ช่วงเวลาหลายเดือนที่ผ่านมา เราคงได้รับข่าวหรือการแจ้งเตือนเกี่ยวกับอันตรายจากฝุ่น PM2.5 อยู่ตลอด รวมถึงวิธีการแก้ปัญหาต่าง ๆ จากภาครัฐ ซึ่งยังดูไม่เป็นระบบและรูปธรรมชัดเจน ดังนั้นเราคงต้องมาทำความเข้าใจและรู้ถึงปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างถ่องแท้ เพื่อป้องกันตนเองให้ปลอดภัยจากอันตรายของฝุ่น PM2.5
มาทำความรู้จักฝุ่น PM2.5 ก่อน ว่าสาเหตุมาจากอะไร เริ่มต้นตัวฝุ่น PM2.5 นี้ เลข 2.5 คือขนาดฝุ่นนี้ 2.5 มาจากขนาดที่มีหน่วยเรียกว่า ไมครอน (MICRON) ในหน่วยวัด 1 ไมครอนมีขนาดเท่ากับ มม. (1 มม. หรือ 1 มิลลิเมตร เท่ากับ เซนติเมตร) ดังนั้น 1 ไมครอนที่มีขนาด มิลลิเมตรจึงมีขนาดเล็กมาก มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น นอกจากตัวฝุ่น PM2.5 จะมีการรวมตัวหรือจับตัวมาก ๆ จึงจะมองเห็นเป็นลักษณะหมอกหรือคล้ายควันปกคลุมไปทั่วบริเวณ ด้วยขนาดที่เล็กมากของฝุ่น PM2.5 จึงมีผลและสร้างปัญหาให้กับอวัยวะและระบบของร่างกายได้
สาเหตุการเกิดฝุ่น PM2.5 เกิดจากการเผาไหม้วัตถุในวงกว้าง หรือมีการปล่อยควันจากการเผาไหม้สู่ชั้นบรรยากาศจนเกิดการรวมตัวของกลุ่มควันฝุ่นของ PM2.5 และมิได้สลายไปในเวลาสั้น ฝุ่น PM2.5 นี้จะก่อตัวมาสร้างปัญหากับสุขภาพร่างกายของมนุษย์ได้ การเผาไหม้ที่ก่อให้เกิด PM2.5 ตามเมืองใหญ่ ๆ เช่น กรุงเทพฯ เชียงใหม่ เป็นต้น มีการเผาวัชพืชในพื้นที่เพาะปลูก เช่น ที่นาหลังการเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว ไร่อ้อยหลังการเก็บอ้อยแล้ว ฯลฯ มีการเผาวัชพืชหรือพืชที่เหลือจากการเก็บเกี่ยวส่วนที่มีประโยชน์ไปแล้ว การเผาในบริเวณกว้าง ก่อให้เกิดกลุ่มควันใหญ่ เป็นที่มาของ PM2.5 นอกจากนี้ ในโรงงานอุตสาหกรรมขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ มีการปล่อยควันออกมามากในลักษณะของคาร์บอน ซึ่งมีฝุ่น PM2.5 ร่วมอยู่ด้วย ปัญหาจากการจราจร รถยนต์ รถจักรยานยนต์ การเผาผลาญเชื้อเพลิงรถยนต์และรถจักรยานยนต์ เกิดควันผ่านท่อไอเสียมีส่วนก่อให้เกิดฝุ่น PM2.5 นอกจากนี้ การจุดไฟเผาขยะ การทำอาหาร การสูบบุหรี่ ล้วนมีส่วนก่อให้เกิดฝุ่น PM2.5 ทั้งสิ้น
เมื่อฝุ่น PM2.5 รวมตัวกันหนาแน่นขึ้น มีผลกระทบกับสุขภาพของมนุษย์ 2 ระบบหลัก ๆ ดังนี้
1.) ระบบทางเดินหายใจ สิ่งมีชีวิตไม่ว่า สัตว์หรือมนุษย์ต้องหายใจเอาอากาศออกซิเจนเข้าและคลายอากาศคาร์บอนไดออกไซด์ออก ฝุ่น PM2.5 จึงมีผลต่อระบบทางเดินหายใจ ตั้งแต่โพรงจมูก เนื้อเยื่อในโพรงจมูก รวมถึงโพรงไซนัส ผ่านมาที่คอหอย เนื้อเยื่อลำคอ ทอนซิล หลอดลม ขั้วปอด เยื่อหุ้มปอด เนื้อปอด รวมถึงหลอดเลือดหัวใจ ย่อมมีกระทบต่อคุณภาพชีวิต ที่พบบ่อยคือการแพ้อากาศ ก่อให้เกิดการจาม น้ำมูกไหล เจ็บคอ ไอ มีไข้ อ่อนเพลีย หายใจไม่สะดวก อึดอัด คัดจมูก เหนื่อยหอบ มีการติดเชื้อทางเดินหายใจ ก่อให้เกิดภาวะการอักเสบทางเดินหายใจดังกล่าว ทำให้ผู้ป่วยต้องพบแพทย์เพื่อรักษาตามอาการที่เกิดขึ้น ตามความรุนแรงของโรค
2.) ระบบผิวหนัง ผิวหนังเป็นส่วนที่ต้องสัมผัสกับฝุ่น PM2.5 ไม่ว่าจะเป็นใบหน้า ลำคอ ใบหู โพรงจมูก แขน-ขา ลำตัวทั้งด้านหน้าและด้านหลัง PM2.5 ก่อให้เกิดอาการแพ้ของผิวหนัง มีอาการคันและผื่นขึ้นตามผิวหนัง เกิดจาการอักเสบของรูขุมขน เป็นมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับความรุนแรง มีอาการคันและเกิดแผลถลอก มีการติดเชื้อก่อให้เกิดการอักเสบ เป็นแผลเรื้อรังได้
เมื่อมีปัญหากับสุขภาพร่างกาย คงต้องพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและการรักษาที่ถูกต้องต่อไป
การป้องกัน วิธีที่ดีที่สุดเพื่อแก้ปัญหาโดยตรงและอย่างเป็นผล ต้องแก้ไขด้วยการป้องกันหรือระงับการเผาไหม้และการก่อให้เกิดควันพิษจากสาเหตุต่าง ๆ ดังได้กล่าวแล้วข้างต้น และขจัดฝุ่น PM2.5 อย่างได้ผลต้องรดน้ำ สาดน้ำ หรือทำฝนเทียม เพื่อให้น้ำช่วยขจัดปริมาณฝุ่น PM2.5 ให้ลดน้อยลง
สรุปง่าย ๆ คือ ลดการเผาไหม้ทุกกรณีให้น้อยลงและใช้น้ำเป็นตัวช่วยการรดน้ำบริเวณที่มีฝุ่น PM2.5 ให้ผลการขจัดฝุ่นได้เป็นอย่างดี รวมถึงการป้องกันตนเองด้วยการใส่หน้ากากอนามัย การล้างมือ การอาบน้ำชำระฝุ่น หลีกเลี่ยงบริเวณที่มีชุมชนแออัด ดื่มน้ำ รับอาหารดี รับอากาศบริสุทธิ์ พักผ่อนและออกกำลังกายให้ร่างกายแข็งแรง มีผลลดความเสี่ยงต่อโรคจากฝุ่น PM2.5 ได้