เมื่อเร็วๆ นี้ Thoughtworks บริษัทที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีระดับโลก ได้จัด งาน XConf Thailand 2023 ซึ่งเป็นงานด้านเทคโนโลยีประจำปีของ Thoughtworks โดยปีนี้มีผู้ที่อยู่ในแวดวงเทคโนโลยีและซอฟต์แวร์ เข้าร่วมงานกว่า 300 คน หนึ่งในหัวข้อที่ถือเป็นไฮไลท์ในการจัดงานครั้งนี้ คือ “Green Software” ซึ่งเป็นหนทางสำคัญที่นำไปสู่ความยั่งยืน โดย ชาคริต ฤทธาคนี ผู้จัดการด้านเทคโนโลยีนวัตกรรม ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ Thoughtworks เป็นผู้ให้ข้อมูล
ชาคริต ฤทธาคนี ให้นิยามของ Green Software ว่าเป็นหลักการในการพัฒนาซอฟต์แวร์แบบใหม่ที่มีเป้าหมายที่จะทำให้ซอฟต์แวร์มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยลง หลักการนี้ได้มีการค้นคว้าวิจัยโดยองค์กรไม่แสวงหากำไรภายใต้ชื่อ Green Software Foundation ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่มากมายในโลก เช่น Microsoft, Intel, Siemens รวมถึงThoughtworks ด้วย
“เนื่องจากหลักการพัฒนาซอฟต์แวร์ที่ใช้กันอยู่ในอุตสาหกรรมปัจจุบัน มักจะไม่ได้คำนึงถึงเรื่องของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หลักการนี้จะช่วยให้นักพัฒนาและบริษัทต่างๆ สามารถเข้าถึงและเข้าใจวิธีการออกแบบระบบซอฟต์แวร์ที่จะปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยลงได้ ซึ่งจะทำให้ปัญหาทางสิ่งแวดล้อมดีขึ้น” ชาคริต กล่าว
การที่จะทำให้ Software เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้นมีหลายวิธี แต่ Green Software ได้แบ่งออกเป็น 3 วิธีด้วยกัน เพื่อออกแบบซอฟต์แวร์ให้ใช้คาร์บอนน้อยลง เริ่มจาก 1. Energy Efficient พัฒนาซอฟต์แวร์ให้ใช้พลังงานให้คุ้มค่าขึ้น ด้วยวิธีง่ายๆ โดยใช้เน็ตเวิร์กน้อยลง และใช้อัลกอริธึมที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งสามารถปรับใช้ได้กับซอฟต์แวร์หลากหลายประเภทขึ้นอยู่กับซอฟต์แวร์ที่พัฒนา ถึงแม้ว่าโดยหลักการแล้วซอฟต์แวร์แต่ละประเภทอาจจะมีจุดคอขวดที่สามารถ Optimize ได้ที่แตกต่างกันไป แต่ทาง Green Software Foundation ได้ให้แนวทางเบื้องต้นที่ใช้ได้ในเกือบทุกระบบไว้ใน Green Software Pattern
- Hardware Efficient การใช้ฮาร์ดแวร์ให้คุ้มค่า ซึ่งเป็นผลโดยตรง หากเราใช้คอมพิวเตอร์ แล็ปท็อป หรือเซิร์ฟเวอร์ต่างๆ เราควรเลือกใช้เครื่องที่กระบวนการใช้งานตลอด Lifecycle ตั้งแต่ผลิต รักษา กำจัดทิ้ง ปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้น้อยที่สุด และใช้ฮาร์ดแวร์ที่มีอายุการใช้งานยาวนาน
