กรุงเทพฯ – ประเทศไทย – 21 มีนาคม 2566 : Google Cloud ประกาศความร่วมมือเชิงกลยุทธ์กับ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. บริษัท สกาย ไอซีที จำกัด (มหาชน) หรือ SKY และ EVME PLUS Company Limited หรือ EVme โดย 3 องค์กรชั้นนำจะใช้ประโยชน์จากระบบคลาวด์ข้อมูลแบบเปิดของ Google Cloud และเทคโนโลยีการวิเคราะห์ขั้นสูง ซึ่งเป็นข้อมูลเชิงลึกที่สำคัญและโอกาสทางธุรกิจที่องค์กรต่าง ๆ สามารถนำไปใช้ประโยชน์เพื่อพัฒนาการฟื้นตัวและสร้างการเติบโตแก่การท่องเที่ยวของประเทศ หลังจากเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติอย่างเต็มที่ เพื่อขับเคลื่อนการส่งมอบประสบการณ์การเดินทางแบบดิจิทัลที่ยั่งยืน
ผู้บริโภคดิจิทัลในเมืองในประเทศไทยมากกว่า 1 ใน 2 ของใช้บริการด้านการท่องเที่ยวออนไลน์อยู่แล้ว และหมวดหมู่นี้คาดว่าจะเติบโต 22% เมื่อเทียบเป็นรายปี และ จะมีส่วนสนับสนุนเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทยถึง 9 พันล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี 2568 ผู้เล่นในระบบนิเวศการเดินทางจึงไม่สามารถมองข้ามความสำคัญของการนำเสนอบริการดิจิทัลที่เปิดตลอดเวลา เรียบง่าย เป็นส่วนตัว และปลอดภัย
เอพริล ศรีวิกรม์ ผู้จัดการประจำประเทศไทย Google Cloud กล่าวว่า ความต้องการเดินทางทางอากาศขาเข้าในประเทศไทยมีการเติบโตอย่างมาก เห็นได้จากปริมาณการค้นหาของ Google ในวันที่ 1 ตุลาคม 2565[1] ซึ่งตรงกับวันที่ประเทศไทยประกาศยกเลิกข้อจำกัดด้าน COVID-19 ทั้งหมด พบว่ามีความต้องการขาเข้าเพิ่มขึ้น 386% เมื่อเทียบเป็นรายปี โดยการฟื้นตัวนี้ยังคงดำเนินต่อไปจนถึงเดือนมีนาคม 2566 ซึ่งมีความต้องการขาเข้าเพิ่มขึ้นมากกว่า 161% เมื่อเทียบเป็นรายปีจนถึงปัจจุบัน
ส่วนความต้องการเดินทางขาออกจากประเทศไทยโดยเครื่องบินได้รับความต้องการที่เพิ่มขึ้น[2] เช่นเดียวกัน ในวันที่ 1 ตุลาคม 2565 ความต้องการเดินทางขาออกเพิ่มขึ้น 544% เมื่อเทียบเป็นรายปี การฟื้นตัวนี้ดำเนินต่อไปจนถึงเดือนมีนาคม 2566 ซึ่งมีความต้องการดังกล่าวเพิ่มขึ้นมากกว่า 187% เมื่อเทียบเป็นรายปีจนถึงปัจจุบัน
ดังนั้น เพื่อรองรับปริมาณผู้โดยสารขาเข้าและขาออกของท่าอากาศยานนานาชาติ 6 แห่ง (สุวรรณภูมิ ดอนเมือง เชียงใหม่ เชียงราย ภูเก็ต และหาดใหญ่) ทาง ทอท. และพันธมิตร SKY ผู้ให้บริการโซลูชันเทคโนโลยีการบินชั้นนำ จึงได้ย้ายอสังหาริมทรัพย์ดิจิทัลของ ทอท. ไปยังโครงสร้างพื้นฐานแบบเปิดที่ปรับขนาดได้และปลอดภัยของ Google Cloud
“หลายบริษัทพยายามชดชดเชยรายได้ที่หายไปและชดเชย Resource ประสิทธิภาพแรงงานที่ลดลง ทำให้ต้องมีบริการ Digital Service ทั้งนี้เทคโนโลยี Cloud ช่วยปรับขนาดและสร้างความยืดหยุ่น ช่วยจัดการการจองตั๋วที่เพิ่มสูงขึ้นแบบก้าวกระโดด ช่วยบรรเทาการขาดแคลนของพนักงานที่ลดลงในช่วง COVID-19ได้” เอพริล กล่าว
เมื่อพิจารณาผลกระทบทางเศรษฐกิจของการท่องเที่ยว มักจะเน้นที่การสนับสนุนจากส่วนหลัก เช่น การบินและที่พัก เป็นต้น แต่การวิเคราะห์ของ Google Cloud ได้ขยายขอบเขตสู่การเน้นย้ำถึงผลกระทบของการท่องเที่ยวที่มีผลต่อภาคส่วนอื่น ๆ ตั้งแต่บริการทางการเงิน การดูแลสุขภาพ ไปจนถึงการค้าปลีกและการขนส่ง
