OLIC ผู้ให้บริการผลิตยาครบวงจรมาตรฐาน GMP-PIC/S เดินหน้าขับเคลื่อนอุตฯ ผลิตยาให้เติบโตอย่างยั่งยืน


“โอลิค” (OLIC)  บริษัทรับจ้างผลิตยาครบวงจรที่มีขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประกาศขับเคลื่อนความยั่งยืนทางธุรกิจและสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย พร้อมส่งนวัตกรรมยาฟองฟู่ เสริมประสิทธิภาพดูดซึมเร็วและดีขึ้น และส่งเสริมโอกาสการเข้าถึงยาคุณภาพและบริการแบบครบวงจร

มร.โยชิฮิโร ทาคาดะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โอลิค (ประเทศไทย) จำกัด (OLIC Thailand Limited) ผู้ให้บริการอุตสาหกรรมการผลิตยาและผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพแบบสัญญาจ้าง (Contract Manufacturing Organization : CMO) ครบวงจรที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมยาในไทยส่วนใหญ่ยังพึ่งพาการนำเข้า รวมถึงต้นทุนการผลิตในการปรับปรุงโรงงานให้ได้ตามมาตรฐาน GMP-PIC/S และเป็น 1 ใน 4 แห่งของโลกที่ได้รับมาตรฐาน GMP-PIC/S

อุตสาหกรรมยา

 ที่ผ่านมาโอลิคได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องทั้งมาตรฐานการผลิต การนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาให้บริการ เพื่อบรรลุเป้าหมายในการสร้างสังคมแห่งสุขภาพที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง และต้องการให้ทุกคนสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขและมีสุขภาพดียิ่งขึ้น    โอลิคจึงวางตำแหน่งบริษัทฯ ให้เป็นมากกว่าผู้ผลิตเภสัชภัณฑ์ แต่ใส่ใจผู้คน สังคม และโลก

ภญ.ฐิติมา ทองคำ

ภญ.ฐิติมา ทองคำ ผู้อำนวยการฝ่ายประสิทธิภาพและปฏิบัติการตามกฎระเบียบ บริษัท โอลิค (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า บริษัทฯ ก่อตั้งในปี 2547 เป็นเวลาเกือบ 40 ปี ที่โอลิตผลิตผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพสู่สังคมไทยและสังคมโลก ในปี 2540 บริษัทฯ ได้ขยายกำลังการผลิตโดยย้ายมาที่นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา บนเนื้อที่ 80,000 ตารางเมตร จากนั้นในปี 2555 โอลิคมีสถานะเป็นบริษัทย่อยของบริษัท Fuji Pharma  จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทเภสัชกรรมสัญชาติญี่ปุ่น ในปี 2561 ก้าวขึ้นเป็นบริษัทพัฒนาและรับจ้างการผลิตยาและผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพแบบสัญญาจ้าง (Contract Manufacturing Organization : CMO)

อุตสาหกรรมยา

“ในฐานะผู้ให้บริการแบบครบวงจร ตั้งแต่การปรับปรุงพัฒนาตำรับยา พัฒนาและตรวจสอบวิธีวิเคราะห์ ผลิตและบรรจุ รวมไปถึงการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ จัดเก็บและส่งมอบยาให้แก่ลูกค้า ด้วยเทคโนโลยีการผลิตและเครื่องจักรที่ทันสมัย ไม่ว่าจะเป็นยาปราศจากเชื้อ ยาเม็ด ผง แคปซูล ยาน้ำ ครีม เจล ยาทาภายนอก สเปรย์ และแคปซูลเจลาตินแบบนิ่ม”  ภญ.ฐิติมา กล่าว

โรงงานโอลิคผลิตภายใต้ข้อกำหนดตามมาตรฐาน GMP-PIC/S หลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิตยา สถานที่ผลิตได้รับการรับรองระบบบริหารคุณภาพ ISO 9001 , ISO 13485 สำหรับเครื่องมือแพทย์ , ISO 17025 สำหรับห้องปฏิบัติการ รวมทั้งมาตรฐานการจัดการสิ่งแวดล้อม ISO 14001 และได้รับมาตรฐานการจัดการด้านชีวอนามัยและความปลอดภัย ISO 45001  อีกทั้งโอลิคยังมีระบบการจัดการคุณภาพองค์กร (Enterprise Quality Management System : EQMS ) และระบบการจัดการข้อมูลสารสนเทศสำหรับห้องปฏิบัติการ (Laboratory Information Management  System : LIMS) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและระดับการผลิต

