กรมชลฯ ลงพื้นที่ลุ่มน้ำวังโตนด เปิดให้ชุมชนมีส่วนร่วมบริหารจัดการน้ำภาคตะวันออก หวังตอบโจทย์ความต้องการใช้น้ำทุกภาคส่วน


กรมชลประทาน นำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่อ่างเก็บน้ำประแสร์ จ.ระยอง เพื่อรับฟังแนวทางการบริหารจัดการน้ำภาคตะวันออก เพิ่มศักยภาพอ่างเก็บน้ำ เพื่อเป็นต้นแบบการบริหารจัดน้ำครบวงจรภาคตะวันออก พร้อมเชื่อมโยงโครงข่ายผันน้ำส่วนเกินจากแหล่งน้ำ อ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด จ.จันทบุรี เพิ่มศักยภาพน้ำต้นทุน เสริมความมั่นคงระบบน้ำพื้นที่เศรษฐกิจของประเทศ ดึงภาคประชาชนมีส่วนร่วมพัฒนา ให้สอดรับกับความต้องการใช้ของทุกภาคส่วนในภาคตะวันออก

กรมชลฯ ลงพื้นที่ร่วมประชุม
และรับฟังการบริหารจัดการน้ำภาคตะวันออก


เมื่อเร็วๆ นี้ เฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีฝ่ายวิชาการ กรมชลประทาน นำคณะผู้บริหารและสื่อมวลชน ลงพื้นที่ร่วมประชุมและรับฟังการบริหารจัดการน้ำภาคตะวันออก (วังโตนด-ประแสร์-หนองปลาไหล-บางพระ) เพื่อศึกษาและสำรวจระบบการบริหารจัดการน้ำของอ่างเก็บน้ำประแสร์ จ.ระยอง และโครงข่ายผันน้ำ ในพื้นที่หัวงานของสถานีสูบน้ำบ้านวังประดู่ จ.จันทบุรี โดยมี เกรียงศักดิ์ พุ่มนาค ผู้อำนวยการส่วนบริหารจัดการน้ำและบำรุงรักษาสำนักงานชลประทานที่ 9 และคณะทีมที่ปรึกษา รายงานความคืบหน้าการพัฒนาโครงการผันน้ำจากพื้นที่ จ.จันทบุรี ไปยังแหล่งเก็บกักน้ำ จ.ระยอง

สำหรับการพัฒนาโครงการผันน้ำจากพื้นที่ จ.จันทบุรี ไปยังแหล่งเก็บกักน้ำ จ.ระยอง เพื่อเสริมความมั่นคงในการบริหารจัดการน้ำต้นทุน ของภาคตะวันออก เนื่องจากอ่างเก็บน้ำประแสร์จะเป็นศูนย์กลางของการผันน้ำ เพื่อป้อนไปยังอ่างเก็บน้ำต่างๆ ได้แก่ ดอกกราย หนองปลาไหล คลองใหญ่ เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาคตะวันออก ที่จะมีการขยายตัวที่เกิดจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ทั้งใน การลงทุน การท่องเที่ยว และภาคเกษตรรวมถึงการขยายตัวของจำนวนประชากรที่มีความต้องการใช้น้ำเพื่ออุปโภคและบริโภคเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จจะทำให้อ่างเก็บน้ำทั้ง 4 แห่ง มีความจุรวมกัน 308.56 ล้าน ลบ.ม. สามารถส่งน้ำให้พื้นที่รับประโยชน์ทั้งสิ้น 267,800 ไร่ รองรับความต้องการน้ำเพื่อผลิตน้ำประปาได้อีกปีละ 45 ล้าน ลบ.ม. และผันน้ำส่วนเกินไปยังอ่างเก็บน้ำประแสร์ได้ถึงปีละประมาณ 70 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งนอกจากจะเป็นเสริมแหล่งน้ำต้นทุนแล้ว ยังสนับสนุนพื้นที่เพาะปลูกสวนผลไม้ใน จ.ระยอง และแหล่งน้ำดิบสำรองที่สำคัญสำหรับอุตสาหกรรมในเขต จ.ระยอง และ จ.ชลบุรี

กรมชลฯ วางแผนบริหารจัดการน้ำจากจันทบุรีไประยอง
ผ่านอ่างเก็บน้ำที่พัฒนาขึ้น 4 แห่ง

