นายกสมาคมวิศวกรรมความปลอดภัยฯ ชี้ดีมานด์อุตฯ PPE ในโลกเติบโตสูง ไทยขึ้นแท่นผู้นำตลาดในภูมิภาค กวาดส่วนแบ่ง 21% ชี้ตลาด PPE ไทย อนาคตสดใส พร้อมเป็น ตลาดที่มีศักยภาพเกิดใหม่ (Emerging Market) เตรียมจัด “CIOSH Thailand 2024” ดึงเมกะแฟร์ PPE ของจีนครั้งแรกในไทย
กรุงเทพฯ 23 เมษายน 2567 – สมาคมวิศวกรรมความปลอดภัยแห่งประเทศไทย ชี้ตลาด PPE ไทยเติบโตขึ้นแท่นเป็นตลาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาค กวาดส่วนแบ่ง 21% มีศักยภาพพร้อมเป็นตลาดที่มีศักยภาพเกิดใหม่ (Emerging Markets) พร้อมรองรับดีมานด์โลก เตรียมร่วมงานแสดงสินค้าและเทคโนโลยีนานาชาติสำหรับอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล หรือ CIOSH Thailand 2024 ครั้งแรกในไทย จัดโดย China Textile Commerce Association, Messe Düsseldorf (Shanghai) Co., Ltd. และ Messe Düsseldorf Asia Pte Ltd. พร้อมเปิดคลีนิกให้คำปรึกษาด้านความปลอดภัย (Safety Clinic) ให้คำปรึกษาโซลูชันด้านความปลอดภัยครบวงจร ผู้สนใจสามารถเข้าร่วมงานได้ในวันที่ 5-7 มิถุนายน 2567 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค กรุงเทพฯ
ดร.วิฑูรย์ สิมะโชคดี นายกสมาคมวิศวกรรมความปลอดภัย และอดีตปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล หรือ PPE (Personal Protective Equipment) เป็นอุปกรณ์สำหรับสวมใส่เพื่อป้องกันการบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยจากสถานที่ทำงาน ที่เป็นอันตรายต่อร่างกายและสุขอนามัย (Safety & Health) เช่น ไฟไหม้ น้ำร้อนลวก ตกจากที่สูง PM2.5 โรคติดต่อ เสียงดัง ซึ่งปัจจุบันเป็นตลาดที่น่าจับตามาก โดยในปี 2566 ที่ผ่านมามีมูลค่าสูงถึง 83.91 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในตลาดโลกและมีการคาดการณ์ว่าจะเติบโตจาก 87.69 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2567 ไปจนถึง 128.57 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2575 ซึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยหลักๆ เช่น การเพิ่มขึ้นของอุบัติเหตุร้ายแรงและความเสี่ยงในที่ทำงาน การตระหนักถึงความสำคัญของความปลอดภัยและสุขอนามัยและปฏิบัติตามข้อบังคับและมาตรฐานความปลอดภัยอย่างเคร่งครัดรวมถึงการขยายตัวอย่างรวดเร็วของอุตสาหกรรมก่อสร้างซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่มีผู้เสียชีวิตขณะปฏิบัติหน้าที่สูงที่สุดกว่า 1,000 คนต่อปี สูงที่สุดในอุตสาหกรรมทั้งหมด
ในขณะที่ตลาด PPE ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็มีการขยายตัวอย่างรวดเร็วโดยมีมูลค่า 4.43พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2566 และคาดว่าจะมีมูลค่าสูงถึง 8.12 พันล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี พ.ศ. 2573 ซึ่งปัจจุบันตลาด PPE ของประเทศไทยมีขนาดใหญ่สุดในภูมิภาค คิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 21% ของตลาดรวมในปี พ.