กระทรวงเศรษฐกิจและพลังงานเยอรมนี เปิดเผยว่า ได้ปิดการดำเนินงานของเตาปฏิกรณ์โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ 3 แห่งสุดท้ายของประเทศแล้ว ได้แก่ เอ็มส์แลนด์ (Emsland), อีซาร์ 2 (Isar II) และเนกคาร์เวสต์ไฮม์ 2 (Neckarwestheim II) เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการยุติโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ตามแผนนโยบายการเลิกใช้นิวเคลียร์ของเยอรมนี และถือเป็นการสิ้นสุดการใช้พลังงานนิวเคลียร์ของเยอรมนี ที่มีมาอย่างยาวนานกว่า 6 ทศวรรษ
สำหรับเยอรมนี ได้ริเริ่มการเลิกใช้พลังงานนิวเคลียร์เมื่อกว่าสองทศวรรษที่แล้ว ท่ามกลางการรณรงค์ต่อต้านที่มีมาอย่างยาวนาน แต่ในปี 2010 นางอังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนีในขณะนั้น ได้ประกาศขยายอายุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 17 แห่งของประเทศจนถึงปี 2036 เป็นอย่างช้าที่สุด แต่นโยบายดังกล่าวก็ถูกยกเลิกอย่างรวดเร็วในปีถัดมา ภายหลังเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิ ที่ทำให้เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะ ไดอิจิของญี่ปุ่นได้รับความเสียหาย จนเกิดการรั่วไหลของสารกัมมันตรังสีปริมาณมหาศาล เหตุการณ์ดังกล่าว ก่อให้เกิดกระแสต่อต้านนิวเคลียร์ในประเทศครั้งใหม่ จนนำไปสู่การปรับแผนนโยบายการเลิกใช้นิวเคลียร์ของเยอรมนีให้เร็วขึ้น
โดยแผนนโยบายการเลิกใช้นิวเคลียร์ของเยอรมนีนั้น มีกำหนดการปิดโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ทั้งหมดของประเทศ ภายในปลายปี 2022 แต่รัฐบาลปัจจุบันของเยอรมนีได้เลื่อนแผนดังกล่าวออกไปอีกหลายเดือน ภายหลังเกิดวิกฤตสงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งส่งผลกระทบต่อการจัดหาพลังงานของเยอรมนี
ขณะที่ข้อมูลของกระทรวงเศรษฐกิจและพลังงานเยอรมนี ระบุว่า ในปี 2022 สัดส่วนการใช้พลังงานนิวเคลียร์ของเยอรมนี อยู่ที่ร้อยละ 6 ส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ ร้อยละ 44
ทั้งนี้ จากการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเยอรมนี พบว่ากว่าร้อยละ 34 ให้การสนับสนุน ส่วนร้อยละ 59 แสดงความคิดเห็นคัดค้านการยกเลิกใช้พลังงานนิวเคลียร์ของประเทศ และด้านภาคธุรกิจของเยอรมนีมีความกังวลต่อนโยบายดังกล่าวเช่นกัน