สำหรับเทรนด์การค้นหาของ Google ยังบ่งชี้ว่าอุตสาหกรรมใกล้เคียงสามารถคว้าโอกาสจากการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวของประเทศไทยอีกด้วย เห็นได้จากคำค้นหาเกี่ยวกับ “ประกันการเดินทาง” และ “การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์” ในประเทศไทย ซึ่งเติบโตขึ้นมากกว่า 900% และ 500% ตามลำดับ ในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา สถาบันการเงินและผู้ให้บริการด้านสุขภาพจึงต้องหาวิธีนำเสนอข้อเสนอที่เหมาะกับนักเดินทางที่ต้องการความคุ้มครองมากขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงที่ไม่คาดคิดและมาเยือนประเทศไทยเพื่อจุดประสงค์หลักในการรับการรักษาพยาบาล[3]
นอกจากนี้ คำค้นหาเกี่ยวกับ “gastronomy tourism” ในประเทศไทย ยังเติบโตมากกว่า 110% ในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา[4] จึงเป็นโอกาสสำหรับผู้เล่นในอุตสาหกรรมอาหารที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยวที่มีเป้าหมายหลักในการเดินทางเพื่อชิมและนำอาหารไทยต้นตำรับกลับบ้านไปทานได้ดีขึ้น
“เราจึงมุ่งมั่นที่จะเสริมศักยภาพให้กับองค์กรต่าง ๆ ในหลากหลายอุตสาหกรรม ผ่านความสามารถที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลอย่างชาญฉลาดเพื่อทำการตัดสินใจทางธุรกิจที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น รวมถึงเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศแบบบูรณาการที่มอบประสบการณ์ผู้เยี่ยมชมระดับโลก ทั้งนี้ Google Cloud ยังเป็นผู้ให้บริการระบบคลาวด์เพียงรายเดียวที่ขับเคลื่อนโครงสร้างพื้นฐานและบริการโดยใช้พลังงานหมุนเวียน 100% อีกด้วย” เอพริล กล่าว
นิธี สีแพร รองผู้ว่าการด้านดิจิทัล วิจัย และพัฒนา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การท่องเที่ยวจะยังคงเป็นหนึ่งในกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ช่วยกระตุ้น GDP ที่สำคัญที่สุดของประเทศ คิดเป็น 1 ใน 3 ของ GDP ประเทศ
โดยปีนี้มีกลุ่มนักท่องเที่ยวใหม่ๆ มากขึ้น ทั้งนี้ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 ประมาณ 2 ปีก่อนเปิดประเทศ มีนักท่องเที่ยวในไทย กว่า 500คน แต่ขณะนี้มีนักท่องเที่ยวในไทยเกือบ 1 แสนคนแล้ว ซึ่งอาจจะมีจำนวนไม่มากเท่าก่อนเกิด COVID-19 แต่มีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้น โดยในปี 2022 มีนักท่องเที่ยวในไทย 11 ล้านคน ซึ่งสูงกว่าที่เป้ารัฐบาลตั้งไว้ 10 ล้านคน ถึง 1 ล้านคน
สำหรับกลุ่มนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในไทย จะเป็นNew Chapter ได้แก่ Gen Y,Z Alpha ที่คุ้นเคยกับเทคโนโลยีในอนาคต ซึ่งคิดเป็น 1 ใน 3 ของประชากรทั้งหมดที่มีค่าใช้จ่ายสูง ทั้งนี้ททท.จะส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยเอา Location ของไทยไปใส่ในเกมส์ ทำให้เป็น Location Base ที่เป็นโลกเสมือนจริง และ Digital Access โดยนำ Web 3.0 เข้ามาใช้ในอนาคต รวมทั้งให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน และการท่องเที่ยวอย่างมีความรับผิดชอบ ซึ่งเป็นเทรนด์ใหม่ที่กำลังมา โดยข้อมูลเชิงลึกจาก Google Cloud เหล่านี้สอดคล้องกับเป้าหมายของ ททท. ในการเป็นผู้นำเชิงกลยุทธ์ที่ส่งมอบประสบการณ์ที่ดีให้แก่นักท่องเที่ยว เพื่อให้เกิดความประทับใจ รวมทั้งขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลทั่วทั้งอุตสาหกรรม และยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันโดยรวมของการท่องเที่ยวไทย
“ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ ทอท., SKY และ EVme ได้เข้าร่วมและสนับสนุนนวัตกรรมดิจิทัลในระดับแนวหน้า เราหวังว่าองค์กรท้องถิ่นจำนวนมากขึ้นจะสามารถใช้เครื่องมือใหม่ ๆ จากบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำอย่าง Google Cloud เพื่อดึงดูดผู้บริโภคที่เข้าใจโลกดิจิทัลและใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน และสร้างแรงบันดาลใจให้พวกเขาแสวงหาประสบการณ์การเดินทางที่มีความหมายในประเทศไทย” นิธี กล่าว
วรวุฒิ แสนทวีสุข ผู้อำนวยการส่วนพัฒนาและบูรณาการระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ฝ่ายพัฒนาดิจิทัลโซลูชั่น บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในขณะที่อุตสาหกรรมการบินกำลังกลับมาฟื้นตัวจากผลกระทบในการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยในปี 2565 มีผู้โดยสารที่ Recover 45 ล้านคน ในปี 2566 คาดว่าจะมีผู้โดยสาร 96 ล้านคน ทั้งนี้ทอท.คาดว่าจำนวนผู้โดยสารจะกลับมาแบบ Full 142 ล้านคนในปี 2567
ด้วยเหตุนี้ ทอท. จึงเริ่มใช้ประโยชน์จากความสามารถในการปรับขนาดอัตโนมัติแบบไดนามิกของ Google Cloud ซึ่งช่วยให้ระบบไอทีที่สนับสนุน บริการการบินภาคพื้นดิน และแอปพลิเคชันมือถือ SAWASDEE by AOT ให้สามารถจัดการภาระงานปกติได้มากถึง 10 เท่า พร้อมทั้งให้ประสบการณ์การใช้งานที่ราบรื่น และยังปรับขนาดลงเองได้อัตโนมัติเพื่อลดต้นทุนในช่วงที่ไม่ต้องการทรัพยากรการประมวลผลเพิ่มเติมอีกต่อไป ทาง ทอท. และ SKY ได้เพิ่มขีด
ความสามารถในการรับและส่งข้อมูลอัปเดตตามเวลาจริงของข้อมูลสนามบินและเที่ยวบินไปยังผู้โดยสารหลายล้านคนได้ตามเวลาที่ต้องการ ผ่านการใช้บริการจัดการฐานข้อมูลของ Google Cloud เพื่อจำแนกและจัดเปลี่ยนข้อมูลภายในคลังต่าง ๆ ขององค์กร ซึ่งช่วยให้ผู้โดยสารหลายล้านคนได้รับข้อมูลสนามบินและเที่ยวบินตามเวลาจริง และได้รับประสบการณ์ที่ราบรื่นและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ตั้งแต่การเช็คอิน การตรวจคนเข้าเมือง การขึ้นเครื่อง ไปจนถึงการรับสัมภาระ
“สำหรับกลุ่มคนที่กลับมาเดินทางอีกครั้ง จะเป็นผู้โดยสารหน้าใหม่ที่เดินทางครั้งแรก 40% เราต้องรองรับความคาดหวังว่าต้องการของคนรุ่นใหม่ๆ ซึ่งต้องการอะไรที่ง่าย และ Reliable อีกทั้งการที่ทอท.จะก้าวสู่ Smart Airport จะต้องมีเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่จะช่วยวิเคราะห์ความต้องการของผู้โดยสารว่าต้องการอะไร แล้ว Recommendation ว่าต้องการอะไร โดยเฉพาะความเร็วทุกอย่างต้อง Dynamic มาก เราต้องปรับให้ทัน” วรวุฒิ กล่าว
