จับตาแนวทางแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ด้วย ววน. นำร่อง 2 จังหวัดก่อนขยายผลไปเชียงใหม่ – ขอนแก่น


กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบข้าราชการ (สำนักงาน ก.พ.ร.) ร่วมแถลงข่าว “ววน.รวมพลังฝ่าวิกฤต PM2.5”  เพื่อร่วมหาแนวทางในการแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ด้วยการนำแนวทางวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมมาใช้แก้ปัญหาอย่างยั่งยืน นำร่องพื้นที่เป้าหมายใน 2 จังหวัด ได้แก่ ลำปางและสิงห์บุรี พร้อมขยายผลต่อในเชียงใหม่และขอนแก่นที่มีแนวโน้มค่าฝุ่นละอองเพิ่มสูงขึ้นทุกปี

ววน.รวมพลังฝ่าวิกฤต PM2.5 แก้ปัญหาอย่างยั่งยืน

ศ.พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์

ศ.พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)  กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบข้าราชการ (สำนักงาน ก.พ.ร.) และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)  ร่วมใจกันฝ่าฟันวิกฤตฝุ่นพิษ PM2.5 ด้วยการนำวิทยาศาสตร์ งานวิจัยและนวัตกรรม เทคนิคทางวิชาการ รวมทั้งบุคลากรที่มีองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องมาประยุกต์ใช้แก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ที่ลุกลามมากขึ้นในปัจจุบัน จากในอดีตฝุ่น PM2.5 ก็มีอยู่แล้วแต่มีในปริมาณที่น้อย เมื่อมีปัจจัยแห่งความเจริญทางเศรษฐกิจ อุตสาหกรรมการก่อสร้าง การประกอบอาชีพการเกษตรและอื่นๆที่ก่อให้เกิดฝุ่น PM2.5 ในปริมาณที่เพิ่มจำนวนมากขึ้นจนกลายเป็นปัญหาผิดปกติขึ้นส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัย สิ่งแวดล้อมที่เป็นพิษ การเดินทางและการประกอบอาชีพยากลำบากมากขึ้นต้องหาเครื่องมือหน้ากากอนามัยที่ป้องกันฝุ่น PM2.5โดยเฉพาะมาใส่ป้องกัน ซึ่งมีราคาค่อนข้างสูงอาจจะหาซื้อได้ยากและขาดแคลนได้

“เมื่อรู้แล้วว่าปัญหาฝุ่น PM2.5 เป็นปัญหาใหญ่ก็ต้องเร่งแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ รวมทั้งปรับ Mindset แก้ระบบความคิด ความรู้สึก พร้อมทั้งสร้างการตระหนักรู้ของคนในสังคมให้เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาด้วยจึงจะประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5ได้  เพราะคนในสังคมเป็นปัจจัยหนึ่งในการกระทำก่อให้เกิดเหตุแห่งการเกิดฝุ่น PM2.5 ดังนั้นการนำวิชาการความรู้มาถ่ายทอดบริหารพื้นที่แบ่งเป็นส่วนๆร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็น ภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาชนทั่วไปให้เข้าใจและร่วมกันแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 เหมือนการแก้ปัญหาวิกฤต COVID-19 ที่ให้อำนาจการแก้ปัญหาในแต่ละพื้นที่แก้ปัญหาแล้วประสบความสำเร็จที่ดีจนวิกฤต COVID-19 คลี่คลาย ส่งผลให้ภาพใหญ่ของประเทศในวิกฤต COVID-19 คลี่คลายลงได้”  ศ.พิเศษ ดร.เอนก กล่าว

