บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) แถลงแผนการดำเนินธุรกิจในปี พ.ศ.2566 เดินหน้าธุรกิจสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยจะเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้าใหม่อีกปีละไม่น้อยกว่า 700 เมกะวัตต์ ส่วนการลงทุนธุรกิจจะเน้นในกลุ่มประเทศออสเตรเลีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ เป็นหลัก ทั้งโรงไฟฟ้ากรีนฟิลด์และแบบซื้อกิจการ ส่วนการดำเนินธุรกิจในปี พ.ศ. 2567 บริษัทฯ เตรียมงบลงทุนไว้ที่ 15,000 ล้านบาท เพื่อใช้ในโครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนาก่อสร้างประมาณ 8,000 ล้านบาท และที่เหลือประมาณ 7,000-8,000 ล้านบาท จะใช้ในการ M&A เน้นโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน
ชูศรี เกียรติขจรกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การดำเนินธุรกิจในปี พ.ศ.2566 บริษัทฯ ยังคงเดินหน้าแผนการลงทุนธุรกิจโดยจะเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้าใหม่อีกปีละไม่น้อยกว่า 700 เมกะวัตต์โดยเฉพาะโครงการโรงไฟฟ้าในประเทศออสเตรเลีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ อย่างต่อเนื่อง โดยศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการโรงไฟฟ้าใหม่และพัฒนาโครงการที่มีอยู่ในพอร์ตการลงทุน ซึ่งดำเนินการแล้วกว่า 10 โครงการ นอกจากนี้ ยังเน้นการบริหารโครงการโรงไฟฟ้าที่กำลังก่อสร้างให้แล้วเสร็จและเดินเครื่องได้ทันกำหนดเวลาตามที่สัญญาระบุไว้ โดยมีกำลังผลิตตามสัดส่วนลงทุนรวม 2,918.23 เมกะวัตต์ ซึ่งจะทยอยรับรู้รายได้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2567 – 2576 ทั้งนี้ผลประกอบการของบริษัทฯใน 9 เดือนแรกของปี พ.ศ.2566 ที่ผ่านมา บริษัทฯมีรายได้รวม 40,781 ล้านบาท แยกเป็นในกลุ่มธุรกิจผลิตไฟฟ้า 39,196 ล้านบาท คิดเป็น 96% และกลุ่มกิจการสาธารณูปโภคและอื่นๆ 1,585 ล้านบาท คิดเป็น 4%
ในปี พ.ศ. 2567 บริษัทฯ จะมีกำลังการผลิตเชิงพาณิชย์เพิ่มขึ้นอีก 459 เมกะวัตต์ เช่น จากโครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมหินกอง ชุดที่ 1 กำลังผลิตตามสัดส่วนลงทุน 392.70 เมกะวัตต์ มีกำหนดเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2567 โดยปัจจุบัน ได้ดำเนินการจัดหาเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติเหลว ผ่านทางบริษัท หินกองเพาเวอร์โฮลดิ้ง จำกัด ซึ่งได้ลงนามสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติเหลว ระยะเวลา 3 ปี กับบริษัท Gunvor Singapore Pte. Ltd. โดยจะมีการส่งมอบในปริมาณปีละ 0.5 ล้านตัน และการส่งมอบครั้งแรกจะดำเนินการในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2567 โครงการโรงไฟฟ้าอาร์อีเอ็น กำลังผลิตติดตั้ง 31.2 เมกะวัตต์ ปัจจุบันมีความก้าวหน้าในการก่อสร้างแล้ว 83.08% และจะดำเนินการเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ได้ในเดือนมกราคม พ.ศ.2567 และโครงการโรงผลิตไฟฟ้านวนครส่วนขยายระยะที่ 3 กำลังการผลิตติดตั้ง 30 เมกะวัตต์และไอน้ำ 8.5 ตันต่อชั่วโมง มีกำหนดการเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ในเดือนธันวาคม พ.ศ.2567 เป็นต้น
ชูศรี กล่าวว่าในส่วนการดำเนินธุรกิจในปี พ.ศ. 2567 บริษัทฯ เตรียมงบลงทุนไว้ที่ 15,000 ล้านบาท เพื่อใช้ในโครงการในมือที่อยู่ระหว่างการพัฒนาก่อสร้างประมาณ 8,000 ล้านบาท และที่เหลือประมาณ 7,000-8,000 ล้านบาท จะใช้ในการ M&A เน้นโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน
