พิธีลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือ (MOU) โครงการทดสอบและพัฒนาต่อยอดเครื่องบำบัดอากาศที่มีมลพิษและฝุ่นขนาดเล็ก PM 2.5


มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) จัดพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือ (MOU) โครงการทดสอบและพัฒนาต่อยอดเครื่องบำบัดอากาศที่มีมลพิษและฝุ่นขนาดเล็ก PM 2.5 เพื่อช่วยลดปัญหามลพิษทางอากาศให้กับประชาชน

โครงการทดสอบและพัฒนาต่อยอดเครื่องบำบัดอากาศที่มีมลพิษและฝุ่นขนาดเล็ก PM 2.5 โดยมีจุดมุ่งหมายร่วมกันในการนำองค์ความรู้ของคนไทยมาต่อยอดในการสร้างสิ่งประดิษฐ์ขึ้นใช้เองในประเทศ อันเป็นวิถีทางในการพัฒนาพึ่งพาตนเองเพื่อแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน โดยมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ เล็งเห็นถึงปัญหาหมอกควันจากไฟป่าทางภาคเหนือที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี และฝุ่นขนาดเล็ก PM 2.5 ทำให้เกิดมลพิษทางอากาศ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนอย่างมากซึ่งเป็นปัญหาที่สำคัญที่ควรได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน จึงนำมาซึ่งความร่วมมือระหว่าง มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยมี พลเรือเอก พงษ์เทพ หนูเทพ องคมนตรี ในฐานะประธานกรรมการบริหาร มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ พร้อมด้วย นายนภสร จันทิมา หัวหน้าสำนักงานมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ ร่วมกับ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC ซึ่งมี ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอลฯ และ ดร.ชญาน์ จันทวสุ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานบริหารความยั่งยืนและภาพลักษณ์องค์กร บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอลฯ ร่วมกันลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือ หรือ MOU เพื่อใช้แก้ปัญหาดำเนินการให้ความช่วยเหลือต่อประชาชนที่กำลังประสบกับปัญหามลภาวะสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่ประสบภัยต่าง ๆ

พิธีลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือ (MOU) โครงการทดสอบและพัฒนาต่อยอดเครื่องบำบัดอากาศที่มีมลพิษและฝุ่นขนาดเล็ก PM 2.5

โดยตัวเครื่องขั้นตอนและหลักการทำงานของเครื่องบำบัดอากาศที่มีมลพิษและฝุ่นขนาดเล็ก PM 2.5 ต้นแบบ เป็นระบบบำบัดอากาศแบบเปียก อากาศจะถูกดูดเข้ามาในเครื่องบำบัดด้วยพัดลมดูดอากาศ ผ่านเข้ามาจะถูกทำให้เกิดการอัดตัวโดยผ่านอุปกรณ์ที่เรียกว่า “เวนทูรีสครับเบอร์” โดยใช้น้ำเป็นตัวกลางในการดักจับฝุ่นละอองขนาดเล็กที่ติดมากับมวลอากาศ ซึ่งรูปแบบการใช้น้ำออกแบบไว้ 2 รูปแบบ คือ แบบเป็นฟิล์ม ไหลเคลือบผิวท่อเวนทูรี ซึ่งน้ำส่วนนี้จะถูกอากาศที่อัดเข้ามาด้วยความเร็วและแรงดันสูงทำให้ฟิล์มน้ำกลายเป็นละอองฝอยขนาดเล็ก และ แบบพ่นเป็นละอองฝอย ละอองฝอยน้ำทั้งหมดจะทำหน้าที่ดักจับโดยการสัมผัสกับฝุ่น PM 2.5 ที่ปนเปื้อนอยู่ในเนื้ออากาศให้เข้ามาอยู่ในเนื้อละอองน้ำแทน กระบวนการนี้เรียกว่า “การสครับ” จากนั้นทั้งอากาศและละอองน้ำจะถูกบังคับให้ไหลลงไปด้านล่างยังถังน้ำหมุนวนที่ 1 ซึ่งละอองน้ำส่วนใหญ่จะเกิดการควบแน่นและถูกจัดเก็บอยู่ในถังน้ำ มวลอากาศทั้งหมดและละอองน้ำบางส่วนที่ยังไม่ควบแน่นจะไหลต่อไปยังถังดักจับละอองน้ำ โดยอุปกรณ์ที่เรียกว่า “Demist vane” ซึ่งละอองน้ำจะควบแน่นและไหลไปรวมตัวกันที่ก้นถังในส่วนที่เรียกว่า “ถังน้ำหมุนวนที่ 2” อากาศที่ผ่านการบำบัดแล้วทั้งหมดจะไหลออกกลับคืนสู่พื้นที่ที่เกิดปัญหาได้เป็นอย่างดี และสามารถปฏิบัติภารกิจตามหลักการสำคัญซึ่งเป็นหัวใจของวิธีการบำบัดฝุ่น PM 2.5 ในพื้นที่เปิด

เครื่องบำบัดอากาศที่มีมลพิษและฝุ่นขนาดเล็ก PM 2.5

นอกจากนี้ยังได้ออกแบบให้สามารถนำท่อยืด-หดมาสวมต่อกับปลายท่อตัวทีได้ทั้งสองด้าน ทำให้สามารถนำอากาศที่บำบัดแล้วปล่อยออกไปยังพื้นที่แคบ จุดจำเพาะ หรือจุดอับได้ รวมทั้งได้ออกแบบให้ท่อตัวที (T) สามารถหมุนได้ 360 องศา ซึ่งปริมาตรอากาศที่ปล่องปล่อยออกคำนวณจากค่าความเร็วอากาศขาออกที่วัดได้เท่ากับ 2 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ประสิทธิภาพในการบำบัด PM 2.5 จากการทดสอบอยู่ระหว่าง 85-90 %

