สวทช.เปิดตัว “ธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติ” คลังเก็บตัวอย่างจากจุลินทรีย์ พืชและสัตว์ที่สำคัญและหายากของไทย


สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จัดกิจกรรมพิเศษ NSTDA Meet The Press เปิดตัว ธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติ (National Biobank of Thailand: NBT) ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานของประเทศในการสนับสนุนการอนุรักษ์ทรัพยากรชีวภาพแบบระยะยาว และเป็นคลังจัดเก็บตัวอย่างจากจุลินทรีย์ พืชและสัตว์ ที่หาสำคัญและหายากของประเทศไทย โดยร่วมมือกับเครือข่ายในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติในประเทศไทย โดยมีการจัดเก็บข้อมูลระดับจีโนมและการแสดงออกในธนาคารข้อมูลชีวิตภาพใช้วิจัยและพัฒนาทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งเป็นคลังเก็บสำรองทรัพยากรชีวภาพสำรองให้แก่ประเทศ สำหรับรับมือกับวิกฤตการณ์ต่างๆ ที่อาจทำให้เกิดการสูญเสียทรัพยากรชีวภาพไปอย่างถาวร เช่น การพัฒนาโปรแกรมช่วย “วิเคราะห์เลือกคู่ผสมพันธุ์สัตว์” นำร่องใน “ละมั่งพันธุ์ไทย” สัตว์ที่กำลังจะสูญพันธุ์

ดร.ศิษเฎศ ทองสิมา ผู้อำนวยการธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติ (NBT) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า เนื่องในโอกาสวันสากลแห่งความหลากหลายทางชีวภาพ (International Day of Biological Diversity) ซึ่งตรงกับวันที่ 22 พฤษภาคมของทุกปี เพื่อรำลึกถึงวันที่อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งเริ่มมีผลบังคับใช้ เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 ที่รณรงค์ให้ประชาคมโลกเกิดความตระหนักและส่งเสริมให้เกิดการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน ทาง NBT จึงได้จัดกิจกรรม เปิดบ้าน NBT ขึ้น เพื่อแนะนำ NBT และให้เห็นถึงศักยภาพและความจำเป็นของ NBT ในการเป็นโครงสร้างพื้นฐานของประเทศในการสนับสนุนการอนุรักษ์ทรัพยากรชีวภาพแบบระยะยาว และเป็นคลังจัดเก็บตัวอย่างจากจุลินทรีย์ พืชและสัตว์ที่สำคัญและหายากของประเทศไทย ปัจจุบันมีการจัดเก็บพืชและจุลินทรีย์กว่า 200 ชนิด ประมาณเกือบ 2,000 สายพันธุ์

ธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติ (NBT)

สำหรับ NBT จัดตั้งขึ้นใน พ.ศ.2562 ภายใต้การบริหารจัดการของ สวทช. โดยร่วมมือกับเครือข่ายในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติในประเทศไทย มีการดำเนินงานร่วมกันของนักวิจัยจาก 3 ธนาคาร ได้แก่ ธนาคารพืช (Plant bank) ธนาคารจุลินทรีย์ (Microbe bank) และธนาคารข้อมูลชีวภาพ (Data bank) โดยเป้าหมายสำคัญของ NBT ในการดำเนินงานด้านการอนุรักษ์ คือ การสนับสนุนการจัดเก็บสิ่งมีชีวิตนอกสภาพธรรมชาติแบบระยะยาวด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ทันสมัย แหล่งอ้างอิงสายพันธุ์จุลินทรีย์ทั้งจากพืชและสัตว์ ภายใต้กระบวนการวิจัยที่ได้มาตรฐาน เพื่อบริหารจัดการและเก็บตัวอย่างในภาวะที่เหมาะสมภายในอุปกรณ์และเทคโนโลยีที่ทันสมัยในห้องอุณหภูมิเก็บความเยือกแข็งถึง 3 ระดับ ประกอบด้วย 1.อุณหภูมิระดับ -20 องศาเซลเซียส ใช้สำหรับจัดเก็บเมล็ดพันธุ์พืชที่บรรจุในหลอดขนาด 25 มิลลิลิตร จัดเก็บได้ 100,000 หลอด 2.อุณหภูมิระดับ  -80 องศาเซลเซียส ใช้สำหรับจัดเก็บจุลินทรีย์และตัวอย่างชีววัสดุอื่น ๆ ที่บรรจุในหลอดขนาด 2.5 มิลลิลิตร จัดเก็บได้ 300,000 หลอด และ3.มีถังไนโตรเจนเหลวขนาด 1,770 ลิตร สำหรับจัดเก็บตัวอย่างเซลล์สิ่งมีชีวิตในสภาวะเย็นยิ่งยวดที่อุณหภูมิ -196 องศาเซลเซียส เพื่อเตรียมพร้อมฟื้นคืนทรัพยากรชีวภาพให้แก่ประเทศในยามที่เกิดความสูญเสียจากภัยธรรมชาติหรือการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่มากเกินพอดีและอนุรักษ์สัตว์ในประเทศไทย โดยเฉพาะสัตว์ที่กำลังใกล้สูญพันธุ์  เพื่อเป็นฐานที่สำคัญของการพัฒนาตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG ในการเตรียมพร้อมรับมือสภาวะวิกฤตและการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมที่นำไปสู่การสูญเสียทรัพยากรชีวภาพอย่างถาวรในธรรมชาติ

ธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติ (NBT)

ดร.ศิษเฎศ กล่าวว่า สำหรับ 3 ธนาคารหลักของการจัดเก็บทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติ ได้แก่ 1.ธนาคารพืช ประกอบด้วย ธนาคารพันธุกรรมพืชในสภาพปลอดเชื้อ ธนาคารเมล็ดพันธุ์ พิพิธภัณฑ์พืชและนิเวศวิทยาศาสตร์ โดยทำงานร่วมกับกลุ่มงานที่เชื่อมโยงกัน เพื่อให้เกิดการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากข้อมูลชีวภาพได้อย่างสูงสุด ผ่านกิจกรรมหลักคือ การพัฒนาวิธีเก็บรักษาเนื้อเยื่อที่ไม่สามารถอนุรักษ์ในรูปแบบเมล็ดพันธุ์ ด้วยกระบวนการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ร่วมกับเทคโนโลยีชะลอการเจริญเติบโตเพื่อลดต้นทุนการเก็บรักษาเชื้อพันธุกรรมในสภาพปลอดเชื้อ มีการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี Cryopreservation เพื่อเก็บรักษาพืชเศรษฐกิจที่สำคัญรวมถึงพืชที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์แบบระยะยาวในสภาวะเยือกแข็ง เพื่อเป็นต้นแบบสู่การอนุรักษ์พันธุ์พืชของประเทศไทยอย่างยั่งยืน จัดทำตัวอย่างพรรณไม้แห้ง พร้อมด้วยข้อมูลชนิดพันธุ์ ในรูปแบบอนุกรมวิธานรวมถึงข้อมูลทางพันธุศาสตร์ หรือ DNA Barcoding ถูกใช้เป็นแหล่งอ้างอิงชนิดพืชที่จัดเก็บในธนาคารเพื่อการจัดจำแนกที่ถูกต้องในอนาคตและที่สำคัญมีการวางแผนการศึกษาในระยะยาวในด้านสิ่งแวดล้อมเนื่องจากสภาพระบบนิเวศปัจจุบันเปลี่ยนแปลงเร็วมากส่งผลต่อการดำรงเผ่าพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตในทุกๆพื้นที่ มีการติดตามเก็บข้อมูล สังเคราะห์ข้อมูลเพื่อประเมินความผลอย่างใกล้ชิดโดยเฉพาะพืชถิ่นเดียว พืชที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ และพืชที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจ เป็นต้น

ธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติ (NBT)