ศ. 2565 และคาดว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก (1) การขยายตัวของอุตสาหกรรมหลัก เช่น น้ำมันและก๊าซ การกลั่นน้ำมัน การผลิตโลหะ และยานยนต์ ซึ่งจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ป้องกันเพื่อความปลอดภัยในการทำงาน (2) ภาคอุตสาหกรรมและภาคสาธารณสุขไทยตระหนักถึงความสำคัญของการเสริมสร้างความปลอดภัยในการทำงานให้คนงาน/บุคลากร (3) คนงานตระหนักถึงเรื่องความปลอดภัยและสุขอนามัย (4) สถิติการเกิดอุบัติเหตุขณะปฏิบัติหน้าที่ยังเพิ่มสูง (5) กระแสการใส่ใจสุขอนามัยยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง (6) อัตราการเจ็บป่วยเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะโรคที่มีสาเหตุมาจาก PM2.5 (7) กฎหมายและมาตรฐานด้านความปลอดภัยที่เข้มงวดของภาครัฐ ทำให้จีนเล็งเห็นศักยภาพและเลือกไทยเป็นเป้าหมายแรกในการขยายธุรกิจในต่างประเทศของ CIOSH และจัดงาน CIOSH Thailand 2024 เป็นครั้งแรกในประเทศไทย
ดร. วิฑูรย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การสร้างความปลอดภัยในที่ทำงานต้องทำครบทั้งกระบวนการตามหลัก 3E 1. Engineering การออกแบบให้การทำงานมีความปลอดภัย 2. Education การอบรม ให้ความรู้เรื่องการป้องกันอันตรายและเพิ่มความปลอดภัยให้แก่คนงานและบุคลากรที่เกี่ยวข้อง 3. Enforcement การออกกฎข้อบังคับ ช่วยกำกับดูแลมาตรฐานความปลอดภัยต่างๆ ซึ่งหากทำครบทั้งกระบวนการแล้ว แต่ยังเกิดอุบัติเหตุ อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลจะเป็นด่านสุดท้ายที่ช่วยป้องกันอันตรายและช่วยลดความสูญเสียได้ ผู้ประกอบการจึงควรหันมาให้ความสำคัญมากๆ และน่ายินดีที่ปีนี้จะมีการจัด China International Occupational Safety & Health Goods Expo หรือ CIOSH เป็นครั้งแรกในประเทศไทย ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องให้ความสนใจและเห็นความสำคัญและช่วยยกระดับตลาดอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ดร. วิฑูรย์ เล่าถึงความเป็นมาของ “CIOSH” ว่าเป็นเวทีการค้าชั้นนำระดับโลกที่จัดหาอุปกรณ์นิรภัยเพื่อสุขอนามัยและความปลอดภัยในการทำงานให้กับภาคการผลิตมาอย่างต่อเนื่องยาวนานตั้งแต่ปี 2509จัดโดยสมาคมการค้าสิ่งทอประเทศจีน (CTCA) ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไร ภายใต้การสนับสนุนของรัฐบาลจีน จัดมาแล้วกว่าร้อยครั้งและประสบความสำเร็จอย่างสูง โดยในปี 2567 นี้ ประเทศไทยได้รับคัดเลือกให้เป็นเจ้าภาพจัดงาน CIOSH Thailand 2024 เป็นครั้งแรก และจะจัดอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี เพื่อให้เป็นเวทีกลางในการจัดแสดงอุปกรณ์นิรภัยเพื่อสุขอนามัยและความปลอดภัยในการทำงานและเทคโนโลยีความปลอดภัยขั้นสูงในสถานที่ทำงานแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเปิดโอกาสให้ผู้ผลิตผู้จัดจำหน่าย และผู้สนใจในเทคโนโลยี นวัตกรรม และสินค้าด้านอุปกรณ์นิรภัยเพื่อสุขอนามัยและความปลอดภัยในการทำงานได้มีโอกาสเจรจาแลกเปลี่ยนทางการค้าและธุรกิจ โดยภายในงานจะจัดแสดงอุปกรณ์ที่ครอบคลุมความปลอดภัยในการทำงานตั้งแต่ศีรษะจรดปลายเท้า แบ่งเป็น 6 หมวดหมู่หลัก ได้แก่ 1) อุปกรณ์ปกป้องศีรษะ ตา หู และใบหน้า 2) อุปกรณ์ปกป้องศีรษะ ตา หู และใบหน้า 3) อุปกรณ์ปกป้องมือและแขน 4) รองเท้านิรภัยและอุปกรณ์ปกป้องขา 5) ชุดป้องกัน ชุดทำงาน ผ้าที่มีคุณสมบัติพิเศษ 6) อุปกรณ์ป้องกันการตกจากที่สูง อุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยในการทำงานบนที่สูง
“ตลาด PPE ไทยกำลังมีอนาคต มีศักยภาพที่จะเป็น Emerging Market ได้ เพียงแต่ผู้ประกอบการยังไม่ค่อยให้ความสำคัญหรือทุ่มงบประมาณเท่าเรื่องสิ่งแวดล้อม ทั้งที่ถ้าเทียบกันแล้ว ถ้าเกิดอุบัติเหตุอาจทำให้เสียชีวิตได้ทันทีแต่สิ่งแวดล้อมจะแค่ตายผ่อนส่ง ซึ่งความรุนแรงมันต่างกันมาก จึงอยากให้หน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้ประกอบการ รวมถึงคนงานเองหันมาให้ความสำคัญกับเรื่องการป้องกันอันตรายส่วนบุคคลมากๆ เพราะนอกจากจะช่วยลดการบาดเจ็บรุนแรง ลดความสูญเสีย ซึ่งเป็นประโยชน์โดยตรงแล้ว ยังช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นในการทำงาน เพิ่มประสิทธิภาพ เพิ่มผลิตภาพ ซึ่งจะสามารถเปลี่ยนเป็นกำไรที่เพิ่มขึ้นได้ในที่สุด”
ดร. วิฑูรย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ภายในงานจะมีกิจกรรมไฮไลต์ที่พลาดไม่ได้อย่างคลีนิกให้คำปรึกษาด้านความปลอดภัย (Safety Clinic) ซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญมาให้ความรู้ คำปรึกษา คำแนะนำ รวมถึงตอบคำถามเกี่ยวกับการป้องกันอุบัติเหตุ การสร้างเสริมความปลอดภัย และอุปกรณ์ป้องกันอันตรายอย่างครบวงจร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้คำปรึกษาในการเลือกใช้อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลตามความจำเป็นและเหมาะสม เพราะปัจจุบันทั้งผู้ประกอบการและคนงานยังมีความรู้ด้านนี้น้อยมาก ทำให้เลือกใช้อุปกรณ์ไม่เหมาะสมกับความจำเป็นในการใช้งานและต้องจ่ายแพงกว่าที่ควรจะเป็น
สำหรับงาน CIOSH Thailand 2024 ในครั้งนี้ คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมจัดแสดงสินค้ามากกว่า 280 ราย จาก 12 ประเทศ และจะมีผู้เข้าเยี่ยมชมงานประมาณ 5,000 – 6,000 ราย โดยเป็นตัวแทนจากหน่วยงานภาครัฐ เช่น กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงแรงงาน กระทรวงสาธารณสุข ภาคเอกชน ผู้ประกอบการ กลุ่มผู้จัดซื้อผู้ประกอบวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง ผู้ซื้อ ผู้ค้า ผู้จัดจำหน่าย ตัวแทน ผู้ซื้อแบบจ้างผลิต (OEM) ซึ่งงานในครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญของการเปิดตลาดอุตสาหกรรมอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลในประเทศไทยและชี้ให้เห็นถึงศักยภาพและความพร้อมของภาคอุตสาหกรรมไทยที่สามารถแข่งขันได้ในเวทีโลก ดร.วิฑูรย์ กล่าวปิดท้าย
สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับงาน CIOSH Thailand 2024 สามารถเข้าชมได้ที่ https://www.ciosh-thailand.com/