พลเรือเอก พงษ์เทพ หนูเทพ องคมนตรี

พลเรือเอก พงษ์เทพ หนูเทพ องคมนตรี กล่าวว่า “มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ น้อมนำพระบรมราโชบายของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการบรรเทาทุกข์ที่เกิดขึ้นให้แก่ประชาชน โดยการจัดสร้างเครื่องต้นแบบสำหรับบำบัดอากาศที่มีมลพิษและฝุ่นขนาดเล็ก PM 2.5 ขึ้น เพื่อช่วยลดปัญหามลพิษทางอากาศดังกล่าว ซึ่งเดิมมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ ได้แจกหน้ากากอนามัย N95 ในเบื้องต้น แต่พบว่าใช้งบประมาณสูงกว่าการจัดสร้างเครื่องต้นแบบสำหรับบำบัดอากาศที่มีมลพิษและฝุ่นขนาดเล็ก PM 2.5 ที่ใช้งบประมาณไม่เกิน 300,000 บาท ต่อเครื่อง ซึ่งความร่วมมือในการพัฒนาต่อยอดให้เครื่องมีประสิทธิภาพสูงจากบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอลฯ นี้ โดยจะมีการทดสอบเครื่องบำบัดอากาศ นำร่องใน 2 พื้นที่ของกรุงเทพมหานคร ได้แก่ บริเวณโดยรอบวัดราชบพิตรสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร เขตพระนคร และบริเวณโดยรอบวังสระปทุม เขตปทุมวัน หรือพื้นที่ตามที่มูลนิธิฯ กำหนด และจะขยายออกไปช่วยเหลือประชาชนที่ประสบปัญหามลภาวะฝุ่น PM2.5 ในจังหวัดเชียงใหม่ด้วย เพื่อบรรเทาทุกข์ของประชาชนช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น”

คงกระพัน อินทรแจ้ง

ทางด้าน ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร GC กล่าวว่า “การลงนามความร่วมมือในครั้งนี้มีระยะเวลา 6 เดือน คือ ตั้งแต่วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2563 ถึงวันที่ 12 สิงหาคม 2563 แบ่งเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ทางบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอลฯ มอบเงินสนับสนุนให้แก่มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ เพื่อสร้างเครื่องบำบัดอากาศต้นแบบจำนวน 7 เครื่อง และระยะที่ 2 บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอลฯ จะพัฒนาต่อยอดจากเครื่องต้นแบบ โดยการสนับสนุนนักวิจัย วิศวกร พนักงานและนวัตกรรมของบริษัทฯ ร่วมกันวิเคราะห์ผล และศึกษาแนวทางเพื่อปรับปรุงพัฒนาให้การทำงานมีประสิทธิภาพสูงขึ้น โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการลดปัญหามลพิษทางอากาศ ทั้งการสนับสนุนบุคลากรนักวิจัย วิศวกร และองค์ความรู้ เพื่อการแก้ปัญหาดังกล่าว และในอนาคตมีแนวทางที่จะเข้าไปสนับสนุนเพื่อการศึกษาและพัฒนาเครื่องมือหรืออุปกรณ์บำบัดอากาศ PM2.5 ในการบริหารจัดการและควบคุมการปล่อยมลพิษ เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม”

เครื่องบำบัดอากาศที่มีมลพิษและฝุ่นขนาดเล็ก PM 2.5

ทั้งนี้ โมเดลการบำบัดที่คิดขึ้นได้พัฒนารูปแบบทิศทางและจุดของการดูดอากาศที่จะบำบัดและการปล่อยอากาศที่บำบัดแล้วให้เหมาะสมกับสภาวะเงื่อนไขทางกายภาพของพื้นที่ที่จะบำบัด เช่น พื้นที่ในเมือง เขตโรงพยาบาล โรงเรียน สนามบิน พื้นที่แอ่งกระทะมีภูเขาล้อมรอบ เป็นต้น การเลือกกำหนดรูปแบบการดูดและปล่อยออกนี้สามารถส่งผลต่อประสิทธิภาพการบำบัดได้อย่างมาก เครื่องขนาดเล็กแต่เมื่อนำหลักการของโมเดลไปประยุกต์ใช้จะทำให้สามารถบำบัดอากาศได้ในพื้นที่เปิดที่มีเงื่อนไขทางภาพที่แตกต่างกันได้เป็นอย่างดี และสามารถรวมกำลังเครื่องจากเขตหรือจังหวัดต่าง ๆ มาบูรณาการร่วมกันปฏิบัติงานในกรณีเกิดวิกฤติที่รุนแรงในที่ใดที่หนึ่งได้ อันเป็นการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ได้อย่างคุ้มค่าอีกทางหนึ่งด้วย

ขณะเดียวกัน ภายหลังความร่วมมือเสร็จสิ้นที่สำนักงานมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ ยังได้จัดให้มีการอบรมการใช้งานการติดตั้งและดูแลรักษาเครื่องบำบัดอากาศที่มีมลพิษและฝุ่นขนาดเล็ก PM 2.5 (ต้นแบบ) ให้แก่ประชาชน และหน่วยงานต่าง ๆ ที่ขออนุญาตใช้สิทธิ์ตามอนุสิทธิบัตร เพื่อไปจัดสร้างเครื่องต่อไป


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เอง โดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save