กรุงเทพฯ ประเทศไทย – 28 มิถุนายน 2566 : ฮัทชิสัน พอร์ท ประเทศไทย หรือ HPT ผู้ประกอบการท่าเรือชั้นนำในประเทศไทย โดยมร. สตีเฟ้นท์ อาร์ชเวิรท กรรมการผู้จัดการ ฮัทชิสัน พอร์ท ประจำประเทศไทย และ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และผศ.ดร.ศรินยา สนิทวงศ์ ณ อยุธยา คณบดีคณะพาณิชยนาวีนานาชาติ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา ลงนามบันทึกข้อตกลงเพื่อสานต่อความร่วมมือแบบทวิภาคี ด้านวิชาการและกิจกรรมสร้างสรรค์เพื่อส่งเสริมการพัฒนาธุรกิจขนส่งทางทะเลอย่างยั่งยืน เป็นครั้งที่ 2 ระยะเวลา 3 ปี เพื่อเพิ่มพูนทักษะและประสบการณ์ในการเตรียมความพร้อมให้บุคลากรสำหรับภาคอุตสาหกรรมการขนส่งทางเรือในอนาคต ผ่านโครงการฝึกงานให้กับนักศึกษาในหลักสูตร พร้อมกันนี้ ภายใต้ข้อตกลงดังกล่าวทั้งสองหน่วยงานยังพร้อมที่จะสานต่อในกิจกรรมเพื่อสังคม (CSR) ที่ทำมาอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างสรรค์ชุมชนแห่งความความยั่งยืนในท้องถิ่น
ความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในครั้งนี้ นอกจากจะเพื่อพัฒนาบุคลากรและชุมชนแล้ว ยังรวมถึงการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนและโอกาสทางสายงานในอนาคตแก่นักศึกษาของคณะฯ ที่เป็นการต่อยอดองค์ความรู้และเพื่อปลูกฝังแนวทางการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนเข้าไว้ในกระบวนการเรียนรู้ตามหลักสูตรทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติด้วย
สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “Sustainable Future Program” ของฮัทชิสัน พอร์ท ประเทศไทย ที่มีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับพันธกิจของกลุ่มบริษัทฮัทชิสันทั่วโลกที่ให้ความสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจเพื่อความยั่งยืนที่เป็นการพัฒนาแบบบูรณาการใน 3 ด้านคือ บุคลากร ชุมชน และสิ่งแวดล้อม
มร. สตีเฟ้นท์ อาร์ชเวิรท กรรมการผู้จัดการ ฮัทชิสัน พอร์ท ประจำประเทศไทย และ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า การร่วมมือกับคณะพาณิชยนาวีนานาชาติ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในครั้งนี้ต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 2 โดยการสานต่อความเป็นพันธมิตรครั้งนี้ ฮัทชิสัน พอร์ท ประเทศไทย จะสนับสนุนในด้านการออกแบบเนื้อหาในการเรียนการสอน โอกาสฝึกงาน และการศึกษาดูงานท่าเทียบเรือ Smart Port ของบริษัทฯ ซึ่งมีการใช้เทคโนโลยี Remote Control และระบบ Automation ในการขนส่งสินค้าทางเรือ ให้แก่นักศึกษาของคณะฯ รวมถึงให้ความร่วมมือในงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับกิจการท่าเรือ
และการปลูกต้นไม้โครงการ Go GREEN นอกจากนี้ ทางมร.สตีเฟ้นท์ อาร์ชเวิรท จะร่วมเป็นวิทยากรพิเศษบรรยายให้แก่นักศึกษาเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจขนส่งทางทะเลเพื่อความยั่งยืนอีกด้วย
“เรายินดีที่จะได้ช่วยกันสร้างสรรค์สิ่งดี ๆ ต่อไป ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมโครงการด้านความยั่งยืนในชุมชนให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น หรือสร้างความมั่นใจให้แก่แรงงานและผู้นำของธุรกิจขนส่งทางทะเลในอนาคตได้มีความรู้ความเข้าใจอย่างถ่องแท้ว่าการทำงานในอุตสาหกรรมการขนส่งและบริการท่าเทียบเรือเป็นเช่นใด และให้ได้เข้าใจว่าเหตุใดเรื่องความยั่งยืนจึงสำคัญต่อความสำเร็จของธุรกิจในอนาคต ทั้งนี้ Go Green ความยั่งยืนไม่ใช่แค่เรื่องของสิ่งแวดล้อม เราจะให้ความรู้แก่นิสิตนักศึกษาในมหาวิทยาลัยในลักษณะของ Long Term มากขึ้น และจะช่วยพัฒนาหลักสูตรต่อไป เหล่านี้เป็นสิ่งที่เรามุ่งมั่นจะดำเนินต่อไปในอีกสามปีข้างหน้าภายใต้ความร่วมมือในครั้งนี้” มร.สตีเฟ้นท์ กล่าว
ด้าน ผศ.ดร.ศรินยา สนิทวงศ์ ณ อยุธยา คณบดีคณะพาณิชยนาวีนานาชาติ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา กล่าวว่า ความร่วมมือดังกล่าว ทำให้มหาวิทยาลัยฯ รับทราบความต้องการของอุตสาหกรรมในโลกปัจจุบันที่มีการใช้ระบบ Automation เตรียมความพร้อมการจัดหาอุปกรณ์ด้านโลจิสติกส์ให้นักศึกษาได้เรียนรู้ด้าน Automation ให้นักศึกษาฝึกงานได้ทั่วประเทศ รวมทั้งดูแลสังคมและชุมชนโดยรอบท่าเรือ จึงได้พัฒนาหลักสูตร EEC ซึ่งมีทั้้ง Type A และ Type B ซึ่งเป็นการฝึกอบรมระยะสั้น ร่วมกับผู้ประกอบการ เพื่อสร้างหลักสูตรปริญญาโทสาขาโลจิสติกส์ทางทะเลและความยั่งยืน
ปัจจุบันคณะพาณิชยนาวีนานาชาติมีนิสิตนักศึกษาทั้งหมด 700-800 คน แบ่งเป็นนิสิตสาขาการขนส่งทางทะเล 350-400 คน คิดเป็น 50% ของนิสิตทั้งหมด ที่เหลือจะกระจายตามสาขาวิศวกรรมอู่ต่อเรือ วิทยาศาสตร์การเดินเรือ วิศวกรรมเครื่องกลเรือ
ทั้งนี้ ฮัทชิสันรับนักศึกษาเข้าฝึกงานปีละ 5 คน รวม 4 ปี ทั้งหมด 20 คน ใช้เวลาฝึกงาน 240 ชั่วโมง หรือมากกว่า 3 เดือน
ในปีนี้จะมีนักศึกษาเข้าฝึกงาน 10 คน รวมทั้งจัดหาวิทยากรพิเศษด้าน Port Management ซึ่งทำให้นักศึกษาได้รับข้อมูลอันเป็นประโยชน์และประสบการณ์จากการเรียนรู้ด้วยตนเอง นับเป็นสิ่งที่มีค่าแก่นักศึกษาในฐานะใบเบิกทางที่ดีสู่อาชีพในอนาคตให้แก่พวกเขา
“ความร่วมมือกับฮัทชิสัน พอร์ท ประเทศไทย นับเป็นส่วนเติมเต็มที่ทรงคุณค่าในหลักสูตรของเรา และการสานต่อความร่วมมือนี้จะเพิ่มโอกาสให้เราได้ร่วมกันเตรียมความพร้อมให้กับนักศึกษาเรื่องการทำงานจากสถานการณ์จริง รวมถึงการแบ่งปันผลงานวิจัยและข้อมูลเชิงลึกที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจให้แก่ฮัทชิสัน พอร์ท ประเทศไทยอีกด้วย” ผศ.ดร.ศรินยา กล่าว
ในปีที่ผ่านมา ฮัทชิสัน พอร์ท ประเทศไทย และคณะพาณิชยนาวีนานาชาติ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ร่วมกันในโครงการ GO GREEN ดำเนินกิจกรรมปลูกต้นไม้ในพื้นที่รอบบริเวณท่าเรือแหลมฉบังกว่า 100 ต้นและมีโครงการปลูกต้นไม้ออนไลน์ถ่ายรูปลงใน Social Media 4,000 ต้น ส่วนปีนี้ปูลกต้นไม้เพิ่มกว่า 40 ต้น และกิจกรรมการรีไซเคิลเพื่อคืนชีวิตให้แก่ขยะและวัสดุเหลือใช้ มีการจัดประกวด โดยฮัทชิสันจะนำผลิตภัณฑ์รีไซเคิลที่ได้ไปส่งมอบให้โรงเรียนใกล้บริเวณท่าเรือแหลมฉบัง
สำหรับความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นส่วนหนึ่งของแผนงานทั้งหมดที่ริเริ่มดำเนินการโดยคณะกรรมการส่งเสริมธุรกิจที่ยั่งยืนของกลุ่มบริษัทฮัทชิสัน โดยมุ่งหวังที่จะแบ่งปันองค์ความรู้และเพื่อให้มั่นใจว่ามีการนําแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดไปใช้กับการดำเนินธุรกิจในเครือขายทั่วโลกอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง
ภายใต้โครงการ “Sustainable Future Program” ของฮัทชิสัน นอกจากบริษัทฯ จะร่วมมือกับคณะพาณิชยนาวีนานาชาติ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชาแล้ว ฮัทชิสันยังบริจาคคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์การเรียนการสอน และให้ทุนอาหารกลางวันแก่โรงเรียนใกล้ท่าเรือแหลมฉบัง มีการปลูกต้นไม้ในโรงเรียน รวมทั้งบริจาคเงินให้โรงพยาบาลใกล้ท่าเรือแหลมฉบังเป็นประจำทุกปี และสนับสนุนทุน “โครงการอนุรักษ์ทรัพยากรและวางปะการังเทียม เกาะแสมสาร เฉลิมพระเกียรติ” โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีอีกด้วย