2.ธนาคารจุลินทรีย์ มีภารกิจด้านการเก็บสำรองจุลินทรีย์ที่มีศักยภาพในการนำไปใช้ประโยชน์และเป็นแหล่งอ้างอิงที่เชื่อถือได้ทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ โดยมีกิจกรรมหลักในการจัดเก็บ คือ การพิสูจน์เอกลักษณ์และจำจุลินทรีย์ ด้วยอนุกรมวิธานแบบโพลีฟาสิก ได้แก่ จีโนไปป์และฟีโนไปป์ ในกลุ่มแบคทีเรียและอาร์เคีย เห็นและราในกลุ่มทะเลและราไซลาเรีย การค้นหาจุลินทรีย์สายพันธุ์ที่มีศักยภาพที่ตอบโจทย์การนำไปใช้ประยุกต์ใช้ทางด้านสิ่งแวดล้อม ด้านสุขภาพทางการแพทย์ ด้านการเกษตร ด้านอุตสาหกรรมและวัสดุศาสตร์ เป็นต้น ศึกษาความหลากหลายของจุลินทรีย์ กลไกการทำงานและปฏิสัมพันธ์ของกลุ่มจุลินทรีย์และระบบนิเวศน์ป่าไม้ด้วยวิธีการเมตาจีโนมิกส์ และการเก็บรักษาจุลินทรีย์ระยะยาว ภายใต้เงื่อนไขของ NBT ตามความเหมาะสม

ธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติ (NBT)

3.ธนาคารข้อมูลชีวภาพ มีภารกิจด้านข้อมูลเพื่อสนับสนุนกิจกรรมของ NBT ในการนำข้อมูลที่มีไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น การพัฒนาแพลตฟอร์มและระบบสารสนเทศสนับสนุนการวิเคราะห์และจัดการข้อมูล จัดตั้งฐานข้อมูลด้านพันธุกรรมและข้อมูลอื่นๆเพื่อเป็นแหล่งข้อมูลอ้างอิงและให้บริการข้อมูลในประดับประเทศ วิจัยและพัฒนา โดยประยุกต์ใช้คอมพิวเตอร์สมรรถนะสูงและเทคโนโลยีด้านข้อมูล เพื่อประมวลผลข้อมูลขนาดใหญ่เพื่อนำไปใช้แก้ปัญหาเชิงลึกทางด้านวิทยาศาสตร์

ธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติ (NBT)

นอกจากนี้ NBT ยังมีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีชีวสารสนเทศ และความพร้อมเรื่องโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม จึงพัฒนาโปรแกรมช่วย “วิเคราะห์เลือกคู่ผสมพันธุ์สัตว์” เพื่อช่วยลดอัตราเสี่ยงการสูญพันธุ์จากปัญหาโรคทางพันธุกรรม โดยนำร่องสนับสนุนการอนุรักษ์ “ละมั่งพันธุ์ไทย” เนื่องจากในอดีตละมั่งเคยมีสถานภาพสูญพันธุ์ไปจากป่าธรรมชาติของประเทศไทยแล้ว แต่ด้วยการเพาะเลี้ยงและนำปล่อยกลับคืนสู่ธรรมชาติได้สำเร็จ ประกอบกับการเลี้ยงละมั่งในกรงเลี้ยงโดยการดูแลของหน่วยงานภาครัฐ เช่น กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช และองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ทำให้ปัจจุบันในไทยยังคงมีละมั่งทั้งพันธุ์ไทย และลูกผสมพันธุ์ไทยและพันธุ์เมียนมา อาศัยอยู่ อย่างไรก็ตามด้วยจำนวนประชากรละมั่งพันธุ์ไทยที่เหลือน้อยในระดับวิกฤต ผู้ดูแลจึงต้องระมัดระวังเป็นอย่างยิ่งเรื่องการผสมพันธุ์ เพื่อไม่ให้เกิดการผสมในเครือญาติใกล้ชิด หรือเลือดชิด (Inbreeding) เพราะจะเป็นการเสี่ยงต่อการจับเข้าคู่ของยีนด้อย ซึ่งจะทำให้ละมั่งอ่อนแอลงและมีแนวโน้มสูญพันธุ์มากยิ่งขึ้น ส่วนในอนาคตจะนำโปรแกรมฯนี้ไปสนับสนุนอนุรักษ์สายพันธุ์สัตว์ชนิดใดเพิ่มเติมนั้นต้องศึกษาและทำงานวิจัยเพิ่มเติมร่วมกับหน่วยงานที่ดูแลเรื่องเกี่ยวกับสัตว์เพิ่มเติม


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เอง โดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save