HYBRID WIND+SOLAR+ESS คุ้มค่า พัฒนาแหล่งท่องเที่ยว ขายไฟแค่ 2.90 บาท/หน่วย ช่วง Peak แบบ Semi-Firm


แผนพัฒนาพลังงานทดแทน (AEDP) ของไทยในปัจจุบัน อาจกำลังจะพัฒนาไม่ทันกับการเปลี่ยนแปลงทางสภาวะภูมิอากาศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพลังงานลม ซึ่งปัจจุบันสามารถติดตั้งผสมผสานกับพลังงานเซลล์แสงอาทิตย์และระบบกักเก็บพลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังช่วยให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าลดลงและยังสามารถเลือกจ่ายไฟฟ้าเฉพาะช่วงที่มีการใช้ไฟฟ้าสูงที่สุด (Peak) ได้อีกด้วย พลังงานลมและพลังงานเซลล์แสงอาทิตย์ เป็นพลังงานหมุนเวียนที่ไม่ต้องใช้เชื้อเพลิงทั้งคู่ จึงเป็นคู่หูที่เสริมพลังกันได้อย่างลงตัว โดยมีระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System : ESS) มาช่วยปรับเสถียรของกระแสไฟฟ้า สำหรับประเทศไทยหน่วยงานที่มีการนำระบบ Hybrid มาใช้อย่างเป็นรูปธรรม นั่นคือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้มีการผสมผสานพลังงานหมุนเวียน และสร้างเป็นศูนย์การเรียนรู้ แหล่งท่องเที่ยว ช่วยให้ชุมชนรอบโรงไฟฟ้ามีรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เช่น โซลาร์เซลล์ลอยนํ้า ร่วมกับพลังงานนํ้าในเขื่อนสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี กำลังการผลิตไฟฟ้า 45 เมกะวัตต์ โดยใช้พลังงานเซลล์แสงอาทิตย์ในเวลากลางวันและใช้พลังงานจากนํ้าในเขื่อนในเวลากลางคืน

ฉากทัศน์โรงไฟฟ้าแบบผสมผสาน WIND+SOLAR+ESS

ตัวอย่างเช่น ปริมาณไฟฟ้าที่จำหน่าย 50 เมกะวัตต์ โดยผลิตไฟฟ้าจากกังหันลม 60% และจากพลังงานเซลล์แสงอาทิตย์อีก 40% ระบบกักเก็บพลังงานอีกไม่น้อยกว่า 300 เมกะวัตต์ต่อชั่วโมง ซึ่งได้มีการคาดการณ์ว่าราคาขายไฟฟ้าจะตํ่ากว่าหน่วยละ 3 บาท ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่

ณ วันนี้ พลังงานทดแทนหลายๆ ชนิดเริ่มมีต้นทุนการผลิตที่ตํ่ากว่าการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิล และสามารถพัฒนาเทคโนโลยีให้สามารถขายไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่องและสมํ่าเสมอด้วยระบบกักเก็บพลังงาน ซึ่งนับวันจะมีราคาลดตํ่าลง ดังนั้นรัฐจึงควรส่งเสริมให้มีการผลิตระบบกักเก็บพลังงานมากขึ้น เพื่อให้ได้ความคุ้มค่าในการลงทุน (Economy 2022of Scale) นอกจากนี้ ควรส่งเสริมและรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่ไม่ต้องใช้เชื้อเพลิงมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกังหันลมผลิตไฟฟ้า ซึ่งใช้พื้นที่ไม่มาก สามารถติดตั้งในบริเวณเดียวกับเซลล์แสงอาทิตย์และระบบกักเก็บพลังงาน อีกทั้งยังสามารถส่งเสริมให้ชุมชนปลูกพืชเศรษฐกิจเพิ่มรายได้ เพื่อการยอมรับโรงไฟฟ้าของชุมชนโดยรอบ

