ปัจจุบันการค้าโลกมีการเปลี่ยนแปลงไป หลายประเทศมีนโยบายที่มุ่งเน้นเรื่องการผลิตสินค้าที่ยั่งยืน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นตลาดหลักในการส่งออกสินค้าปศุสัตว์ของไทย ได้ออกมาตรการเกี่ยวกับสินค้ายั่งยืน อาทิ แผนการปฏิรูปสีเขียวของยุโรป (EU Green Deal) และ ESG: Environmental Social and Governance หรือหลักการทำธุรกิจที่คำนึงถึงความรับผิดชอบ 3 ด้านหลัก คือ สิ่งแวดล้อม สังคม การกำกับดูแล ซึ่งเป็นเงื่อนไขการแข่งขันทางการค้า อีกทั้งเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net-zero Greenhouse Gases Emission) ภายในประมาณปี ค.ศ. 2065 และการเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 ตามนโยบายของภาครัฐ ขณะที่อุตสาหกรรมในภาคปศุสัตว์ถูกระบุว่าเป็นผู้ปล่อยก๊าซมีเทน (ก๊าซเรือนกระจกชนิดหนึ่งที่มีความร้ายแรงในการก่อให้เกิดโลกร้อนมากกว่าคาร์บอนไดออกไซด์ 25 เท่า) ในสัดส่วนที่ค่อนข้างสูง จึงจำเป็นที่ทุกภาคส่วนจะต้องเร่งปรับตัวรองรับกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้
เมื่อเร็วๆ นี้ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ได้ลงนามความร่วมมือโครงการด้านการลดก๊าซเรือนกระจกในห่วงโซ่อุตสาหกรรมปศุสัตว์ไทย (Thai Livestock Technical Consortium for Climate Neutrality, LCCN) กับกลุ่มภาคีปศุสัตว์และสัตว์น้ำไทย ทั้ง 9 สมาคม ประกอบด้วย สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย, สมาคมสัตวบาลแห่งประเทศไทย, สมาคมสัตวแพทย์ควบคุมฟาร์มสุกรไทย, สมาคมสัตวแพทย์ควบคุมฟาร์มสัตว์ปีก, สมาคมสัตวแพทย์สัตว์น้ำไทย, สมาคมสัตวแพทย์ผู้ควบคุมฟาร์มสัตว์เคี้ยวเอื้อง, สมาคมธุรกิจเวชภัณฑ์สัตว์, สมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ไทย และสมาคมผู้เลี้ยงโคนมไทยโฮลสไตน์ฟรีเชี่ยน เพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางวิชาการ งานวิจัย และการพัฒนาบุคลากรร่วมกัน นอกจากนี้ยังมีการจัดสัมมนาเรื่อง “การลดก๊าซเรือนกระจกในห่วงโซ่อุตสาหกรรมปศุสัตว์” ในรูปแบบออนไลน์ เพื่อให้ความรู้ ความเข้าใจ และเพื่อสร้างความตระหนักถึงผลกระทบจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกระบวนการผลิต และร่วมหาแนวทางในการลดก๊าซเรือนกระจกในห่วงโซ่อุตสาหกรรมปศุสัตว์ของไทย
รศ. ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) กล่าวว่า เป็นที่ทราบกันดีว่าประเด็นการลดก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net-zero) เพื่อให้บรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน หรือ Carbon Neutrality เป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดที่ทุกภาคส่วนจะต้องร่วมมือกัน ทั้งนี้ อุตสาหกรรมเลี้ยงปศุสัตว์ และอุตสาหกรรมผลิตอาหารสัตว์ ตลอดจนสมาคมชั้นนำที่เกี่ยวข้อง ได้มีความริเริ่มและให้คำมั่นสัญญาที่จะลดก๊าซเรือนกระจกภายในห่วงโซ่ให้เหลือการปล่อยสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2040 มหาวิทยาลัยรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ทางสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์และเครือข่ายได้เลือกที่จะทำความร่วมมือกันในการบรรลุดังกล่าว เชื่อว่าด้วยความร่วมมือกันของบุคคลในหลายๆ ส่วน และศักยภาพทางวิชาการของมหาวิทยาลัย จะช่วยกันใช้ศักยภาพที่มีอยู่ ทำให้การดำเนินงานตามบันทึกความร่วมมือนี้สำเร็จลุล่วงด้วยดี
พรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย ตัวแทนภาคีปศุสัตว์และสัตว์น้ำไทย กล่าวว่า มจธ. เป็นมหาวิทยาลัยแรกที่มีนโยบายชัดเจนด้านความยั่งยืนเกี่ยวกับระบบการจัดการด้านพลังงาน สิ่งแวดล้อม และสร้างการมีส่วนร่วม โดยมหาวิทยาลัยได้ประกาศเจตนารมณ์การปลดปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี ค.ศ. 2040 เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายของภาคีปศุสัตว์และสัตว์น้ำไทย ที่มีจุดมุ่งหมายร่วมกันในการนำพาธุรกิจปศุสัตว์ไทยไปสู่ปศุสัตว์สีเขียว โดยตั้งเป้าหมายในการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net-zero emissions) ในปี ค.ศ. 2040 เช่นกัน ดังนั้น การลงนามความร่วมมือครั้งนี้จึงถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่เกิดความร่วมมือระหว่างภาควิชาการและภาคเอกชนซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้ภาคธุรกิจปศุสัตว์ของไทยเดินหน้าเข้าสู่ปศุสัตว์สีเขียวได้อย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้น
