“พฤกษา โฮลดิ้ง” จับมือ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ-กรมป่าไม้-เอกชน เดินหน้าสร้างป่าชุมชนหวังขับเคลื่อนประเทศไทยก้าวสู่ Net Zero
พฤกษา โฮลดิ้งฯ ร่วมมือมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง–กรมป่าไม้–ภาคเอกชน เข้าร่วมโครงการจัดการคาร์บอนเครดิตในป่า ระบุปี 66 ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนใน 77 ป่าชุมชน ครอบคลุมพื้นที่ 143,496 ไร่ ในจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ อำนาจเจริญ และยโสธร โดยจะเป็นพื้นที่ขึ้นทะเบียนคาร์บอนเครดิตได้ประมาณ 100,000 ไร่ มีผู้เข้าร่วม 12,721 ครัวเรือน และมีภาคเอกชนชั้นนำมาร่วมสนับสนุนการพัฒนา 14 รายประกาศตั้งเป้าลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 30% ภายในปี 73 พร้อมมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 93
นายอุดมศักดิ์ แย้มนุ่น ที่ปรึกษาสายงานการบุคคล บริษัท พฤกษา โฮลดิ้ง จํากัด (มหาชน) PSH เปิดเผยว่า ในฐานะที่กลุ่มพฤกษาฯเป็นองค์กรหนึ่งของสังคม จึงต้องการทำให้สังคมมีความน่าอยู่และส่งเสริมให้สังคมอบอุ่น ทุกคนอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ซึ่งสอดคล้องกับจุดหมายและวิสัยทัศน์ใหม่ของกลุ่มพฤกษาฯ ด้วยกรอบแนวคิด ใส่ใจเพื่อทั้งชีวิต “อยู่ดี มีสุข” (Live well Stay well) พฤกษาฯมีความมุ่งมั่นในการเป็นผู้นำด้วยการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกร้อยละ30 ภายในปี 2573 พร้อมมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2593 ดังนั้น การเข้าร่วมโครงการจัดการคาร์บอนเครดิตในป่าเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน จึงถือเป็นหนึ่งใน Road map ที่จะพาองค์กรไปสู่เป้าหมายที่ตั้งเป้าไว้ อีกทั้งยังมีส่วนช่วยเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้กับคนในชุมชน ช่วยลดปัญหาว่างงาน ปัญหาหนี้ครัวเรือน ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายด้านสังคมของกลุ่มพฤกษาฯด้วยเช่นกัน
“กลุ่มพฤกษาฯได้มีการนำเทคโนโลยีสีเขียว “คาร์บอนเคียว” (Carbon Cure) มาใช้ผลิตแผ่นพรีคาสท์คาร์บอนต่ำ (Low Carbon Precast) โดยใช้ปูนซีเมนต์และคอนกรีตผสมเสร็จสำหรับงานก่อสร้าง ที่ได้รับการรับรองคาร์บอนฟุตพริ้นท์และฉลากลดโลกร้อน จากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก องค์กรมหาชน รวมถึงมีโรงงานผลิตแผ่นพรีคาสท์ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงแบบระบบอัตโนมัติ โดยใช้แนวคิด “ขยะเหลือศูนย์” (Zero Waste) ทำให้ลูกบ้านในโครงการต่าง ๆ ที่ก่อสร้างด้วยพรีคาสท์คาร์บอนต่ำจะได้บ้านที่มีคุณภาพ แข็งแรง และยังได้มีส่วนช่วยลดการสร้างมลภาวะต่อโลกอีกด้วย”นายอุดมศักดิ์ กล่าว
นายอุดมศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากการร่วมมือกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์กลุ่มพฤกษาฯยังได้ร่วมกับกรมป่าไม้ในโครงการ “ฟื้นฟูระบบนิเวศเพื่อแบ่งปันคาร์บอนเครดิต” โดยจัดกิจกรรมให้เพื่อนพนักงานและผู้บริหารได้มีส่วนร่วมในการฟื้นฟูระบบนิเวศ ในรูปแบบการปลูก บำรุง อนุรักษ์ และฟื้นฟูป่าบนเนื้อที่ 370 ไร่ ในพื้นที่ ต.ห้วยบง อ.ด่านขุนทดจ.นครราชสีมา ซึ่งกิจกรรมนี้ได้นำความภาคภูมิใจมาสู่เพื่อนพนักงานและผู้บริหาร เพราะถือเป็นหนึ่งในวัฒนธรรมขององค์กรพฤกษาฯเรื่อง “Impact for Good” ใช้ใจ ทำดี เพื่อผลลัพท์ที่ดีโดยมีพนักงานสนใจเข้าร่วมกิจกรรมมากกว่า 600 คน และมีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้น จึงทำให้มีการขยายเวลาร่วมกิจกรรมไปถึงปลายปี 2566 ทั้งนี้กิจกรรมดังกล่าว เป็นไปตามแนวคิด ESG ที่ผสานแนวคิดด้านสภาพแวดล้อม (Environment) สังคม (Social) และธรรมาภิบาล(Governance) ซึ่งถูกปลูกฝังในทุก ๆ ขั้นตอนของการทำงาน เพื่อความยั่งยืนของสังคมและสิ่งแวดล้อม
“การเข้าร่วมโครงการจัดการคาร์บอนเครดิตในป่าเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ถือเป็นก้าวสำคัญที่ทำให้กลุ่มพฤกษาฯได้มีส่วนร่วมในการรักษาทรัพยากรควบคู่ไปกับการช่วยเหลือสังคม โดยอาศัยความเชี่ยวชาญของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ที่สั่งสมประสบการณ์เกือบ 40 ปีมาขยายผลเพื่อร่วมส่งเสริมคุณภาพชีวิตของชุมชนในป่า พร้อมกับร่วมแก้ปัญหาสภาพแวดล้อมของไทยและของโลกไปในคราวเดียวกัน โดยในปี 2566 นี้ โครงการฯ ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนใน77 ป่าชุมชน ครอบคลุมพื้นที่ 143,496 ไร่ ในจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ อำนาจเจริญ และยโสธร โดยจะเป็นพื้นที่ขึ้นทะเบียนคาร์บอนเครดิตได้ประมาณ 100,000 ไร่ มีผู้เข้าร่วม 12,721 ครัวเรือน และมีภาคเอกชนชั้นนำมาร่วมสนับสนุนการพัฒนา 14 ราย“นายอุดมศักดิ์ กล่าวในที่สุด