การปลูกข้าวถือหนึ่งในเป็นอาชีพหลักของเกษตรกรไทย โดยครอบคลุมพื้นที่เกษตรกรรมกว่าครึ่งหนึ่งของประเทศ และมีเกษตรกรรายย่อยประมาณ 18 ล้านคนที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมข้าว อย่างไรก็ตาม เกษตรกรผู้ปลูกข้าวกลับมีรายได้น้อยและเป็นกลุ่มอาชีพที่มีความเปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างมาก
นอกจากนี้ กระบวนการผลิตข้าวยังเป็นหนึ่งในแหล่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่สำคัญ โดยเฉพาะก๊าซมีเทนจากนาข้าวที่มีน้ำขัง ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการเผาฟางและตอซัง และก๊าซไนตรัสออกไซด์จากการใช้ปุ๋ยไนโตรเจน ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและเป็นปัจจัยท้าทายในการพัฒนาเกษตรกรรมที่ยั่งยืน
กองทุนภูมิอากาศสีเขียว กระทรวงเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนาแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMZ) จึงผนึกกำลัง กรมการข้าวและกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม (สผ.) พร้อมด้วย ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) สถาบันวิจัยข้าวระหว่างประเทศ และองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศเยอรมัน (GIZ) เปิดตัวโครงการเพิ่มศักยภาพการปลูกข้าวที่เท่าทันต่อภูมิอากาศ (Thai Rice: Strengthening Climate-Smart Rice Farming Project) เพื่อเดินหน้าปฏิรูปภาคการปลูกข้าวด้วยเงินทุนสนับสนุนรวม 4.181 พันล้านบาท ในการส่งเสริมศักยภาพเกษตรไทย 253,400 ราย ใน 21 จังหวัดของประเทศไทย สามารถนำรูปแบบการปลูกข้าวที่เท่าทันต่อภูมิอากาศมาปรับใช้ พร้อมตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 2.44 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าภายในปี พ.ศ. 2571
นอกจากจะลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว โครงการนี้ยังปลดล็อกแหล่งรายได้เพิ่มเติมและพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับเกษตรกร เพิ่มผลผลิตทางการเกษตร และส่งเสริมความเข้มแข็งของระบบนิเวศการตลาดในภาคการปลูกข้าว พร้อมสนับสนุนนโยบายด้วนเครื่องมือทางเทคนิค การติดตามผลและการประสานงานการลงทุนจากภาครัฐและเอกชน เพื่อให้ได้สภาพแวดล้อมเชิงสถาบันและนโยบายที่เชื่อมโยงกันมากขึ้น
ดร.นานา คึนเคล ผู้อำนวยการและผู้ประสานงานกลุ่มเกษตรและความปลอดภัยด้านอาหาร ผู้อำนวยโครงการฯ องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) เปิดเผยว่า ปัจจุบันเกษตรกรไทยกำลังเผชิญกับปัญหาที่ท้าทายจากปัจจัยทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม ซึ่งต้องรับมือจากแรงกดดันจากราคาผลผลิตที่ตกต่ำ ต้นทุนการเพาะปลูกที่สูงขึ้น และผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวน ไม่ว่าจะเป็นภัยแล้งและน้ำท่วมที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งที่นับวันยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น หรือปัญหาอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบผลผลิตข้าว โครงการนี้จึงเป็นเสมือนเส้นทางช่วยเหลือเกษตรกรไทย โดยได้รับเงินสนับสนุนจากกระทรวงเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนาแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ผ่านโครงการ develoPPP ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน
