การประชุมครั้งนี้ดำเนินกิจกรรมภายใต้หัวข้อ “The Road to Net Zero: Energy Transition Challenges and Solutions” มุ่งเน้นแลกเปลี่ยนแนวทางการไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนโดยการเปลี่ยนผ่านระบบพลังงาน ซึ่งเป็นประเด็นเร่งด่วนที่หลายๆ ประเทศทั่วโลกทั้งรัฐและเอกชนให้ความสนใจเป็นอย่างมาก เนื่องจากผลกระทบจากการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซเรือนกระจกอื่นๆ กำลังทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น โดยภายในงานมีผู้เข้าร่วมจากหน่วยงานเครือข่าย SEE และผู้ที่สนใจทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศเข้าร่วมจำนวนมาก
การประชุมวิชาการนานาชาติด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม ครั้งที่ 8 หรือ SEE 2022 (The 8th International Conference on Sustainable Energy and Environment) ระหว่างวันที่ 7-9 พฤศจิกายน 2565 เป็นการนำบรรยากาศของ “การประชุมวิชาการ” กลับมาอีกครั้งหลังจากช่วงสถานการณ์โควิด-19 โดยบัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม (JGSEE) ภายใต้ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีพลังงานและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เครือข่ายความร่วมมือของมหาวิทยาลัยไทย (มจพ. มช. มอ. และ SIIT มธ.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น และได้รับเกียรติจาก ดร.วีระวัฒน์ จันทนาคม ที่ปรึกษาอาวุโสและผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงพลังงาน กล่าวเปิดและปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “Thailand’s new national energy plan and the net-zero ambitions” จากนั้นเป็นการบรรยายพิเศษโดยผู้เชี่ยวชาญระดับโลกด้านต่างๆ และการนำเสนอผลงานทางวิชาการกว่า 120 เรื่องจากประเทศต่างๆ
“การประชุม SEE 2022 ครั้งนี้ ประสบความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ มีผู้สนใจเข้าร่วมงานจากสถาบันอุดมศึกษา หน่วยงานด้านการวิจัย ทั้งภาครัฐ และเอกชน รวม 15 ประเทศทั่วโลก เข้าร่วมการประชุมและเสนอบทความทางวิชาการในรูปแบบ online และ on-site ตลอด 3 วัน กว่า 300 คน ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นพบปะกันอีกครั้งของเวทีวิชาการนานาชาติ อันเป็นหนึ่งในกลไกที่จะช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับวงการวิจัยไทย หลังจากซบเซาไปในช่วงวิกฤติโควิด–19“ ศ.ดร.นวดล เหล่าศิริพจน์ ผู้อำนวยการบัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม (JGSEE) มจธ. กล่าวถึงผลสำเร็จของการจัดงานครั้งนี้
Prof. Hideaki Ohgaki ผู้บริหารจากสถาบันขั้นสูงด้านพลังงาน (Institute of Advanced Energy) มหาวิทยาลัยเกียวโต กล่าวว่า การได้ร่วมจัดประชุมวิชาการนานาชาติ SEE กับ JGSEE มาตั้งแต่ครั้งที่ 1 จนถึงครั้งที่ 8 ในปีนี้ เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้สถาบันทั้งสอง มีความร่วมมือทางวิชาการกันมาอย่างแนบแน่นและต่อเนื่อง
“เนื่องจากการจัดประชุม SEE ทุกครั้ง จะมีเนื้อหาที่ก้าวหน้ากว่าครั้งที่ผ่านมา รวมทั้งบางส่วนที่เป็นผลพวงจากโครงการวิจัยร่วมโดยอาจารย์และนักศึกษาทั้งที่ JGSEE และญี่ปุ่น ความประทับใจที่นักวิจัยทั้งสองฝ่ายได้รับขณะทำงานวิจัย ณ สถานที่ของอีกฝ่ายหนึ่ง ทำให้มหาวิทยาลัยเกียวโตยินดีที่จะมีกิจกรรมต่างๆร่วมกับ JGSEE ทั้งในปัจจุบันและอนาคต”
Ms. Ranee Jan นักศึกษาปริญญาโท JGSEE ที่เข้าร่วมในการนำเสนอผลงานวิชาการและได้รับรางวัล Best Paper Award กล่าวว่าการประชุมครั้งนี้ ทำให้ได้รับข้อมูลและมุมมองใหม่ๆ และที่มีความเป็นปัจจุบันรวมถึงการคาดการณ์สำหรับอนาคต ทั้งในระยะใกล้และไกล ในด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมจากผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการหลากหลายสาขาทั่วโลก ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนางานวิจัยของตัวเองให้ดียิ่งขึ้น
ด้าน รศ.ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย อธิการบดี มจธ. กล่าวเสริมว่า การประชุมครั้งนี้ สามารถสร้างบรรยากาศของประชุมวิชาการที่มีการนำเสนอ รับฟัง ถกเถียง และแลกเปลี่ยนมุมมองในเชิงวิชาการอย่างสร้างสรรค์ โดย มจธ. จะนำผลสรุปในด้านต่างๆ จากการประชุมครั้งนี้ไปขยายผลทั้งในเชิงวิจัยและการนำไปใช้ประโยชน์
“บทบาทของมหาวิทยาลัยคือ ในการสนับสนุนด้านเทคโนโลยีและนโยบาย เพื่อให้ประเทศไทยสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net-zero GHG emission) ได้เร็วขึ้น ในภาคเศรษฐกิจต่างๆ ดังนั้นข้อมูลและความรู้ที่มีการนำเสนอและแลกเปลี่ยนในเวทีนี้เป็นสิ่งที่ทาง มจธ. มหาวิทยาลัยเกียวโต และมหาวิทยาลัยพันธมิตร (มจพ. มช. มอ. และ SIIT มธ.) ควรต้องนำไปวิเคราะห์และดำเนินการต่อ ในเบื้องต้น มจธ.จะส่งต่อข้อมูลกับประชาคมวิจัย และผู้สนใจในภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาชนเพื่อใช้ประโยชน์ต่อไป”