อีกเรื่องที่สำคัญในการแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 คือ การประสานการแก้ปัญหากับองค์กรในประเทศและระหว่างประเทศในช่วงที่เกิดปัญหาฝุ่น PM2.5ช่วงฤดูหนาวฝุ่นจะเกิดขึ้นมากเพราะภาวะความกดอากาศสูง เกิดฝุ่นปกคลุมครอบเต็มท้องฟ้า และเมื่อมีการเผาทำลายเศษซากการทำการเกษตรทั่งภายในประเทศและประเทศเพื่อนบ้านผสมร่วมก็จะยิ่งทวีปัญหาฝุ่น PM2.5 เพิ่มขึ้นมากด้วย ดังนั้นการร่วมกันแก้ปัญหาควรมีหน่วยงานร่วมในการทำงานแก้ปัญหา PM2.5 เฉพาะเแบบไม่เป็นทางการ โดยรวบรวมบุคลากรที่มีองค์ความรู้ มีนวัตกรรม เครื่องมือและความเข้าใจปัญหามาร่วมสังเคราะห์แก้ปัญหาร่วมกันก็จะเกิดผลสำเร็จ สามารถแก้ปัญหาในระยะยาวได้ตามเป้าหมายที่วางไว้

สกสว.ชูองค์ความรู้และงานวิจัยแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5

รศ. ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล

รศ. ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) กล่าวว่า  เหมือนเป็นการเปิดประตูบานแรกที่ได้มีการสื่อสารเรื่องการแก้ปัญหา PM2.5 ร่วมกันของหลายๆภาคส่วน ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาโดยใช้ความรู้และงานวิจัยเข้าไปช่วยแก้ปัญหา ขณะนี้ สกสว.มีชุดความรู้และงานวิจัยหลายชิ้นมาก ในการพัฒนาการแก้ปัญหา ท้ายที่สุดแล้วเครื่องมือเหล่านี้จะนำมาใช้แก้ปัญหาได้ดีจริงหรือไม่ก็ต้องทดลองใช้และเก็บข้อมูลนำมาสังเคราะห์อีกครั้ง  ทั้งนี้ได้นำงานวิจัยไปทดลองใช้จริงในพื้นที่จังหวัดลำปางและสิงห์บุรี  ซึ่ีงทั้งสองจังหวัดนี้มีปัญหาและการแก้ปัญหาที่แตกต่างกัน  สิ่งที่คาดหวังคือทางคณะวิจัยอยากได้การทำงานที่เป็นระบบ  มีกลไกการทำงานร่วมกันของหลายหน่วยงานทั้งในระดับจังหวัด และระดับประชาชน ช่วยกันหาแนวทางการแก้ปัญหาในเชิงพื้นที่จะต้องทำงานอย่างไรเพื่อให้เกิดประโยชน์แก้ปัญหาให้บรรเทาลงให้ได้ แต่การทำงานย่อมมีปัญหาและอุปสรรคหลากหลายอย่างเข้ามาให้แก้เฉพาะหน้า แก้ระยะสั้น ระยะยาวและแก้อย่างเป็นระบบโดยอาศัยความร่วมมือของคณะทำงาน ประชาชนและอื่นๆประกอบ

ในปี พ.ศ. 2566 สกสว.ได้มีการหารือและร่วมทำงานกับ สำนักงาน ก.พ.ร  และกรมควบคุมมลพิษในการแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5เป็นหลัก นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานภาคีอื่นๆ นักวิจัยร่วมทำงานเพื่อแก้ปัญหาในแต่ละพื้นที่ที่ประสบปัญหาที่แตกต่างกัน มีการแก้ปัญหาโซลูชันที่แตกต่างกันเพื่อให้ปัญหาคลี่คลายลงโดยเร็วที่สุด ซึ่งการแก้ปัญหาจะเกิดผลยั่งยืนได้ในระยะยาวต้องอาศัยความต่อเนื่องของการสานต่อแก้ปัญหา PM2.5อย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง รวมทั้งเก็บรวบรวมข้อมูลการเกิดปัญหาของฝุ่น PM2.5ที่เกิดในแต่ละช่วงปี “การแก้ปัญหาเรื่องฝุ่นไม่ใช่เรื่องง่ายต้องใช้ระยะเวลาในการแก้ปัญหาในการวิเคราะห์ และจะต้องมีหน่วยงานติดตามผลที่เกิดอย่างต่อเนื่องของปัญหาที่เกิดในแต่ละพื้นที่ก็จะเข้าใจปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้น แล้วนำมาประมวลผลเพื่อแก้ปัญหาร่วมกันทั้งในหน่วยงานวิจัยและหน่วยงานจัดการก็จะสามารถแก้ปัญหาเรื่องฝุ่น PM2.5 ที่เกิดขึ้นในแต่ละปีได้ทันต่อสถานการณ์” รศ. ดร.ปัทมาวดี กล่าว