เป้าหมายหลักของโครงการคือการเปลี่ยนแปลงวิถีการเกษตรโดยนำเทคโนโลยีอัจฉริยะด้านสภาพภูมิอากาศมาใช้ และเสริมสร้างความสามารถในการรับมือกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงให้กับเกษตรกร โดยจะครอบคลุมพื้นที่ปลูกข้าวที่สำคัญในประเทศไทย 21 จังหวัดในภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และให้การสนับสนุนเกษตรกรอย่างเป็นระบบผ่าน 3 แนวทางหลัก ได้แก่ การให้ความรู้และคำแนะนำด้านเกษตร การเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่เหมาะสม และการสร้างสภาพแวดล้อมด้านนโยบายและตลาดที่เอื้อต่อเกษตรกร เพื่อช่วยให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงทักษะที่จำเป็น ผ่านตัวชี้วัดความสำเร็จของโครงการที่มุ่งเน้นการพัฒนาอย่างยั่งยืนและเพิ่มประสิทธิภาพให้ภาคเกษตรกรรมของไทย โดยตั้งเป้าหมายให้รายได้ต่อปีของเกษตรกรเพิ่มขึ้น 10% อีกทั้งยังมุ่งเน้นการเสริมสร้างศักยภาพของผู้หญิงในภาคเกษตร ผ่านการจัดทำดัชนีความก้าวหน้าในการเสริมสร้างบทบาทของผู้หญิง เพื่อให้สามารถติดตามผลลัพธ์ได้อย่างเป็นรูปธรรม
นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับการลดการใช้ปุ๋ย สารเคมีทางการเกษตร และยาฆ่าแมลงลง 20% ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศรวมถึงการลดมลพิษทางอากาศจากการเผาตอซังข้าวและฟางข้าว และเป้าหมายที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 2.4 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า พร้อมช่วยให้เกษตรกรกว่า 250,000 รายสามารถนำเทคโนโลยีและแนวทางเกษตรอัจฉริยะมาใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและความสามารถในการปรับตัวต่อสภาพภูมิอากาศ โดยเป็นการผสมผสานระหว่างเทคโนโลยีที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าสามารถนำไปใช้ได้จริง และนวัตกรรมใหม่ที่ช่วยเพิ่มรายได้และเสริมสร้างความยืดหยุ่นให้แก่เกษตรกร ได้แก่ ระบบการทำนาแบบเปียกสลับแห้ง ซึ่งช่วยลดการใช้น้ำและการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการบริหารจัดการฟางข้าวและตอซังอย่างยั่งยืน เพื่อลดการเผาในพื้นที่เกษตรกรรมและนำวัสดุเหลือใช้ไปใช้ประโยชน์ในด้านอื่นๆ อย่างคุ้มค่า
“เกษตรกรไม่ได้เป็นเพียงผู้เพาะปลูกข้าวเท่านั้น แต่ยังเป็นผู้สร้างความเข้มแข็ง ความยั่งยืน และอนาคตของภาคเกษตรกรรมข้าวไทย และเป็นผู้พิทักษ์ความมั่นคงทางอาหาร ผู้ดูแลทรัพยากรธรรมชาติ และผู้ขับเคลื่อนความเจริญรุ่งเรืองของชนบทไทย จึงอยากให้เกษตรไทยทุกคนภาคภูมิใจในตนเอง และอยากให้ประเทศไทยพิสูจน์ให้เห็นว่าความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจและการดูแลสิ่งแวดล้อมสามารถเดินไปพร้อมกันได้” ดร.นานา กล่าว