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ได้สร้างโรงไฟฟ้าเพื่อการท่องเที่ยวบริเวณอ่างเก็บนํ้าลำตะคอง อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา โดยเริ่มจากกังหันลมขนาด 2-2.5 เมกะวัตต์ จำนวน 14 ชุด และเพื่อให้กังหันลมสามารถผลิตไฟฟ้าได้อย่างสมํ่าเสมอและต่อเนื่อง จึงได้นำเทคโนโลยี Hydrogen Hybrid System เข้ามาใช้ โดยการนำไฟฟ้าจากกังหันลมมาแยกไฮโดรเจนออกจากนํ้าและมากักเก็บไว้ และนำก๊าซไฮโดรเจนที่ได้มาผ่านแผงพลังงานเพื่อผลิตไฟฟ้าออกมาใช้ภายในศูนย์การเรียนรู้ลำตะคอง ถือได้ว่าประเทศไทยเป็นประเทศแรกในเอเชียที่สามารถนำมาใช้ได้ และทำให้ศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้เป็น Zero Energy Building อย่างแท้จริง

ในอนาคตอันใกล้นี้ ประเทศไทยจะต้องมีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น ปัญหาของพื้นที่ตั้งโรงไฟฟ้าที่ไม่เพียงพอและการยอมรับของชุมชน เราจึงจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีเพื่อก้าวข้ามปัญหาและอุปสรรคเหล่านี้

การผลิตไฟฟ้าแบบผสมผสาน (Hybrid) ระหว่างพลังงานลม (Wind) พลังงานเซลล์แสงอาทิตย์ (Solar) และระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage)

วัชรพงศ์ เข็มแก้ว
คุณวัชรพงศ์ เข็มแก้ว
รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน ส.อ.ท.
อุปนายกสมาคมพลังงานลม (ประเทศไทย)
ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายพัฒนาโครงการ บริษัท เดอะบลูเซอร์เคิล (ไทยแลนด์) จำกัด

ปัจจุบันเทคโนโลยีด้านพลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ และระบบกักเก็บพลังงาน ได้มีการพัฒนาอย่างรวดเร็วทั้งในด้านประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้นและต้นทุนการผลิตที่ลดลง ประกอบกับความจำเป็นเร่งด่วนที่ทั่วโลกต้องร่วมกันจัดการกับปัญหาสภาวะภูมิอากาศอย่างจริงจัง

สำหรับในประเทศไทยได้มีการพัฒนาโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมมาเป็นระยะเวลามากกว่า 10 ปีแล้ว โดยมีผลการสำรวจและวิเคราะห์โดยหน่วยงานระดับประเทศและระดับนานาชาติแล้วว่า ประเทศไทยมีศักยภาพพลังงานลมที่สามารถนำมาใช้ผลิตไฟฟ้าได้อีกมาก (13 GW จากรายงานศึกษาของกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน และ 17 GW จากผลศึกษาของ IRENA) โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมยังมีส่วนช่วยสร้างความเจริญให้กับชุมชนรอบโครงการ โดยการพัฒนาถนนภายในโครงการทำให้การขนส่งพืชผลทางการเกษตรสะดวกขึ้น มีการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว ทำให้เศรษฐกิจในพื้นที่ดีขึ้น

การผลิตไฟฟ้าแบบผสมผสาน

เนื่องจากพลังงานลมในประเทศไทยสามารถผลิตไฟฟ้าได้ดีในช่วงตั้งแต่ประมาณ 16.00-9.00 น. ซึ่งเหมาะสมมากกับการนำมาผสมผสาน (Hybrid) กับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานเซลล์แสงอาทิตย์ ซึ่งมีการผลิตไฟฟ้าในช่วงกลางวัน และเมื่อนำระบบกักเก็บพลังงานเข้ามาร่วมด้วย ก็จะส่งผลให้การผลิตไฟฟ้ามีความเสถียรมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังเป็นการใช้ศักยภาพของสายส่งให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดอีกด้วย

กล่าวโดยสรุป การผลิตไฟฟ้าแบบผสมผสาน (Hybrid) ระหว่างพลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ และระบบกักเก็บพลังงาน เป็นรูปแบบการผลิตไฟฟ้าที่ตอบโจทย์เรื่องการแก้ปัญหาด้านสภาวะภูมิอากาศ ส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก เพิ่มประสิทธิภาพการใช้สายส่งและการบริหารจัดการระบบไฟฟ้าโดยรวม เนื่องจากมีความเสถียรสูงในราคาที่แข่งขันได้ จึงเป็นรูปแบบการผลิตไฟฟ้าแห่งอนาคตที่รัฐบาลควรสนับสนุนอย่างเต็มที่

