“รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม” เดินหน้านโยบายเร่งด่วนยกระดับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมทุกขนาด ผ่านแนวคิด “อุตสาหกรรมเศรษฐกิจ” ที่ “เติบโตอย่างยั่งยืนคู่ชุมชน” ปรับโหมดยกระดับไปสู่อุตสาหกรรมสีเขียวเพื่อลดโลกร้อนและสอดรับกับ BCG Model (บีซีจี โมเดล) เพื่อก้าวสู่บริบทการพัฒนาเศรษฐกิจยุคใหม่ เข้มมาตรฐานการผลิต ใช้เทคโนโลยี อำนวยความสะดวกเพิ่มการติดตาม ด้านสิ่งแวดล้อม เปิดทางให้ชุมชนมีส่วนร่วม มุ่งขับเคลื่อนภาคการผลิต เติบโตแบบยั่งยืน
พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้มอบหมายเร่งด่วนให้หน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงอุตสาหกรรมพัฒนาผู้ประกอบการทุกขนาดยกระดับไปสู่อุตสาหกรรมที่ยั่งยืนโดยนำแนวคิด “อุตสาหกรรมเศรษฐกิจ” ที่ “เติบโตอย่างยั่งยืนคู่ชุมชน” เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มและอุตสาหกรรมสีเขียว(Green Industry) ที่ไทยวางเป้าหมายสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero )ปีค.ศ. 2065 และสอดคล้องกับนโยบาย BCG Model ได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) เพื่อเพิ่มมูลค่าและขีดความสามารถในการแข่งขัน ลดการเกิดของเสียโดยจัดการใช้ทรัพยากรภายในสถานประกอบการให้เกิดประโยชน์สูงสุด
“กระทรวงอุตสาหกรรมต้องมีบทบาทเป็นหน่วยงานส่งเสริมแทนการกำกับดูแลที่เน้นให้ปฏิบัติตามกฎระเบียบอย่างเคร่งครัดให้มากขึ้นด้วยเพื่อให้โรงงานมีความคล่องตัวในการพัฒนากระบวนการผลิตให้มีความทันสมัย มีต้นทุนแข่งขันได้ ควบคู่ไปกับการดูแลชุมชน และสิ่งแวดล้อมให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมโดยยึดหลัก อุตสาหกรรมเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างยั่งยืนคู่ชุมชน เพื่อให้การพัฒนาเศรษฐกิจไทยเป็นไปแบบยั่งยืนที่แท้จริง” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าว
ทั้งนี้ทั่วโลกกำลังมุ่งไปสู่ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมทำให้ประเทศพัฒนาแล้วกำหนดมาตรการต่างๆในการลดภาวะโลกร้อนที่ทำให้มีระเบียบ ข้อบังคับสำหรับการนำเข้าสินค้าที่เป็นลักษณะกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (NTB) ดังนั้นผู้ประกอบการไทยต้องเร่งปรับตัวในกระบวนการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมมุ่งยกระดับผู้ประกอบการผ่านกลไกต่างๆที่จะทำให้การดูแลสิ่งแวดล้อมไม่เป็นภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นหรือเพิ่มขึ้นน้อยที่สุด ดังนั้นวาระเร่งด่วนจึงให้ความสำคัญดังนี้
- มุ่งเน้นอุตสาหกรรมเป้าหมาย อุตสาหกรรมที่รองรับบริบทการเติบโตทางเศรษฐกิจ ทั้งด้านการท่องเที่ยว การใช้พลังงานสะอาดและการลดการใช้ฟอสซิล อุตสาหกรรม Soft power ฯลฯ
- การผลักดันให้หน่วยงานกระทรวงอุตสาหกรรมก้าวสู่การเป็นภาครัฐดิจิทัล (Digital Government) อย่างเต็มรูปแบบ เพื่อเป็นกลไกในการให้บริการ การขออนุมัติ/อนุญาต และบูรณาการการปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ในรูปแบบ One Stop Service เพื่อเป็นกลไกในการกำกับดูแลโรงงาน เหมืองแร่ และมาตรฐานอย่างจริงจัง
- เร่งแก้ไขปัญหามลพิษทางน้ำ อากาศ และกากของเสีย โดยกำหนดมาตรฐานการปล่อยมลพิษในพื้นที่อุตสาหกรรมหนาแน่นให้เข้มงวดขึ้น การรวมพลังของกระทรวงอุตสาหกรรมร่วมกับผู้ประกอบการในการกำกับดูแลแม่น้ำลำคลอง การทิ้งกากอุตสาหกรรม และมาตรฐานความปลอดภัยในการประกอบการต่าง ๆ
- กำหนดมาตรการแก้ไขฝุ่นมลพิศษ PM 2.5 โดยส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ยกระดับการบังคับใช้มาตรฐานการปล่อยมลพิษไปสู่มาตรฐาน EURO 6 ในรถยนต์เครื่องยนต์สันดาป กำกับการปลดปล่อยมลพิษทางอากาศจากโรงงานอย่างเข้มงวด การส่งเสริมมาตรการช่วยเหลือชาวไร้อ้อยที่ดูแลพื้นที่เพาะปลูกอ้อยที่ไม่มีการลักลอบเผา ตลอดทั้งการช่วยเหลือโรงงานน้ำตาลที่ไม่รับอ้อยลักลอบเผา
- ขยายการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมโดยใช้แนวทางของการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษหรือ EEC ในภูมิภาคต่างๆ โดยเน้นการใช้พลังงานสะอาด และมาตรการลดราคาที่ดินและบริการเพื่อเป็นกลไกดึงดูดการลงทุนรายใหม่