งานวิจัย ววน.นำร่องแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ในลำปางและสิงห์บุรี

ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์

ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ประธานอนุกรรมการพัฒนาระบบราชการเกี่ยวกับการส่งเสริมการบริหารภาครัฐระบบเปิดและการมีส่วนร่วม สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบข้าราชการ (สำนักงาน ก.พ.ร.) กล่าวว่า ปัญหาฝุ่น PM2.5มีความชัดเจนมากว่าลำพังภาครัฐเพียงหน่วยงานเดียวคงไม่สามารถที่จะแก้ปัญหานี้ให้สำเร็จลุล่วงได้ จึงต้องขอความร่วมมือจากภาคราชการ ภาควิชาการ ภาคเอกชนและภาคประชาชน เข้ามาร่วมแก้ปัญหา โดยเปิดระบบนำข้อมูลต่างๆที่มีมาร่วมวิเคราะห์แก้ปัญหาตอบโจทย์เรื่องฝุ่น เพื่อแก้ปัญหาให้ลุล่วงไปได้     ทั้งนี้ สำนักงาน ก.พ.ร.และหน่วยงานเครือข่ายที่ร่วมกันนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปนำร่องใช้แก้ปัญหาเรื่องฝุ่นในพื้นที่จังหวัดลำปางและสิงห์บุรี ซึ่งทั้ง2 พื้นที่นี้คณะทำงานได้ดึงข้อมูลการทำงานใน 16 ชุดข้อมูลที่เก็บรวบรวมได้เข้ามาสู่ระบบแพลตฟอร์มกลาง เช่น พื้นที่ปลูกอ้อยรายแปลง ที่จังหวัดสิงห์บุรี ทำให้ทราบว่าพื้นที่บริเวณใดเป็นพื้นที่ที่เลิกเผาอ้อยแล้ว หากเกษตรกรเลิกเผาอ้อยแล้วขายอ้อยก็จะได้ในราคาประมาณ 1,000 บาท ปริมาณความหวานของน้ำอ้อยก็จะหวานกว่าอ้อยที่เผา โรงงานรับซื้อก็จะมีความต้องการและนำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น ที่สำคัญอ้อยที่ไม่เผาจะช่วยทำให้สภาพอากาศบริเวณปลูกอ้อยดีกว่าบริเวณที่ทำการเผาอ้อยในช่วงเวลาเก็บเกี่ยว ซึ่งมักจะตรงกับช่วงเวลาปลายปีคาบเกี่ยวต้นปีและเป็นช่วงเวลาเดียวกับการเกิดฝุ่น PM2.5จำนวนมากด้วย

จากผลการติดตามการดำเนินงานระดับพื้นที่ว่าจุดความร้อนในทั้งสองจังหวัดลดลงกว่าร้อยละ 20 เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยใน 5 ปีก่อนหน้า โดยจังหวัดลำปางการเกิดจุดความร้อนลดลงจากปี 2564 จำนวน 3,549 จุด หรือร้อยละ 61 และพื้นที่เกิดไฟไหม้ลดลงร้อยละ 88 ขณะที่จังหวัดสิงห์บุรีปริมาณอ้อยไฟไหม้เข้าหีบในฤดูกาลผลิตลดลงจากปี2564 ร้อยละ 13 สถิติการลอบเผาตอซังข้าวและเศษวัสดุเกษตรอื่น ๆ ลดลงร้อยละ 29

เตรียมขยายผลการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 จากสิงห์บุรีไปเชียงใหม่และขอนแก่น

ปี พ.ศ.2565ที่ผ่านมาจากการรวบรวมข้อมูลพบว่า มีพื้นที่ที่ไม่เผาอ้อยกว่า 80% ส่วนปีพ.ศ.2566 นี้ตั้งเป้าจะทำให้มีพื้นที่ที่ไม่เผาอ้อยให้ได้ประมาณ 85%  อีกปัญหาในพื้นที่สิงห์บุรีซึ่งถือเป็นความท้าทายคืออย่างไรจะให้เกิดโมเดลนาข้าวที่จูงใจเกษตรกรในการไม่เผาเศษที่เหลือจากการทำนาข้าว ให้หันมาทำนาข้าวแบบไม่เผาให้ได้ ซึ่งภาครัฐ ภาคเอกชนต้องลงพื้นที่นำองค์ความรู้ที่มีเข้าไปร่วมถ่ายทอดให้เห็นถึงประโยชน์และผลกระทบในทุกๆช่องทางร่วมกัน และกำลังขยายความท้าทายในการทำงานแก้ไขปัญหาเรื่องฝุ่น PM2.5ที่เกิดในพื้นที่สิงห์บุรีไปสู่พื้นที่เชียงใหม่และขอนแก่นที่มีแนวโน้มค่าฝุ่น PM2.5 เพิ่มสูงขึ้นมากในแต่ละปี ด้วยการสร้างการมีส่วนร่วมเป็นเครือข่ายเพิ่มขึ้นแก้ปัญหาจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่งจะเกิดความสำเร็จที่พื้นที่อื่นๆ   ในอนาคตจะได้นำโมเดลเหล่านี้ไปปรับใช้แก้ปัญหาให้ทั้งประเทศลดวิกฤต PM2.5จากภาคการเกษตรได้

ส่วนภาคการขนส่ง การเดินทางภาครัฐมีแนวนโยบายและกลไกขับเคลื่อนเรื่องการส่งเสริมใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) แล้ว ส่วนภาคโรงงานอุตสาหกรรมคงต้องขอความร่วมมือและเร่งนำองค์ความรู้ งานวิจัยที่เกี่ยวข้องไปปรับใช้ให้เกิดการแก้ปัญหาองค์รวมในทุกๆมิติของแหล่งกำเนิดฝุ่น PM2.5 ให้ลดลง

สำหรับในพื้นที่ลำปางนั้นปัญหาเรื่องฝุ่น PM2.5 ไม่แตกต่างจากพื้นที่สิงห์บุรีนัก แต่จะเพิ่มการศึกษาเรื่องการเผาป่าเพื่อทำการเกษตรเพิ่มเติมหรือเผาป่าเพื่อหาของป่าไปขาย รวมทั้งการเกิดฝุ่นจากการทำเหมืองแร่ประกอบอุตสาหกรรมและโรงงานอื่นๆในพื้นที่ รวมทั้งปริมาณการจราจรการท่องเที่ยวเข้ามาประกอบด้วย ซึ่งการแก้ปัญหาก็สามารถนำงานวิจัย นำนวัตกรรม ผู้เชี่ยวชาญที่มีลงพื้นที่เก็บข้อมูลนำข้อมูลมาวิเคราะห์หาแนวทางแก้ไข อาจจะใช้แพลตฟอร์มสร้างแรงจูงใจในการเปลี่ยนการเผาการทำการเกษตรและการประกอบอุตสาหกรรมที่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่นมาร่วมกับทางภาครัฐในการแก้ปัญหา อาจจะให้รางวัลโรงงานลดฝุ่น นำเศษวัสดุจากภาคการเกษตรมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง สร้างรายได้กลับคืนสู่เกษตรกร เป็นต้น