พลังงานกับกัญชง-กัญชา : การใช้พื้นที่อย่างมีคุณค่าและลงตัว

โศภชา ดำรงปิยวุฒิ์
คุณโศภชา ดำรงปิยวุฒิ์
ประธานกรรมการบริหารบริษัท กันกุล เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน)

ด้วยพื้นที่กว่า 2,000 ไร่ ภายในโรงไฟฟ้าพลังงานลม อำเภอห้วยบง จังหวัดนครราชสีมา ทำให้กันกุลได้เล็งเห็นถึงโอกาสในการใช้พื้นที่ดังกล่าวให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยนำพื้นที่ใต้กังหันลมมาพัฒนาต่อยอด โดยใช้จุดแข็งในเรื่องภูมิศาสตร์ของพื้นที่และต้นทุนด้านพลังงานที่บริษัทมีอยู่ ปรับพื้นที่ดังกล่าวให้กลายเป็นพื้นที่โรงเรือนเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจขนาดใหญ่ลำดับต้นๆ ของประเทศ

จากลักษณะภูมิศาสตร์ของพื้นที่ใต้กังหันลมที่มีลมพัดผ่านตลอด อากาศถ่ายเท ใกล้แหล่งนํ้า และอุณหภูมิที่ไม่สูงมากนัก ประกอบกับกันกุลเองมีเป้าหมายในการผลิตกัญชง-กัญชาระดับ Medical Grade จึงเน้นการปลูกแบบไม่มีการปนเปื้อน ดูแลควบคุมอย่างใกล้ชิด ด้วยธาตุอาหารที่ดี นํ้าที่สะอาด อากาศที่เหมาะสม และแสงสว่างที่เพียงพอ เนื่องจากพืชชนิดนี้สามารถดูดสารเคมี โลหะหนัก ไปจนถึงยาฆ่าแมลงได้ดี จึงต้องใช้เทคโนโลยีการเพาะปลูกแบบโรงเรือนแบบกึ่งปิด (ปิดเกือบหมดแต่ใช้แสงและอากาศจากภายนอกบางช่วงเวลา) และการปลูกแบบ Hydroponics ใช้นํ้าที่ผ่านกระบวนการกรองแบบ RO (Reverse Osmosis) สะอาด ไร้สารปนเปื้อน เป็นต้น จากปัจจัยที่ได้กล่าวมานี้ พื้นที่ใต้กังหันลมของกันกุลมีความเหมาะสมกับการปลูกพืชชนิดนี้เป็นอย่างยิ่ง อีกทั้งช่วงของการเติบโตยังต้องการแสงยาวนานกว่า 18 ชั่วโมง และการทำดอกก็ยังต้องการแสงสว่างที่ยาวนานถึง 12 ชั่วโมง ด้วยกัน

เพื่อบริหารการใช้พลังงานอย่างยั่งยืน กันกุลจึงได้ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาโรงปลูกพืช เพื่อนำไฟฟ้าที่ได้มาหมุนเวียนใช้ภายในระบบปลูกของเรา และเป็นการสร้างความได้เปรียบด้านการแข่งขันทางธุรกิจ ประหยัดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน และยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

เมื่อปัจจัยในทุกๆ ด้านมีความเหมาะสมทั้งพื้นที่และพลังงาน ทำให้กันกุลเองได้เดินหน้าในธุรกิจกัญชง-กัญชาอย่างเต็มตัว ปัจจุบันบริษัทฯ มีโรงสกัดสาร CBD มีจำนวน 1 แห่ง ตั้งอยู่บริเวณรังสิต-นครนายก คลอง 11 จังหวัดปทุมธานี เพื่อผลิตสินค้าในหมวดเครื่องสำอาง เครื่องดื่ม และยาสมุนไพร ซึ่งมีกำลังการผลิตอยู่ที่ 200 กิโลกรัมต่อวัน (ดอกแห้ง) พร้อมป้อนผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพเข้าสู่ตลาดภายในประเทศเเละต่างประเทศต่อไป

กันกุล


Source: นิตยสาร Green Network ฉบับที่ 112 กรกฎาคม-สิงหาคม 2565 คอลัมน์ บทความ โดย พิชัย ถิ่นสันติสุข


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เอง โดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save