ขยล ตันติชาติวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยี บริษัท สกาย ไอซีที จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ผู้ให้บริการสนามบินจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมเพื่อรับความท้าทายต่าง ๆ ท่ามกลางการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวในขณะนี้ เช่น ยกระดับประสบการณ์การใช้บริการให้กับผู้โดยสาร และลดปัญหาติดขัดล่าช้าภายในสนามบิน ระบบไอทีและแพลตฟอร์มดิจิทัลซึ่งอยู่เบื้องหลังความสำเร็จของการดำเนินการต่าง ๆ ภายในสนามบิน จึงถือเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญต่อการให้บริการลูกค้าในทุกมิติ
ในฐานะผู้ให้บริการเทคโนโลยีการบินชั้นนำของประเทศไทย SKY มุ่งมั่นที่จะร่วมมือกับบริษัทที่มีแนวคิดเดียวกัน อย่าง Google Cloud เพื่อนำเสนอโซลูชันที่เชื่อถือได้มาช่วยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และสร้างประโยชน์ให้กับสังคม ซึ่งหลักการแบบโอเพ่นซอร์สและการออกแบบที่ปลอดภัยของ Google Cloud จะช่วยให้เราสามารถผสานรวมเทคโนโลยีใหม่ๆ ได้อย่างราบรื่น อาทิ ระบบนำทางภายในอาคาร ที่จอดรถอัจฉริยะ และไบโอเมตริกซ์ ตลอดจนการเข้ารหัสกระแสข้อมูลในระบบ เพื่อสร้างความมั่นใจด้านความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยของข้อมูลให้กับผู้ใช้งาน
“ด้วยจำนวนนักท่องเที่ยวในไทยที่เพิ่มมากขึ้น แอปเราต้องเลือก Cloud ที่รองรับจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่ง Google Cloud ตอบโจทย์อย่างดี รวมทั้งด้าน Security โดยเฉพาะ Data Security การที่จะให้ข้อมูลส่วนตัว ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญจะต้องเลือก Cloud ที่มั่นใจได้ว่า Encryption หรือมีการ Protect เพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้บริการ” ขยล กล่าว
เส้นทางสู่การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
ปัจจุบันมีการตื่นตัวมากขึ้นเรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของการท่องเที่ยวในประเทศไทย โดยผู้คนได้นำปัจจัยด้านความยั่งยืนมาเป็นข้อพิจารณาหลักในการวางแผนการเดินทางของพวกเขา ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา ข้อความค้นหาที่เกี่ยวข้องกับ “การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน” ในประเทศไทยขยับเพิ่มขึ้นมากกว่า 200%[5] ขณะเดียวกัน มีผู้บริโภคยุคดิจิทัล เกือบ 4 ใน 10 รายในประเทศไทยออกมาประกาศว่ายินดีจ่ายมากขึ้นเพื่อซื้อผลิตภัณฑ์หรือบริการที่ยั่งยืน
เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงของประเทศไทยสู่การเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ EVme บริษัทในเครือของ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT กำลังสร้างแอปพลิเคชันไลฟ์สไตล์สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า (EV) สำหรับผู้บริโภคและธุรกิจทั้งหมดบน Google Cloud ซึ่งเป็น ระบบคลาวด์ที่สะอาดที่สุดในอุตสาหกรรม