สำหรับการดำเนินธุรกิจในต่างประเทศที่บริษัทฯให้ความสำคัญ ประกอบด้วย 1.ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งถือเป็นฐานธุรกิจด้านพลังงานทดแทนที่สำคัญ บริษัทฯมีบริษัท ราช-ออสเตรเลีย คอร์ปอเรชั่น จำกัด เป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนการพัฒนาและลงทุน บริษัทฯ เล็งเห็นศักยภาพและโอกาสที่จะขยายการลงทุนด้านพลังงานทดแทนและการพัฒนาธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการเสริมความเชื่อถือและความมั่นคงของระบบไฟฟ้าในช่วงที่ออสเตรเลียกำลังจะเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานไปสู่เป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี พ.ศ.2593 บริษัทฯ ศึกษาเพื่อพัฒนาโครงการที่จะสนับสนุนยุทธศาสตร์ด้านพลังงานสะอาดและความมั่นคงระบบไฟฟ้าของออสเตรเลีย ซึ่งถือเป็นธุรกิจใหม่ที่มีศักยภาพมาก โดยมีแนวคิดยกระดับสินทรัพย์โรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติเพื่อให้บริการผลิตไฟฟ้าเสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้า ซึ่งอยู่ระหว่างการเจรจาและคาดว่าจะได้ข้อสรุปในเร็วๆ นี้
นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ 152 เมกะวัตต์ ร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน 81 เมกะวัตต์ ในรัฐนิวส์เซาท์เวลส์ ศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาโครงการพลังงานลมขนาดใหญ่ ประมาณ 120 เมกะวัตต์ ในรัฐควีนส์แลนด์ ตลอดจนการพัฒนาระบบกักเก็บพลังงานขนาด 100 เมกะวัตต์ เพื่อกักเก็บพลังงานไฟฟ้าจากแหล่งผลิตพลังงานทดแทนและจำหน่ายผ่านระบบสายส่ง 2.การลงทุนในประเทศเวียดนาม บริษัทฯ ได้ศึกษาศักยภาพและโอกาสการลงทุนจากจากแผนพัฒนาพลังงานแห่งชาติฉบับที่ 8 ซึ่งมีเป้าหมายที่จะเพิ่มกำลังการผลิตถึง 150 กิกะวัตต์ โดยร้อยละ 40 จะเป็นพลังงานทดแทน ซึ่งปัจจุบัน บริษัทฯ ได้ดำเนินการผ่านบริษัทร่วมทุนในการขยายฐานธุรกิจโดยมีการศึกษาและพัฒนาโครงการพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม อีกทั้งยังมีแผนที่จะเข้าลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าที่ดำเนินการแล้วเช่นกัน และ3.การลงทุนในฟิลิปปินส์ บริษัทฯ มุ่งเน้นการพัฒนาโครงการที่มีอยู่แล้ว ได้แก่ โครงการพลังงานแสงอาทิตย์เนโกรส ซึ่งคาดว่าจะสามารถดำเนินการก่อสร้างได้ในปี พ.ศ.2567 โครงการพลังงานลมนอกชายฝั่ง ในอ่าวซานมิเกล และโครงการพลังงานลมนอกชายฝั่งลูเซียน่า บนเกาะลูซอน ซึ่งคาดว่าจะสามารถเข้าสู่ขั้นตอนก่อสร้างได้ในปี พ.ศ.2568 บริษัทฯ เชื่อมั่นว่า แผนงานดังกล่าวจะช่วยขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโตและสร้างผลตอบแทนที่มั่นคงแก่ผู้ถือหุ้น ผู้มีส่วนได้เสีย ตลอดจนสร้างสรรค์ประโยชน์สู่สังคม และสิ่งแวดล้อมในระยะยาว
“แนวโน้มในอนาคต บริษัทฯ ยังคงยึดธุรกิจผลิตไฟฟ้าเป็นธุรกิจหลักในการสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยการพัฒนาธุรกิจและลงทุน จะมุ่งขับเคลื่อนโครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนาในเวียดนาม ฟิลิปปินส์ ออสเตรเลีย พร้อมทั้งจะขยายไปสู่ตลาดแห่งใหม่ โดยเน้นประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่นประเทศ สหรัฐอเมริกา โดยให้น้ำหนักการลงทุนทั้งแบบกรีนฟิลด์และการซื้อกิจการให้มีความสมดุลเพื่อบริหารกระแสเงินสดและรายได้ของบริษัทฯ นอกจากนี้ยังจะให้ความสำคัญกับการบริหารกระแสเงินสด ต้นทุนและค่าใช้จ่ายให้มีประสิทธิภาพ เพื่อให้เป้าหมาย EBITDA เติบโตถึง 12,000 ล้านบาท” ชูศรี กล่าวทิ้งท้าย