ความท้าทายของไทยในการแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่มาจากประเทศเพื่อนบ้าน

ดร.บัณฑูร กล่าวถึงความท้าทายในการแก้ปัญหาเรื่องฝุ่นPM2.5 ที่มาจากประเทศเพื่อนบ้านว่า  การแก้ปัญหาคือการพูดคุยหาแนวทางความร่วมมือในการแก้ปัญหาร่วมกันในภูมิภาคเพื่อนบ้านใกล้เคียง เช่น ร่วมกันทำแอปพลิเคชันตรวจจุดความร้อนที่ก่อเกิดฝุ่นPM2.5 มอนิเตอร์แล้วเร่งแก้ปัญหาร่วมกันอย่างใกล้ชิด รวมทั้งนำเครื่องมือทางด้าน ววท. นวัตกรรมทางสังคม เครื่องมือและนวัตกรรมทางกฎหมายที่จะนำผู้ก่อเกิดแหล่งฝุ่น PM2.5มารับโทษตามข้อกฎหมายระหว่างประเทศที่ตกลงร่วมกันระหว่างประเทศไทย หรืออาจจะมีกฎหมายเฉพาะสำหรับเรื่องฝุ่น PM2.5ระหว่างประเทศ ซึ่งจะช่วยแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ให้สามารถคลี่คลายและหมดไปในเร็ววัน

“วันนี้คงไม่ใช่ชี้หน้ากล่าวหากันเพราะประเทศเพื่อนบ้านเขาก็จะชี้หน้ากลับมายังประเทศไทยเราเช่นกัน เพราะประเทศไทยเราก็เป็นแหล่งก่อเกิดปัญหาฝุ่น PM2.5ในภูมิภาคอาเซียนเหมือนกัน” ดร.บัณฑูร กล่าว

สกสว.ชี้ใช้ประโยชน์จากงานวิจัยเต็มศักยภาพลดฝุ่น PM 2.5 เกินค่ามาตรฐานในกรุงเทพฯ ได้ถึง  83.55%

รศ. ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์ ผู้เชี่ยวชาญระดับสูง สกสว. ได้วิเคราะห์ 4 ฉากทัศน์ของการจัดการฝุ่นและมลพิษทางอากาศ โดยใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ประมวลผลจากงานวิจัยกว่า 20,000 ชิ้นงาน พบว่าหากได้ร่วมกันนำผลงานวิจัยมาใช้ประโยชน์อย่างเต็มศักยภาพ จะสามารถลดวันที่ฝุ่น PM 2.5 เกินค่ามาตรฐานในกรุงเทพมหานคร ได้ถึงร้อยละ 83.55 และลดโอกาสการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรได้โดยเฉลี่ยประมาณ 3,748 คนต่อปี

“สกสว. จะร่วมมือกับหน่วยงานในระบบ ววน. ก.พ.ร. และกรมควบคุมมลพิษ ดำเนินการต่อเนื่องในพื้นที่เป้าหมายทั้งสองจังหวัด และขยายผลในจังหวัดเชียงใหม่ซึ่งต้องการใช้ผลงานวิจัยขับเคลื่อนการดำเนินงานในระดับจังหวัด และเตรียมการขยายผลในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คือ จังหวัดขอนแก่น ซึ่งมีแนวโน้มค่าฝุ่นละอองสูงขึ้นจากอุตสาหกรรมน้ำตาลที่ขยายตัวเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ สกสว. ได้เสนอแผนการขับเคลื่อนการนำผลงานและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ เพื่อแก้ปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ในปีงบประมาณ 2567 ด้วย”  รศ. ดร.ปัทมาวดี  กล่าวทิ้งท้าย


Cr ภาพ [1] : พิชิต ปิยโชติ  หัวหน้าสถานีควบคุมไฟป่าแม่ปิง


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เอง โดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save