มจธ.-จุฬา-มข. นำมหาวิทยาลัยไทยติดอันดับมหาวิทยาลัยระดับโลกที่สร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม


เมื่อวันที่ 22 เมษายน 63 – Times Higher Education ได้ประกาศผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัยระดับโลกที่สร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม หรือ Time Higher Education Impact Ranking 2020 พบมหาวิทยาลัยไทยเข้าร่วมและได้รับการจัดอันดับ 19 แห่ง นำโดย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) จาก 760 สถาบัน ใน 85 ประเทศ ทั่วโลก ทั้งนี้การจัดอันดับดังกล่าวใช้เกณฑ์การประเมินมหาวิทยาลัยตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ หรือ SDG ผ่านการประเมินตัวชี้วัดที่ได้รับการสอบเทียบอย่างรอบคอบ โดยครอบคลุมตัวชี้วัดที่สร้างผลกระทบเชิงบวกทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับประเทศ และระดับนานาชาติ ในมิติการศึกษา การวิจัย การดำเนินงาน และกิจกรรมการมีส่วนร่วมของสาธารณะ

มจธ.กับความยั่งยืน ตาม SDG2030

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) มีนโยบายและความมุ่งมั่นอย่างชัดเจนที่เป็นมหาวิทยาลัยที่ยั่งยืนตามเป้าหมาย SDG 2030 โดยประกาศนโยบาย “KMUTT SUSTAINABLE UNIVERSITY FOR SDG 2030”ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2560 และมีการดำเนินการด้านความยั่งยืนที่สอดคล้องกับ Sustainable Development Goals (SDGs)ของUnited Nations ใน 17 หัวข้อ อย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

จุดเด่นของ มจธ.จากการประเมินของ The Times Higher Educations Impact Ranking 2020

มจธ.เข้าร่วมส่งผลการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยที่สอดคล้องกับ Sustainable Development Goals (SDGs)ของสหประชาชาติ (United Nations) ใน 17 หัวข้อ ตามคำเชิญของTimes Higher Education ซึ่งเป็นการจัดอันดับมหาวิทยาลัยระดับโลกที่สร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม โดยจัดขึ้นเป็นปีที่ 2 มีมหาวิทยาลัยทั่วโลกเข้าร่วม 788 แห่งจาก 85 ประเทศ มจธ.ได้นำส่งผลงานปีนี้เป็นปีแรก และได้รับการจัดอันดับเป็นอันดับที่ 101-200 ของโลก และเป็นอันดับหนึ่งของประเทศร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

รศ.ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย

รศ.ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย อธิการบดี มจธ. ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า มจธ. มีจุดเด่นอยู่ที่ SDG เป้าหมายที่ 12 Responsible Consumption and Production (แผนการบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน) เป้าหมายที่ 2 Zero Hunger (ขจัดความหิวโหย) และเป้าหมายที่ 6 Clean Water And Sanitation (การจัดการน้ำและสุขาภิบาล)โดย SDG เป้าหมายที่ 12 ที่มีการวัดผลจากผลงานวิจัยและการใช้ทรัพยากรในการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยด้านการบริโภคและการผลิตยั่งยืน ซึ่ง มจธ. ได้คะแนน 81.4% และได้รับการจัดอันดับเป็นที่ 26 ของโลก ในขณะที่ SDG เป้าหมายที่ 2 ที่มีการวัดผลจากผลงานวิจัยด้านการขจัดความหิวโหย การเรียนการสอนหัวข้อความยั่งยืนด้านอาหาร ความมุ่งมั่นที่จะลดขยะเศษอาหาร และขจัดความหิวโหยในนักศึกษาและชุมชน ซึ่ง มจธ. ได้คะแนน 76.5% และได้รับการจัดอันดับเป็นที่ 27 ของโลก

ส่วน SDG เป้าหมายที่ 6 Clean Water and Sanitation (การจัดการน้ำและสุขาภิบาล) ที่มีการวัดผลจากผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับน้ำ การใช้น้ำ และความมุ่งมั่นที่ให้ความมั่นใจว่าทำให้เกิดการจัดการน้ำที่ดีในชุมชนเป็นวงกว้าง ซึ่ง มจธ. ได้คะแนน 67.0% และได้รับการจัดอันดับเป็นที่ 14 ของโลก

มุ่งมั่นให้เกิดความยั่งยืนทั้ง 17 ข้อตาม SDG2030

มจธ. ใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงของรัชกาลที่ 9 มุ่งมั่นให้เกิดความยั่งยืนทั้ง 17 ข้อตาม SDG2030

จะเห็นได้ว่า การดำเนินงานของ มจธ.ในด้านการจัดการความยั่งยืนใน 3 เป้าหมายที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นอยู่ในระดับดี ในขณะที่ SDG เป้าหมายที่ 17 Partnerships for The Goals (ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน)ซึ่งเป็นการวัดผลด้านการสนับสนุนSDG โดยผ่านความร่วมมือกับต่างประเทศ และมีผลงานที่เป็นแนวปฏิบัติที่ดี และได้รับการตีพิมพ์ซึ่งมจธ. ได้คะแนน 70.7-80.6%ได้รับการจัดอันดับอยู่ในระดับที่ 101-200ของโลก นอกจากนั้นใน SDG อีก 13 เป้าหมายที่เหลือ มจธ. ได้มีการดำเนินการและเข้าไปมีส่วนร่วมในทุกหัวข้อ

SDG2030

“มจธ.มีความมุ่งมั่นที่จะดำเนินการให้เกิดความยั่งยืนภายในมหาวิทยาลัยทั้ง 17 ข้อตาม SDG2030 โดยใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 เข้ามาประยุกต์ใช้หรือที่เรียกว่า SEP FOR SDG (Sufficient Economy Philosophy for SDG2030) ซึ่งเน้นการเรียนการสอน การวิจัยรวมถึงกิจกรรมที่ส่งเสริมการเรียนรู้ที่มุ่งสร้างนักศึกษา ให้มีความเป็นหัวใจสีเขียว (Green Heart)และออกไปเป็นผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงของสังคม(Social Change Agents) เพื่อนำความรู้ในวิชาชีพที่ได้ศึกษา วิจัยมา เข้าไปแก้ปัญหาความยากจน ความหิวโหย และสร้างความเท่าเทียมกันในสังคม โดยคำนึงถึงผลกระทบของเทคโนโลยีที่มีต่อสังคม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับชุมชน สังคมทั้งในระดับประเทศและระดับโลกสืบต่อไป” ดร.สุวิทย์กล่าว

มุมมองคนรุ่นใหม่ต่อความยั่งยืน

ศิวกร จิตร์ถาวรมณี นักศึกษาชั้นปีที่ 4 ภาควิชาวิศวกรรมโยธา มจธ. หนึ่งในแกนนำนักศึกษากลุ่ม Green Heart มจธ. ที่ได้ดำเนินกิจกรรมที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง ให้ความเห็นว่า ความยั่งยืนที่ดีที่สุดคือความยั่งยืนในหัวใจของทุกคน พวกเราจึงเรียนรู้ และส่งต่อคุณค่าของหัวใจสีเขียว (Green Heart) ให้กับเพื่อนพี่น้องและชุมชน เพื่อสร้างสังคมสีเขียวที่ยั่งยืน เพราะโลกแห่งอนาคต คือโลกที่ต้องการความยั่งยืนในทุกๆด้าน


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เอง โดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save