สำหรับเวทีการสัมมนาในวันนี้ ได้รับเกียรติจาก นายสัตวแพทย์ ดร.ธนวรรษ เทียนสิน อัครราชทูต (ฝ่ายเกษตร) และผู้แทนถาวรไทยประจำ FAO/IFAD/WFP ณ กรุงโรม ประเทศอิตาลี มาบรรยายพิเศษ ถึง “แนวโน้มความต้องการสินค้าปศุสัตว์ในอนาคตและมาตรการการค้าในสหภาพยุโรป” ซึ่งถือเป็นข้อมูลสำคัญที่ภาคปศุสัตว์โดยเฉพาะสินค้าส่งออกจำเป็นต้องรับทราบ นอกจากนี้ยังมีหัวข้อที่น่าสนใจ อาทิ “ความสำคัญของการลดก๊าซเรือนกระจกในภาคธุรกิจปศุสัตว์ไทย” โดย ดร.พฤฒิภา โรจน์กิตติคุณ ผู้อำนวยการสำนักประเมินและรับรองโครงการ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน), “บทบาทและแนวทางของกรมปศุสัตว์ในการส่งเสริมปศุสัตว์สีเขียว” โดย นายสัตวแพทย์รักไทย งามภักดิ์ ผู้อำนวยการกองควบคุมอาหารและยาสัตว์ กรมปศุสัตว์ และ“ศักยภาพของ มจธ. ในการสนับสนุนการลดก๊าซเรือนกระจกในภาคการผลิตอาหารสัตว์และปศุสัตว์” โดย ศ.ดร.นวดล เหล่าศิริพจน์ และ รศ.ดร.ธภัทร ศิลาเลิศรักษา หลังจากนี้จะมีกิจกรรมสัมมนาแลกเปลี่ยนความรู้อย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความตระหนักแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องและเปิดเวทีให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันไปตลอดทั้งปีอีกด้วย
ศ. ดร.นวดล เหล่าศิริพจน์ ผู้อำนวยการบัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม หรือ JGSEE กล่าวว่า อุตสาหกรรมปศุสัตว์ไทยเป็นภาคส่วนที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยเฉพาะมีเทนในอัตราที่สูงมาก ทั้งจากกระบวนการผลิตอาหารสัตว์ และระหว่างการผลิตปศุสัตว์ ซึ่งส่งผลต่อภาวะโลกร้อนอย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ดีปัญหาในปัจจุบันคือ ผู้ประกอบการปศุสัตว์หรือกลุ่มผู้ผลิตอาหารสัตว์ในไทยไม่มีข้อมูลว่าในแต่ละกระบวนการมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมาในปริมาณเท่าไหร่อย่างชัดเจน จะมีเพียงรายงานผลการศึกษาในต่างประเทศเท่านั้น ดังนั้นประเด็นที่ทาง มจธ. สามารถช่วยกลุ่มภาคีปศุสัตว์ฯ ได้ประกอบด้วย การศึกษาหาข้อมูลพื้นฐาน ณ ปัจจุบัน Baseline ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกประเภทต่างๆ จากห่วงโซ่อุตสาหกรรมปศุสัตว์ไทย โดยการประเมินวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ และการประเมินคาร์บอนฟุตพรินท์ในแต่ละกระบวนการของห่วงโซ่อุตสาหกรรมปศุสัตว์ไทย การพัฒนาองค์ความรู้และเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่สามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (มุ่งเน้นก๊าซมีเทน) เช่น การพัฒนาสูตรอาหารสัตว์โดยการเติมจุลินทรีย์ลงไปอาจทำให้ระบบการย่อยของสัตว์ดีขึ้น การวิเคราะห์จุลชีพในระบบทางเดินอาหารของสัตว์เพื่อออกแบบวิธีการให้อาหารสัตว์ที่เหมาะสม การพัฒนาอาหารเสริมสำหรับสัตว์ การพัฒนาปุ๋ยชีวภาพเพื่อใช้ปลูกพืชที่นำมาใช้ผลิตอาหารสัตว์ให้สามารถลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกระหว่างเพาะปลูก การวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตก๊าซชีวภาพที่มีประสิทธิภาพสูงจากมูลสัตว์ การเพิ่มประสิทธิภาพและนำเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนมาใช้ในกระบวนการผลิตอาหารสัตว์และการผลิตปศุสัตว์ การปรับปรุงระบบโลจิสติกส์และการขนส่ง การนำกลไกการซื้อขายคาร์บอนมาประยุกต์ใช้ในห่วงโซ่อุตสาหกรรมปศุสัตว์ไทย เป็นต้น และการพัฒนาทักษะให้กับบุคลากรในห่วงโซ่อุตสาหกรรมปศุสัตว์ไทย เพื่อให้มีความเข้าใจเรื่องแนวทางการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
“ความร่วมมือกันครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อสร้างความตระหนักให้กับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมปศุสัตว์ให้ทราบถึงปัญหาเรื่องการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มีอยู่ในปัจจุบันและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในอนาคตหากมิได้มีการดำเนินการใดๆ เพื่อแก้ไข รวมถึงร่วมกันหาแนวทางเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในห่วงโซ่อุตสาหกรรมปศุสัตว์ลงเพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net-zero Emissions) ในปี ค.ศ. 2040” ศ. ดร.นวดล กล่าวทิ้งท้าย