ครม. รับทราบผลการประชุมภาคีการขับเคลื่อนการปฏิบัติงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย


การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2566 ซึ่งมีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี ณ สันติไมตรี (หลังนอก) โดย ครม. รับทราบตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอผลการประชุมภาคีการขับเคลื่อนการปฏิบัติงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย (Thailand Climate Action Conference: TCAC)1

เรื่องเดิม

คณะรัฐมนตรีมีมติ (23 พฤศจิกายน พ..ศ.2564) รับทราบผลการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 (Conference of the parties: COP 26) และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 29 ตุลาคม – 12 พฤศจิกายน 2564 ณ เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร และถ้อยแถลงของนายกรัฐมนตรีในการประชุมระดับผู้นำ (World Leaders Summit) เป็นการเน้นจุดยืนของไทยที่ให้ความสำคัญสูงสุดกับการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ พร้อมร่วมมือกับทุกประเทศและทุกภาคส่วน เพื่อบรรลุเป้าหมายร่วมกันในการแก้ไขปัญหา ซึ่งไทยได้เข้าเป็นภาคีความตกลงปารีสและดำเนินการที่สอดคล้องตามพันธกรณีมาอย่างต่อเนื่อง โดยไทยได้กำหนดเป้าหมายการดำเนินงานตามแผนที่การลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย (Nationally Appropriate Mitigation Actions: NAMA) นอกจากนี้ได้แสดงเจตนารมณ์ของไทยที่จะยกระดับการแก้ไขปัญหาภูมิอากาศอย่างเต็มที่และด้วยทุกวิถีทาง ซึ่งเป็นความท้าทายอย่างยิ่งที่จะทำให้ไทยบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ. 2050 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในหรือก่อนปี ค.ศ. 2065

สาระสำคัญของเรื่อง

ทส. รายงานว่าคณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ [รองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ) เป็นประธานคณะกรรมการ] ในการประชุมครั้งที่ 3/2565 เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ.2565 มีมติรับทราบผลการประชุม TCAC ซึ่งจัดขั้นระหว่างวันที่ 5-6 สิงหาคม พ.ศ. 2565 ณ กรุงเทพมหานคร โดยมีผู้เข้าร่วมประชุม ณ สถานที่จัดงานและผ่านช่องทางออนไลน์ เช่น ภาคเอกชนและรัฐวิสาหกิจของไทย ทูตานุทูตจากประเทศต่าง ๆ และองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศ และมอบหมายให้ ทส. โดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) นำผลการประชุมฯ เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบต่อไป มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้

1.ภาพรวมและวัตถุประสงค์ เพื่อเป็นเวทีสร้างพลังขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทยในทุกระดับและทุกภาคส่วนเพื่อมุ่งบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ. 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี ค.ศ. 2065พร้อมทั้งเป็นการเริ่มต้นดำเนินงานตามความตกลงปารีสอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อให้ไทยมุ่งสู่เป้าหมายที่ได้แสดงเจตจำนงไว้ต่อประชาคมโลกในการประชุม COP 26 ตามที่นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถ้อยแถลงไว้

2.พิธีเปิดการประชุมและกิจกรรมในห้องประชุมใหญ่ ประกอบด้วย

Net Zero

นายกรัฐมนตรีได้กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง “เป้าหมาย Net Zero 2065 เพื่อการเติบโตที่ยั่งยืนของไทยในเวทีโลก (Mission to D-emission 2065 for Thailand Sustainable Growth)” เพื่อยืนยันถึงเจตนารมณ์อันแน่วแน่ของรัฐบาลในการขับเคลื่อนการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศผ่านยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) และแผนพัฒนาระดับชาติตลอดจนขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy: BCG Economy) เพื่อสร้างความสมดุลแห่งการพัฒนาและเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมการปรับเปลี่ยนรูปแบบทางเศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น เช่น การเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน การส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ และการปรับตัวรองรับการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ

พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ( ประธานกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติได้เน้นย้ำการมุ่งยกระดับการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศภายในประเทศร่วมกับทุกภาคส่วนอย่างเข้มข้นและมุ่งแก้ไขปัญหาในระดับพื้นที่

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้บรรยายพิเศษในหัวข้อ “TCAC: Road to COP 27 and Beyond” และ “จากนโยบายสู่ความสำเร็จด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” โดยเน้นย้ำว่า ทส. ได้แปลงเป้าหมายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสู่นโยบายและแผนเพื่อแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีประสิทธิภาพและเป็นรูปธรรม เช่น แผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2558-2563 และแผนที่นำทางการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ

ผู้ว่าราชการจังหวัดได้กล่าวถ้อยแถลงเพื่อแสดงถึงความพร้อมในการขับเคลื่อนนโยบายไปสู่การปฏิบัติในระดับพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรม

เครือรัฐออสเตรเลีย สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ประเทศญี่ปุ่น สมาพันธรัฐสวิส และสหรัฐอเมริกาได้กล่าวถ้อยแถลงเกี่ยวกับความร่วมมือด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกับไทยในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น การสนับสนุนด้านพลังงานทดแทน พลังงานสะอาด และยานยนต์ไฟฟ้า

องค์การสหประชาชาติได้ร่วมจัดแสดงนิทรรศการและนำเสนอกรอบความร่วมมือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนและโครงการนำร่องด้านสภาพภูมิอากาศที่ดำเนินการกับไทย

ภาคเอกชนและรัฐวิสาหกิจตอบรับต่อเป้าหมายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศและพร้อมสนับสนุนภาครัฐ โดยปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจเพื่อมุ่งสู่การปล่อยคาร์บอนต่ำ