เกรียงศักดิ์ พุ่มนาค ผู้อำนวยการส่วนบริหารจัดการน้ำและบำรุงรักษาสำนักงานชลประทานที่ 9 กล่าวถึงความคืบหน้าแผนการบริหารจัดการน้ำเพื่อการผันน้ำจากพื้นที่ จ.จันทบุรี ไปสู่อ่างเก็บน้ำประแสร์ จ.ระยองว่า สามารถดำเนินการโดยผันน้ำส่วนเกิน จากอ่างเก็บน้ำที่กรมชลประทานมีแผนพัฒนาขึ้น 4 แห่ง ประกอบด้วย อ่างเก็บน้ำคลองประแกด ซึ่งเป็นอ่างแห่งแรกที่ก่อสร้างแล้วเสร็จ มีความจุ 60.25 60.26 ล้าน ลบ.ม. โดยกักเก็บน้ำได้ประมาณ 3 ปีแล้วและมีโครงการอยู่ระหว่างก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ 2 แห่ง ประกอบด้วย อ่างเก็บน้ำคลองหางแมว ความจุ 80.70 ล้าน ลบ.ม. และ อ่างเก็บน้ำคลองพะวาใหญ่ ความจุ 68.10 ล้าน ลบ.ม. คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปีพ.ศ.2566

ส่วนโครงการ อ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด เป็นอ่างเก็บน้ำที่ 4 มีความจุ 99.5 ล้านลบ.ม. อยู่ระหว่างการขอใช้พื้นที่จากกรมป่าไม้ และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จจะทำให้อ่างเก็บน้ำทั้ง 4 แห่ง มีความจุรวมกัน 308.56 ล้าน ลบ.ม. สามารถส่งน้ำให้พื้นที่รับประโยชน์ทั้งสิ้น 267,800 ไร่ รองรับความต้องการน้ำเพื่อผลิตน้ำประปาได้อีกปีละ 45 ล้าน ลบ.ม. และผันน้ำส่วนเกินไปยังอ่างเก็บน้ำประแสร์ได้ถึงปีละประมาณ 70 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งนอกจากจะเป็นเสริมแหล่งน้ำต้นทุนแล้ว ยังสนับสนุนพื้นที่เพาะปลูกสวนผลไม้ใน จ.ระยอง และแหล่งน้ำดิบสำรองที่สำคัญสำหรับอุตสาหกรรมในเขต จ.ระยอง และ จ.ชลบุรี

โครงการฯ แล้วเสร็จ จะมีปริมาณน้ำเพียงพอ
รองรับความต้องการใช้น้ำในพื้นที่ภาคตะวันออก

เกรียงศักดิ์ กล่าวว่า หลังจากการพัฒนาโครงการฯ แล้วเสร็จ ทำให้มีขีดความสามารถในการกักเก็บน้ำ ทั้งระบบ ที่ไหลจากเทือกเขา ใน อ.แก่งหางแมว ไหลผ่าน อ.นายายอาม และ ประตูระบายน้ำวังโตนด ที่มีพื้นที่ลุ่มน้ำประมาณ 1,839.1 ตร.กม.และยังมีปริมาณน้ำที่ไหลลงทะเลมากกว่าปีละ 1,000 ล้าน ลบ. ทำให้มีปริมาณน้ำเพียงพอในการกักเก็บเพื่อใช้ในการอุปโภคบริโภค ในจ.จันทบุรี รวมถึงการผันน้ำไปยังจ.ระยอง

“โครงการดังกล่าวมีการวางระบบท่อผันน้ำพร้อมอาคารประกอบจากคลองวังโตนด จ.จันทบุรี ไปยังอ่างเก็บน้ำประแสร์ จ.ระยอง โดยตั้งสถานีสูบน้ำพร้อมเครื่องสูบน้ำ อยู่บริเวณคลองวังโตนด บ้านวังประดู่ ต.สามพี่น้อง อ.แก่งหางแมว ใช้เครื่องสูบน้ำชนิด Horizontal Split Case สามารถสูบน้ำได้ รวม 5 ลบ.ม./วินาที จำนวน 9 เครื่อง พร้อมโครงข่ายระบบท่อส่งน้ำ โดยวางแนวท่อส่งน้ำขนาด 1.80 ม. ขนานไปตามทางถนน รวมความยาวทั้งสิ้น 45.7 กม. เพื่อป้อนน้ำเข้าสู่อ่างเก็บน้ำประแสร์ รองรับความต้องการใช้น้ำในพื้นที่ภาคตะวันออก” เกรียงศักดิ์ กล่าว

อ่างเก็บน้ำประแสร์ ต้นแบบการบริหารจัดการน้ำแบบครบวงจร
แก้ปัญหาขาดแคลนน้ำในจ.ระยอง

