มจธ.ย้ำ “นาก” ไม่ใช่สัตว์เลี้ยง พร้อมเปิดฮอตสปอตภัยคุกคามนากใน 5 จังหวัดภาคใต้อันดามันของไทย


นักวิจัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เปิดผลสำรวจภัยคุกคาม “นาก” ในพื้นที่ชุ่มน้ำฝั่งอันดามัน 5 จังหวัดภาคใต้ พบภัยคุกคามที่น่ากังวลและควรเร่งจัดการ ปัญหาคือการจับนากจากธรรมชาติไปเป็นเลี้ยง  ทั้ง ๆที่ “นาก” ไม่ใช่สัตว์เลี้ยง ซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย และเป็นสาเหตุสำคัญทำให้นากมีแนวโน้มลดลง เรียกร้องสร้างความเข้าใจการอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืนในพื้นที่ทับซ้อนของคนกับนาก

นาก เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ออกลูกครั้งละ 3-4 ตัว ธรรมชาติของนากมีทั้งที่รวมกลุ่มกันเป็นฝูงและอยู่ตัวเดียว พบได้บ่อยในพื้นที่ชุ่มน้ำและแหล่งน้ำตามธรรมชาติ รวมทั้งพื้นที่ชายฝั่ง โดยเฉพาะป่าชายเลนทางภาคใต้ของไทย นากมีสถานภาพเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองที่ไม่มีการอนุญาตให้ล่าหรือเพาะเลี้ยงเพื่อการค้า ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลชัดเจนว่ามีจำนวนคงเหลือเท่าใด แต่มีแนวโน้มลดลงจากภัยคุกคามในรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะการนำนากมาเป็นสัตว์เลี้ยงซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายและเสี่ยงทำให้นากอายุสั้นจากการเลี้ยงที่ไม่ถูกต้องตามนิเวศวิทยาของสัตว์

นาก จะเติบโตและขยายพันธุ์ได้ดีในธรรมชาติ การนำมาเลี้ยงโดยไม่เข้าใจเรื่องสุขภาพของนากและเลี้ยงเหมือนสัตว์เลี้ยงอื่นๆ (เลี้ยงในกรง) อาจทำให้นากอายุสั้น และไม่ขยายพันธุ์ในรุ่นต่อๆ ไป หรือพอเลี้ยงโตแล้วนำไปปล่อยก็มีโอกาสรอดยากและเสี่ยงต่อการนำโรคไปสู่นากในธรรมชาติ

ผศ. ดร. นฤมล ตันติพิษณุ และอนุชา ขำจริง นักวิจัยจากสถาบันพัฒนาและฝึกอบรมโรงงานต้นแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ได้ทำวิจัยในโครงการประเมินภัยคุกคาม และการจัดลำดับความสำคัญของการจัดการเพื่อการอนุรักษ์นากอย่างยั่งยืนในพื้นที่ชุ่มน้ำชายฝั่งภาคใต้ของประเทศไทย ฝั่งอันดามัน  โดยได้รับทุนวิจัยจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และทุนวิจัยจากมูลนิธิกระจกอาซาฮี เพื่อศึกษาภัยคุกคามที่ทำให้ประชากรนากลดลง ประเมินพื้นที่ที่มีระดับภัยคุกคามรุนแรง และเสนอแนวทางการจัดการที่เหมาะสมต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ในการประเมินภัยคุกคามต่อการอยู่รอดของนากในพื้นที่ชุ่มน้ำชายฝั่งอันดามัน 5 จังหวัด ได้แก่ ระนอง พังงา กระบี่ ตรัง สตูล นักวิจัยใช้วิธีสัมภาษณ์ชาวบ้านเพื่อสอบถามถึงรูปแบบและระดับของภัยคุกคามในแต่ละพื้นที่ ทำการเก็บข้อมูลในระดับตำบลที่มีโอกาสพบนาก ดำเนินการสัมภาษณ์ทั้งหมด 640 ครั้งใน 270 หมู่บ้าน 117 ตำบล 25 อำเภอ โดยได้สัมภาษณ์ชาวบ้านที่เคยเกี่ยวข้องกับนาก ทั้งเคยพบเห็นหรือรู้เรื่องราวของนาก อาทิ คนหาปลา ผู้ใหญ่บ้าน ผู้สูงอายุ (คนเก่าแก่ในพื้นที่) จำนวน 1,035 คน

