บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ร่วมกับ สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ศูนย์นาโนเทคแห่งชาติ (NANOTEC) จัดพิธีมอบรางวัล ถ้วยพระราชทาน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี และรางวัลเกียรติคุณ โครงการลดเปลี่ยนโลก ปีที่ 2 ให้แก่ผู้ชนะ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ชุมชนและเยาวชนไทยมีบทบาทสำคัญในการสร้างสรรค์กิจกรรมและนวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน โดยมีโครงการชุมชนลดเปลี่ยนโลก และนวัตกรรมเยาวชนลดเปลี่ยนโลกเป็นโครงการประกวด
สุวิทย์ ไชยประสิทธิ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า โครงการลดเปลี่ยนโลกกับโตโยต้า เกิดขึ้นจากความมุ่งมั่นของบริษัทในการส่งเสริมเยาวชนและชุมชนให้ตระหนักถึงความสำคัญของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ตลอดจนสนับสนุนแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน ผ่านการให้ความรู้และการดำเนินกิจกรรมที่สามารถนำไปสู่ผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมและขยายผลได้ในระดับประเทศ โดยอาศัยองค์ความรู้จากโครงการ ประสานกับหน่วยงาน เพื่อให้ตรงกับบริบทในพื้นที่ และประสบความสำเร็จ ซึ่งเกิดจากการร่วมมือจากทุกภาคส่วน ซึ่งนับเป็นจุดแข็งของโครงการลดเปลี่ยนโลก ปัจจุบันผลการดำเนินงานสำหรับโครงการพบว่า มีชุมชนกว่า 354 แห่ง และโรงเรียน 351 แห่ง เข้าร่วมโครงการ โดยสามารถลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ประมาณ 26,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
จิรพงศ์ ถาวรแก้ว ตัวแทนจากโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณ์ราชวิทยาลัย นครศรีธรรมราช รางวัลชนะเลิศโครงการนวัตกรรมเยาวชนลดเปลี่ยนโลก เผยถึงนวัตกรรมกังหันลมดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์เสริมประสิทธิภาพด้วยเส้นใยไมซีเลียมว่า สาเหตุที่ทำนวัตกรรมนี้เกิดจากการตระหนักถึงปัญหาการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากภาคการผลิตพลังงานและภาคการขนส่ง จึงได้พัฒนาวัสดุดูดซับก๊าซดังกล่าวร่วมกับกังหันลมในรูปแบบของโมเดลอัตราส่วน 1:2 เพื่อเตรียมต่อยอดสู่ขนาดจริงในอนาคต พร้อมทั้งวางแผนให้เป็นแหล่งเรียนรู้และการเผยแพร่ต่อไป โดยแผ่นกรองที่ใช้ในกังหันลมผลิตจากเยื่อของหิน ซึ่งสามารถร่วมมือกับชุมชนในพื้นที่เพื่อจัดหาวัตถุดิบและถ่ายทอดองค์ความรู้เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับทรัพยากรในท้องถิ่น
“สำหรับกังหันลมที่พัฒนาขึ้นเป็นรูปแบบแกนตั้งซึ่งสามารถรับลมได้หลายทิศทาง เหมาะสำหรับติดตั้งบนเกาะกลางถนนซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการสัญจรหนาแน่น และลมที่เกิดจากการเคลื่อนที่ของรถยนต์สามารถนำมาใช้ในการหมุนกังหันเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าได้ โดยระบบยังเสริมด้วยแผงโซลาร์เซลล์เพื่อให้สามารถผลิตไฟฟ้าได้แม้ในช่วงที่รถน้อย ทั้งนี้แนวคิดสำคัญของนวัตกรรมชิ้นนี้คือการออกแบบให้สามารถทำงานได้ด้วยตนเองโดยไม่ต้องพึ่งพาพลังงานจากภายนอก เป็นการผสานพลังงานหมุนเวียนเข้ากับการลดปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์อย่างยั่งยืน” จิรพงศ์ กล่าว