นอกจากนี้ยังได้นำบาร์โค้ดมาตรฐานสากล GS1 การกำหนดเลขซีเรียล และการรวบรวมกลุ่มข้อมูล (Serialization and  Aggregation) ให้เป็นกลุ่มเดียวกันมาใช้เพื่อประโยชน์ในการติดตามความคืบหน้าและตรวจสอบแบบเรียลไทม์ (Track and Trace Technology) และการปฏิบัติตามข้อกำหนดด้านกำกับดูแลในตลาดปลายทางของลูกค้า Track and Trace Technology โดยแสดงให้เห็นว่าผลิตภัณฑ์เดินทางตั้งแต่ต้นไปจนจบกระบวนการในห่วงโซ่อุปทานอย่างไร และช่วยเพิ่มความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ทั้งนี้เกาหลีใต้และรัสเซียเริ่มให้ความสำคัญกับการติดตามผลิตภัณฑ์ให้ผู้ใช้

สำหรับผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากโอลิค มีลูกค้ามากกว่า 30 ราย และผลิตภัณฑ์มากกว่า 600 รายการที่จำหน่ายทั้งในไทย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไต้หวัน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ยุโรป สหรัฐอเมริกา และออสเตรเลีย โดยจัดส่ง Aerosol Spray   และ Topical Liquid Creams  ให้สหรัฐอเมริกา และในอนาคตอันใกล้จะส่งออกยาฉีดให้สหรัฐอเมริกาอีกด้วย

ภญ.ฐิติมา กล่าวว่า โอลิคให้ความสำคัญกับการพัฒนานวัตกรรมการผลิตมาอย่างสม่ำเสมอ ล่าสุดตั้งแต่ต้นปี 2566 โอลิค ได้เพิ่มไลน์การผลิตใหม่สำหรับการผลิตยาฟองฟู่ (Effervescent) ซึ่งเป็นรูปแบบเภสัชภัณฑ์ที่ออกแบบมาให้แตกตัวและปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทันทีที่สัมผัสน้ำ ซึ่งข้อดีของยาฟองฟู่คือเหมาะกับตัวยาที่มีปัญหาในการผลิตในรูปแบบยาเม็ด (Tablets)  ทั้งยังช่วยให้ยาดูดซึมได้เร็วและดีขึ้น   ทั้งนี้การผลิตยาเม็ดฟองฟู่มีตำรับที่ซับซ้อนและต้องมีการควบคุมคุณภาพมากกว่าการผลิตยาเม็ดธรรมดา โดยเฉพาะการควบคุมอุณหภูมิ และความชื้นอย่างเข้มงวดเป็นพิเศษในกระบวนการผลิต และ บรรจุอย่างพิถีพิถันเพื่อคงประสิทธิภาพและประสิทธิผลตามตำรับยาไว้

ภญ.อังสนา วนเสถียร ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท โอลิค (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า โอลิคมีพนักงานทั้งหมด  800 คน แบ่งเป็นพนักงานปฏิบัติการ 500 คน  เภสัชกร 50 คน  และพนักงานส่วนอื่น อีก 50 คน โอลิคตระหนักและให้ความสำคัญกับการเติบโตยั่งยืน ตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมามีการปรับกระบวนการผลิตโดยได้นำพลังงานหมุนเวียนหรือพลังงานสะอาดเข้ามาใช้ในกระบวนการผลิต พร้อมปรับเปลี่ยนระบบไฟส่องสว่าง ดำเนินการเปลี่ยนแหล่งเชื้อเพลิงที่ใช้ในโรงงาน  โดยลงทุนไม่ต่ำกว่า 80 ล้านบาท ซึ่งช่วยให้ลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้กว่า 23.9% ในปี 2564

ในปี  2565 โอลิคลงทุนในระบบโซลาร์พลังงานแสงอาทิตย์ขนาด 0.99 เมกะวัตต์ (ระยะที่ 1)  ด้วยเงินลงทุน 24 ล้านบาท โดยได้ดำเนินการติดตั้งที่โรงงานโอลิค ซึ่งเริ่มผลิตกระแสไฟฟ้าได้ในปี 2566 คาดการณ์ว่าจะผลิตกระแสไฟฟ้าได้ประมาณ 1,254 เมกะวัตต์ต่อปี เทียบเท่ากับการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ได้ประมาณ 650 ตันต่อปี นอกจากนี้ยังเตรียมแผนการลงทุนเพิ่มเติมในระบบโซลาร์ฯ ขนาด 0.80 เมกะวัตต์ (ในระยะที่ 2) ใช้เงินลงทุน 20 ล้านบาท