- Carbon Aware ซึ่งเป็นหลักการใหม่ที่จะทำให้ซอฟต์แวร์เข้าใจว่าไฟฟ้าที่ใช้งานอยู่มีความสะอาดขนาดไหน แล้วปรับการใช้งานให้ประหยัดขึ้นตามความสะอาดของไฟฟ้าปัจจุบัน เช่น ถ้าเรารู้ว่าเว็บของเราเปิดใช้อยู่ในพื้นที่ที่ไฟฟ้าส่วนใหญ่มาจากพลังงานถ่านหิน เราก็อาจจะทำให้เว็บของเราเป็นขาวดำ เพื่อลดการใช้ไฟฟ้าในหน้าจอ แต่ถ้าเว็บเดียวกันถูกเปิดใช้ในพื้นที่ที่มีไฟฟ้าพลังงานลม ก็ใช้สีสันได้เต็มที่ เป็นต้น
ชาคริต กล่าวว่า การสร้างและออกแบบ Green Software ในปัจจุบันถือเป็นเรื่องที่ท้าทาย เนื่องจาก Green Software เป็นหลักการที่ใหม่มาก และยังไม่ได้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง ความท้าทาย ยิ่งไปกว่านั้นคือ การที่ทำให้บริษัทตระหนักรู้ถึงผลกระทบของซอฟต์แวร์ต่อภาวะโลกร้อน และทำให้นักพัฒนาตระหนักรู้ถึงหลักการ Green Software ให้ได้ก่อน
“การสร้างและออกแบบ Green Softwareอาจจะมีปัญหาทางเทคนิคบ้าง แต่ส่วนตัวผมไม่ได้เห็นว่าเกินความสามารถของนักพัฒนา ที่สำคัญคือการที่บริษัทจะตระหนักรู้และลงทุนเวลาให้นักพัฒนาเริ่มเรียนรู้เข้าใจ Green Software และมีเวลาและทุนที่จะนำหลักการนี้ไปใช้ในองค์กรตัวเองได้ ตรงนั้นเป็นความท้าทายที่ผมพบบ่อยกว่าปัญหาทางเทคนิค อย่างน้อยก็ในเวลานี้” ชาคริต กล่าว
เนื่องจากหลักการพัฒนา Green Software จะทำให้ซอฟต์แวร์มีประสิทธิภาพขึ้นและใช้พลังงานน้อยลงตามธรรมชาติ ดังนั้นผลพลอยได้ที่สำคัญ คือ ระบบจะใช้เครื่องเซิร์ฟเวอร์และไฟฟ้าน้อยลง ใช้เท่าที่พอดี และทำให้ต้นทุนในการรันซอฟต์แวร์น้อยลง ซึ่งการลดต้นทุนนี้จะเป็นปัจจัยสำคัญที่จูงใจให้ธุรกิจและผู้ประกอบการหันมาใช้ Green Software
นอกจากการลดต้นทุนแล้ว หลายๆ องค์กรก็ต้องเริ่มทำ ESG Report แล้ว และเป็นเรื่องดีที่จะเริ่มศึกษาเรื่อง Green Software ในมุมที่ว่าระบบIT ที่ใช้อยู่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากน้อยเพียงใด ถ้าศึกษาแล้วพบว่าบางส่วนมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม อาจจะไปจัดการในส่วนนั้น แต่ถ้าวัดออกมาแล้วพบว่าส่วนใหญ่ในองค์กรมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ธุรกิจและผู้ประกอบการควรหันมาใช้ Green Software ซึ่งถึงเวลานั้นหลักการของ Green Software ก็จะช่วยเป็น Guideline ว่าจะจัดการได้อย่างไร
“Green Software เป็นหลักการหนึ่งในการพัฒนาซอฟต์แวร์ อยากให้ลองเปรียบเทียบกับกาแฟ จริงๆ กระบวนการผลิตกาแฟมีหลายอย่าง และสุดท้ายก็ได้เม็ดกาแฟเหมือนกัน แต่กระบวนการผลิตที่เน้นความยั่งยืนจะทำให้รสชาติของกาแฟอาจจะต่างไปบ้าง แต่สุดท้ายผลลัพธ์ยังเป็นกาแฟ Green Software ก็เหมือนกัน เป็นกระบวนการออกแบบและพัฒนาซอฟต์แวร์ที่เน้นความยั่งยืน แต่สุดท้ายก็ได้ออกมาเป็นซอฟต์แวร์เหมือนกัน” ชาคริต กล่าวสรุป