เฉลิมเกียรติ กล่าวว่า พื้นที่ลุ่มน้ำภาคตะวันออกมีความสำคัญ ถึงแม้ว่าจะมีน้ำต้นทุน แต่กรมชลประทานจะต้องบริหารจัดการน้ำไม่ให้ขาดแคลนและประสบปัญหาดังเช่นในปีพ.ศ.2548 เนื่องจากปัจจุบันมีการใช้น้ำมากขึ้นทั้งด้านการเกษตร โดยปลูกผลไม้ เช่น ทุเรียน มังคุด และเงาะ เป็นต้น อีกทั้งยังมีความจำเป็นในการดูแลภาคอุตสาหกรรมให้ใช้น้ำในการผลิต ทั้งนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จึงต้องมีการเตรียมการให้สอดคล้องกัน

อ่างเก็บน้ำประแสร์ จ.ระยอง มีความจุ 295 ล้านลบ.ม. ถือเป็นอ่างเก็บน้ำที่มีศักยภาพและ เป็นต้นแบบการบริหารจัดการน้ำแบบครบวงจร โดยสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการพัฒนาโครงการ เพื่อให้สอดรับความต้องการใช้น้ำของทุกภาคส่วน รวมถึงการจัดแหล่งน้ำต้นทุนเพิ่ม เพื่อสร้างความมั่นคงให้เพียงพอ และแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำที่เคยเกิดขึ้นในอดีตเมื่อปี พ.ศ.2548 ซึ่งถือเป็นปัจจัยเสี่ยงที่เกิดขึ้น โดยสามารถถอดบทเรียนมาวางแผนการพัฒนาได้ทั้งระบบ

จากสภาพภูมิศาสตร์และภูมิอากาศ จ.ระยอง พบว่าจะมีปริมาณน้ำฝนที่น้อยในช่วงฤดูฝน เมื่อเทียบ จ.จันทบุรี-ตราด กรมชลประทานจึงได้ดำเนินการตามมติของคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2552 ซึ่งมีมติให้ดำเนินโครงการผันน้ำจากพื้นที่ จ.จันทบุรี ป้อนน้ำเข้าอ่างเก็บน้ำประแสร์ จ.ระยอง เพื่อรองรับกิจกรรมการใช้น้ำในภาคต่าง ๆ ทั้งอุปโภค บริโภค การเกษตร อุตสาหกรรม รวมทั้งพื้นที่ EEC และการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นการบริหารจัดน้ำโดยผันน้ำส่วนเกินมาสนับสนุนการสร้างน้ำต้นทุนให้เพิ่มขึ้นในจ.ระยอง

กรมชลฯ ลงพื้นที่พบปะชาวบ้านลุ่มน้ำวังโตนด
สร้างการมีส่วนร่วมโครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด
เฉลิมเกียรติ กล่าวว่า อ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด จากเดิมที่มีพื้นที่ทั้งหมด รวมทั้งหัวงานและถนน 12,000 ไร่ กรมชลประทานได้ปรับลดขนาดพื้นที่เหลือ 11,000ไร่ เท่ากับว่าลดลง 1,000 ไร่ โดยใช้พื้นที่หัวงานและถนนเพียง 1,632 ไร่จากเดิม 1,850 ไร่ สามารถลดพื้นที่น้ำท่วมได้ 1,750 ไร่ ปัจจุบันโครงการฯ ผ่านขั้นตอน EIA แล้ว แต่ยังต้องพิจารณาเพิ่มอีก 2-3 ประเด็น คือ ทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งทางคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมต้องการให้คนในชุมชนมีส่วนร่วม กรมชลประทาน จึงจัดกิจกรรมในครั้งนี้เพื่อพบปะพูดคุยทั้งสองฝ่าย (Two Way Communication) ทั้งชาวบ้านวังโตนด ประแสร์ อีสท์ วอเตอร์ ประปาส่วนภูมิภาค ระยอง ชลบุรี เพื่อจัดทำรายงาน EHIA ฉบับสมบูรณ์ จากนั้นจะชี้แจงต่อคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอีกประมาณ 2-3 ครั้ง หากไม่ทันในปีนี้ ก็จะยื่นขอต่อในปีพ.ศ.2566 คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในปีพ.ศ.2567 ด้วยงบประมาณราว 6,400 -6,500 ล้านบาท