“ระบบโซลาร์พลังงานแสงอาทิตย์ไม่เพียงแต่ช่วยประหยัดต้นทุน แต่ยังสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะทำให้โอลิค สามารถเติบโตในธุรกิจได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว และผลักดันให้เกิดการเข้าถึงยามากขึ้น รวมถึงขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยาให้เติบโตไปข้างหน้า ภายใต้แนวทางการดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล เราจะการยืนหยัดเคียงข้างลูกค้า คู่ค้า พนักงาน และชุมชน” ภญ.อังสนา กล่าว

สำหรับยอดขายรวมของโอลิคในปี 2565  อยู่ที่ 1,100 ล้านบาท   ส่วนในปี 2566 นี้คาดว่ารายได้น่าจะเพิ่มขึ้น 10%

ภญ.ทัฬห์ ปึงเจริญกุล

ภญ.ทัฬห์ ปึงเจริญกุล ผู้อำนวยการบริหาร สมาคมไทยอุตสาหกรรมไทยผลิตยาแผนปัจจุบัน  กล่าวว่า ประเทศไทยมีผู้ผลิตยา 150 แห่ง  ส่วนใหญ่รับจ้างผลิต โดยจัดส่งยาป้อนโรงพยาบาลรัฐ 60%  ผ่านองค์การเภสัชกรรม  โรงพยาบาลเอกชน 20% ที่เหลือ 20%  ให้ร้านขายยา  ทั้งนี้ประเทศไทยผลิตยาขึ้นใช้เองในประเทศ 35% ซึ่งมีปริมาณที่มากกว่า และนำเข้าจากต่างประเทศ 65% ระยะหลังราคายาแพง เนื่องจากผลิตในประเทศไม่ได้และชีววัตถุมีราคาสูง

อย่างไรก็ตาม มีตัวยาบางประเภทที่โรงงานในไทยผลิตได้  เช่น ยาปฏิชีวนะสำหรับรักษาวัณโรค พัฒนารูปแบบยาใหม่ๆ  รวมทั้งการอนุมัติทะเบียนจากองค์การอาหารและยา (อย.) ให้รวดเร็วมากขึ้น เพื่อเป็นการยืนยันถึงประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการใช้ยา

ล่าสุดจะมีการจัดงาน CPHI South East Asia 2023 งานแสดงเทคโนโลยีและการประชุมด้านอุตสาหกรรมการผลิตยาครบวงจรในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ระหว่างวันที่ 12-14 กรกฎาคม 2566 ณ ฮอลล์ 1-3 ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

รุ้งเพชร ชิตานุวัตร์ ผู้อำนวยการกลุ่มงานภูมิภาคอาเซียน อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย ผู้จัดงาน CPHI South East Asia 2023  กล่าวว่า  งาน CPHI จัดมามากกว่า 40 ปีแล้วในทวีปยุโรป    สำหรับการจัดงาน CPHI South East Asia 2023  ในไทยมีเป้าหมายสำคัญคือการสร้างการรับรู้ถึงมาตรฐานการผลิตยาในประเทศไทย และความเข้าใจในโอกาสของอุตสาหกรรมการผลิตยา และต้องการสร้างความมั่นใจให้กับคนไทยว่า สายการผลิตยาในประเทศไทยมีมาตรฐานในระดับสากลที่รู้จักกันชื่อ จีเอ็มพี พีไอซีเอส และผลิตยาที่มีคุณภาพ พร้อมแข่งขันในการเป็นผู้ผลิตยาสู่ตลาดต่างประเทศ

“ความท้าทายคือ การนำเข้าสารออกฤทธิ์  Active Pharmaceutical Ingredient : API) ในการผลิตยา และด้วยมาตรฐานที่สูงมากมาพร้อมกับต้นทุนการผลิตยาที่สูงทำให้โอกาสของธุรกิจจำกัดในกลุ่มผู้ผลิตเพียงไม่ถึง 200 ราย การผลิตยาของประเทศไทยรวมถึงในภูมิภาคอาเซียนนั้นต้องพึ่งพิงการนำเข้ามากกว่าร้อยละ 90 และที่สำคัญการรับรู้ถึงคุณภาพมาตรฐานในการผลิตยาในประเทศไทยนั้นยังไม่เป็นที่รู้จักไปถึงกลุ่มผู้บริโภค  เราจึงต้องช่วยกันส่งเสริมและผลักดันให้ผู้ประกอบการในประเทศเชื่อมั่นในมาตรฐานการผลิตระดับสากล ทั้งจะช่วยเพิ่มการใช้ยาที่ผลิตในประเทศมากขึ้น” รุ้งเพชร กล่าว


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เอง โดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save