อานนท์ นนทรีย์ รองอธิบดีกรมการข้าว กล่าวถึงวิสัยทัศน์ระดับประเทศเกี่ยวกับแนวคิด “Rice is More” ว่า ประเทศไทยมีพื้นที่ทำการเกษตรกว่า 140 กว่าล้านไร่ โดยเป็นพื้นที่ปลูกข้าวทั้งนาปีและนาปรังกว่า 60-70 ล้านไร่ ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับเกษตรกรและชาวนาไม่ต่ำกว่า 18-20 ล้านคน หากรวมถึงผู้ที่อยู่ในภาคการผลิตและภาคการบริหารทั้งหมด ข้าวจึงเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีความสำคัญต่อประชาชนจำนวนมาก รัฐบาล โดยเฉพาะกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมข้าวในทุกมิติ ทั้งผลกระทบทางตรงและทางอ้อม และผลดีและผลเสียที่เกิดขึ้น
ทั้งนี้ กรมการข้าวในฐานะที่เป็นหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบเรื่องการปลูกข้าวทั้งหมด ทั้งในด้านการผลิตเมล็ดพันธุ์คุณภาพดี และงานวิจัยเพื่อพัฒนาข้าวในทุกมิติ โดยทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมชลประทาน ที่ดูแลเรื่องน้ำ กรมพัฒนาที่ดิน ที่ดูแลด้านดิน ปุ๋ย และการบำรุงดิน กรมส่งเสริมการเกษตรที่ให้ความรู้และส่งเสริมการทำเกษตรที่ถูกต้องและยั่งยืน และกรมส่งเสริมสหกรณ์ที่ช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับกลุ่มสหกรณ์ข้าวทั่วประเทศ
อึกทั้งยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาเมล็ดพันธุ์ข้าวที่มีอายุสั้น เพื่อลดการใช้น้ำ ปุ๋ย และแรงงาน รวมถึงเพิ่มศักยภาพการผลิตให้สูงขึ้น แม้ว่าการพัฒนาเมล็ดพันธุ์ใหม่ๆ จะใช้เวลาประมาณ 8-10 ปี แต่ปัจจุบันกรมการข้าวได้พัฒนาเครื่องมือใหม่ที่ช่วยลดระยะเวลาการวิจัยให้เหลือ 5 ปี หรืออาจสั้นลงเหลือ 3 ปี นอกจากนี้ ยังมุ่งเน้นการคาดการณ์สภาพอากาศล่วงหน้า เพื่อแนะนำให้เกษตรกรเลือกใช้เมล็ดพันธุ์ที่เหมาะสมต่อสภาพแวดล้อม เช่น พันธุ์ที่ทนต่อภัยแล้ง น้ำท่วม หรือโรคและแมลง
อานนท์ กล่าวว่าในแต่ละปี กรมการข้าวจะวิเคราะห์ข้อมูลและแนะนำเกษตรกรว่า ปีหน้าควรปลูกข้าวพันธุ์อะไร โดยใช้เครือข่าย ศูนย์ข้าวชุมชนกว่า 5,000 แห่ง ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ และมีแผนขยายไปยัง 60 กว่าจังหวัด ที่เป็นพื้นที่ปลูกข้าวหลักของไทย เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนการพัฒนาข้าวได้อย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ
ในส่วนของดิน กรมการข้าวได้ทำงานร่วมกับกรมพัฒนาที่ดินเพื่อส่งเสริมการใช้ปุ๋ยอย่างถูกต้องและลดการพึ่งพาปุ๋ยเคมี ซึ่งปัจจุบันเกษตรกรยังขาดความรู้ โครงการนี้จึงเน้นรณรงค์ให้เกษตรเข้าใจหลักการใช้ปุ๋ยที่เหมาะสมผ่านการวิเคราะห์ค่าดิน เพื่อลดการปล่อยก๊าซไนตรัสออกไซด์ รวมถึงยังทำงานร่วมกับกรมชลประทานในการขับเคลื่อนการปลูกข้าวที่เหมาะสมกับทรัพยากรน้ำ เน้นการจัดการระบบชลประทานให้มีประสิทธิภาพ เพื่อให้เกษตรกรสามารถใช้น้ำในปริมาณที่เหมาะสมและลดการสิ้นเปลืองน้ำโดยไม่จำเป็น
นอกจากนี้ โครงการยังมุ่งเน้นการพัฒนาบุคลากรผ่านเครือข่ายศูนย์ข้าวชุมชนกว่า 5,000 แห่ง โดยเฉพาะการพัฒนา Smart Farmer ที่จะเป็นกลุ่มนำร่องในการทำเกษตรที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืน
รองอธิบดีกรมการข้าว กล่าวอีกว่า โครงการยังทำงานร่วมกับภาคการเงิน เช่น ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อให้เกษตรกรเข้าถึงสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ และสนับสนุนแนวทางการปลูกข้าวแบบใหม่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ลดการใช้สารเคมีและปุ๋ยเคมี หันมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์ควบคู่ไปกับระบบการปลูกแบบเปียกสลับแห้ง ภายใต้โครงการ BCG Model ซึ่งครอบคลุมสินเชื่อเพื่อเศรษฐกิจชีวภาพ สินเชื่อเพื่อเศรษฐกิจหมุนเวียน และสินเชื่อสีเขียว รวมถึงการขยายความร่วมมือไปยังภาคส่วนระหว่างประเทศ ผ่านการวิจัยและถ่ายทอดองค์ความรู้ซึ่งกันและกัน เพื่อกระตุ้นอุตสาหกรรมข้าวของไทยให้เติบโต โดยเปิดโอกาสให้ตลาดที่ให้ความสำคัญกับข้าวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเข้ามาเชื่อมโยงกับเกษตรกรโดยตรง เช่น ประเทศญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ เพื่อสนับสนุนการผลิตข้าวที่ยั่งยืนโดยตรง และให้เกษตรกรมั่นใจว่าหากเข้าร่วมโครงการจะสามารถเพิ่มรายได้อย่างแน่นอน
“ข้าวต้องเป็นมากกว่าที่เคย ข้าวไทยต้องไปได้ไกลกว่าที่เคยไป เกษตรกรต้องเข้มแข็งมากกว่าที่เคยเป็น และโลกของเราทั้งหมดก็จะยั่งยืน ด้วยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพื่อตอบโจทย์อนาคตของการเกษตรที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ การเปลี่ยนแปลงได้เริ่มขึ้นแล้ว และจะทวีความรุนแรงมากขึ้น เราต้องขับเคลื่อนและกำหนดนโยบายที่สามารถจูงใจให้เกษตรกรเดินไปข้างหน้าพร้อมกับเรา” รองอธิบดีกรมการข้าว กล่าว
เสาวนีย์ โพธิ์รัง เกษตรกรและผู้นำชุมชน อำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี กล่าวว่า ตลอดระยะเวลากว่า 23 ปีที่ปลูกข้าว รู้สึกสนุกกับอาชีพนี้ และมองว่าการปรับตัวคือปัจจัยสำคัญที่ช่วยเพิ่มกำไรให้เกษตรกร ซึ่งการเปลี่ยนแปลงไม่ได้เกิดขึ้นทันที แต่ต้องอาศัยการศึกษาแนวทางการปลูกข้าวแบบใหม่และการทำความเข้าใจตลาดให้มากขึ้น ปีที่ผ่านมา พื้นที่เดิมบางนางบวชประสบปัญหาภัยแล้งอย่างหนัก เนื่องจากเป็นพื้นที่ดอนและอยู่นอกเขตชลประทาน ซึ่งเกษตรกรกว่า 134 รายที่เป็นสมาชิกในกลุ่ม มีพื้นที่รวม 5,217 ไร่ จำเป็นต้องบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ โดยหันมาศึกษาข้อมูลด้านสภาพอากาศ เลือกใช้พันธุ์ข้าวที่เหมาะสม เนื่องจากก่อนหน้านี้เกษตรในพื้นที่ไม่เคยตระหนักว่าการทำนาจะส่งผลกระทบต่อภาวะโลกร้อน จนกระทั่งได้เข้าร่วมโครงการส่งเสริมการทำนาลดโลกร้อน เราจึงเริ่มรวมกลุ่มเป็น “ชาวนารักโลก” และปรับเปลี่ยนวิถีการทำนาแบบเดิม โดยลดการเผาฟางข้าวซึ่งเป็นสาเหตุของฝุ่น PM2.5 และการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
“หากไม่มีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่ให้ความรู้และคำแนะนำแก่เกษตรกรตั้งแต่กระบวนการเพาะปลูกจนถึงการเก็บเกี่ยว เกษตรกรก็จะไม่ได้กำไรที่เพิ่มขึ้นเหมือนทุกวันนี้ เราจึงเริ่มศึกษาพันธุ์ข้าวและตลาดอย่างจริงจัง พร้อมเปลี่ยนแนวทางการทำนาสู่การทำนาลดโลกร้อน ด้วยการปรับหน้าดินให้เรียบ เพื่อลดต้นทุนการสูบน้ำ การใช้ระบบเปียกสลับแห้ง เพื่อลดการใช้น้ำและเชื้อเพลิง ตลอดจนการฝังกลบข้าวแทนการเผา ซึ่งช่วยลดมลพิษและสร้างปุ๋ยธรรมชาติให้กับแปลงนา” เสาวนีย์ กล่าว