เยาวชนและภาคประชาชนพร้อมสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับสังคมไทยด้านสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม โดยเริ่มจากการเรียนรู้ทั้งในและนอกห้องเรียนการทำกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมและการออกแบบธุรกิจเพื่อสังคม

3.การเสวนาเชิงวิชาการในห้องประชุมใหญ่ ประกอบด้วย

เสริมสร้างไทยสู่ความยั่งยืนด้านสภาพภูมิอากาศ เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองและแนวทางการบูรณาการระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันวิจัยและพัฒนานวัตกรรม เพื่อขับเคลื่อนไทยไปสู่การบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน เช่น 1) ภาครัฐ โดย สผ. ในฐานะผู้กำหนดนโยบายด้านสภาพภูมิอากาศได้ระบุถึงเส้นทางสู่ความยั่งยืนด้านสภาพภูมิอากาศผ่านการจัดทำเครื่องมือเชิงนโยบายและกลไกสนับสนุน เช่น กลไกทางการเงินและกฎหมาย และ 2) รัฐวิสาหกิจและเอกชนโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) พร้อมปรับกลยุทธ์องค์กรและการดำเนินธุรกิจเพื่อลดการปล่อยคาร์บอน โดยใช้เทคโนโลยีพลังงานสะอาดและเพิ่มแหล่งกักเก็บดูดซับคาร์บอน

บูรณาการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสู่การดำเนินงานระดับจังหวัดนำเสนอความเชื่อมโยงระหว่างการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกับบริบทการพัฒนาระดับพื้นที่และแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวทางการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระดับพื้นที่ระหว่างหน่วยงานด้านนโยบายและตัวแทนของจังหวัดเพื่อนำเข้าสู่แผนพัฒนาจังหวัด

ความร่วมมือระหว่างประเทศด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพื่อแบ่งปันเรื่องราวความสำเร็จของโครงการความร่วมมือระหว่างประเทศด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ไทยร่วมดำเนินการกับองค์กรระหว่างประเทศ เช่น โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดภาวะโลกร้อนจากการทำนาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Thai Rice NAMA)4 โดยองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน ประจำประเทศไทยในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าวให้กับเกษตรกรและปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ โดยประยุกต์ใช้เทคโนโลยี 4 ด้าน คือ การปรับพื้นที่นาให้ราบเรียบด้วยระบบเลเซอร์ การจัดการน้ำในนาแบบเปียกสลับแห้ง การใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน และการจัดการฟางในนาข้าวอย่างถูกวิธี

4.การเสวนาเชิงวิชาการในห้องประชุมกลุ่มย่อย ประกอบด้วย

ป่าไม้และการกักเก็บคาร์บอน นำเสนอแลกเปลี่ยนนโยบายและการขับเคลื่อนการดำเนินงานในการกักเก็บคาร์บอนในภาคป่าไม้ โดยต้องบูรณาการจากทุกภาคส่วนเพื่อขับเคลื่อน เช่น การปลูกป่าเพื่อเพิ่มพื้นที่ป่าทั้งในพื้นที่ของภาครัฐ การป้องกันการบุกรุกป่าและควบคุมไฟป่า

เกษตรกรเท่าทันภูมิอากาศ นำเสนอสาระสำคัญในการกำหนดยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภาคเกษตรและความก้าวหน้าของการดำเนินโครงการต่าง ๆ เช่น โครงการข้าวยั่งยืนที่เน้นการจัดการน้ำในนาแบบเปียกสลับแห้ง เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสอดคล้องกับโครงการ Thai Rice NAMA ที่จะเป็นต้นแบบที่ดีในการทำนาทั้งเพิ่มผลผลิตและลดต้นทุนจากการใช้น้ำและการใช้ปุ๋ย

การบริการข้อมูลด้านสภาพภูมิอากาศและการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันในภาคเมือง นำเสนอในเรื่องต่าง ๆ เช่น 1) การพัฒนาข้อมูลด้านภูมิอากาศ 2) การประยุกต์ใช้ข้อมูลจากเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ และ (3) แนวทาง/แนวคิดการออกแบบภูมิสถาปัตย์ที่คำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อนำมาใช้ในการจัดการเมืองให้มีการปรับตัวรองรับการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศ

พลังงานและการขนส่งที่ยั่งยืนผ่านนโยบายและทิศทางการดำเนินงานภายใต้แผนพลังงานชาติ พ.ศ. 2565 เช่น การเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน การส่งเสริมให้ระบบรางเป็นโครงข่ายหลักของประเทศในการเดินทางและขนส่งสินค้าระหว่างเมือง การพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าในระบบขนส่งสาธารณะ เช่น EV-Bus EV-Boat EV-Bike สำหรับภาคเอกชนได้สะท้อนถึงข้อจำกัดของการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเด็นราคาและความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐาน โดยจะต้องครอบคลุมพื้นที่ใช้งานและพัฒนาให้ผู้ใช้งานสามารถใช้ได้ทุกค่ายรถยนต์

ตลาดคาร์บอนเครดิต4ตอบโจทย์ธุรกิจรักษ์โลกด้วยกลไกราคา เป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การดำเนินงานในการใช้กลไกราคาหรือตลาดคาร์บอนเพื่อสร้างโอกาสและแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการในการลดก๊าซเรือนกระจก โดยดำเนินการผ่านโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของไทย

5.การแสดงนิทรรศการของหน่วยงานและองค์กรภาคธุรกิจ เช่น (1) เทคโนโลยีด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Teachnology) เช่น เทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอนและพลังงานทดแทนและยานยนต์ไฟฟ้า และ (2) แหล่งดูดซับและกักเก็บคาร์บอนในธรรมชาติ (Green and Blue Carbon) เช่น ระบบนิเวศบนบกและระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เอง โดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save