นากเลี้ยง

จากข้อมูลที่ได้ทำให้รู้ว่า นากที่มีจำนวนมากที่สุดมี 2 ชนิด คือ นากเล็กเล็บสั้น (Aonyx cinereus) และ นากใหญ่ขนเรียบ (Lutrogale perspicillata) คนกับนากอยู่ร่วมกันมาตั้งแต่ในอดีต คนส่วนใหญ่ในพื้นที่รู้จักนากและมีทัศนคติที่ดี เข้าใจธรรมชาติของนากที่เป็นสัตว์ผู้ล่าขนาดเล็กในพื้นที่ชุ่มน้ำชายฝั่ง ซึ่งในภาคใต้ฝั่งอันดามันมีป่าชายเลนผืนใหญ่ค่อนข้างสมบูรณ์ ทำให้มีอาหารในธรรมชาติเพียงพอสำหรับนาก จึงไม่ค่อยมีปัญหาความขัดแย้งกับคน

สภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป ส่งผลกระทบต่อแหล่งอาหารของนาก
สภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป ส่งผลกระทบต่อแหล่งอาหารของนาก

“อย่างไรก็ตาม ด้วยกิจกรรมของมนุษย์ทั้งทางตรงและทางอ้อมในช่วงที่ผ่านมา อาทิ การขยายพื้นที่ทำประมง บ่อปลา บ่อกุ้ง รวมถึงกิจกรรมท่องเที่ยวชายฝั่ง ทำให้ป่าชายเลนมีพื้นที่ลดลงหรือสภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไป ส่งผลกระทบต่อแหล่งอาหารของนาก ทำให้นากออกมาหาอาหารนอกพื้นที่และเกิดความขัดแย้งกับคน แต่ปัญหาความขัดแย้งนี้ยังไม่รุนแรงนัก เนื่องจากชาวบ้านส่วนใหญ่รู้ว่าเป็นธรรมชาติของนากและไม่ได้รบกวนบ่อยจนกระทบรายได้ มีเพียงหาวิธีป้องกันเพื่อช่วยให้นากลงกินสัตว์เลี้ยงได้น้อยลง” ผศ.ดร.นฤมล กล่าว

การขยายพื้นที่ทำประมง

ขณะเดียวกัน จากการวิเคราะห์และประเมินระดับภัยคุกคามต่อการอยู่รอดของนาก จากข้อมูลที่ได้ พบว่า ประมาณร้อยละ 20 ของหมู่บ้านที่สำรวจมีระดับภัยคุกคามในระดับสูงและสูงมากต่อการอยู่รอดของนาก และสมควรต้องกำหนดเป็นพื้นที่ที่ต้องการการจัดการเร่งด่วน (Conservation hotspot) ในหลายตำบลของจังหวัดพังงา ตรัง สตูล และกระบี่ ตามลำดับ จากการศึกษาพบว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีนากเล็กเล็บสั้นและนากใหญ่ขนเรียบถูกฆ่าเพื่อนำเนื้อมากิน ถูกฆ่าเนื่องจากสร้างปัญหาให้มนุษย์ ถูกสุนัขกัด ถูกรถชน และที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือการถูกนำมาเลี้ยง

ด้าน อนุชา ขำจริง นักวิจัยจากสถาบันพัฒนาและฝึกอบรมโรงงานต้นแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) กล่าวว่า จากการสำรวจในระหว่าง พฤศจิกายน พ.ศ. 2563 ถึงกรกฎาคม พ.ศ. 2564 พบว่า มีนากมากกว่า 67 ตัวถูกนำมาเลี้ยง มีนากอย่างน้อย 7 ตัวที่โดนฆ่าเพื่อนำมาประกอบอาหาร อย่างน้อย 4 ตัวที่โดนฆ่าเนื่องจากปัญหาความขัดแย้งกับมนุษย์ อย่างน้อย 7 ตัวที่ตายจากการโดนสุนัขกัด และอย่างน้อย 3 ตัวที่ตายจากการโดนรถชน ซึ่งการลดจำนวนนากจากประชากรหลักในธรรมชาติด้วยภัยคุกคามเหล่านี้อาจส่งผลกระทบให้จำนวนนากในธรรมชาติลดลงจนเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ในระดับท้องถิ่น

