกรอบของ ESG กำลังได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง ทั้งจากบริษัทจดทะเบียน ในตลาดหลักทรัพย์และนักลงทุนทั่วโลก ที่ให้ความสำคัญกับการลงทุนอย่างมีความรับผิดชอบในบริษัทที่มีแนวทางการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึง ความยั่งยืนทั้งของกิจการและสังคมโดยรวม โดยจะใช้ผลการดำเนินงานด้าน “ESG” ของธุรกิจเป็นเกณฑ์ประกอบการพิจารณา เพื่อประเมินความยั่งยืน ความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว และความสามารถในการสร้างคุณค่าให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย เพื่อการตัดสินใจว่าจะร่วมลงทุน หรือไม่ต่อไป

หลักการหรือแนวความคิดในเรื่องของ ESG จึงสะท้อนให้เห็นว่า นักลงทุนต้องการลงทุนอย่างมีความรับผิดชอบและแสวงหาผลตอบแทนที่ไม่ใช่อยู่ในรูปของผลกำไรเพียงอย่างเดียว แต่ยังต้องการเห็นการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาลของกิจการมากขึ้นด้วย

การบังคับใช้มาตรการ CBAM ไม่เพียงแต่กระทบธุรกิจ อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ส่งออกสินค้าไปยังประเทศในสหภาพยุโรป เท่านั้น แต่กิจการขนาดกลางและเล็กประเภท SMEs ที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตของธุรกิจอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกันด้วย เพราะการคำนวณปริมาณการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ภายใต้มาตรการ CBAM จะคิดตลอดทั้งวงจรการผลิตสินค้านั้นๆ

ดังนั้น SMEs จึงต้องเร่งปรับตัว ปรับรูปแบบ และปรับกระบวนการผลิต หรือวิธีทำงาน เพื่อให้สามารถรองรับกฎกติกาการค้าที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งนับวันจะยิ่งมีบทบาทต่อความอยู่รอดและเติบโตของธุรกิจอุตสาหกรรมทุกขนาด

ปัจจุบันรัฐบาลไทยได้ประกาศให้ “BCG Economy” Model เป็นแนวความคิดและแนวทางปฏิบัติในการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวมของประเทศ คือการพัฒนา “เศรษฐกิจชีวภาพ” (Bio Economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) เพื่อส่งเสริมให้เศรษฐกิจเติบโตแบบก้าวกระโดดควบคู่กับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและการพัฒนาสังคม เพื่อนำพาประเทศเข้าสู่ยุค “Thailand 4.0” ที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับคุณภาพชีวิตคนไทยและประเทศชาติอย่างยั่งยืน

แนวความคิดของ SDGs-ESG-BCG ในวันนี้ จึงสอดรับกันในทางปฏิบัติเพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ของการพัฒนาอย่างยั่งยืนเป็นเป้าหมายหลัก ซึ่งเป็นการอยู่บนโลกใบนี้อย่างรับผิดชอบร่วมกันและแบ่งปันกันอย่างทั่วถึง ครับผม!


Source: นิตยสาร Green Network ฉบับที่ 116 มีนาคม – เมษายน 2566 คอลัมน์ Productivity โดย ดร. วิฑูรย์ สิมะโชคดี


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เอง โดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save