EVme ยังได้ปรับใช้ การวิเคราะห์ขั้นสูง และระบบธุรกิจอัจฉริยะ ของ Google Cloud เพื่อให้พนักงานเข้าถึงข้อมูลเชิงลึกที่ขับเคลื่อนด้วยฐานข้อมูล ซึ่งช่วยให้พวกเขาเข้าใจความต้องการของลูกค้าได้ดีขึ้นและมอบการโต้ตอบกับลูกค้าที่เป็นส่วนตัว สิ่งนี้ทำให้ EVme สามารถจัดสรรรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นต่าง ๆ สำหรับให้บริการรถเช่าได้ผ่านแอปพลิเคชันมือถือเพื่อรองรับไลฟ์สไตล์ที่แตกต่างกัน ช่วยให้ตัดสินใจติดตั้งสถานีชาร์จ EV สาธารณะเพิ่มเติมที่เชื่อมต่อกับแพลตฟอร์มได้ตรงกับความต้องการผู้บริโภค รวมถึงช่วยสร้างขีดความสามารถในการให้คำแนะนำอย่างรวดเร็วและให้ความช่วยเหลือลูกค้าได้ตลอด 24 ชั่วโมง
จิระพงษ์ เลาขจร ประธานเจ้าหน้าที่การพาณิชย์ บริษัท อีวี มี พลัส จำกัด กล่าวว่า แนวคิดของการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนและการเดินทางที่ยั่งยืนมีความเชื่อมโยงกันอย่างลึกซึ้ง โดย EVme มีเป้าหมายในการสร้างประสบการณ์ ‘การเป็นเจ้าของรถยนต์ไฟฟ้า’ ให้กับคนไทยบนแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ทันสมัยในราคาที่เหมาะสม เราเดินหน้าผลักดันประเทศไทยสู่สังคมคาร์บอนฯต่ำ และการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง ผ่านการส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าอย่างแพร่หลายในประเทศไทย เพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากระบบการเดินทางทั้งในปัจจุบันและในอนาคตต่อชุมชนท้องถิ่นที่อาศัยอยู่ใกล้กับสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมของประเทศไทย สิ่งนี้ถือเป็นการตัดสินใจที่ชัดเจนของเราในการสร้างธุรกิจและเลือกดำเนินงานแพลตฟอร์มดิจิทัลของเราบนคลาวด์ข้อมูลแบบเปิดของ Google Cloud ซึ่งเป็นผู้นำด้านวิทยาการข้อมูล ขณะนี้เปิดให้บริการสำหรับคนไทย ในอนาคตจะเปิดโอกาสให้ต่างชาติเข้ามาใช้บริการได้ด้วย
“EVme เป็น Intelligent Platform คนใช้ต้องปรับตัวเข้าหารถยนต์ไฟฟ้า เนื่องจากรถยนต์ไฟฟ้าปรับตัวตลอดเวลา เราต้องเก็บข้อมูลการใช้พลังงาน เพื่อหาวิธีใช้งานที่เหมาะสมและรุ่นรถที่เหมาะสม ถ้าพูดถึง Energy Consumption รถยนต์ไฟฟ้ามีประสิทธิภาพที่สูงมาก เราตั้งใจให้ผู้ใช้งานผ่านดิจิทัลให้สามารถเข้าถึงและก้าวข้ามเทคโนโลยี” จิระพงษ์ กล่าว
[1] ที่มา: ข้อมูลภายในของ Google จาก Destination Insights with Google, การค้นหาที่ เกี่ยวข้องทางอากาศ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2022 ถึง 11 มีนาคม 2023
[2] ที่มา: ข้อมูลภายในของ Google จาก Destination Insights with Google, การค้นหาที่ เกี่ยวข้องทางอากาศ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2022 ถึง 11 มีนาคม 2023
[3] ที่มา: ข้อมูลภายในของ Google จาก Google Trends การค้นหาที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางหรือการท่องเที่ยวตั้งแต่วันที่ 13 มีนาคม 2022 ถึง 11 มีนาคม 2023
[4] ที่มา: ข้อมูลภายในของ Google จาก Google Trends การค้นหาที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางหรือการท่องเที่ยวตั้งแต่วันที่ 13 มีนาคม 2022 ถึง 11 มีนาคม 2023
[5] ที่มา: ข้อมูลภายในของ Google จาก Google Trends การค้นหาที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางหรือการท่องเที่ยวตั้งแต่วันที่ 13 มีนาคม 2022 ถึง 12 มีนาคม 2023