ปัจจุบันสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในเวทีการค้าโลกมากขึ้น โดยประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ต่างออกนโยบายและมาตรการต่าง ๆ ที่เป็นข้อกำหนดด้านสิ่งแวดล้อม ผู้ประกอบการทั้งขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดย่อม มีอยู่เป็นจำนวนมากและเติบโตขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งได้รับการส่งเสริมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งในปัจจุบันอยู่ในช่วงที่การพัฒนาด้านเทคโนโลยีก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทั้งในแง่ของวิถีชีวิตและทัศนคติในการดำรงชีวิต ที่อาจต้องพึ่งพาตลาดดิจิทัลมากขึ้น
ดร. วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวถึง การขยายโอกาสทางธุรกิจของสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมผู้ประกอบการให้มีความเข้มแข็งและพัฒนาต่อยอดธุรกิจในยุคเศรษฐกิจแนวใหม่ ที่ต้องพึ่งพาการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-Commerce) เพื่อเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมยิ่งขึ้น ซึ่งสถาบันสิ่งแวดล้อมไทยได้สนับสนุนภาคธุรกิจเอกชนให้มีการผลิตที่ยั่งยืนมาอย่างต่อเนื่อง ผ่านการรับรองฉลากเขียวกับสินค้าและบริการที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยเมื่อเทียบกับสินค้าและบริการทั่วไป โดยให้ความสำคัญกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมตลอดวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ ตั้งแต่การออกแบบผลิตภัณฑ์ที่เน้นการใช้งานได้ยาวนาน ประหยัดทรัพยากร ง่ายต่อการกำจัดทิ้งหรือนำกลับมาใช้ใหม่ได้ วัตถุดิบที่ใช้ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมหรือส่งผลเสียต่อสุขภาพ สถานประกอบการมีการควบคุมมลพิษระหว่างกระบวนการผลิตและมีการจัดการของเสียอย่างถูกต้อง ตลอดจนดูแลด้านสิ่งแวดล้อมทั้งภายในและภายนอกสถานประกอบการเพื่อไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสังคมรอบด้านก่อนได้เป็นผลิตภัณฑ์ออกมา
ตามข้อกำหนดฉลากเขียว นอกจากการควบคุมการผลิตสินค้าแล้วยังตรวจสอบครอบคลุมความเป็นไปตามข้อกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งกฎหมายสิ่งแวดล้อม กฎหมายสาธารณสุข กฎหมายโรงงานอีกด้วย และขณะนี้ทั่วโลกให้ความสำคัญของผลิตภัณฑ์ที่ดูแลสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นทางฝั่งอเมริกา ยุโรป หรือญี่ปุ่น หลายประเทศตั้งเป้าในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2050 หรือปี พ.ศ 2593 เป็นสิ่งหนึ่งที่ผู้ผลิตควรให้ความสำคัญต่อการผลิตสินค้าและการให้บริการอย่างยั่งยืน ซึ่งเชื่อมโยงมิติความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ร่วมกับด้านเศรษฐกิจและสังคม ให้ความสนใจในประเด็นที่เป็นเงื่อนไขตามหลักสากลเหล่านี้ด้วย เพื่อการส่งสินค้าออกไปยังประเทศต่าง ๆ ได้สะดวกขึ้น
อย่างไรก็ตาม การเติบโตของการตลาดสีเขียวในประเทศไทยยังไม่ประสบความสำเร็จนัก เนื่องจากผู้บริโภคยังขาดความรู้ความเข้าใจต่อการเลือกซื้อสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) จึงร่วมกับ ช้อปปี้ (Shopee) ผู้นำแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และไต้หวัน จัดทำโครงการ “Greener World with Shopee & TEI” เพื่อเป็นสื่อกลางระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภค ผ่านการส่งเสริมผู้ประกอบที่ผลิตสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้มีช่องทางการขายบนแพลตฟอร์มช้อปปี้ ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซที่มีการเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคทั่วไปในวงกว้างทั่วทั้งประเทศไทย อีกทั้งเป็นทางเลือกในการเลือกซื้อสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้กับผู้ใช้งานช้อปปี้ รวมถึงช่วยกระตุ้นการรับรู้แก่ผู้บริโภคให้หันมาใช้สินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น อันจะนำไปสู่การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในระยะยาวอย่างยั่งยืนได้
โดยงานสัมมนาออนไลน์ได้จัดขึ้นในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2565 มีผู้ประกอบการที่ลงทะเบียนเข้าร่วมงานกว่า 90 ราย เข้าร่วมรับฟังหัวข้อที่น่าสนใจเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและอีคอมเมิร์ซจากงานสัมมนา “Greener World with Shopee & TEI” เช่น โอกาสทางธุรกิจของสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดย ดร.วิจารย์ สิมาฉายา, การเจาะลึกวิธีการสร้างโอกาสทางการขายจากเทรนด์ของ e-Commerce ในปี 2022, การเริ่มต้นการขายแบบก้าวกระโดดด้วย Shopee Program พร้อมสิทธิพิเศษจากช้อปปี้, และบทเรียนแห่งความสำเร็จ ผ่าน Shopee Seller Success Stories โดยผู้เชี่ยวชาญจากทางช้อปปี้
ด้านสุชญา ปาลีวงศ์ ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายการตลาดช้อปปี้ (ประเทศไทย) กล่าวว่า ด้วยพันธกิจหลักของเราในการใช้เทคโนโลยีเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนในประเทศไทยและภูมิภาค เรามุ่งมั่นสร้างสรรค์กิจกรรมต่างๆ ที่ตอกย้ำพันธกิจดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง สำหรับโครงการ “Greener World with Shopee & TEI” ถือเป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจที่เราได้ร่วมมือกับทางสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ในการใช้ศักยภาพของแพลตฟอร์มของเรา เพื่อสร้างการตระหนักรู้ทางด้านสิ่งแวดล้อมให้เกิดขึ้นในสังคมไทย พร้อมทั้งส่งเสริมผู้ประกอบการที่มีผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ให้สามารถต่อยอดการดำเนินธุรกิจ และสร้างการเติบโตในยุคเศรษฐกิจดิจิทัลได้อย่างยั่งยืนต่อไป