จากเดิมที่การเลี้ยงนากเกิดจากชาวบ้านไปเจอลูกนากอยู่ลำพังและกลัวจะมีสัตว์อื่นมาทำร้ายเลยนำกลับไปเลี้ยง หรือบางครั้งไปพบนากได้รับบาดเจ็บจึงนำกลับมารักษา แต่จากกระแสความนิยมเลี้ยงนากในปัจจุบัน รวมถึงคลิปที่โชว์ความน่ารักของนากผ่านสื่อโซเชียล กระตุ้นให้เกิดกระแสความสนใจเลี้ยงนากมากขึ้น เริ่มมีการจับนากจากพื้นที่ธรรมชาตินำมาขายให้กับคนในพื้นที่และคนนอก โดยเฉพาะนากเล็กเล็บสั้น ซึ่งเมื่อย้อนไปในช่วงก่อนหน้าจะพบว่านากถูกนำมาเลี้ยงเป็นสัตว์เลี้ยงอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2558-2562 มีนาก 179 ตัวถูกนำมาเลี้ยง และในปี 2553-2557 มีนาก 118 ตัวถูกนำมาเลี้ยง

การเลี้ยงนาก

“บางคนเห็นจากคลิปก็คิดว่านากน่ารักจึงอยากเลี้ยงเป็นสัตว์เลี้ยง ซึ่งความจริงแล้วสิ่งที่คนยังมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการเลี้ยงนากคือ เมื่อนากโตขึ้นก็ไม่ได้น่ารักเหมือนลูกนาก นอกจากนี้อาหารที่คนเลี้ยงให้ ยังไม่ใช่ปลา ปู หรือกุ้งสดๆ  แต่กลับเป็นอาหารสัตว์เลี้ยงทั่วไป เช่น ข้าว ไข่ทอด ไก่ทอด ลูกชิ้นทอด ไส้กรอก อาหารคน อาหารแมว ซึ่งนอกจากจะทำให้อ้วนเกินไปแล้ว ยังทำให้นากมีอายุสั้น และนากที่นำมาเลี้ยงไม่สามารถขยายพันธุ์ในรุ่นต่อไปได้ ส่งผลให้จำนวนประชากรนากในธรรมชาติลดลง เพราะนากที่นำมาเลี้ยงทั้งหมดล้วนลักลอบนำออกมาจากพื้นที่ธรรมชาติ”  อนุชา กล่าว

เพราะฉะนั้น นอกเหนือจากการศึกษาเพื่อหาแนวทางการจัดการที่เหมาะสม ที่ทางคณะวิจัยมีแผนจะดำเนินการต่อภายใต้โครงการวิจัยการวางแผนการจัดการอนุรักษ์สัตว์ผู้ล่าขนาดเล็กในพื้นที่ชุ่มน้ำภาคใต้เพื่อการอยู่ร่วมกันระหว่างมนุษย์และสัตว์อย่างยั่งยืนแล้ว การทำให้คนในสังคมไทยได้ตระหนักว่า “นากไม่ใช่สัตว์เลี้ยง” ก็เป็นสิ่งที่ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายจะต้องร่วมมือกันทำอย่างจริงจัง เพื่อให้สัตว์ผู้ล่าขนาดเล็กชนิดนี้ สามารถทำหน้าที่ของมันในธรรมชาติได้อย่างสมบูรณ์ และเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศชายฝั่งที่สมบูรณ์และเป็นแหล่งทรัพยากรให้กับคนในพื้นที่ได้อย่างยั่งยืน

แผนที่ระดับภัยคุกคามนากในปัจจุบัน (2563-2564) ของแต่ละตำบลใน 5 จังหวัดชายฝั่งอันดามัน
แผนที่ระดับภัยคุกคามนากในปัจจุบัน (2563-2564) ของแต่ละตำบลใน 5 จังหวัดชายฝั่งอันดามัน ของนากเล็กเล็บสั้น (ซ้าย) นากใหญ่ขนเรียบ (กลาง) และนากทั้ง 2 ชนิดรวมกัน (ขวา) แบ่งระดับภัยคุกคาม ออกเป็น 4 ระดับ คือ ระดับ ต่ำ กลาง สูง และสูงมาก


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เอง โดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save