ยศธร บูรณะบัญญัติ นายกเทศมนตรีตำบลวังหิน จังหวัดนครราชสีมา เจ้าของรางวัลชนะเลิศโครงการชุมชนลดเปลี่ยนโลก เผยถึงแนวคิดในการพัฒนาชุมชนบ้านดอนยาวน้อยร่วมใจว่า ภาคอีสานเป็นพื้นที่ที่ประสบทั้งปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้งในเวลาใกล้เคียงกัน จึงน้อมนำพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาใช้ โดยนำน้ำมาเป็นศูนย์กลางในการแก้ปัญหา ตำบลวังหินจัดตั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำ บริหารจัดการน้ำตั้งแต่ระดับผิวดิน ใต้ดิน และเชื่อมโยงระบบกระจายน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ ร่วมกับการพัฒนาระบบคลองส่งน้ำ ซึ่งได้รับความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน ช่วยให้ชาวบ้านมีน้ำใช้เพื่อการเกษตรอย่างเพียงพอ ทำนาได้ทั้งปี และยังใช้น้ำที่เหลือทำเกษตรต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ชุมชนยังให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม โดยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเดิม เช่น การเลิกเผาฟาง เพราะมีทีมงานช่วยเก็บฟาง และหากชาวบ้านไม่ต้องการ ก็สามารถขายได้ในราคาก้อนละ 2 บาท หรือหากต้องการนำไปใช้เลี้ยงสัตว์ต่อก็ได้เช่นกัน โดยฟางเหล่านี้นำไปใช้เลี้ยงโค กระบือ และมูลสัตว์ที่ได้ก็นำไปผลิตแก๊สชีวภาพและทำธนาคารมูลสัตว์ เพื่อลดการใช้สารเคมีในเกษตรกรรม ขณะเดียวกันชุมชนตำบลวังหินยังไม่มีถังขยะ ไม่มีบ่อขยะ และไม่มีรถเก็บขยะ แต่ทุกครัวเรือนต้องจัดการขยะเอง ขยะเปียกส่วนใหญ่จะนำไปเลี้ยงหนอนแมลงวันลาย ซึ่งหนอนเหล่านี้นำไปเลี้ยงปลา เป็ด ไก่ ช่วยลดต้นทุนค่าอาหารสัตว์ และเมื่อได้ผลผลิต เช่น ปลาดุก ก็จะนำมาแปรรูปเป็นปลาดุกแดดเดียวด้วยพลังงานแสงอาทิตย์จากตู้อบของชุมชน
“เมื่อชาวบ้านมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ก็เริ่มหันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ทำให้ชุมชนกลับมามีความอุดมสมบูรณ์ ทั้งนกเหยี่ยว นกกา ปูนา หนูนาเริ่มกลับมาอาศัยในพื้นที่มากขึ้น โดยทั้งหมดนี้เกิดจากการจัดการน้ำที่ดีเป็นจุดเริ่มต้น พร้อมกันนี้ยังมีแผนต่อยอดองค์ความรู้ที่มีอยู่ให้กลายเป็นศูนย์การเรียนรู้ เพื่อส่งต่อให้กับชุมชนใกล้เคียงและคนรุ่นใหม่ โดยยืนยันว่าแม้วันนี้จะประสบความสำเร็จแล้ว แต่ชุมชนจะไม่หยุดนิ่ง พร้อมเรียนรู้และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง” ยศธร กล่าว
ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า ทีมที่ชนะเลิศจากโครงการนี้จะได้รับการสนับสนุนต่อยอดให้มีการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้เพื่อพัฒนานวัตกรรมการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในชุมชน โดยจัดตั้งเป็นโครงการนำร่อง ณ สถานศึกษาที่ได้รับรางวัล ชี้ให้เห็นภาพของโครงการที่มุ่งเน้นการพัฒนาทักษะทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมปลูกฝังจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อม ให้เยาวชนสามารถบูรณาการความรู้มาต่อยอดสู่การพัฒนานวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมด้วยนาโนเทคโนโลยีที่จับต้องได้
ทั้งนี้ ผู้ชนะเลิศทั้ง 2 โครงการ จะได้ไปนำเสนอผลงานแก่ผู้บริหาร บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรขัน ประเทศญี่ปุ่น รวมถึงศึกษาดูงานด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม และนวัตกรรมต่างๆ จากญี่ปุ่น เพื่อจุดประกายความคิดสร้างสรรค์ต่อยอดผลงาน โดยชุมชนบ้านดอนยาวน้อยร่วมใจจะได้รับการส่งเสริมองค์ความรู้สำหรับการพัฒนาชุมชนให้เป็นแหล่งเรียนรู้ “ชุมชนลดเปลี่ยนโลก” ในขณะที่โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณ์ราชวิทยาลัย จะได้รับการสนับสนุนเงินทุนสร้าง “นวัตกรรมต้นแบบ” ขนาดใช้ได้จริงเพื่อนำไปสู่ชุมชนต่อไป