พื้นที่หัวงานของสถานีสูบน้ำบ้านวังประดู่ จ.จันทบุรี

“ผมบอกพี่น้องชาวลุ่มน้ำวังโตนดว่า การก่อสร้างโครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด กระทบพื้นที่ 11,000 ไร่ ทางกรมชลประทาน จะปลูกป่าให้ 2 เท่า รวมทั้งสร้างฝายเล็กๆ เพื่อให้เป็นแหล่งน้ำสำหรับสัตว์ป่า เช่น ช้าง เป็นต้น” เฉลิมเกียรติ กล่าว

เผยปี’63 กลุ่มลุ่มน้ำวังโตนด จ.จันทบุรี
ผันน้ำ 10 ล้านคิว ช่วย EEC รอดวิกฤตภัยแล้ง

วุฒิชัย นรสิงห์ ผู้อำนวยการโครงการกรมชลประทาน จ.จันทบุรี กล่าวว่า ในปีพ.ศ.2563 กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่าฝนจะล่าช้าประมาณเดือนมิถุนายน ทำให้พื้นที่ EEC อ่างเก็บน้ำประแสร์ จ.ระยองขาดแคลนน้ำ ทางกลุ่มลุ่มน้ำวังโตนด จึงดำเนินการผันน้ำ ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม ถึง 25 มีนาคม 2563 ทั้งหมด 10 ล้านลบ.ม. จากสถานีสูบน้ำบ้านวังประดู่ จ.จันทบุรี ระยะทาง 46 ก.ม.ไปยัง EEC จ.ระยอง ทำให้ EEC รอดพ้นจากภัยแล้ง

อ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด
ช่วยเพิ่มความมั่นคงทางน้ำในภาคตะวันออก

ผศ.เจริญ ปิยารมย์ ประธานคณะทำงานลุ่มน้ำวังโตนด จ.จันทบุรี กล่าวว่า ขณะนี้ “น้ำ” เป็นเรื่องระดับมหภาค การที่กรมชลประทานก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด เราชาวลุ่มน้ำวังโตนดได้รับประโยชน์โดยตรง ทั้งนี้โครงการลุ่มน้ำวังโตนดเกี่ยวพันกับความแห้งแล้งของจังหวัดระยอง หลายคนพยายามมองแยกส่วน แต่เราอยู่ด้วยกันทั้งจันทบุรี ระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา มีการพัฒนาชัดเจน จึงสนับสนุนให้มีการสร้างอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด และควรสร้างให้เต็มศักยภาพ เพราะแสดงถึงความมั่นคงทางน้ำ

“การบริหารจัดการน้ำ เป็นการพึ่งพากัน จากเหตุการณ์ภัยแล้งในปีพ.ศ.2563 มีการผันน้ำ 10 ล้าน ลบ.ม. เพื่อช่วยพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เป็นผลสำเร็จ ซึ่งโครงข่ายการบริหารจัดการน้ำช่วยให้เกิดความมั่นคงทางน้ำ ส่วนอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนดช่วยความมั่นคงทางน้ำในภาคตะวันออก เราตระหนักในเรื่องนี้ จึงพยายามช่วยผลักดันให้การสร้างอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนดประสบความสำเร็จ” อาจารย์เจริญ กล่าว

ด้านตัวแทนเกษตรกรจากลุ่มน้ำวังโตนด แสดงความคิดเห็นว่า พื้นที่อำเภอแก่งหางแมว จ.จันทบุรี ถือเป็นแหล่งผลิตทุเรียนขนาดใหญ่ที่สุดในโลก โดยผลิตปีละประมาณ 700 ล้านตัน สร้างรายได้ให้ประเทศปีละแสนล้านบาท การสร้างอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด ซึ่งใช้งบประมาณราวหมื่นล้านบาท นับว่าคุ้มค่ากับรายได้จากทุเรียนปีละแสนล้านบาท จึงเห็นด้วยกับการสร้างอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด

ทั้งนี้ หากอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนดได้รับไฟเขียวให้ก่อสร้าง ทางกรมชลประทานมีแผนพัฒนาเพื่อรองรับพื้นที่ EEC 10 ปี หนึ่งในแผนนั้น คือ โครงการสร้างผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำประแสร์ – หนองค้อ -บางพระ จ.ชลบุรี เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำให้อ่างเก็บน้ำบางพระ จ.ชลบุรี ปีละประมาณ 80 ล้านลบ.ม. เพื่อผลิตน้ำประปา อุตสาหกรรม และการท่องเที่ยวในพื้นที่เศรษฐกิจ จ.ชลบุรี

 


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เอง โดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save